ทั่วไป

การพัฒนามนุษย์ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

หัวใจสำคัญของการพัฒนาตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง แกนกลางจะเน้นที่ตัวคนเป็นหลัก โดยเฉพาะคนไทยในช่วงวัยต่างๆ จะมีจุดเน้นที่ต่างกันในการเสิรมสร้างให้เกิดความเข้มแข็งภายในจิตใจทั้งด้านความรู้และคุณธรรม

ปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย  บางครั้งเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงถึงขั้นวิกฤตที่เกือบต้องมีการแบ่งแยกประเทศออกเป็นแต่ละฝ่าย  เศรษฐกิจแบบสังคมแบ่งปันหรือเศรษฐกิจพอเพียงให้ความสำคัญกับการรวมตัวของประชาชนเป็นภาคประชาสังคมภายใต้หลักของ 3 ห่วง 2 เงื่อนไขการรวมตัวของประชาชนต้องครอบคลุมทุกปัจจัยพลังอำนาจของชาติ (พลังอำนาจของชาติ เป็นพลังอำนาจที่มีลักษณะเป็นนามธรรม ประกอบด้วย  พลังอำนาจ ด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ  ด้านสังคมจิตวิทยา  ด้านการทหาร  ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ฯ  และพลังอำนาจด้านภูมิรัฐศาสตร์  หากจะนำมาปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม จำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยที่มีความเชื่อมโยงของพลังอำนาจในแต่ละด้านซึ่งเรียกว่าปัจจัยพลังอำนาจของชาติ  ประกอบด้วยปัจจัย  ด้านภูมิศาสตร์ ด้านภาวะประชากร  ด้านทรัพยากร ธรรมชาติ  ด้านความเชื่อ ศาสนา จริยธรรม และความจงรักภักดี  ด้านลักษณะประจำชาติ  ด้านกำลังทหาร  ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การพลังงานและสิ่งแวดล้อม  ด้านเศรษฐกิจ  ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการทูต  ด้านการศึกษา  และด้านอุดมการณ์ของชาติและภาวะผู้นำ) โดยให้ความสำคัญกับประชากรตั้งแต่วัยเด็กและเยาวชน เพื่อให้มีความพร้อมเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติเมื่อถึงวัยอันควร และแสวงประโยชน์จากผู้สูงอายุ/วัยชราเพื่อสนับสนุนหรือช่วยเหลือในการเตรียมเด็กและเยาวชน

ทรัพยากรมนุษย์นับเป็นปัจจัยสำคัญพื้นฐาน ไม่ว่าจะพิจารณาจากองค์ประกอบของรัฐหรือชาติ  ความพอเพียงขั้นพื้นฐานที่เริ่มจากบุคคลและครอบครัว หรือแม้แต่หลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ก็พิจารณาจากคุณลักษณะของทรัพยากรมนุษย์เป็นสำคัญ ดังนั้น การจะก้าวข้ามปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยไปให้ได้จำเป็นต้องสร้างหรือปลูกฝังอุดมการณ์คนในสังคมไทยให้รู้หน้าที่ มีจิตสำนึกของความสำคัญของตนเองต่อสังคมไทย   ซึ่งกระบวนการดังกล่าวเมื่อพิจารณาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยยึดหลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไขแล้ว เมื่อแบ่งคนไทยตามวัยและเป้าหมายของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประกอบด้วยวัยเด็ก เยาวชน ประชาชนทั่วไป ผู้สูงอายุหรือคนชรา ดังนี้

 

1) วัยเด็ก

เน้นการศึกษาอบรมให้มีมีจิตสำนึกของความเป็นคนไทย แสวงหาจุดเด่น และ ลดจุดด้อย ตามลักษณะประจำชาติ กับ มีความพอเพียงระดับบุคคล โดยการพึ่งพาตนเองอย่างเต็มความสามารถ ไม่ทำอะไรที่เกินตัว ดำเนินชีวิตโดยไม่เบียดเบียนตนเอง รวมถึงมีความใฝ่รู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง

 

2) เยาวชน

มีอุดมการณ์ความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มีความรักความสามัคคี ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต ดำรงชีวิตอย่างพอเพียง และเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนอื่น กับมีความพอเพียงระดับครอบครัว ดำเนินชีวิตโดยไม่เบียดเบียนผู้อื่น รวมถึงใฝ่รู้ และมีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อความมั่นคงในอนาคตและเป็นที่พึ่งให้แก่ผู้อื่นได้ในที่สุด

 

3) ประชาชนทั่วไป

มีอุดมการณ์ฯ มีความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขบนเงื่อนไขเศรษฐกิจพอเพียง มีจิตสำนึกด้านความมั่นคง และเข้าร่วมแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติในทุกด้าน มีความสำนึกที่จะปฏิบัติหน้าที่ของชนชาวไทยตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฯ กับมีความพอเพียงระดับชุมชน มีการรวมกลุ่มทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม ช่วยเหลือเกื้อกูลกันภายในชุมชนบนหลักของความรู้รักสามัคคี

 

4) ผู้สูงอายุหรือคนชรา

มีส่วนร่วมในการปลูกจิตสำนึก ปลูกฝัง และ เสริมสร้างอุดมการณ์ความรักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ให้กับคนในชาติ และเป็นแบบอย่างความพอเพียงระดับประเทศ กับ มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการประเทศ มีการรวมกลุ่มของชุมชนหลายๆ แห่ง เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ สืบทอดภูมิปัญญา และร่วมกันพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงด้วยความรู้รักสามัคคี  เสริม สร้างเครือข่ายเชื่อมโยงระหว่างชุมชนให้เกิดเป็นสังคมแห่งความพอเพียงในที่สุด

 

ทรัพยากรมนุษย์หรือประชากรเป็นปัจจัยสำคัญในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและผ่านกระบวนการปลูกฝังความรับผิดชอบหน้าที่ต่อตนเอง ต่อครอบครัว และต่อสังคมกับเสริมสร้างอุดมการณ์ความรักชาติแล้ว  จะก่อให้เกิดคุณลักษณะดังนี้

มีความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และแสดงออกถึงความจงรักภักดี  ด้วยการปกป้องและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ในทุกโอกาส

มีความรักความสามัคคี ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ดำรงชีวิตอย่างพอเพียง และเห็นถึงประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าส่วนอื่น

มีความเชื่อมั่นศรัทธา ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข  และช่วยเผยแพร่ประชาธิปไตย ตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน และสังคมโดยรวมของประเทศ

มีจิตสำนึกด้านความมั่นคงและพร้อมที่จะเข้าร่วมแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติในทุกมิติ

มีความสำนึกในหน้าที่ของชนชาวไทยตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย

มีสถาบันครอบครัวที่อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข  รู้จักการแบ่งปันในครอบครัว ชุมชนและสังคมรอบข้าง  รวมถึงการรักษาวัฒนธรรมประเพณีและการอยู่ร่วมกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างเหมาะสม

มีภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง โดยการรวมกลุ่มกันทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันภายในชุมชนบนหลักของความรู้รักสามัคคีสร้างเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงกันทั้งในชุมชนและนอกชุมชน   เพื่อสร้างเสริมชุมชนให้มีความเข้มแข็งและมีความเป็นอยู่แบบพอเพียง

มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการประเทศ  โดยร่วมมือในการวางรากฐานให้ประชาชนส่วนใหญ่อยู่อย่างพอมีพอกิน  และพึ่งตนเองได้  มีความรู้มีคุณธรรมในการดำเนินชีวิต  และร่วมกันพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง  เสริมสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงระหว่างชุมชนให้เป็นสังคมแห่งความพอเพียง  เป็นต้น

        

         การพัฒนามนุษย์ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นำไปสู่ “ภาคประชาสังคม” ที่มีความเข็มแข็งจากภายใน เพราะเกิดขึ้นจากกระบวนการระเบิดจากข้างใน ทำให้เกิดความตระหนัก ใส่ใจ และแบ่งปันตามธรรมชาติ เมื่อคนมีคุณภาพมารวมกันก็จะเกิดสังคมคุณภาพ สังคมที่มีความเข้มแข็ง เกิดชุมชนของพัฒนาอย่างเป็นองค์รวมทั้งทางด้านกายภาพและสิ่งแวดล้อม ด้านคุณภาพชีวิตทางกาย ทางใจ ทางสติปัญญา เกิด “ประชาสังคม” หรือ Civil Society แห่งความรู้รักสามัคคีของคนในทุกช่วงวัย ทุกอาชีพ มีการเปิดพื้นที่หรือโอกาสให้กับภาคประชาชนได้ร่วมกันขับเคลื่อนประเทศด้วยปรัชญาไทยบนฐานอารยธรรมไทยอย่างหลากหลาย เป็นการเชื่อมโยงในเชิงพหุวัฒนธรรมที่ยอมรับความแตกต่างทั้งทางด้านศาสนา วัฒนธรรม ประเพณีอันดีงาม เคารพในความเป็นมนุษย์ มีหลักมนุษยธรรมที่เป็นสากลตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง