เพลงพระราชนิพนธ์

The Musical Compositions Of His Majesty King Bhumibol Adulyadej

พระอัจฉริยภาพด้านดนตรี เหตุใดศิลปินจากทั่วโลกจึงยกย่องว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มีพระอัจฉริยภาพด้านดนตรี และความน่าทึ่งที่อยู่ในบทเพลงพระราชนิพนธ์

บันทึกการพระราชทานสัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนอเมริกันในรายการวิทยุ เสียงอเมริกา เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2503 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสว่า ดนตรีนั้นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตจิตใจของมวลมนุษย์

“…ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของข้าพเจ้า จะเป็นแจ๊สหรือไม่ใช่แจ๊สก็ตาม ดนตรีล้วนอยู่ในตัวทุกคน เป็นส่วนที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตคนเรา สำหรับข้าพเจ้า ดนตรีคือสิ่งประณีตงดงาม และทุกคนควรนิยมในคุณค่าของดนตรีทุกประเภท เพราะว่าดนตรีแต่ละประเภทต่างก็มีความเหมาะสมตามแต่โอกาสและอารมณ์ที่ต่าง ๆ กันไป…”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นสังคีตกวีและนักดนตรีที่ชาวโลกยกย่อง ทรงพระปรีชาสามารถในการทรงดนตรี ทรงพระราชนิพนธ์เพลง แยกและเรียบเรียงเสียงประสาน ทรงเป็นครูสอนดนตรีแก่ข้าราชบริพารใกล้ชิดและทรงซ่อมเครื่องดนตรีได้ด้วย ตลอดจนทรงเชี่ยวชาญในศิลปะแขนงต่าง ๆ อย่างแท้จริง สมกับที่พสกนิกรชาวไทยน้อมเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา “อัครศิลปิน”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเริ่มเรียนดนตรีเมื่อมีพระชนมายุ 13 พรรษา ขณะที่ประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ กับครูชาวอัลซาส ชื่อ นายเวย์เบรชท์ โดยทรงเรียนการเป่าแซกโซโฟน วิชาการดนตรี การเขียนโน้ต และการบรรเลงดนตรีสากลต่าง ๆ ในแนวดนตรีคลาสสิค เป็นเบื้องต้น ต่อมาจึงเริ่มฝึกดนตรีแจ๊ส โดยทรงหัดเป่าแซกโซโฟนสอดแทรกกับแผ่นเสียงของนักดนตรีที่มีชื่อเสียงได้เป็นอย่างดี เช่น Johnny Hodges และ Sidney Berchet เป็นต้น จนทรงมีความชำนาญ และทรงโปรดดนตรีประเภท Dixieland Jazz เป็นอย่างมาก

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องดนตรีได้ดีหลายชนิด ทั้งประเภทเครื่องลม เช่น แซกโซโฟน คลาริเนต และประเภทเครื่องทองเหลือง เช่น ทรัมเป็ต รวมทั้งเปียโน และกีตาร์ ที่ทรงฝึกเพิ่มเติมในภายหลัง เพื่อประกอบการพระราชนิพนธ์เพลง และเพื่อทรงดนตรีร่วมกับวงดนตรีส่วนพระองค์ เพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ส่วนใหญ่ขณะประทับอยู่ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และเมื่อเสด็จฯ นิวัติพระนครใหม่ ๆ นั้นเป็นเพลงในแนว “บลูส์” (Blues) ซึ่งเป็นสไตล์หนึ่งของดนตรีแจ๊ส ที่เริ่มเป็นที่นิยมในสหรัฐตั้งแต่ราวปี พ.ศ. 2443 เสียงโน้ตที่แปร่งหูในแนวบลูส์ และช่วงจังหวะที่ขัดธรรมชาติของเพลงในบางครั้ง ได้สร้างมิติใหม่ให้แก่วงการเพลงในยุคนั้น เพลงบูลส์ที่รำพันถึงความโศกเศร้าและคับแค้นใจจึงแฝงไว้ด้วยคติธรรมของชีวิตจริงอยู่ด้วยเสมอ ดังเช่น บทพระราชนิพนธ์ “ชะตาชีวิต” ทรงพระราชนิพนธ์เพลงนี้ขณะที่เสด็จฯ ไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ หลังจากที่เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติแล้วในปี พ.ศ. 2489 ทำนองเพลงอันเรียบง่ายที่อาศัยการดำเนินเสียงประสานของคอร์ดบลูส์ จำนวน 12 ห้อง ซึ่งเรียกว่า “Blues Progression” เป็นหลักสำคัญในการพระราชนิพนธ์เพลงประเภทนี้

Credit : www.porpeang.org