เมื่อคนกับป่าอยู่ร่วมกัน ป่าจะยังคงความสมบูรณ์ และสร้างประโยชน์สุขอย่างยั่งยืนตลอดไป
ความเป็นมา : ห่างจากตัวเมืองกาญจนบุรีไปทางทิศเหนือ ประมาณ 120 กม. เป็นที่ตั้งของโครงการห้วยองคต อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งแต่เดิมเป็นพื้นที่ป่าสงวนที่ถูกบุกรุกทำลาย ทรัพยากรธรรมชาติจึงเสื่อมโทรมลง ความแห้งแล้งได้เข้ามาแทนที่ แต่แล้วการเยียวยาเพื่อรักษาผืนป่าแห่งนี้ก็ได้เริ่มขึ้น ในราวปี 2533 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชดำริให้จัดทำโครงการเพื่อช่วยเหลือราษฎรที่อยู่ในพื้นที่นั้น ทรงพระราชทานพระราชดำริให้จัดหาที่ดินจำนวนหนึ่งเพื่อพัฒนาและช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ตำบลหนองปรือ อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี และทรงให้จัดหาแหล่งน้ำเป็นอันดับแรก เพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตและทรัพยากรธรรมชาติ ให้ฟื้นกลับคืนความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง และพระราชทานชื่อโครงการว่า โครงการห้วยองคต อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการห้วยองคตมีพื้นที่ 20,625 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 4 หมู่บ้าน มีอ่างเก็บขนาดเล็กและขนาดกลางอยู่ 4 อ่าง ได้แก่
- อ่างเก็บน้ำห้วยแม่ระวัง
- อ่างเก็บน้ำห้วยหวาย
- อ่างเก็บน้ำเขาพุช้างหมอบ กักเก็บน้ำได้ 3 ล้าน ลบ.ม. ต่อมาน้ำไม่เพียงพอ จึงสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกาลง
- อ่างเก็บน้ำพุตะเขียน กักเก็บน้ำได้ถึง 4 ล้าน ลบ.ม.
หลักการ : โครงการห้วยองคต อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้จัดแบ่งแปลงที่ดินทำกินครอบครัวละ 8 ไร่ ครอบครัวใหญ่ 16 ไร่ รวม 907 แปลง และแปลงที่อยู่อาศัยครอบครัวละ 1 ไร่ รวม 780 แปลง และทรงพระราชทานพระราชดำริให้ยึดหลัก บวร เป็นหลักการดำเนินงานที่อาศัยลักษณะความสัมพันธุของสังคมไทยที่ผูกพันกันด้วยสายใยอันแนบแน่น ระหว่างบ้าน วัด โรงเรียน และราชการ โดยแต่ละส่วนจะช่วยเหลือเกื้อกูลและประสานความร่วมมือกันในการแก้ปัญหา ตลอดจนพัฒนาชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งรวม ถึงการร่วมมือกัน หวงแหนและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นของตนอีกด้วย ราษฎรในพื้นที่โครงการก็ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งด้านที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย การศึกษา สุขภาพอนามัย มีศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง โดยจัดทำแปลงสาธิตการปลูกพืชเศรษฐกิจ การอบรมความรู้ มีการส่งเสริมให้จัดตั้งกลุ่มอาชีพ เพื่อสร้างรายได้เสริม และพัฒนาความเป็นอยู่ให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างแท้จริง