ผลงานวิชาการ

สังคมพอเพียง / ภาคประชาสังคมจุดเปลี่ยนสำคัญของเศรษฐกิจเพื่อสังคมแบ่งปัน : บริบทของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ภาคประชาสังคมจุดเปลี่ยนสำคัญของเศรษฐกิจเพื่อสังคมแบ่งปัน : บริบทของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
พลตรี ธรรมนูญ   วิถี
Major General Thammanoon Withee
ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 9
Commanding general, 9th INF DIV, RTA
นักศึกษา วปอ. หลักสูตร การป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 58

บทคัดย่อ

                   ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นระบบเศรษฐกิจที่มุ่งต่อการแบ่งปันให้กับสังคม  ซึ่งมีแนวทางการปฏิบัติของประชาชนในทุกระดับตั้งแต่ระดับครอบครัวจนถึงระดับรัฐ บนหลัก  3 ห่วง  2 เงื่อนไข คือ ความพอประมาณ  ความมีเหตุมีผล  ความมีภูมิคุ้มกัน  ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรู้ความรอบคอบและความระมัดระวัง  และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติให้มีคุณธรรมและจริยธรรม   เศรษฐกิจพอเพียงในระดับประเทศมีปัจจัยที่ต้องพิจารณาคือพลังอำนาจของชาติ  โดยเฉพาะพลังอำนาจด้านเศรษฐกิจจำเป็นจะต้องรักษาสมดุลไม่ให้นำหน้าหรือล้าหลังพลังอำนาจของชาติด้านอื่น   เศรษฐกิจพอเพียงนอกจากจะมีความเชื่อมโยงกับองค์ประกอบพลังอำนาจของชาติ และปัจจัยพลังอำนาจของชาติแล้วในด้านเศรษฐกิจเองยังเกี่ยวข้องกับปัจจัยในระบบเศรษฐกิจอีกด้านหนึ่งด้วย  ในอดีตที่ผ่านมารัฐบาลได้อัญเชิญแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มานำทางในการพัฒนาและบริหารประเทศ โดยประยุกต์ใช้กับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งแต่ ฉบับที่ 9 ถึงฉบับที่ 11  ผลการพัฒนาประเทศแม้ว่าจะประสบความสำเร็จ  เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง   เสถียรภาพทางเศรษฐกิจปรับตัวสู่ความมั่นคง ความยากจนลดลง ขณะเดียวกันระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น   แต่ก็มิได้มีการส่งเสริมการดำเนินเศรษฐกิจพอเพียงบนหลัก  3 ห่วง  2 เงื่อนไข ทำให้การพัฒนาเป็นศูนย์กลางยังคงพัฒนาเป็นไปตามแนวทางหรือกระบวนการสร้างของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม สิ่งที่หายไปจึงเป็นเรื่องของคุณธรรม จริยธรรม อันเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจแบ่งปัน เมื่อการพัฒนาคนซึ่งถือเป็นองค์ประกอบหลักของประเทศไม่เป็นไปตามหลักปรัชญาฯ ผลกระทบที่ตามมาคือปัญหาครอบครัว ชุมชน ภาคธุรกิจ และส่งผลกระทบถึงความพอเพียงในระดับประเทศ ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของคนในชาติไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเต็มระบบ  การให้ความสำคัญต่อการรวมพลังสังคมจากทุกภาคส่วนถือเป็นแนวทางที่ดีเนื่องจากการรวมตัวเป็นภาคประชาสังคมแบบครบวงจรกับดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมและส่วนรวมจะเกิดการแบ่งปันให้กับสังคมอย่างสมบูรณ์  ทั้งนี้การรวมตัวเป็นภาคประชาสังคมจะต้องให้ความสำคัญของความพอเพียงในทุกระดับตั้งแต่ระดับบุคคลและครอบครัว ระดับชุมชน ภาคธุรกิจเอกชน และระดับประเทศ และรัฐต้องมีมาตรการสนับสนุนการรวมตัวเป็นภาคประชาสังคมอย่างจริงจัง ในระดับประเทศนั้นการสร้างเครือข่ายการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาสู่การปฏิบัติยังขาดซึ่งกระบวนการดังที่กล่าวมาแล้วจึงไม่สามารถขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาให้เกิดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม    การประยุกต์ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้ครอบคลุมในทุกองค์ประกอบของรัฐคือ คนหรือประชากร  แผ่นดินหรืออาณาเขต  การปกครองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขบนเงื่อนไขเศรษฐกิจพอเพียง และผู้นำหรือรัฐบาล  โดยใช้ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเศรษฐกิจด้านพลังอำนาจของชาติ  ปัจจัยพลังอำนาจของชาติ  และระบบเศรษฐกิจ  เป็นแนวทางในการดำเนินการ  ก็ยังถือเป็นการประยุกต์ใช้เป็นส่วนๆ ขาดความเชื่อมโยง ไม่สามารถนำแนวทางเศรษฐกิจแบบสังคมแบ่งปันไปปฏิบัติได้อย่างชัดเจน  ซึ่งแนวทางดังกล่าวกำหนดให้ใช้เศรษฐกิจเพื่อการดำรงชีพเป็นหลัก และให้มีการสำรองไว้ใช้ในยามจำเป็น  หากครบถ้วนสมบูรณ์แล้วจึงจุนเจือแบ่งปันให้กับสังคม  และหากมีเพียงพอแล้วส่วนเกินจึงขาย จำหน่าย จ่ายแจก เพื่อให้มีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น   ภาคประชาสังคม นับเป็นหลักสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจแบบสังคมแบ่งปันดำเนินการได้อย่างครบถ้วนเป็นสังคมแห่งความรู้คู่คุณธรรม  เป็นไปตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่เหมาะสมกับวัฒนธรรม ประเพณี การดำรงชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยและสังคมไทย ส่งผลให้ประเทศชาติและประชาชนมีภูมิคุ้มกันจากภัยคุกคามหลากหลายรูปแบบที่อาจเกิดขึ้น กับช่วยลดสภาวะความเสี่ยงของประเทศชาติและประชาชนได้อย่างแท้จริง

 

กล่าวนำ

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักหรือแนวทางดำเนินการในระบบเศรษฐกิจที่มุ่งต่อการแบ่งปันให้กับสังคม  ซึ่งมีแนวทางการปฏิบัติของประชาชนในทุกระดับตั้งแต่ระดับครอบครัวจนถึงระดับรัฐ  ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวหน้าทันต่อยุคโลกาภิวัตน์  ความพอเพียงบนหลัก  3 ห่วง  2 เงื่อนไข คือ ความพอประมาณ  ความมีเหตุมีผล  รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอต่อการมีผลกระทบใดๆ  อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน  ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรอบรู้ความรอบคอบและความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน ขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ

นอกจากหลัก  3 ห่วง  2  เงื่อนไขแล้ว ความพอเพียงในแต่ละระดับก็ยังนับว่ามีความจำเป็นเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตประจำวันของบุคคล  สถาบันครอบครัว  การดำเนินธุรกิจเอกชน และการบริหารประเทศ ซึ่งสรุปเป็นแนวทางได้ดังนี้ คือ ความพอเพียงระดับบุคคลและครอบครัว มุ่งเน้นให้บุคคลและครอบครัวอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ทั้งทางกายและทางใจ  พึ่งพาตนเองอย่างเต็มความสามารถ  ไม่ทำอะไรเกินตัว  ดำเนินชีวิตโดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น  รวมถึงใฝ่รู้และมีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง  เพื่อความมั่นคงในอนาคตและเป็นที่พึ่งให้ผู้อื่นได้ในที่สุด  ความพอเพียงระดับชุมชน  มุ่งให้คนมีการรวมกลุ่มกันทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม  ช่วยเหลือเกื้อกูลกันภายในชุมชนบนหลักของความรู้รักสามัคคี  สร้างเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงกันทั้งในชุมชนและนอกชุมชน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  รวมทั้งการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น  ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่ง แวดล้อมในชุมชนมาสร้างประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม  เพื่อสร้างเสริมชุมชนให้มีความเข้มแข็ง  มีความเป็นอยู่ที่พอเพียง  ความพอเพียงในภาคธุรกิจเอกชน  เริ่มจากความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจที่หวังผลประโยชน์หรือกำไรระยะยาวมากกว่าระยะสั้น แสวงหาผลตอบแทนบนพื้นฐานของการแบ่งปัน มุ่งให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้รับประโยชน์อย่างเหมาะสมและเป็นธรรม ทั้งลูกค้า คู่ค้า ผู้ถือหุ้นและพนักงาน ด้านการขยาย ธุรกิจต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป  รวมทั้งต้องมีความรู้และเข้าใจธุรกิจของตนเอง รู้จักลูกค้า  ศึกษาคู่แข่ง  และเรียนรู้การตลาดอย่างถ่องแท้  ผลิตในสิ่งที่ถนัดและทำตามกำลัง  สร้างเอกลักษณ์ที่แตกต่างและพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง  มีการเตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น  มีความซื่อสัตย์  รับผิดชอบต่อสังคม  และป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  ที่สำคัญต้องสร้างเสริมความรู้และจัดสวัสดิการให้แก่พนักงานอย่างเหมาะสม  ความพอเพียงระดับประเทศ  เป็นการบริหารจัดการประเทศ  โดยเริ่มจากการวางรากฐานให้ประชาชนส่วนใหญ่อยู่อย่างพอมีพอกินและพึ่งตนเองได้  มีความรู้มีคุณธรรมในการดำเนินชีวิต  มีการรวม กลุ่มของชุมชนหลายๆ แห่ง  เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้สืบทอดภูมิปัญญาและร่วมกันพัฒนาตามแนว ทางเศรษฐกิจพอเพียงอย่างรู้รักสามัคคี  เสริมสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงระหว่างชุมชนให้เกิดเป็นสังคมแห่งความพอเพียงในที่สุด

            เศรษฐกิจพอเพียงในระดับประเทศ มีปัจจัยที่ต้องพิจารณาอีกประการหนึ่ง คือ  พลังอำนาจของชาติ  โดยเฉพาะพลังอำนาจด้านเศรษฐกิจจำเป็นจะต้องรักษาสถานภาพไม่ให้ล้ำหน้าหรือล้าหลังพลังอำนาจของชาติในด้านอื่นๆ หรือเรียกว่าการรักษาสมดุลของพลังอำนาจของชาติโดยใช้พลังอำนาจด้านเศรษฐกิจเป็นแกนนำและใช้พลังอำนาจด้านอื่นสนับสนุน  ซึ่งนอกเหนือจากต้องพิจารณาพลังอำนาจของชาติแล้วยังจำเป็นจะต้องพิจารณาถึงปัจจัยพลังอำนาจของชาติด้วย  เนื่องจากปัจจัยพลังอำนาจของชาติเป็นสิ่งที่จับต้องได้ยากหรือเป็นนามธรรม หากต้องปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมแล้วยังต้องพิจารณาแนวทางด้านเศรษฐกิจในรูปของปัจจัยพลังอำนาจของชาติอีกด้วย  ซึ่งปัจจัยพลังอำนาจของชาติที่เกี่ยวข้องกับพลังอำนาจด้านเศรษฐกิจและถือเป็นปัจจัยหลักคือ  ปัจจัยพลังอำนาจด้านภูมิศาสตร์  ปัจจัยพลังอำนาจด้านภาวะประชากร  ปัจจัยพลังอำนาจด้านทรัพยากรธรรมชาติ  ปัจจัยพลังอำนาจด้านลักษณะประจำชาติ  ปัจจัยพลังอำนาจด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการพลังงานและสิ่งแวดล้อม  ปัจจัยพลังอำนาจด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการทูต และปัจจัยพลังอำนาจด้านการศึกษา  ทั้งนี้ยังต้องใช้พลังอำนาจด้านอื่นๆ สนับสนุน  เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมแบ่งปันมีความสมบูรณ์โดยใช้ปัจจัยพลังอำนาจของชาติด้านอื่นๆ (ปัจจัยสนับสนุน) ในเรื่อง ปัจจัยพลังอำนาจด้านความเชื่อศาสนาจริยธรรมและความจงรักภักดี  ปัจจัยพลังอำนาจด้านกำลังทหาร  ปัจจัยพลังอำนาจด้านเศรษฐกิจ  และปัจจัยพลังอำนาจด้านอุดมการณ์ของชาติและภาวะผู้นำ

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้ความสำคัญตั้งแต่ระดับบุคคลและครอบครัว  การรวมตัวกันของชุมชนระหว่างชุมชนและกับชุมชนอื่นๆ ที่รวมเรียกว่าภาคประชาสังคมซึ่งนับว่าเป็นพลังใหม่ที่จะเข้ามามีส่วนในการแบ่งปันอำนาจรัฐ  จากโครงสร้างอำนาจรัฐเดิมที่อยู่ในกลุ่มข้าราชการ ทหาร ตำรวจ นักธุรกิจ และหากได้รับการส่งเสริมให้ภาคประชาสังคมมีความเข้มแข็ง จะช่วยเปลี่ยนสมการและแบ่งอำนาจในสังคมยุคใหม่ โดยจะก่อให้เกิดแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ   ซึ่งหมายถึงการเติบโตอย่างมีพลวัต มีเสถียรภาพ มีความเป็นธรรม และมีสภาวะทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคตได้

ก.  “เศรษฐกิจพอเพียง”  เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า  24  ปี  ตั้งแต่ก่อนวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและเมื่อภายหลังได้ทรงเน้นย้ำแนวทางแก้ไขเพื่อให้รอดพ้นและสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง  ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ    เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่  และปฏิบัติของประชาชนในทุกระดับตั้งแต่ระดับครอบครัวจนถึงระดับรัฐ  ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง  โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ  เพื่อให้ก้าวหน้าทันต่อยุคโลกาภิวัตน์   ความพอเพียงหมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอต่อการมีผลกระทบใดๆ  อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน  ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรอบรู้  ความรอบคอบ  และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่างๆ  มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน  และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ  นักทฤษฎีและนักธุรกิจทุกระดับให้มีสำนึกในคุณธรรม  ความซื่อสัตย์สุจริต  และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสมดำเนินชีวิตด้วยความอดทน  ความเพียร  มีสติปัญญา  และความรอบคอบ  เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างวางทั้งด้านวัตถุ  สังคม  สิ่งแวดล้อม  และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี  การพัฒนาด้านเศรษฐกิจตามพระบรมราโชวาทที่พระองค์ท่านได้พระราชทานเป็นหลัก   เปรียบเสมือนเสาเข็มเป็นรากฐานของชีวิต  รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน  ดำรงชีวิตปฏิบัติภารกิจแบบคนจน  มีพอสมควร  พออยู่ได้แบบที่ไม่ติดกับตำรามากเกินไป ทำอย่างมีความสามัคคี  มีเมตตา  เอื้อเฟื้อต่อกัน  พึ่งตนเองได้  ผลิตอะไรมีพอที่จะใช้อยู่ได้ด้วยตนเองเป็นทางสายกลาง  หลักสำคัญของเศรษฐกิจพอเพียง  ความพอเพียง  หมายถึง  ทำพอประมาณด้วยเหตุและผล  มีความสมดุล  การพัฒนาต้องเป็นไปตามลำดับขั้นตอนดังนี้  ต้องสร้างภูมิคุ้มกันในตัว  เพื่อสามารถเผชิญและอยู่รอดจากผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน  ต้องมีความรอบรู้  ความรอบคอบและความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่างๆมาใช้ในการวางแผนและดำเนินการทุกๆ ขั้นตอน  ต้องเสริมสร้างพื้นฐานทางจิตใจของคนในประเทศให้สำนึกในคุณธรรม  จริยธรรมและศีลธรรม, ต้องดำเนินชีวิตด้วยความอดทน  ความเพียร  มีสติปัญญาและความรอบคอบ, ต้องสร้างความสมดุลและความพร้อมต่อการรับการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ  ซึ่งสามารถสรุปเป็นหลัก  3 ห่วง  2 เงื่อนไข ได้ดังนี้

  1. หลักความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ อย่างรอบคอบ
  2. หลักความพอประมาณ หมายถึง การดำเนินชีวิต หรือธุรกิจอย่างความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นโดยคำนึงถึงกำลังของตนเป็นสำคัญ ไม่ใช้จ่ายเกินกำลังของตนเองทั้งการผลิตและการบริโภค
  3. หลักภูมิคุ้มกัน หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านที่จะเกิดขึ้น โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล
  4. เงื่อนไขความรู้  หมายถึง ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผน และความระมัดระวังในขั้นปฏิบัติ
  5. เงื่อนไขคุณธรรม หมายถึง มีความตระหนักในคุณธรรม  มีความซื่อสัตย์สุจริต  และมีความอดทน มีความเพียรใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต

ข.  สำนักงานคณะกรรมการการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  ให้ความเห็นว่าเป็นปรัชญาที่สามารถประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียงสำหรับสังคมแต่ละระดับได้  เช่น  ระดับบุคคลครอบครัว  สามารถให้ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนใน  5 ด้าน  คือ  จิตใจ  สังคม  เทคโนโลยี  ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ  รู้จักคำว่า “พอ” ไม่เบียดเบียนผู้อื่นพยายามพัฒนาตนเองเสริมสร้างความเข้มแข็งและความชำนาญ  มีความสุขและความพอใจกับชีวิตที่พอเพียงยึดเส้นทางสายกลางในการดำรงชีวิต  นอกจากนั้นยังสามารถประยุกต์ใช้กับระดับชุมชน ระดับรัฐหรือระดับประเทศ  ระดับนักธุรกิจ  ระดับนักการเมือง  ระดับเจ้าหน้าที่ของรัฐ  ระดับครู  อาจารย์  คนทุกวัย  ทุกศาสนาหรือนำไปกำหนดนโยบายงานหรือระบบต่างๆ  เช่น  การเงิน  การคลัง  ระบบการศึกษา  ระบบเกษตร

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลางและความไม่ประมาท โดยคำนึงถึงความพอประมาณ  ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว  ตลอดจนใช้ความรู้ความรอบคอบและคุณธรรมประกอบการวางแผน การตัดสินใจและการกระทำ จึงเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน ระดับธุรกิจ จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาตนเองทั้งในระดับบุคคล ธุรกิจและเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ พอแบ่งเป็นระดับได้ดังนี้

  1. 1. ความพอเพียงระดับบุคคลและครอบครัว  มุ่งเน้นให้บุคคลและครอบครัวอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข  ทั้งทางกายและทางใจ  พึ่งพาตนเองอย่างเต็มความสามารถไม่ทำอะไรเกินตัว  ดำเนินชีวิตโดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น  รวมถึงใฝ่รู้และมีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง  เพื่อความมั่นคงในอนาคตและเป็นที่พึ่งให้ผู้อื่นได้ในที่สุด  เช่น  หาปัจจัยสี่มาเลี้ยงตนเองและครอบครัวจากการประกอบสัมมาชีพ  รู้ข้อมูลรายรับ – รายจ่าย  ประหยัดแต่ไม่ใช่ตระหนี่  ลด – ละ – เลิก  อบายมุข  สอนให้เด็กรู้จักคุณค่า  รู้จักใช้รู้จักออมเงินและสิ่งของเครื่องใช้  ดูแลรักษาสุขภาพ  รู้จักการแบ่งปันกันในครอบครัว  ชุมชน  และสังคมรอบข้าง  รวมถึงการรักษาวัฒนธรรม  ประเพณี  และการอยู่ร่วมกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างเหมาะสมการประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียงในระดับบุคคลและครอบครัวจะเลือก หาน้ำใส่ตุ่มซึ่งก็คือ  การหารายได้เพิ่ม  หรือจะเลือกอุดรูรั่วของตุ่มซึ่งก็คือ  การลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นกันก่อนดี
  2. 2. ความพอเพียงระดับชุมชน  คนมีการรวมกลุ่มกันทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม  ช่วยเหลือเกื้อกูลกันภายในชุมชนบนหลักของความรู้รักสามัคคี  สร้างเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงกันทั้งในชุมชนและนอกชุมชน  ทั้งด้านเศรษฐกิจ  สังคม  ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  เช่น  การรวมกลุ่มอาชีพ  องค์กรการเงิน  สวัสดิการชุมชน  การช่วยดูแลรักษาความสงบ  ความสะอาด  ความเป็นระเบียบเรียบร้อย  รวมทั้งการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น  ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในชุมชนมาสร้างประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม  เพื่อสร้างเสริมชุมชนให้มีความเข้มแข็งและมีความเป็นอยู่ที่พอเพียง
  3. 3. ความพอเพียงในภาคธุรกิจเอกชน  เริ่มจากความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจที่หวังผล ประโยชน์หรือกำไรระยะยาวมากกว่าระยะสั้น  แสวงหาผลตอบแทนบนพื้นฐานของการแบ่งปัน  มุ่งให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้รับประโยชน์อย่างเหมาะสมและเป็นธรรมทั้งลูกค้า คู่ค้า  ผู้ถือหุ้น และพนักงาน  ด้านการขยายธุรกิจต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปรวมทั้งต้องมีความรู้และเข้าใจธุรกิจของตนเอง รู้จักลูกค้า ศึกษาคู่แข่ง  และ เรียนรู้การตลาดอย่างถ่องแท้ ผลิตในสิ่งที่ถนัดและทำตามกำลัง สร้างเอกลักษณ์ที่แตกต่างและพัฒนาคุณภาพ ผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง  มีการเตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น  มีความซื่อสัตย์  รับผิดชอบต่อสังคม  และป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  ที่สำคัญต้องสร้างเสริมความรู้และจัดสวัสดิการให้แก่พนักงานอย่างเหมาะสม
  4. 4. ความพอเพียงระดับประเทศ  เป็นการบริหารจัดการประเทศโดยเริ่มจากการวางรากฐานให้ประชาชนส่วนใหญ่อยู่อย่างพอมีพอกินและพึ่งตนเองได้  มีความรู้มีคุณธรรมในการดำเนินชีวิต  มีการรวมกลุ่มของชุมชนหลายๆ  แห่ง  เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้  สืบทอดภูมิปัญญาและร่วมกันพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงอย่างรู้รักสามัคคี  เสริมสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงระหว่างชุมชนให้เกิดเป็นสังคมแห่งความพอเพียงในที่สุด

ค.  การเสริมสร้างให้ประชาชนตระหนักถึงหน้าที่  มีความรักความสามัคคีของคนในชาติ รวมทั้งเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่มีผลกระทบมาจากกระแสโลกาภิวัตน์ในปัจจุบัน  และให้ประชาชนมีความตระหนักว่าการปลูกจิตสำนึกด้านคุณธรรมจริยธรรมจะเป็นเครื่องมือสำคัญ และมีพลังในที่จะสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กๆ และเยาวชนคนรุ่นหลังให้มีความรู้เพียงพอที่จะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในสังคมที่แวดล้อมไปด้วยปัญหาต่างๆ ในปัจจุบันได้อย่างปลอดภัย รวมทั้งเสริมสร้างความพอเพียงให้กับสถาบันครอบครัวอันเป็นสถาบันหลักพื้นฐานที่สำคัญของสังคมไทย ความพอเพียงของชุมชน และความพอเพียงของประเทศ ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ประเทศชาติและประชาชน มีภูมิคุ้มกันจาก  ภัยคุกคามหลากหลายรูปแบบที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นการช่วยลดสภาวะความเสี่ยงของประเทศได้อย่างแท้จริง

ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่ชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติของประชาชนในทุกระดับตั้งแต่ระดับครอบครัวจนถึงระดับรัฐ  การจะกล่าวถึงเศรษฐกิจพอเพียงให้ครอบคลุมในทุกด้านจึงจำเป็นจะต้องศึกษาองค์ประกอบของรัฐซึ่งประกอบด้วย คนหรือประชากร  ดินแดนหรืออาณาเขต  ระบอบการปกครอง ไปจนถึงผู้นำประเทศหรือรัฐบาล ให้มีรายละเอียดครอบคลุมตั้งแต่ระดับบุคคลหรือครอบครัว ระดับภาคธุรกิจเอกชน และระดับประเทศ  เมื่อเกี่ยวพันกับระดับประเทศจึงมีความจำเป็นต้องศึกษาถึง “พลังอำนาจของชาติ” หรือ “กำลังอำนาจของชาติ”“ปัจจัยพลังอำนาจของชาติ” หรือ “ปัจจัยกำลังอำนาจของชาติ”  และ ปัจจัยหลักของระบบเศรษฐกิจอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

“พลังอำนาจ” หรือ “กำลังอำนาจ” มีความหมายเหมือนกันคือ  มาจากรากศัพท์ภาษาอังกฤษคำเดียวกันว่า POWER โดยทั่วไปมักจะนำมาใช้แยกกันเพื่อแสดงให้เห็นความแตกต่างของวัตถุประสงค์กล่าวคือ  เมื่อหมายถึงชาติหรือประเทศเป็นส่วนรวมจะใช้คำว่า “พลังอำนาจ” ส่วนคำว่า “กำลังอำนาจ” จะใช้เมื่อกล่าวถึงองค์ประกอบของพลังอำนาจอย่างหนึ่งอย่างใดโดยเฉพาะ เช่น กำลังอำนาจทางทหาร  กำลังอำนาจทางการเมือง  กำลังอำนาจทางเศรษฐกิจและกำลังอำนาจทางสังคมจิตวิทยาเป็นต้น

         พลังอำนาจของชาติ หรือ National Power หมายถึง “กำลังหรือขีดความสามารถทั้งปวงของชาติ ในการทำให้ผลประโยชน์ของชาติบรรลุผล” องค์ประกอบของพลังอำนาจของชาติในยุคปัจจุบันคือ การเมือง เศรษฐกิจ  สังคมจิตวิทยา  การทหาร  วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ภูมิศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  องค์ประกอบของพลังอำนาจของชาติแต่ละด้านล้วนแล้วแต่มีความสำคัญไม่ด้อยไปกว่ากัน  การกำหนดพลังอำนาจของชาติต่างๆ มีส่วนหนึ่งที่เหมือนกันเสมือน เป็นพลังอำนาจมูลฐานที่ทุกชาติต้องมี  ได้แก่ การเมือง เศรษฐกิจ การทหาร และสังคมจิตวิทยา ส่วนด้านอื่นที่เพิ่มขึ้นมาย่อมขึ้นอยู่กับกลไกและศักยภาพของชาตินั้นๆ ที่จะดำเนินการพัฒนาให้เกิดขึ้น ทุกพลังอำนาจที่แต่ละชาติมียิ่งมากเท่าใดย่อมเสริมสร้างความมั่นคงเข้มแข็งให้กับประเทศนั้นๆ อย่างมีประสิทธิผล

กำลังอำนาจแห่งชาติซึ่งโดยสรุปแล้วหมายถึงกำลังขีดความสามารถของชาติที่จะนำมาใช้เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์แห่งชาติและให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์แห่งชาติของตน  ดังนั้นการที่ประเทศใดจะมีกำลังอำนาจเหนือกว่าหรือด้อยกว่าอีกประเทศหนึ่งนั้นอาจพิจารณาได้จากองค์ประกอบต่างๆ ที่มีอยู่ภายในประเทศนั้นๆ  เป็นปัจจัยสำคัญนักวิชาการสำนักต่างๆ  กำหนดปัจจัยอันเป็นองค์ประกอบของกำลังอำนาจแห่งชาติไว้แตกต่างกันขึ้นอยู่กับแนวทางในการพิจารณาที่แตกต่างกันออกไปอย่างไรก็ตามโดยที่นิยมแล้วสามารถกำหนดปัจจัยอันเป็นองค์ประกอบของกำลังอำนาจแห่งชาติไว้จำนวน 11 ปัจจัยทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม ดังนี้ คือ  สภาพทางภูมิศาสตร์ประชากร  ทรัพยากรธรรมชาติ ความเชื่อศาสนาจริยธรรมและความจงรักภักดีลักษณะประจำชาติกำลังทหารวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการเศรษฐกิจความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการทูตการศึกษา  และอุดมการณ์ของชาติและภาวะผู้นำในฐานะเป็นปัจจัยกำลังอำนาจแห่งชาติ

เศรษฐกิจพอเพียงในระดับประเทศยังมีปัจจัยที่ต้องพิจารณาอีกประการหนึ่งคือ พลังอำนาจของชาติ  โดยเฉพาะพลังอำนาจด้านเศรษฐกิจจำเป็นจะต้องรักษาสถานภาพไม่ให้ล้ำหน้าหรือล้าหลังพลังอำนาจของชาติในด้านอื่นๆ หรือเรียกว่าการรักษาสมดุลของพลังอำนาจของชาติโดยใช้พลังอำนาจด้านเศรษฐกิจเป็นแกนนำและใช้พลังอำนาจด้านอื่นสนับสนุน  ซึ่งนอกเหนือจากต้องพิจารณาพลังอำนาจของชาติแล้วยังจำเป็นจะต้องพิจารณาถึงปัจจัยพลังอำนาจของชาติด้วย  เนื่องจากปัจจัยพลังอำนาจของชาติเป็นสิ่งที่จับต้องได้ยากหรือเป็นนามธรรม หากต้องปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมแล้วยังต้องพิจารณาแนวทางด้านเศรษฐกิจในรูปของปัจจัยพลังอำนาจของชาติอีกด้วยซึ่งปัจจัยพลังอำนาจของชาติที่เกี่ยวข้องกับพลังอำนาจด้านเศรษฐกิจและถือเป็นปัจจัยหลักคือ  ปัจจัยพลังอำนาจด้านภูมิศาสตร์ ปัจจัยพลังอำนาจด้านภาวะประชากร ปัจจัยพลังอำนาจด้านทรัพยากรธรรมชาติ ปัจจัยพลังอำนาจด้านลักษณะประจำชาติ  ปัจจัยพลังอำนาจด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การพลังงานและสิ่งแวดล้อม  ปัจจัยพลังอำนาจด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการทูต และปัจจัยพลังอำนาจด้านการศึกษา  ทั้งนี้ยังต้องใช้พลังอำนาจด้านอื่นๆ สนับสนุน  เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมแบ่งปันมีความสมบูรณ์โดยใช้ปัจจัยพลังอำนาจของชาติด้านอื่นๆ (ปัจจัยสนับสนุน) ในเรื่อง ปัจจัยพลังอำนาจด้านความเชื่อศาสนาจริยธรรมและความจงรักภักดี  ปัจจัยพลังอำนาจด้านกำลังทหาร  ปัจจัยพลังอำนาจด้านเศรษฐกิจ  และปัจจัยพลังอำนาจด้านอุดมการณ์ของชาติและภาวะผู้นำ ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้

                     ปัจจัยหลัก

  1. สภาพทางภูมิศาสตร์ในฐานะเป็นปัจจัยกำลังอำนาจแห่งชาติ สภาพทางภูมิศาสตร์เป็นสิ่งจำเป็นและเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งของกำลังอำนาจแห่งชาติสภาพหรือลักษณะทางภูมิศาสตร์มีส่วนสำคัญในการทำให้เกิดอิทธิพลหรืออาจก่อให้เกิดความได้เปรียบหรือเสียเปรียบในระหว่างประเทศสภาพทางภูมิศาสตร์ที่มีความสำคัญในฐานะเป็นปัจจัยกำลังอำนาจแห่งชาติที่จะต้องนำมาศึกษาพิจารณาได้แก่ ที่ตั้ง (Location) ขนาด (Size) รูปร่าง (Shape) ลักษณะภูมิประเทศ (Topography) ลักษณะภูมิอากาศ (Climate) และพรมแดน (Boundary)
  2. ประชากรในฐานะเป็นปัจจัยกำลังอำนาจแห่งชาติ ดังเป็นที่เข้าใจและยอมรับกันแล้วว่าทรัพยากรมนุษย์หรือประชากรหรือพลเมืองของประเทศเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดโดยเฉพาะอย่างยิ่งประชากรที่มีคุณภาพ (Knowledge Citizen) จะเป็นกำลังสำคัญที่สุดที่จะเสริมสร้างกำลังอำนาจให้กับประเทศชาติให้มีศักยภาพในการแข่งขันระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ  นอกจากนั้นภาวะการณ์ดำรงอยู่ของชาติหรือของประเทศเกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้ด้วยการรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่นของประชาชนส่วนใหญ่ที่ต้องยอมรับในกฎเกณฑ์และกติกาของสังคมที่อยู่ร่วมกันหากเมื่อใดที่กลุ่มประชาชนเหล่านี้ไม่ยอมรับในกติกาที่เป็นอยู่และแยกตัวออกเป็นกลุ่มพรรคพวกเป็นกลุ่มๆ แล้วความเป็นชาติจะได้รับความกระทบกระเทือนและไม่อาจจะดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงต่อไป
  3. ทรัพยากรธรรมชาติในฐานะเป็นปัจจัยกำลังอำนาจแห่งชาติ  ทรัพยากรธรรมชาติ (Natural Resources) หมายถึง สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและให้คุณประโยชน์ต่อมนุษย์ตามความสามารถทางวิทยาการโดยรวมทั้งสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตซึ่งธรรมชาติเป็นผู้สร้างเราแบ่งทรัพยากรธรรมชาติตามลักษณะการคงอยู่ออกได้เป็น  3  ชนิด คือ ทรัพยากรที่ใช้แล้วไม่รู้จักหมดสิ้น (Non – Exhausting Natural Resources) เช่น  อากาศน้ำแสงแดด  เป็นต้น  ทรัพยากรที่ใช้แล้วจะทดแทนได้ (Renewable Natural Resources) คือ สิ่งที่ใช้ไปแล้วสามารถทดแทนได้ในระยะสั้นหรือระยะยาวเช่นป่าไม้สัตว์ดินเป็นต้น  และทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป (Exhausting Natural Resources) คือสิ่งที่ใช้แล้วจะหมดไปโดยไม่สามารถเกิดทดแทนได้บางชนิดอาจเกิดทดแทนได้แต่ต้องใช้ระยะเวลาเป็นล้านๆ ปีซึ่งถือว่านานเกินไปยากที่จะให้เกิดประโยชน์ในชั่วอายุเราจึงถือว่าไม่สามารถทดแทนได้เช่น  น้ำมันปิโตรเลียม  ถ่านหิน  แร่ธาตุก๊าซธรรมชาติ  เป็นต้น  แต่ถ้าแบ่งประเภทของทรัพยากรธรรมชาติในเชิงพาณิชย์ที่อยู่ในฐานะเป็นปัจจัยกำลังอำนาจแห่งชาติในปัจจุบันที่สำคัญสามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ประเภท คือ ทรัพยากรน้ำและแหล่งน้ำ  ทรัพยากรดินและที่ดิน  ทรัพยากรป่าไม้  ทรัพยากรธรณีและพลังงาน และทรัพยากรทางทะเล
  4. ลักษณะประจำชาติในฐานะเป็นปัจจัยกำลังอำนาจแห่งชาติ ลักษณะประจำชาติหรือลักษณะนิสัยประจำชาติ (National Character) หมายถึง ลักษณะในการคิดการแสดงความรู้สึกและการกระทำของประชาชนในชาติโดยรวมเป็นสิ่งที่สืบต่อกันมาทางสายโลหิตตามเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์มักเป็นผลมาจากสภาพแวดล้อมในการดำรงชีวิตความเป็นอยู่การฝึกอบรมวัฒนธรรมการเลียนแบบประสบการณ์ฯลฯ  การมีชีวิตอยู่และเติบโตในสังคมเดียวกันทำให้ประชากรมีความรู้สึกนึกคิดและการประพฤติปฏิบัติเป็นไปในแนวทางเดียวกัน  ดังนั้นลักษณะประจำชาติจึงอาจดูได้จากการประพฤติปฏิบัติของคนส่วนใหญ่ในชาติซึ่งถือกำเนิดอยู่ในประเทศนั้นเป็นการประพฤติปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอและสืบทอดกันมาจนเป็นที่ยอมรับว่าเป็นลักษณะประจำชาตินั้นๆ
  5. วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีในฐานะเป็นปัจจัยกำลังอำนาจแห่งชาติปัจจุบันเรื่องของวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีโดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีสารสนเทศนับว่าเป็นปัจจัยที่มีบทบาทสำคัญต่อชีวิตประจำวันและต่อความเจริญก้าวหน้าและต่อขีดความสามารถในการพัฒนาประเทศในทุกๆ ด้าน ประเทศที่พัฒนาแล้วต่างก็ได้มีการนำเอาวิทยาการสมัยใหม่ทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีมาเป็นปัจจัยเพื่อเสริมสร้างความทันสมัยความรู้ความสามารถและสร้างความได้เปรียบของประเทศในเวทีการแข่งขันระหว่างประเทศจนเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่าในทศวรรษที่ผ่านมานั้นวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีมีอิทธิพลอย่างสูงในการปรับเปลี่ยนวงจรชีวิตของคนในประเทศและในสังคมโลกโดยรวม  ทั้งในด้านของสังคม  เศรษฐกิจ  การเมืองและแม้แต่การทหารหรือการป้องกันประเทศ
  6. ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการทูตในฐานะเป็นปัจจัยกำลังอำนาจแห่งชาติ

คำว่า “การทูต” หรือ “Diplomacy” ได้มีผู้ให้คำนิยามไว้หลายอย่างแต่คำนิยามที่เห็นว่าง่ายและน่าจะเหมาะสมได้แก่ คำนิยาม Sir Ernest Satow ซึ่งได้กล่าวไว้ในหนังสือ A Guideto Diplomatic Practice ว่า “การทูต” คือการใช้สติปัญญาและไหวพริบปฏิภาณในการดำเนินความสัมพันธ์ทางราชการระหว่างรัฐบาลของประเทศเอกราช” หรือหากจะกล่าวโดยย่อก็คือ การดำเนินกิจการระหว่างรัฐโดยสันติวิธีเพื่อรักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ  การดำเนินกิจการระหว่างรัฐจะเป็นไปตามนโยบายต่างประเทศตามวัตถุประสงค์ของชาติเพื่อผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญผลประโยชน์ของประเทศกล่าวโดยทั่วไปจะได้แก่  ความปลอดภัยของชาติความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ  การขยายกำลังอำนาจและเกียรติภูมิของชาติ  ทั้งนี้โดยใช้การทูตซึ่งเป็นเครื่องมือประการหนึ่งในบรรดาเครื่องมืออื่นๆ ที่มีอยู่ในการดำเนินการระหว่างรัฐหรือในการดำเนินการทางการเมืองระหว่างประเทศ

                        7.  การศึกษาในฐานะเป็นปัจจัยกำลังอำนาจแห่งชาติ การที่จะพัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรืองมีอำนาจมีความมั่นคงปลอดภัยในทุกๆ ด้านทั้งด้านเศรษฐกิจ  สังคมวัฒนธรรม  การเมืองการปกครองและการทหารได้นั้นขึ้นอยู่กับความสามารถและคุณภาพของประชากรในชาติความสามารถและคุณภาพของประชากรก็ขึ้นอยู่กับการศึกษา  การศึกษาจึงเป็นส่วนที่มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง  ทั้งนี้เพราะการศึกษาเป็นกระบวนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นการถ่ายทอดวัฒนธรรมเป็นการสร้างภูมิปัญญาให้แก่สังคมเป็นส่วนที่จะช่วยเสริมสร้างความรู้ทักษะและทัศนคติให้มนุษย์รู้จักตนเองตลอดจนสังคมสภาพแวดล้อมที่สัมพันธ์กับตนสามารถนำความรู้ความเข้าใจมาแก้ไขปัญหาต่างๆ  และพัฒนาสังคมประเทศชาติไปในทิศทางที่พึงประสงค์  การศึกษาจึงเป็นรากฐานและเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาการเมืองเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรมของประเทศ

ปัจจัยสนับสนุน

  1. ความเชื่อศาสนาจริยธรรมและความจงรักภักดีในฐานะเป็นปัจจัยกำลังอำนาจแห่งชาติ ความเชื่อศาสนาจริยธรรมและความจงรักภักดีเป็นปัจจัยกำลังอำนาจแห่งชาติที่ผสมผสานอยู่ในปัจจัยภาวะประชากร เป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดและพฤติกรรมของมนุษย์มีผลต่อคุณภาพของประชากรและอุดมการณ์ของชาติอีกทั้งยังสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการศึกษาสภาวะของสังคมการแก้ไขปัญหาสังคมตลอดจนการกำหนดแนวทางในการดำเนินชีวิตและการแก้ปัญหาต่างๆ ในสังคมได้เป็นอย่างดี
  2. กำลังทหารในฐานะเป็นปัจจัยกำลังอำนาจแห่งชาติ ในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของชาติหรือการป้องกันประเทศจากการรุกรานทั้งจากภายในและภายนอกประเทศนั้น  สิ่งแรกที่จะต้องคำนึงถึงก็คือ  กำลังอำนาจแห่งชาติด้านการทหาร  จึงนับได้ว่ากำลังอำนาจแห่งชาติทางด้านการทหารเป็นปัจจัยหลักหรือเป็นเครื่องมือที่สำคัญของรัฐในการปกป้องคุ้มครองชาติให้อยู่รอดปลอดภัยรวมทั้งการที่ประชาชนจะสามารถประกอบอาชีพและพัฒนาประเทศโดยไม่กังวลภัยอันตรายใดๆ
  3. การเศรษฐกิจในฐานะเป็นปัจจัยกำลังอำนาจแห่งชาติ การเปลี่ยนแปลงฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศจากบางช่วงเวลาที่มีความแข็งแกร่งมีความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ความชะงักงันความถดถอยจนในที่สุดเป็นความตกต่ำทางเศรษฐกิจก่อนที่จะฟื้นตัวซึ่งเรียกว่าเป็นวัฏจักรทางธุรกิจนั้น ผลของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อกำลังอำนาจแห่งชาติและความมั่นคงของประเทศในทุกด้านรวมทั้งประชาชนทุกหมู่เหล่าอย่างทั่วถึงดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านมาโดยตลอด  เช่น  ภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจในปี  2540 ได้ส่งผลให้กำลังอำนาจแห่งชาติในทุกๆ ด้านอ่อนแอลง
  4. อุดมการณ์ของชาติและภาวะผู้นำในฐานะเป็นปัจจัยกำลังอำนาจแห่งชาติอุดมการณ์ คือ ความคิดหรือทัศนะที่แสดงออกมาในรูปบ่งชี้ถึงลักษณะค่านิยมของบุคคลในเรื่องที่เกี่ยวกับคนและสภาพแวดล้อมในสังคมโดยความคิดหรือทัศนะนั้นๆ จะต้องประกอบด้วยความรู้สึกตระหนักในการแสดงออกของคนต่อความเชื่อในสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยที่สิ่งนั้นอาจไม่ใช่ข้อเท็จจริงและก็ไม่จำเป็นจะต้องเป็นข้อเท็จจริงเสมอไปแต่ในสายตาของผู้มองถือว่าเป็นความจริงหรือเชื่อว่าควรจะเป็นความจริง ดังนั้นอุดมการณ์ของชาติก็คือเรื่องสัจจะทั้งยังมีทัศนคติค่านิยมและมองเห็นประโยชน์ร่วมกันในสัจจะอันนั้นมีความรู้สึกตระหนักดีว่าจะต้องยึดถือสัจจะนั้นๆ ไว้เป็นสรณะ  เช่น  ยึดมั่นว่า “ชาติย่อมเหนือกว่าสิ่งอื่นใด” ก็จะกระทำไปเพื่อชาติทั้งสิ้นดังนี้  เป็นต้น
  5. ภาวะผู้นำทางการเมืองของประเทศเป็นเรื่องการยอมรับนับถือของประชาชนภายในชาติในความเหนือกว่าของบุคคลโดยตรง  ผู้นำบางคนไม่เฉพาะแต่ประชาชนภายในประเทศเท่านั้นที่จะยอมรับนับถือแม้ชาวต่างประเทศหรือชาติอื่นก็ยังยอมรับนับถือยกย่องด้วย  ทั้งนี้เนื่องจากคนเหล่านั้นมองเห็นความดีเด่นหรือความอัจฉริยะในความเหนือกว่าตนนั้นเองจึงเกิดความนิยมเลื่อมใสยกย่องนับถือ  เมื่อเป็นเช่นนั้นความเป็นผู้นำในลักษณะดังกล่าวย่อมมีอิทธิพลที่จะโน้มน้าวจิตใจประชาชนจากความศรัทธาและความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีอยู่ให้กระทำกิจกรรมใดๆ ได้ตามความประสงค์สามารถรวบรวมจิตใจประชาชนให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันสามารถเรียกร้องความเสียสละแม้กระทั่งชีวิตเพื่อชาติบ้านเมือง  สามารถจะชี้นำประชาชนไปในทิศทางใดได้ตามความปรารถนา  ฉะนั้นภาวะผู้นำจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะภาวะผู้นำทางการเมืองของประเทศซึ่งต่างกับผู้นำทางการบริหารงานทั่วไปผู้นำการบริหารงานทั่วไปเป็นเพียงผู้บริหารงานให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้เท่านั้น
  6. อุดมการณ์กับภาวะผู้นำมีความสำคัญอย่างยิ่งกล่าวคือ  อุดมการณ์ต้องเหมาะสมและผู้นำต้องมีคุณสมบัติที่สอดคล้องเข้ากันได้กับสถานการณ์การบรรลุเป้าหมายแห่งการมีกำลังอำนาจที่เข้มแข็งทั้งอุดมการณ์และภาวะผู้นำจะต้องสอดคล้องกันอุดมการณ์ที่เหมาะสมจะต้องปรากฏอยู่ในทั้งตัวของผู้นำระดับสูงระดับรองและประชาชนโดยทั่วไป

เศรษฐกิจพอเพียงนอกจากจะมีความเชื่อมโยงกับองค์ประกอบพลังอำนาจของชาติและปัจจัยพลังอำนาจของชาติแล้ว  ในด้านเศรษฐกิจเองยังเกี่ยวข้องกับปัจจัยในระบบเศรษฐกิจอีกด้านหนึ่งด้วย  ซึ่งระบบเศรษฐกิจ (Economic System) หมายถึง กลุ่มชนที่รวมกันเป็นกลุ่มสถาบันทางเศรษฐกิจ (Economic Institution) ที่มีแนวปฏิบัติคล้ายๆ กันมาประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (Economic Activities) เพื่อบำบัดความต้องการของผู้บริโภค  แนวปฏิบัติที่คล้ายๆ กันนี้จะเป็นกฎเกณฑ์และนโยบายที่หน่วยเศรษฐกิจในสังคมนั้นยึดถือเป็นแนวปฏิบัติเนื่องจากทรัพยากรของประเทศมีอยู่อย่างจำกัดแต่ความต้องการสินค้าและบริการของประชากรมีอยู่มากมายไม่จำกัดทรัพยากรที่ประเทศต่างๆ มีอยู่จึงไม่สามารถตอบสนองความต้องการทุกอย่างของประชากรได้ระบบเศรษฐกิจก็ได้ทำหน้าที่แก้ปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ 3 ประการคือ

  1. ตัดสินว่าจะผลิตสินค้าหรือบริการอะไรบ้างและควรจะผลิตเป็นจำนวนเท่าใด
  2. ตัดสินว่าในการผลิตสินค้าหรือบริการเหล่านั้นควรจะใช้วิธีการผลิตอย่างไรจึงจะมีประสิทธิภาพดีที่สุดและก่อให้เกิดผลดีแก่หน่วยเศรษฐกิจทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง
  3. ตัดสินว่าจะจำหน่ายจ่ายแจกสินค้าและบริการที่ผลิตได้ไปยังบุคคลกลุ่มใดจึงจะได้รับประโยชน์อย่างคุ้มค่า

หากสถาบันทางเศรษฐกิจในระบบเศรษฐกิจใดสามารถแก้ไขปัญหาพื้นฐาน 3 ประการดังกล่าวได้เป็นผลดีประเทศก็จะสามารถจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้ตอบสนองความต้องการของประชากรที่มีอยู่ไม่จำกัดได้อย่างทั่วถึง  ช่วยให้ประชากรอยู่ดีกินดีและประเทศชาติพัฒนาไปสู่เป้าหมายที่วางไว้  ระบบเศรษฐกิจที่ประเทศต่างๆ  นำมาใช้แก้ปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจมักมีรูปแบบแตกต่างกันมากบ้างน้อยบ้างตามความเหมาะสมกับสภาพการปกครอง  จารีตประเพณีและวัฒนธรรมในประเทศของตน  บางประเทศจึงอยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมและบางประเทศก็อยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบผสมระบบเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่รัฐบาลหรือผู้ปกครองประเทศใช้อำนาจเข้าจัดระเบียบทางเศรษฐกิจเพื่อดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสถาบันทางเศรษฐกิจ  ส่วนระบบการเมืองเป็นเรื่องที่ผู้บริหารประเทศใช้อำนาจเพื่อบริหารประเทศเมื่อระบบการเมืองของประเทศใดแปรเปลี่ยนไประบบเศรษฐกิจของประเทศนั้นอาจคงเดิมหรือเปลี่ยนแปลงไปก็ได้คนในแต่ละประเทศจะมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (Economic activities) แตกต่างกันมีวิธีทำมาหากินต่างกันเช่น  การประกอบอาชีพของคนไทยต่างกับคนยุโรป  การกินอยู่ของคนไทยต่างกับคนญี่ปุ่น  เป็นต้น  ทั้งนี้ก็เพราะประเทศต่างๆ ในโลกอยู่ในระบบเศรษฐกิจแตกต่างกัน  เช่น  สหรัฐอเมริกาอยู่ในระบบทุนนิยมรัสเซียอยู่ในระบบสังคมนิยมอย่างเข้มประเทศไทยอยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบผสม  เป็นต้น  การนำระบบเศรษฐกิจแบบต่างๆ มาใช้ก็เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศให้ประชากรอยู่ดีกินดีสำหรับบุคคลในระบบเศรษฐกิจนั้นหากแบ่งตามหน้าที่ทางเศรษฐกิจแล้วเราจะแบ่งออกได้ดังนี้

  1. ผู้บริโภค (Consumers) ได้แก่ผู้ที่สามารถจัดหาสินค้าและบริการเพื่อนำไปใช้บำบัดความต้องการส่วนตัวและในครัวเรือนจึงอาจกล่าวได้ว่าทุกคนเป็นผู้บริโภคตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอนความต้องการของผู้บริโภคแต่ละคนเมื่อรวมกันก็จะเป็นอุปสงค์รวม (Total demand) ในสินค้าและบริการของตลาดซึ่งมีความสำคัญต่อการผลิตและการกระจายรายได้ของประเทศเพราะเมื่อผู้บริโภคต้องการสินค้าอย่างใดมากขึ้นย่อมจูงใจให้ผู้ผลิตสนใจลงทุนขยายการผลิตสินค้าอย่างนั้นเพิ่มขึ้น เมื่อมีการลงทุนมีการใช้ปัจจัยการผลิตเช่น เงินทุน  ทรัพยากรธรรมชาติ  แรงงาน  วัตถุดิบมากขึ้นคนก็จะมีงานทำและเจ้าของปัจจัยการผลิตมีรายได้เพิ่มขึ้นซึ่งจะมีผลในที่สุดทำให้รายได้ประเทศสูงขึ้น
  2. ผู้ผลิต (Producers) เป็นผู้นำปัจจัยการผลิตคือ ทรัพยากรธรรมชาติ แรงงานและทุนมาดำเนินการผลิตสินค้าและบริการเพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคและจัดการนำสินค้าและบริการจากแหล่งผลิตไปถึงมือผู้บริโภคในท้องถิ่นต่างๆ  การผลิตในทางเศรษฐศาสตร์และบริการทุกชนิดเพื่อบำบัดความต้องการของผู้บริโภค  เช่น  การกสิกรรม  การป่าไม้เหมืองแร่  การประมง  การขนส่ง  การค้าส่ง  การค้าปลีกการแพทย์  การดนตรีฯลฯ  เหล่านี้ล้วนเป็นการผลิตที่ผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการดำเนินการทั้งสิ้น
  3. เจ้าของปัจจัยการผลิต (Factor owners) ได้แก่ ผู้บริโภคที่เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตบางคนอาจเป็นเจ้าของที่ดิน  เป็นเจ้าของแรงงาน   เป็นเจ้าของเงินทุนหรือเป็นผู้ประกอบการ  เช่น  ผู้บริโภคที่มีที่ดินให้เกษตรกรเช่าทำนาก็จะมีรายได้จากค่าเช่านาหรือมีเงินให้พ่อค้ากู้ไปลงทุนก็จะมีรายได้จากดอกเบี้ยเงินกู้เหล่านี้เป็นต้นผู้บริโภคทุกคน (ยกเว้นผู้ที่ยังอยู่ในความปกครองหรือในความอุปการะของบุคคลอื่น) ซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตด้วยกันทั้งสิ้น
  4. องค์การรัฐบาล  ได้แก่  ส่วนราชการหรือหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นเป็นสถาบันเพื่อดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล  องค์การทางภาครัฐบาลจะทำหน้าที่ในระบบเศรษฐกิจที่สัมพันธ์กับภาคเอกชนหน่วยงานของรัฐบาลจะจัดเก็บภาษีรูปแบบต่างจากผู้บริโภคจากผู้ผลิตและผู้เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต  เช่น  ภาษีเงินได้ภาษีการค้า  ภาษีศุลกากร  เป็นต้น  แล้วใช้จ่ายออกมาในรูปของงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อรักษาความสงบทั้งภายในและภายนอกประเทศ  การผลิตและการจำแนกแจกจ่ายควบคุมให้มีการดำเนินการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภครวมทั้งเป็นผู้บริโภคและผู้ผลิตในระบบเศรษฐกิจของประเทศด้วย  ในทางทฤษฎีเราอาจแบ่งหน้าที่ของผู้บริโภค   ผู้ผลิต   เจ้าของปัจจัยการผลิตและองค์การรัฐบาลออกจากกันได้ชัดเจนแต่ในทางปฏิบัตินั้นหน้าที่ของแต่ละบุคคลในระบบเศรษฐกิจมักจะปะปนกันจนแทบจะแยกไม่ออกทุกคนในฐานะผู้บริโภคจำเป็นต้องมีสินค้าและบริการสนองความต้องการเพื่อดำรงชีวิตผู้บริโภคจึงต้องมีรายได้รายได้เหล่านี้ผู้บริโภคได้มาจากการเป็นผู้ผลิตหรือเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต เช่น มีที่ดินให้เช่าและมีรายได้เป็นค่าเช่ามีเงินให้เขากู้และมีรายได้เป็นดอกเบี้ยเป็นต้น

จุดมุ่งหมายของบุคคลในระบบเศรษฐกิจในการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบการค้าของบุคคลในระบบเศรษฐกิจซึ่งเป็นกิจกรรมที่ซับซ้อนอยู่ในปัจจุบันนั้น  บุคคลในระบบเศรษฐกิจต่างมีจุดมุ่งหมายต่างๆ  กันดังนี้

  1. จุดมุ่งหมายของผู้บริโภค ตามปกติเราถือว่าผู้บริโภคโดยทั่วไปเป็นผู้มีเหตุผลทางเศรษฐกิจ (Economic rationality) และมีความต้องการที่จะได้รับความพอใจสูงสุด (Maximum Satisfaction) จากการบริโภคสินค้าและบริการเมื่อผู้บริโภคทำงานมีรายได้เข้ามาเขาจะจัดสรรรายได้ส่วนหนึ่งเลือกซื้อสินค้าและบริการที่ต้องการ  ผู้บริโภคอาจมีความต้องการสินค้าและบริการมากมายบางคนต้องการฟังเพลงเพราะๆ  จากนักร้อง  บางคนต้องการรับประทานอาหารอร่อยๆ  ตามภัตตาคาร  บางคนต้องการแต่งตัวสวยๆ ราคาแพงๆบางคนต้องการเดินทางท่องเที่ยวทั่วโลก  แต่เนื่องจากผู้บริโภคมีรายได้จำกัดเขาไม่สามารถจะซื้อหาสินค้าหรือบริการมาบำบัดความต้องการของเขาพร้อมๆ กันทั้งหมดได้ผู้บริโภคจึงต้องเลือกเฉพาะสิ่งที่เขาจะได้รับความพอใจสูงกว่าเป็นอันดับแรกเพื่อให้ได้รับความพอใจสูงสุดตามจำนวนเงินรายได้ที่เขามีอยู่ผู้บริโภคจะพยายามประหยัดโดยจ่ายเงินน้อยที่สุดในขณะเดียวกันก็ให้ได้รับความพอใจมากที่สุดด้วย
  2. จุดมุ่งหมายของผู้ผลิตผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการ เป็นผู้ทำการผลิตโดยจัดหาปัจจัยการผลิตเช่น  ที่ดินทุนแรงงานมาดำเนินการผลิตสินค้าและบริการแล้วจัดจำหน่ายเพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคโดยมีจุดมุ่งหมายที่จะได้รับกำไรสูงสุด (Maximum profit) ผู้ผลิตจึงพยายามหาทางลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำลงและขายผลิตผลให้ได้ราคาและปริมาณสูงขึ้นเพื่อเขาจะได้รับกำไรสูงสุดตามที่มุ่งหวัง
  3. จุดมุ่งหมายของเจ้าของปัจจัยการผลิต ตามปกติผู้บริโภคในฐานะเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต เช่น ผู้บริโภคอาจจะมีที่ดินให้เขาเช่าทำนาก็จะได้รับค่าเช่าตอบแทนมีเงินให้ผู้ประกอบการกู้ยืมไปลงทุนก็จะได้รับดอกเบี้ยแทนนำแรงงานไปรับจ้างก็จะได้รับค่าจ้างตอบแทนหรือเป็นผู้ประกอบการทำการผลิตสินค้าออกขายได้ผลดีก็จะได้กำไรตอบแทน  เป็นต้น  ผู้เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตเหล่านี้ต่างมุ่งที่จะได้รับผลตอบแทนสุทธิสูงสุด (Maximum net gain) จากการขายปัจจัยการผลิตของตนโดยเฉพาะผู้ขายปัจจัยแรงงานนอกจากจะมุ่งหวังให้ได้รับเงินเดือนค่าจ้างสูงสุดแล้วยังต้องการสิ่งอำนายความสะดวกในชีวิตประจำวันต้องการชื่อเสียงเกียรติยศตลอดจนความมั่นคงและปลอดภัยในหน้าที่การงานที่ทำอยู่อีกด้วยเมื่อแรงงานรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงานเขาจะเรียกร้องให้ได้รับค่าจ้างตอบแทนสูงขึ้น

            4.  จุดมุ่งหมายของรัฐบาล  รัฐบาลของประเทศต่างๆ  จะจัดหารายได้มาใช้จ่ายเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมส่วนรวม  รัฐบาลจึงทำหน้าที่เป็นทั้งผู้บริโภคผู้ผลิตและเจ้าของปัจจัยการผลิตในขณะเดียวกันแต่อาจจะมีจุดมุ่งหมายที่แตกต่างไปจากผู้บริโภคผู้ผลิตหรือเจ้าของปัจจัยการผลิตทั่วไป  เพราะรัฐบาลมีหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชนรัฐบาลจึงมิได้มุ่งหวังที่จะได้รับความพอใจสูงสุดจากการบริโภค  มิได้มุ่งหวังกำไรสูงสุดจากการผลิตและมิได้มุ่งหวังผลได้สุทธิจากการขายปัจจัยการผลิตแต่รัฐบาลมุ่งหวังให้สังคมส่วนรวมของประเทศได้รับผลประโยชน์สูงสุดเช่นรัฐบาลลงทุนสร้างถนนหนทางสร้างโรงเรียนสร้างโรงพยาบาลก็เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกได้รับบริการด้านการศึกษาและรักษาพยาบาลอย่างทั่วถึงเป็นต้น

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติบนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

                     แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 9 พ.ศ.25449 เป็นแผนที่ได้อัญเชิญแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มานำทางในการพัฒนาและบริหารประเทศควบคู่ไปกับกระบวนทัศน์การพัฒนาแบบบูรณาการเป็นองค์รวมที่มี  “คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา”  ต่อเนื่องจากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8โดยยึดหลักทางสายกลาง เพื่อให้ประเทศรอดพ้นจากวิกฤต สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและนำไปสู่การพัฒนาที่สมดุล มีคุณภาพและยั่งยืน ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และสถานการณ์เปลี่ยนแปลงต่างๆ โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่สมดุลทั้งด้านตัวคน  สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม  เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและความอยู่ดีมีสุขของคนไทย แผนฯฉบับที่ 9 แม้จะเป็นแผนที่ดำเนินการตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงควบคู่ไปกับกระบวนทัศน์การพัฒนาแบบบูรณาการเป็นองค์รวมที่มี “คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา” โดยยึดหลักทางสายกลางแต่ก็เป็นเพียงการพัฒนาบางด้านของหลัก  3 ห่วง  2 เงื่อนไข ไม่ได้ให้ความสำคัญด้านคุณธรรมและจริยธรรมอย่างชัดเจน ถึงกระนั้นก็ทำให้ประเทศรอดพ้นจากวิกฤตมาได้  ประเทศมีความมั่นคงเฉพาะด้านเท่านั้น  ผลการพัฒนาประเทศในระยะแผนพัฒนาฯฉบับที่ 9แม้ว่าจะประสบความสำเร็จ  เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง   เสถียรภาพทางเศรษฐกิจปรับตัวสู่ความมั่นคง ความยากจนลดลง ขณะเดียวกันระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคมยังคงอยู่ คนรวยกระจุกส่วนคนจนกระจาย ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนมีมากขึ้น  คนที่มีโอกาสมากกว่ายังคงเอารัดเอาเปรียบคนที่มีโอกาสน้อยกว่า  การกำหนดลำดับความสำคัญของการพัฒนาด้านการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและมีเสถียรภาพก็เป็นเพียงมาตรการตามระบบเศรษฐกิจแบบนายทุนซึ่งยังคงสร้างปัญหาความแตกแยกทางสังคม สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติยังคงเสื่อมโทรมในอัตราสูงขึ้น จนกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในชาติ  การสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากยังคงอิงอยู่กับระบบนายทุน การบรรเทาปัญหาสังคมและการแก้ปัญหาความยากจนไม่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม  หากพิจารณาที่ปัจจัยคนแล้วจะพบว่าแนวทางการพัฒนาไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียงตามที่ออกแบบไว้  ผลความพอเพียงที่ต้องการจึงไม่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะในระดับบุคคลและครอบครัว ระดับชุมชน ภาคธุรกิจเอกชน และระดับประเทศ   ทางสายกลางในการพัฒนาให้คนเป็นศูนย์กลางจึงติดกับของเศรษฐกิจแบบนายทุนที่มุ่งหาผลประโยชน์เป็นหลัก  การให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่สมดุลทั้งด้านตัวคน สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เป็นการรักษาสมดุลที่ไม่เหมาะสม หากจะรักษาสมดุลตามหลักปรัชญาฯ จำเป็นต้องรักษาสมดุลของพลังอำนาจทางด้านเศรษฐกิจโดยไม่ให้นำหน้าหรือล้าหลังพลังอำนาจด้านอื่นๆ มากจนเกินไป นั้นหมายถึงใช้พลังอำนาจทางด้านเศรษฐกิจนำและใช้พลังอำนาจด้านอื่นๆ สนับสนุน  การรักษาสมดุลด้านตัวคน  สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม  ซึ่งเป็นเพียงปัจจัยพลังอำนาจเพียงบางด้านของพลังอำนาจทางเศรษฐกิจ จึงส่งผลให้การพัฒนาตามแผนฯ ไม่ครอบคลุมในทุกปัจจัยพลังอำนาจของพลังอำนาจทางด้านเศรษฐกิจ

                     แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 พ.ศ. 2550– 2554 ประเทศไทยยังคงต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในหลายบริบท ทั้งที่เป็นโอกาสและข้อจำกัดต่อการพัฒนาประเทศ จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมของคนและระบบให้มีภูมิคุ้มกัน พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น โดยยังคงอัญเชิญ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นแนวปฏิบัติในการพัฒนาแบบบูรณาการเป็นองค์รวมที่มี “คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา”ต่อเนื่องจากแผนพัฒนาฯฉบับที่ 8 และแผนพัฒนาฯฉบับที่ 9 และให้ความสำคัญต่อการรวมพลังสังคมจากทุกภาคส่วนให้มีส่วนร่วมดำเนินการในทุกขั้นตอนของแผนฯ พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาสู่การปฏิบัติ รวมทั้งการติดตามตรวจสอบผลการดำเนินงานตามแผนอย่างต่อเนื่องถึงแม้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 จะให้คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา แต่ก็มิได้มีการส่งเสริมการดำเนินเศรษฐกิจพอเพียงบนหลัก 3 ห่วง  2 เงื่อนไข ทำให้การพัฒนาคนเป็นศูนย์กลางยังคงพัฒนาไปตามแนวทางหรือกระบวนการสร้างคนของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม สิ่งที่หายไปจึงเป็นเรื่องของคุณธรรม จริยธรรม อันเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจแบ่งปัน เมื่อการพัฒนาคนซึ่งถือเป็นองค์ประกอบหลักของประเทศไม่เป็นไปตามหลักปรัชญาฯ ผลกระทบที่ตามมาคือ ปัญหาครอบครัว ชุมชน ภาคธุรกิจ ซึ่งส่งผลกระทบถึงความพอเพียงในระดับประเทศ ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของคนในชาติไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเต็มระบบ  การให้ความสำคัญต่อการรวมพลังสังคมจากทุกภาคส่วนถือเป็นแนวทางที่ดีเนื่องจากการรวมตัวเป็นภาคประชาสังคมแบบครบวงจรกับดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมและส่วนรวมจะเกิดการแบ่งปันให้กับสังคมอย่างสมบูรณ์  ทั้งนี้การรวมตัวเป็นภาคประชาสังคมจะต้องให้ความสำคัญของความพอเพียงในทุกระดับตั้งแต่ระดับบุคคลและครอบครัว ระดับชุมชน ภาคธุรกิจเอกชน และระดับประเทศ และรัฐต้องมีมาตรการสนับสนุนการรวมตัวเป็นภาคประชาสังคมอย่างจริงจังในระดับประเทศ  การสร้างเครือข่ายการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาสู่การปฏิบัติยังขาดซึ่งกระบวนการดังที่กล่าวมาแล้วจึงไม่สามารถขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาให้เกิดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม  เนื่องจากปัจจัยพลังอำนาจที่เกี่ยวข้องกับพลังอำนาจทางเศรษฐกิจไม่ได้ถูกกำหนดให้เป็นหลักในการพัฒนาอย่างเต็มรูปแบบจึงทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศมีองค์ประกอบไม่ครบ  ดังนั้นการใช้พลังอำนาจทางเศรษฐกิจเป็นหลักและใช้พลังอำนาจด้านอื่นๆ สนับสนุนจึงประสบกับปัญหา  ไม่สามารถรักษาสมดุลของพลังอำนาจของชาติได้และการจะกำหนดให้พลังอำนาจทางด้านเศรษฐกิจไม่นำหน้าหรือล้าหลังพลังอำนาจด้านอื่นๆ มากจนเกินไปก็จะกระทำได้ยากเช่นกัน

                     แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 พ.ศ.2555 – 2558 ตามวิสัยทัศน์ “ประเทศมีความมั่นคงเป็นธรรม และมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยน แปลง”  3 พันธกิจ ได้แก่ การพัฒนาฐานการผลิตและบริการ การสร้างความเป็นธรรมและ ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม และสร้างภูมิคุ้มกันจากวิกฤตการณ์  3 วัตถุประสงค์ คือ เพื่อให้ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน คนไทยอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข และพร้อมเชิญกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเป็นสุข  4 เป้าหมายหลัก ได้แก่ เศรษฐกิจมีความเข้มแข็งสมดุล ความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น มีหลักประกันสังคมที่ทั่วถึง และสังคมไทยมีความสุขอย่างมีธรรมาภิบาล และ 7 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ การสร้างฐานการผลิตให้เข้มแข็ง สมดุล อย่างสร้างสรรค์ การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการผลิต การค้า การลงทุน การพัฒนาคุณภาพคน ทั้งความรู้คู่คุณธรรม สังคม มั่นคงเป็นธรรม มีพลังและเอื้ออาทร เน้นการผลิตและบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีความมั่นคงของพลังงานและอาหาร และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ   แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 นับเป็นการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวาง แต่ควรแยกแยะออกเป็นระดับตามความสำคัญ มิฉะนั้นแล้วจะเป็นกล่าวถึงปรัชญาฯ ในลักษณะของนามธรรมมากจนเกินไป ไม่สามารถนำมาปฏิบัติให้เกิดผลได้  ดังเช่นการใช้หลัก 3 ห่วง  2 เงื่อนไขในความพอเพียงแต่ละระดับตั้งแต่ระดับบุคคลและครอบครัว  ระดับชุมชน ภาคธุรกิจเอกชน และระดับประเทศชาติ  ซึ่งในแต่ละระดับจะมีความเข้มข้นต่างกันไป เช่น ระดับบุคคลการจะทำให้คนและครอบครัวมีคุณสมบัติตามปรัชญาฯ จำเป็นจะต้องแตกหลัก 3 ห่วง  2 เงื่อนไขให้เหมาะสมกับคนในแต่ละวัยว่าควรจะมีลักษณะอย่างไร   ระดับชุมชนจะเป็นการรวมตัวกันของคน แต่เมื่ออิงกับเศรษฐกิจพอเพียงจะเป็นการรวมตัวเป็นภาคประชาสังคมเพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมและส่วนรวมในรูปแบบของสังคมแบ่งปันเป็นหลัก แต่ก็ยึดเศรษฐกิจแบบเพื่อกิน เพื่อใช้ และเพื่อสำรองไว้เลี้ยงชีพ   ในภาคธุรกิจเอกชนก็จะให้ความสำคัญกับความมีเหตุผล การแบ่งปัน และความเป็นธรรมแก่สมาชิกและสังคม ส่วนในระดับประเทศก็เป็นการบริหารจัดการประเทศโดยเริ่มจากการวางรากฐานให้ประชาชนส่วนใหญ่อยู่อย่างพอมีพอกินและพึ่งตนเองได้  มีความรู้มีคุณธรรมในการดำเนินชีวิต  มีการรวม กลุ่มของชุมชนหลายๆ แห่ง  เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้สืบทอดภูมิปัญญาและร่วมกันพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงอย่างรู้รักสามัคคี  เสริมสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงระหว่างชุมชนให้เกิดเป็นสังคมแห่งความพอเพียงในที่สุด  และเศรษฐกิจพอเพียงในระดับประเทศยังต้องพิจารณาถึงพลังอำนาจด้านเศรษฐกิจที่จำเป็นจะต้องรักษาความสมดุลไม่ให้ล้ำหน้าหรือล้าหลังพลังอำนาจของชาติในด้านอื่นๆ โดยใช้พลังอำนาจด้านเศรษฐกิจเป็นหลักและใช้พลังอำนาจด้านอื่นสนับสนุน  ซึ่งนอกเหนือจากต้องพิจารณาพลังอำนาจทางด้านแล้วยังจำเป็นจะต้องพิจารณาถึงปัจจัยพลังอำนาจของชาติที่เกี่ยวข้องกับพลังอำนาจด้านเศรษฐกิจและถือเป็นปัจจัยหลักคือ  ปัจจัยพลังอำนาจด้านภูมิศาสตร์  ปัจจัยพลังอำนาจด้านภาวะประชากร  ปัจจัยพลังอำนาจด้านทรัพยากรธรรมชาติ ปัจจัยพลังอำนาจด้านลักษณะประจำชาติ  ปัจจัยพลังอำนาจด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การพลังงานและสิ่งแวดล้อม  ปัจจัยพลังอำนาจด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการทูต และปัจจัยพลังอำนาจด้านการศึกษา  และใช้ปัจจัยพลังอำนาจของชาติด้านความเชื่อศาสนาจริยธรรมและความจงรักภักดี  ปัจจัยพลังอำนาจด้านกำลังทหาร  ปัจจัยพลังอำนาจด้านเศรษฐกิจ  และปัจจัยพลังอำนาจด้านอุดมการณ์ของชาติและภาวะผู้นำ เป็นปัจจัยสนับสนุน   แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11  นับเป็นการเริ่มต้นตามแนวทางเศรษฐกิจแบบสังคมแบ่งปันที่ดี และหากได้แยกระดับความพอเพียงให้สอดคล้องกับองค์ประกอบของประเทศแล้วจะทำให้แผนฯ มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศมีความมั่นคง ยั่งยืน โดยมีภูมิคุ้มกันที่ดีพร้อมรับสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

ภาคประชาสังคม

คนหรือประชากรเป็นปัจจัยสำคัญในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและผ่านกระบวนการปลูกฝังความรับผิดชอบหน้าที่ต่อตนเอง ต่อครอบครัว และต่อสังคม กับเสริมสร้างอุดมการณ์ความรักชาติแล้ว  จะก่อให้เกิดคุณลักษณะดังนี้ คือ  มีความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และแสดงออกถึงความจงรักภักดี  ด้วยการปกป้องและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ในทุกโอกาส  มีความรักความสามัคคี ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ดำรงชีวิตอย่างพอเพียง และเห็นถึงประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าส่วนอื่น  มีความเชื่อมั่นศรัทธา ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข  และช่วยเผยแพร่ประชาธิปไตย ตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน และสังคมโดยรวมของประเทศ  มีจิตสำนึก ด้านความมั่นคงและพร้อมที่จะเข้าร่วมแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติในทุกมิติ   มีความสำนึกในหน้าที่ ของชนชาวไทยตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ  แห่งราชอาณาจักรไทย  มีสถาบันครอบครัวที่อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข  รู้จักการแบ่งปันในครอบครัว ชุมชนและสังคมรอบข้าง  รวมถึงการรักษาวัฒนธรรมประเพณีและการอยู่ร่วมกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างเหมาะสม  มีภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง โดยการรวมกลุ่มกันทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันภายในชุมชนบนหลักของความรู้รักสามัคคีสร้างเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงกันทั้งในชุมชนและนอกชุมชน เพื่อสร้างเสริมชุมชนให้มีความเข้มแข็งและมีความเป็นอยู่แบบพอเพียง และ มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการประเทศ  โดยร่วมมือในการวางรากฐานให้ประชาชนส่วนใหญ่อยู่อย่างพอมีพอกินและพึ่งตนเองได้  มีความรู้มีคุณธรรมในการดำเนินชีวิตและร่วมกันพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง  เสริมสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงระหว่างชุมชนให้เป็นสังคมแห่งความพอเพียง  เป็นต้น

การประยุกต์ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้ครอบคลุมในทุกองค์ประกอบของรัฐ คือ คนหรือประชากร  แผ่นดินหรืออาณาเขต  การปกครองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขบนเงื่อนไขเศรษฐกิจพอเพียงและผู้นำหรือรัฐบาล  โดยใช้ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเศรษฐกิจด้านพลังอำนาจของชาติ  ปัจจัยพลังอำนาจของชาติและระบบเศรษฐกิจเป็นแนวทางในการดำเนินการ  ก็ยังถือเป็นการประยุกต์ใช้เป็นส่วนๆ  ขาดความเชื่อมโยงไม่สามารถนำแนวทางเศรษฐกิจแบบสังคมแบ่งปันไปปฏิบัติได้อย่างชัดเจน  ซึ่งแนวทางดังกล่าวกำหนดให้ใช้เศรษฐกิจเพื่อการดำรงชีพเป็นหลัก และให้มีการสำรองไว้ใช้ในยามจำเป็น  หากครบถ้วนสมบูรณ์แล้วจึงจุนเจือแบ่งปันให้กับสังคมและถ้าหากมีกำลังผลิตเพียงพอจึงขาย จำหน่าย จ่ายแจก เพื่อความมั่นคงและมั่งคั่ง   ภาคประชาสังคมนับเป็นหลักสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจแบบสังคมแบ่งปันดำเนินการได้อย่างครบวงจร เป็นไปตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่เหมาะสมกับวัฒนธรรม ประเพณี การดำรงชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยและสังคมไทย

คำว่า “ประชาสังคม” มาจากภาษาอังกฤษว่า Civil Society และมีผู้ใช้คำภาษาไทยเทียบเคียงกันหลายคำ อาทิ “สังคมประชาธรรม” (ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม) “สังคมราษฎร์” (เสน่ห์ จามริก) “วีถีประชา” (ชัยอนันต์ สมุทวณิช ใช้คำนี้โดยมีนัยยะของคำว่า Civic movement) “อารยสังคม” (อเนก เหล่าธรรมทัศน์) และ“สังคมเข้มแข็ง” (ธีรยุทธ บุญมี) เป็นต้น ทั้งนี้ นักคิดสำคัญ ๆ ของสังคมไทยได้อธิบายขยายความคำว่า “ประชาสังคม” หรือ Civil Society นี้ในบริบทเงื่อนไขและการให้น้ำหนักที่แตกต่างกัน อันพอรวบรวมในเบื้องต้นได้ดังนี้

ศ.นพ.ประเวศ วะสี นับเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการจุดประกายการคิดถกเถียง ในเรื่อง “ประชาสังคม” ให้มีความเข้มข้นอย่างมากในช่วงระยะ 5-6 ปีที่ผ่านมา โดยผ่านงานเขียนชิ้นสำคัญคือ “สังคมสมานุภาพและวิชชา” โดยในงานเขียนดังกล่าวประกอบกับบทความย่อยๆ และการแสดงปาฐกถาและ การอภิปรายในที่ต่างๆ พอประมวลเป็นความคิดรวบยอดได้ว่า ในสภาพของสังคมไทยปัจจุบัน ภาคส่วนหลัก (Sectors) ของสังคมที่มีความเข้มแข็งและมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างมากคือ ภาครัฐ หรือ “รัฐานุภาพ”และภาคธุรกิจเอกชนหรือ “ธนานุภาพ” ซึ่งปรากฏการณ์นี้ส่งผลทำให้สังคมขาดดุลยภาพและเกิดความล้าหลังในการพัฒนาของฝ่ายประชาชนหรือภาคสังคมซึ่งเรียกว่า “สังคมานุภาพ” ดังนั้นการนำเสนอแนวคิดของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี จึงมุ่งไปที่การทำอย่างไรที่จะเกื้อหนุนให้ภาคสังคมหรือภาคประชาชนมีความเข้มแข็งและเกิดดุลภาพทางสังคมขึ้นที่เรียกว่าเป็น “สังคมสมานุภาพ”  โดยนัยยะนี้ ศ.นพ.ประเวศ วะสี เชื่อว่าจะต้องพัฒนาให้เกิดความเข้มแข็งที่ชุมชน (Community Strengthening) (ประเวศ วะสี 2536) จนเกิดคำขยายความตามมา อาทิ ชุมชนเข้มแข็ง ความเป็นชุมชน เป็นต้น ดังการให้ความหมายของการเป็น “ชุมชน” ในที่นี้ ว่าหมายถึง  “การที่ประชาชนจำนวนหนึ่งมีวัตถุประสงค์ร่วมกัน มีอุดมคติร่วมกันหรือมีความเชื่อร่วมกันในบางเรื่อง มีการติดต่อสื่อสารกันหรือมีการรวมกลุ่มกัน มีความเอื้ออาทรต่อกัน มีความรัก มีมิตรภาพ มีการเรียนรู้ร่วมกันในการ ปฏิบัติบางสิ่งบางอย่างและมีระบบการจัดการในระดับกลุ่ม” (ประเวศ วะสี 2539) ซึ่งโดยนัยยะนี้ประชาสังคมที่เข้มแข็ง ต้องมีรากฐานที่เกิดจากการมีชุมชนที่หลากหลายและเข้มแข็งด้วย

มีข้อพึงสังเกตสำคัญต่อเรื่องการเกื้อหนุนภาคสังคม ที่เสนอแนวคิดในเชิงกลยุทธ์ที่ว่าด้วย “ความร่วมมือเบญจภาคี” (ต่อมาใช้คำว่า “พหุภาคี”) โดยมองว่าชุมชนในปัจจุบันอ่อนแอมาก การที่จะทำให้ชุมชน มีความเข้มแข็งได้นั้น จะต้องเกิดจากความร่วมมือและการทำงานร่วมกันของภาคสังคมต่าง ๆ ซึ่งรวมทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชนด้วย “สังคมสมานุภาพ” จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยกระบวนการถักทอความรักของคนในสังคม ของคนในชุมชน ถักทอทั้งแนวดิ่ง อันหมายถึง โครงสร้างอำนาจที่เป็นทางการและแนวนอนซึ่ง หมายถึงพันธมิตร/เพื่อน/เครือข่ายเข้าหากัน ซึ่งหากพิจารณาจากประเด็นนี้ การให้ความหมายหรือความสำคัญของ “ประชาสังคม” ของ ศ.นพ. ประเวศ วะสี นั้น มิได้กล่าวถึง “การปฏิเสธรัฐ” หรือ State Disobedience แต่อย่างใด

อ.ธีรยุทธ บุญมี และ ดร.อเนก เหล่าธรรมทัศน์ สองนักคิดทางสังคมคนสำคัญที่ได้ให้ความสนใจกับเรื่อง “ประชาสังคม” อย่างมากเช่นเดียวกัน อ.ธีรยุทธ มองว่าการแก้ปัญหาพื้นฐานทางสังคมนั้นควรให้ความสำคัญกับ “พลังที่สาม”หรือพลังของสังคม หากแม้นว่าสังคมโดยรวมมีความเข้มแข็ง นักธุรกิจ นักวิชาชีพ นักศึกษา ปัญญาชนชาวบ้าน สามารถร่วมแรงร่วมใจกัน ผลักดันสังคม ปัญหาต่างๆ ที่เป็นพื้นฐานก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งนี้ สังคมที่เข้มแข็งในความหมายของ ธีรยุทธ  บุญมี นั้น จะเน้นที่ลักษณะที่กระจัดกระจาย (Diffuse) พลังทางสังคมที่มาจากทุกส่วนทุกวิชาชีพทุกระดับ รายได้ ทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่งโดยนัยยะนี้ จะมีความแตกต่างจากแนวคิด“ประชาชนเป็นส่วนใหญ่” หรือ “อำนาจของประชาชน” ดังเช่นขบวนการ เคลื่อนไหวทางการเมืองในอดีตเป็นอย่างมาก (ธีรยุทธ บุญมี 2536)

อเนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้ให้ความหมายของ “ประชาสังคม” หรือ “อารยสังคม” ที่ครอบคลุมทุกชนชั้นของสังคม เน้นเรื่องความสมานฉันท์ ความกลมเกลียว ความกลมกลืนในภาคประชาสังคมมากกว่าการดูที่ความแตกต่างหรือ ความแตกแยกภายใน อย่างไรก็ตามมุมมองของ ดร.อเนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้ให้ความสนใจเป็นพิเศษกับประเด็นของ “คนชั้นกลาง” “การมีส่วนร่วม” “ความผูกพัน” และ “สำนึกของความเป็นพลเมือง” กล่าวคือ “ประชาสังคม” โดยนัยยะนี้ มิได้หมายถึงความเป็นชุมชนของสังคมชนบทเท่านั้นแต่กิน ความรวม ไปถึงคนชั้นกลางภาคเมืองที่ไม่จำเป็นต้องมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดเป็นเครือญาติหรือเป็นแบบคุ้นหน้า (face to face relationship) แต่เป็นความผูกพัน (bond) ของผู้คนที่หลากหลายต่อกันบนฐานแห่งความร่วมมือและการแสวงหาการมีส่วนร่วมและด้วยสำนึกที่มีต่อความเป็นพลเมืองหรือ Citizenship นั่นเองนอกจากนี้ ดร.อเนก เหล่าธรรมทัศน์ ยังได้ตั้งข้อสังเกตที่สำคัญถึงรากฐานของคนไทยและสังคมไทยว่า คนไทยส่วนมากยังมีระบบวิธีคิดว่าตนเองเป็นไพร่ (client) หรือคิดแบบไพร่ที่จะต้องมีมูลนายที่ดี โหยหาคนดี จึงมักขาดสำนึกของความเป็นพลเมืองและมองปัญหาในเชิงโครงสร้างไม่ออก  อย่างไรก็ตาม ดร.อเนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้ให้ความสำคัญต่อการผลักดันให้เรื่อง “ประชาสังคม” กลายเป็นแนวคิดในเชิงอุดมการณ์ทางสังคม “ผมขอเสนอให้เรื่อง Civil Society เป็นเรื่องของอุดมการณ์ จะต้องมีคำขึ้นมาก่อน ไม่มีคำก็ไม่มีความคิด ไม่มีความคิดก็ไม่มีอุดมการณ์ เพราะฉะนั้นคำว่า Civil Societyต้องสร้างให้เป็น Concept อย่างเช่น วัฒนธรรมชุมชน”

ศ.(พิเศษ) ดร.สมชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปเศรษฐกิจการเงินและการคลัง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวตอนหนึ่งในปาฐกถาว่า ประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลก ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ฝั่งรากลึกมายาวนานมีต้นต่อมาจากระบบเศรษฐกิจแบบเสรีที่ใช้เงินเป็นตัวชี้วัดคนมีเงินมีโอกาสและอำนาจมากกว่า สามารถซื้อตำแหน่ง ซื้อได้แม้กระทั่งบาปบุญคุณโทษทำให้คนจนและคนมีความรู้น้อยกว่า ถูกเอาเปรียบ อีกทั้งระบบภาษีที่ไม่เป็นธรรม มีข้อยกเว้นและเอื้อประโยชน์ให้กับคนรวยมากกว่าคนจน รวมทั้งระบบงบประมาณที่ลำเอียงโดยเป็นประโยชน์ต่อคนมีรายได้สูงมากกว่าคนยากจน จึงยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำขยายฐานขึ้นเรื่อยๆ ภาคประชาสังคมนับเป็นพลังใหม่ที่มีเข้ามามีส่วนในการแบ่งปันอำนาจรัฐจากโครงสร้างอำนาจรัฐเดิมที่อยู่ในกลุ่มข้าราชการ ทหารตำรวจ นักธุรกิจ และหากได้รับการส่งเสริมให้ภาคประชาสังคมมีความเข้มแข็งจะช่วยเปลี่ยนสมการและแบ่งอำนาจในสังคมยุคใหม่

ดร. วรวรรณ  ชาญด้วยวิทย์  สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่าความเหลื่อมล้ำได้ถูกหยิบยกขึ้นเป็นประเด็นที่นำไปสู่ข้อเรียกร้องทางการเมือง แม้หลายฝ่ายจะยังมีความเห็นต่างกันว่าความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันนั้นมีเหตุผลมาจากความไม่ลงตัวทางการเมืองหรือเหตุอื่นกันแน่ แต่เราต้องยอมรับว่าความเหลื่อมล้ำนั้นมีจริงในสังคมไทยและมีมานานแล้วช่องว่างระหว่างรายได้ของคนรวยกับคนจนเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในสังคม

เศรษฐกิจแบบสังคมแบ่งปันหรือเศรษฐกิจพอเพียงที่ให้ความสำคัญกับการรวมตัวของประชาชนเป็นภาคประชาสังคมภายใต้หลักของ 3 ห่วง 2 เงื่อนไข เป็นการเสริมสร้างให้ประชาชนตระหนักถึงหน้าที่ มีความรักความสามัคคีของคนในชาติรวมทั้งเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาต่างๆ และให้ประชาชนตระหนักว่าการปลูกจิตสำนึกด้านคุณธรรมจริยธรรมจะเป็นเครื่องมือสำคัญและมีพลังที่จะสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กๆ และเยาวชนคนรุ่นหลังให้มีความรู้เพียงพอที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ในสังคมที่แวดล้อมไปด้วยปัญหาต่างๆ ได้อย่างปลอดภัย  รวมทั้งเสริมสร้างความพอเพียงให้กับสถาบันครอบครัวอันเป็นสถาบันหลักพื้นฐานที่สำคัญของสังคมไทย  ความพอเพียงของชุมชน และความพอเพียงของประเทศ ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  เพื่อให้ประเทศชาติและประชาชน มีภูมิคุ้มกันจากภัยคุกคามหลากหลายรูปแบบที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นการช่วยลดสภาวะความเสี่ยงของประเทศได้อย่างแท้จริง

สรุป

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นระบบเศรษฐกิจที่มุ่งต่อการแบ่งปันให้กับสังคม  มีแนวทางการปฏิบัติของประชาชนในทุกระดับตั้งแต่ระดับครอบครัวจนถึงระดับรัฐ  ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง  โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวหน้าทันต่อยุคโลกาภิวัตน์  ความพอเพียงบนหลัก 3 ห่วง  2 เงื่อนไข คือ ความพอประมาณ  ความมีเหตุมีผล  รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอต่อการมีผลกระทบใดๆ  อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายในซึ่งนอกจากหลัก  3 ห่วง  2 เงื่อนไขแล้ว ความพอเพียงระดับบุคคลและครอบครัวความพอเพียงระดับชุมชนความพอเพียงในภาคธุรกิจเอกชนและความพอเพียงระดับประเทศก็ยังนับว่ามีความจำเป็นเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตประจำวันของบุคคล สถาบันครอบครัว  การดำเนินธุรกิจเอกชนและการบริหารประเทศ   ถึงแม้ว่าคนหรือประชากรจะเป็นปัจจัยสำคัญตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและผ่านกระบวนการปลูกฝังความรับผิดชอบหน้าที่ต่อตนเอง ต่อครอบครัว และต่อสังคม กับเสริมสร้างอุดมการณ์ความรักชาติแล้วเศรษฐกิจพอเพียงในระดับประเทศยังมีปัจจัยที่ต้องพิจารณาอีกประการหนึ่งคือพลังอำนาจของชาติ  โดยเฉพาะพลังอำนาจด้านเศรษฐกิจจำเป็นจะต้องรักษาสถานภาพไม่ให้ล้ำหน้าหรือล้าหลังพลังอำนาจของชาติในด้านอื่นๆ หรือเรียกว่าการรักษาสมดุลของพลังอำนาจของชาติโดยใช้พลังอำนาจด้านเศรษฐกิจเป็นแกนนำและใช้พลังอำนาจด้านอื่นสนับสนุน  ซึ่งนอกเหนือจากต้องพิจารณาพลังอำนาจของชาติแล้วยังจำเป็นจะต้องพิจารณาถึงปัจจัยพลังอำนาจของชาติด้วย  เนื่องจากปัจจัยพลังอำนาจของชาติเป็นสิ่งที่จับต้องได้ยากหรือเป็นนามธรรม หากต้องปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมแล้วยังต้องพิจารณาแนวทางด้านเศรษฐกิจในรูปของปัจจัยพลังอำนาจของชาติอีกด้วย

การประยุกต์ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในทุกองค์ประกอบของรัฐคือ คนหรือประชากร  แผ่นดินหรืออาณาเขต  การปกครองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขบนเงื่อนไขเศรษฐกิจพอเพียงและผู้นำหรือรัฐบาล  โดยใช้ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเศรษฐกิจด้านพลังอำนาจของชาติ  ปัจจัยพลังอำนาจของชาติและระบบเศรษฐกิจ เป็นแนวทางในการดำเนินการ  ก็ยังถือเป็นการประยุกต์ใช้เป็นส่วนๆ ขาดความเชื่อมโยงไม่สามารถนำแนวทางเศรษฐกิจแบบสังคมแบ่งปันไปปฏิบัติได้อย่างชัดเจน  เศรษฐกิจพอเพียงหรือเศรษฐกิจแบบสังคมแบ่งปันเป็นการใช้เศรษฐกิจเพื่อการดำรงชีพเป็นหลักและให้มีการสำรองไว้ใช้ในยามจำเป็นกับให้จุนเจือแบ่งปันให้กับสังคมและหากมีเพียงพอแล้วส่วนเกินจึงขาย จำหน่าย จ่ายแจก เพื่อให้มีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  ภาคประชาสังคมนับเป็นหลักสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจแบบสังคมแบ่งปันดำเนินการได้อย่างครบถ้วนเป็นสังคมแห่งความรู้คู่คุณธรรม  เป็นไปตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่เหมาะสมกับวัฒนธรรม ประเพณี การดำรงชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยและสังคมไทย ส่งผลให้ประเทศชาติและประชาชนมีภูมิคุ้มกันจากภัยคุกคามหลากหลายรูปแบบที่อาจเกิดขึ้น กับช่วยลดสภาวะความเสี่ยงของประเทศชาติและประชาชนได้อย่างแท้จริง

บรรณานุกรม 

ประเวศ  วะสี,  ศ.นพ.นักวิชาการ  “สังคมสมานุภาพและวิชชา”,   ปี 2556

วรวรรณ  ชาญด้วยวิทย์, ดร.ที่ปรึกษาด้านหลักประกันทางสังคม  สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดี     อาร์ไอ).  สัมภาษณ์.  23 กันยายน 2558

สถาบันอนาคตไทยศึกษา,  “8 ข้อเท็จจริงความเหลื่อมล้ำในไทย”  ปี 2554

สมชัย  ฤชุพันธุ์, ศ.(พิเศษ) ดร.ประธานกรรมาธิการปฏิรูปเศรษฐกิจการเงินและการคลัง สภาปฏิรูปแห่งชาติ       (สปช.)  ปาฐกถาเรื่อง “ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม”.  ณ โรงแรมบางกอกชฎา, 20 ก.พ.58