ทั่วไป

ปราชญ์ชาวบ้าน

ปราชญ์ชาวบ้าน
ผศ.อรรถพล อุสายพันธ์
มหาวิทยาลัยราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง

            ปราชญ์ทางพุทธศาสนา หมายถึง คนที่รู้เรื่องทุกข์กับการดับทุกข์ คือ รู้ว่าจริงๆ แล้วความทุกข์จริงๆ แล้วมันคืออะไร มันเกิดมาได้อย่างไร มันจะดับลงไปได้ด้วยอาการอย่างไร แล้วรู้วิธีที่จะดับทุกข์ให้ตนเองได้ รู้เท่านี้ก็ถือว่าเป็นผู้รู้ เป็นปราชญ์ในทางพุทธศาสนาได้แล้ว

ส่วนคำว่า ปราชญ์ โดยทั่วไป หมายถึง ความรู้ นักปราชญ์ก็คือผู้ที่รักในความรู้ ความรู้ที่เขายกย่องกันก็มี 2 แบบ ถือ แบบแนวนอนกับแนวตั้ง หรือความรู้แนวราบกับแนวดิ่ง แนวราบก็คือรู้กว้าง รู้ไปทุกเรื่องแต่อาจจะไม่รู้ลึก เรียกอีกอย่างว่าพหูสูตร แนวดิ่งก็คือรู้เจาะลึกเป็นเรื่องๆ สมัยนี้เรียกว่าความรู้เฉพาะทาง ฝรั่งเรียก specialist

         หลักคิดของปราชญ์ชาวบ้าน :

มีปราชญ์ชาวบ้านหลายร้อยคนในสังคมไทย ที่เสนอหลักคิด วิธีการทำงาน เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับชุมชนและสังคม ผ่านกระบวนการการปฏิบัติตลอดชีวิต ลองผิดลองถูก เรียนรู้ท่ามกลางการเผชิญปัญหา ถอดสรุปบทเรียน ตกผนึกจนกลายเป็นภูมิปัญญา สามารถนำไปปฏิบัติใช้ในที่อื่นๆ ได้  แก่นของหลักคิดและวิธีการที่ปราชญ์ชาวบ้านเสนอไม่ว่าจะเป็นบุคคล หรือระดับชุมชนเบื้องต้นสุด เริ่มจาก

  1. การรู้จักตัวเองให้ได้ : นั่นคือ ต้องรู้ว่า ปัญหาที่เราเผชิญอยู่เกิดจากอะไร  ใครทำให้เกิดปัญหา เราสร้างปัญหาเอง หรือ คนอื่นสร้างปัญหา เช่น เพราะนโยบายของรัฐบาล หรือ เพราะใครวิเคราะห์ตนเอง ชุมชน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รากฐาน ประวัติศาสตร์ความเป็นมา มีทรัพยากรอะไรบ้าง มีทุนปัญญา ทุนทางสังคม ทุนวัฒนธรรม และ ทุนทรัพย์อยู่หรือไม่ ถ้ามีจำนวนเท่าไหร่  ชีวิต หรือ ชุมชน ต้องการอะไร อะไรคือสิ่งที่จำเป็น อะไรคือสิ่งที่ต้องการ การวิคราะห์ตัวเอง ทำให้เราได้เข้าใจตัวเอง ทราบถึงความจำเป็น และความต้องการที่แท้จริง ทำให้ชีวิตหรือชุมชน สามารถจัดความสัมพันธ์ หรือ กำหนดท่าทีต่อสิ่งที่มาจากภายนอก ที่เข้ามา เป็นผู้เลือก คัดสรร อะไรควรรับ หรือควรปฏิเสธ รับแล้วควรปรับให้เข้ากับชีวิตหรือชุมชน ได้อย่างไร เป็นการรู้เท่าทันสิ่งภายนอก เปรียบเสมือนชุมชนที่มีภูมิต้านทานโรคร้ายที่เข้ามา
  2. ใช้ปัญญาทำงานแทนเงินตรา : เน้นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ พัฒนาคนให้เกิดปัญญา มีความคิดที่จะแก้ปัญหาด้วยตัวเอง การระดมทุน ระดมทรัพยากรมาทีหลัง มีความเชื่อมั่นว่าถ้ามนุษย์เกิดปัญญา จะสามารถแก้ปัญหาได้ การทำงานร่วมกัน จึงต้องตระหนักเสมอว่า เป็นกระบวนการในการสร้างคนขึ้นมา
  3. สร้างการมีส่วนร่วมแทนอำนาจสั่งการ : ใช้วิธีการทำงานโดยชักชวนคนเข้าร่วมจากกลุ่มเล็กๆ ก่อน ทำให้เกิดผลงานเห็นชัดเจน มีตัวอย่างรูปธรรมพิสูจน์ได้ จนเกิดการยอมรับว่า สามารถทำได้จริง จึงขยายผลไปสู่วงกว้าง ชักชวน สร้างแนวร่วมให้คนเข้าร่วม กระบวนการมากขึ้นเรื่อยๆ

มีหลักในการระดมความคิดร่วมกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างทำ แต่จะให้ร่วมคิดกันดังๆ ในที่ประชุม นำแนวคิดของแต่ละคน มาปรับปรุงพัฒนาร่วมกัน เมื่อเกิดความชัดเจนทางความคิด ก็หาแนวทางในการปฏิบัติ ถามถึววิธีการการทำ? มีใครต้องรับผิดชอบ? ต้องใช้ทรัพยากรอะไรบ้าง? ใช้งบประมาณเท่าไหร่? ตอนนี้มีอยู่เท่าไหร่? ต้องกู้มาเท่าไหร่? จะคุ้มค่าหรือไม่? ตั้งคำถาม หาคำตอบ ทุกประเด็น ให้ชัดเจน เมื่อคิดแล้ว ต้องลงมือทำด้วยตัวเอง แต่ถ้าเพียงแต่คิด เพื่อเสนอให้คนอื่นทำ จะไม่ได้ผล ยึดถือคติคิดแล้วต้องลงมือทำ

  1. ชุมชนต้องมีบทบาทหลัก ไม่ใช่หน่วยงานราชการ : งานพัฒนาชุมชนที่ผ่านมา เป็นงานของหน่วยงานราชการเป็นหลัก ชุมชนเป็นเพียงผู้เข้าร่วม ถูกขอร้องให้ช่วยทำเพื่อให้เกิดผลงาน ที่หน่วยงานราชการจะได้นำไปรายงานตามลำดับชั้น จนถึงระดับกระทรวง เป้าหมายของราชการ จึงไม่ได้อยู่ที่จะเกิดผลต่อการพัฒนาชาวบ้านแต่อย่างใด แต่อยู่ที่จะมีอะไรไปรายงานเป็นผลงานของหน่วยงานราชการเอง จึงต้องเปลี่ยนกลับกันเป็น ต่อไปนี้ ชุมชนต้องมีบทบาทหลัก หน่วยงานราชการเป็นเพียงผู้เข้าร่วม ส่งเสริมสนับสนุน ชาวบ้านจะต้องเป็นพระเอก ข้าราชการต้องลดบทบาทตัวเองลง เมื่อหน่วยงานราชการถอนตัว ชุมชนก็สามารถดำเนินการด้วยตัวเองไปได้ ไม่ใช่เหมือนการพัฒนาที่ผ่านมา เมื่อหน่วยงานราชการถอนตัว หมดงบประมาณ ไม่มาส่งเสริม โครงการนั้นก็ล้มหายตายจากไปพร้อมกับหน่วยงานราชการนั้น
  2. ทำตัวเป็นแบบอย่าง คนยอมรับนับถือ : วิถีชีวิตของปราชญ์ชาวบ้าน เป็นวิถีที่เรียบง่าย ไม่ฟุ้งเฟ้อ ใช้ชีวิตแบบสมถะ มีความซื่อสัตย์ เป็นคนมีคุณธรรม ยึดหลักพุทธรรม ไม่มีปัญหาทางด้านการเงิน ทุกคนให้การยอมรับนับถือ ใช้ชีวิตอย่างคนที่พออยู่พอกิน ไม่ทะยานอยากไปตามกำเลสฝ่ายต่ำ ใช้ชีวิตแบบมีสติ ปฏิเสธสังคมบริโภคนิยมวัตถุ แต่เน้นมิติทางจิตใจ เป็นกัลยาณมิตร อยู่ร่วมกับธรรมชาติ

หลักคิดและวิถีชีวิตของปราชญ์ เป็นสิ่งที่คนในยุคสมัยนี้ ควรได้เรียนรู้ และนำไปเป็นแบบอย่างในการดำรงชีวิต ภูมิปัญญา วิธีการในการทำงาน สามารถนำไปใช้ปฏิบัติในระดับบุคคลและชุมชนได้เป็นอย่างดี

การแก้ปัญหา ไม่ว่าเป็นปัญหาความยากจน หรือปัญหาอะไรก็ตาม ที่เรากำลังเผชิญอยู่ ต้องใช้ปัญญา มีความรู้ความเข้าใจกับสิ่งนั้น และมีวิธีการ ความสามารถในการบริหารจัดการ

ข้อเสนอที่ผ่านการเรียนรู้ตลอดชีวิตของปราชญ์ชาวบ้าน เป็นขุมทรัพย์ทางปัญญา ที่ต้องนำมาใช้ในการพัฒนาสังคมไทย จึงจะสามารถฝ่าวิกฤตการณ์ทุกอย่าง ที่เรากำลังเผชิญอยู่ได้