การศึกษา

เศรษฐกิจพอเพียงกับการศึกษาในยุคโควิด-19

“…การศึกษาหาความรู้จึงสำคัญตรงที่ว่า ต้องศึกษาเพื่อให้เกิด ความฉลาดรู้ คือรู้แล้วสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริงๆ โดยไม่เป็นพิษเป็นโทษ การศึกษาเพื่อความฉลาดรู้ มีข้อปฏิบัติที่น่ายึดเป็นหลักอย่างน้อยสองประการ ประการแรก เมื่อจะศึกษาสิ่งใดให้รู้จริง ควรจะให้ศึกษาให้ตลอด ครบถ้วนทุกแง่ทุกมุม ไม่ใช่เรียนรู้แต่เพียงบางส่วนบางตอน หรือเพ่งเล็งเฉพาะบางแง่บางมุม อีกประการหนึ่ง ซึ่งจะต้องปฏิบัติประกอบพร้อมกันไปด้วยเสมอ คือต้องพิจารณา ศึกษาเรื่องนั้นๆ ด้วยความคิดจิตใจที่ตั้งมั่นเป็นปรกติ และเที่ยงตรงเป็นกลาง ไม่ยอมให้รู้เห็นและเข้าใจ ตามอำนาจความเหนี่ยวนำของอคติ ไม่ว่าจะเป็นอคติฝ่ายชอบหรือฝ่ายชังมิฉะนั้น ความรู้ที่เกิดขึ้นจะไม่เป็นความรู้แท้ หากแต่เป็นความรู้ที่ถูกอำพรางไว้ หรือที่คลาดเคลื่อนวิปริตไปต่างๆ จะนำไปใช้ประโยชน์จริงๆ โดยปราศจากโทษไม่ได้…

 

ความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาท

ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน 2524

 

เราอยู่ในประเทศที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ แต่กลับมีคนกลัวอดตายในภาวะโควิด-19 หลายคนทำงานอยู่ในองค์กรที่มั่นคง แต่ใจคนกลับไม่มั่นคง เต็มไปด้วยความหวาดวิตก เรามีน้ำที่สะอาด มีแหล่งอาหาร แต่กลับต้องรีบกักตุนเพราะหวาดกลัว แล้วทำไมเราถึงกลัว ทั้งๆ ที่เราเป็นประเทศเกษตรกรรมที่มีอาหารอยู่ทั่วภูมิภาค

อาจเป็นเพราะระบบการศึกษาที่แยกส่วนหรือเปล่า ที่สอนให้เราเก่งเฉพาะด้านแบบ 1 คน 1 มิติ (One Man One Dimension) เมื่อเทียบกับความสามารถของบรรพบุรุษไทยในอดีตนั้นต่างกันลิบลับ คนหนึ่งคนจะมีความสามารถที่หลากหลาย แม้แต่ในต่างประเทศเองก็เช่นกัน เมื่อเราได้อ่านประวัติของบุคคลสำคัญในอดีตจะพบว่า คน 1 คน มีความรู้ความสามารถในหลายด้าน เช่น เจ้าชายสิทธัตถะ, อริสโตเติล, ลีโอนาโด ดาวินชี เป็นต้น ทำให้ความสามารถในการพึ่งพาตนเองสูงกว่าคนในยุคปัจจุบัน

อาจเป็นเพราะหลักสูตรที่เรียนลืมสอนวิชาชีวิตหรือเปล่า มุ่งแต่สอนให้เราสนใจแต่สิ่งไกลตัว ใครรู้มากก็เรียกว่าคนฉลาดรอบรู้ เช่น ต้องรู้ว่าผู้นำประเทศต่างๆ ชื่ออะไร ใครเหยียบดวงจันทร์เป็นคนแรก ยานอวกาศที่เดินทางไปดวงจันทร์ชื่ออะไร เป็นต้น แต่ไม่เน้นสอนให้เรารู้ว่า ทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ป่าไม้ อาหาร คืออะไร เราจะบริหารจัดการทรัพยากรเหล่านี้ให้เกิดความมั่นคงอย่างไร เวลาที่เราถามถึงความมั่นคง ผู้ใหญ่ก็จะสอนให้เราออกไปหาเงินให้ได้เยอะๆ สร้างคอนเนคชั่น สร้างฐานอำนาจเยอะๆ โดยเริ่มจากการเป็นลูกจ้างที่ดี เรียนจบให้สูงจะได้เงินเดือนเยอะๆ ทำงานในองค์กรที่มั่นคง มีสวัสดิการ มีสังคม ที่คนนับหน้าถือตา ให้เกียรติ ให้ตำแหน่ง ให้ยศ ให้เครดิต เราอยู่ในสังคมที่ถูกสอนอย่างนี้หรือเปล่า? แต่เราลืมสอนวิชาชีวิต ลืมสอนให้พึ่งตนเอง เวลาที่เกิดภัยพิบัติ ภัยสงคราม หรือพยาธิวิบัติ (เช่น โควิด) หลายคนจึงตกอยู่ในความกลัว เพราะต้องพึ่งพาทรัพยากรที่ถูกป้อนมาทางนายทุนเท่านั้น หากนายทุนผลิตไม่ทันความต้องการของคนจำนวนมาก ความกลัวที่จะอดอยากหิวโหยหรือขาดปัจจัย 4 ก็จะเกิดขึ้น บางครั้งมีเงินก็ใช่ว่าจะหาซื้อสิ่งของจำเป็นบางอย่างได้ในภาวะวิกฤติเช่นนี้

อนึ่ง เราให้ความสำคัญกับความเก่งความฉลาด แต่เรากลับลืมสอนความเป็นมนุษย์ เราสอนให้มนุษย์แบ่งชนชั้นตามอาชีพ ระดับการศึกษา หัวโขนจากตำแหน่งลาภยศ จนลืมความเป็นคน ทำให้เกิดภาวะความเห็นแก่ตัว มักง่าย ไม่ใส่ใจส่วนรวม เราชินกับระบบของอำนาจ การใช้สงครามจิตวิทยาโน้มน้าวให้กลัวมากกว่าการใช้เหตุผล สิ่งนี้เป็นภาพสะท้อนด้านลบของสังคมที่ถูกหมักหมมซ่อนไว้ใต้พรมมานาน รอการแก้ไขด้วยความตระหนักรู้ของคนในสังคม

บางครั้งเราอาจจะต้องกลับมาทบทวนเรื่องการศึกษาตลอดชีวิต ตลอดถึงการศึกษาทางเลือก หากระบบการศึกษาของรัฐมีทางเลือกให้เราอย่างจำกัด เราอาจต้องหารูปแบบการศึกษาที่ทำให้เราพึ่งพาตัวเองได้จริงตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง รูปแบบการศึกษาที่เราสามารถออกแบบหลักสูตรได้เองร่วมกับผู้สอนเพื่อแก้ปัญหาชีวิตและพัฒนาคุณภาพชีวิตของเราได้จริงๆ บนวิถีชีวิตจริงของเรา เพราะยุคปัจจุบันเราทราบแล้วว่า คนหนึ่งคนที่ทำได้แค่หนึ่งอย่างนั้น มันเอารอดตัวรอดได้ยากในสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ ระบบทุนนิยมกำลังล่มสลายลงเรื่อยๆ เพราะขาดความมั่นคงทางทรัพยากรและค่าแรงขั้นต่ำ

 

“…การศึกษานอกระบบ หรือการศึกษาภายหลังสำเร็จจากมหาวิทยาลัย จึงมีความสำคัญยิ่งยวด ในการสร้างเสริมผู้ผ่านการศึกษาในระบบมาแล้ว ให้มีปัญญาและความสามารถที่จะปรับตนให้เข้ากับสภาวะแท้จริงของชีวิต พร้อมทั้งดำรงตนให้อยู่ในสังคมอย่างเป็นสุขและเจริญมั่นคงได้…

ความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาท

ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น

วันพฤหัสบดีที่ 16 ธันวาคม 2536

 

สังคมปัจจุบันได้เปลี่ยนเข้าสู่ยุคดิจิทัลแล้ว คนที่จะอยู่รอดในอนาคตได้นั้นคือคนที่มีความมั่นคงทางทรัพยากรนั่นเอง เพราะความมั่นคงทางทรัพยากรคือหลักการพึ่งตนเองขั้นพื้นฐานในด้านเศรษฐกิจพอเพียง ส่วนดิจิทัลและนวัตกรรมจะช่วยเป็นเครื่องมือในการบริหารทรัพยากรเหล่านั้นให้เกิดความพอเพียง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม