ลักษณะประจำชาติ

เศรษฐกิจพอเพียงในฐานะหลักการทรงงาน (ใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ)

ใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเข้าใจถึงธรรมชาติและต้องการให้ประชาชนใกล้ชิดกับธรรมชาติ จึงเน้นหลักการข้อนี้ ซึ่งมีปรัชญาเบื้องหลัง คือ การจัดการปัญหานั้นมนุษย์ผู้มีปัญญาย่อมจะต้องวิเคราะห์สิ่งต่างๆ และจัดประเภทให้ส่วนที่เกี่ยวข้องกันไว้ในกลุ่มเดียวกัน ความเกี่ยวข้องนี้เป็นไปได้ 3 ทาง คือ สนับสนุน ตรงข้าม และไม่เกี่ยวข้องโดยตรง (เกี่ยวข้องแต่ต้องมีตัวกลาง) ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาจะต้องพิจารณาธรรมชาติ (nature) คือลักษณะทั่วไปของปัญหา และปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้องเสียก่อน ธรรมชาติ คือ สิ่งที่ดำเนินไปโดยมีกฎเกณฑ์ซึ่งมนุษย์ได้ศึกษาหากฎเหล่านี้จนเกิดเป็นอารยธรรมที่เจริญก้าวหน้า วิทยาศาสตร์ยิ่งทำให้การค้นพบกฎเกณฑ์เป็นไปอย่างเป็นระบบ และการหยั่งรู้ทำให้มนุษย์คิดด้วยปัญญาถึงกฎที่น่าจะเกี่ยวข้องกับธรรมชาตินั้นได้

ดังนั้น การจัดการปัญหาต่างๆ มนุษย์จึงใช้การหยั่งรู้เป็นเบื้องต้น ในการคิดว่าสิ่งใดเกี่ยวข้องกับปัญหาในทางสนับสนุนได้ หมายถึง ปัญหานั้นเกิดขึ้นเนื่องจากอะไร ทำอะไรจะเป็นการหนุนเสริมให้สิ่งที่ขาดตกบกพร่องนั้นหายไปได้ การใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติจึงเน้นการหยั่งคาดสิ่งที่จะมาช่วยเสริมให้สิ่งที่ขาดได้กลับมาเติมเต็ม เช่น ปัญหาป่าเสื่อมโทรม หากไล่จับคนตัดป่า ย่อมไม่แก้ปัญหาให้หมดลงไปได้ แต่การปลูกป่าจะเป็นทางแก้ ป่าที่ปลูกกับป่าธรรมชาติอย่างไหนดีกว่ากัน มนุษย์ย่อมหยั่งรู้ได้ว่าป่าธรรมชาติดีกว่า ดังนั้นไม่ต้องปลูก ปล่อยให้ธรรมชาติช่วยในการฟื้นฟูธรรมชาติ ป่าที่ได้จะอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายของพันธุ์พืช จากนั้นสัตว์ก็จะมาอิงอาศัยอยู่ได้ พืชอาหาร พืชสมุนไพรก็จะมาอยู่ในป่านี้ได้ตามธรรมชาติ ธรรมชาติและมนุษย์จะเกื้อกูลกัน ทำให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน

ด้วยแนวคิดเช่นนี้ การแก้ปัญหาในการทำงาน การบริหารจัดการต่างๆ จึงมีแนวทางในการมองหาปัจจัยหนุนเสริม ระบบงานขาดขวัญกำลังใจ ก็เพิ่มในส่วนนี้ ขาดผู้นำก็เสริมผู้นำ ขาดการทำงานเป็นทีมก็เสริมการทำงานเป็นทีม แต่หากจัดตั้ง ก็เหมือนการปลูกป่า นั่นคือได้ป่าแต่ไม่ได้ธรรมชาติ การแก้ปัญหาจึงต้องส่งเสริมให้เกิดและให้เกิดอย่างเป็นธรรมชาติ ขวัญและกำลังใจที่ขาดคืออะไร เสริมอย่างไรจึงพอดี ลงตัว ไม่ใช่ไปใช้สิ่งล่อใจมาหลอกล่อ ผู้นำจะต้องเปิดโอกาสให้เขาแสดงออก ผิดพลาดก็ถือเป็นประสบการณ์และทำให้รู้ว่าขาดอะไร ต้องส่งเสริมตรงจุดไหน การทำงานเป็นทีมหากกำหนดทีมขึ้นมาย่อมไม่ได้ผลสำเร็จเพราะไม่ได้เป็นทีมโดยธรรมชาติ ต้องส่งเสริมให้เข้าใจวิธีการทำงานเป็นทีมและให้เกิดทีมโดยอัตโนมัติ นั่นคือการลดความแข็งตัวของการทำงานในระบบสายงานลง (การยึดมั่นในกฎ) ธรรมชาติของมนุษย์จะแสดงออกมาให้ชัดเจน ใครพร้อมเป็นผู้นำ ใครพร้อมเป็นผู้ตาม ใครพร้อมที่จะตรวจทาน ตรวจสอบและห้ามปรามหากเห็นว่ากำลังเดินผิดทาง การได้โอกาสในการแสดงความคิดเห็น มีผู้รับฟังย่อมทำให้การทำงานเป็นทีมที่ยอมรับความแตกต่างหลายหลายแต่มีเอกภาพ คนทำงานก็มีขวัญกำลังใจที่จะทำงาน ผู้นำก็จะเป็นผู้นำที่ดีซึ่งจะมุ่งหน้าไปสู่ความสำเร็จของงานบนความสำเร็จของคน ธรรมชาติของการทำงานเช่นนี้ย่อมสิ่งที่หากเกิดขึ้นแล้วจะมีความยั่งยืนตามมาแก่บริษัทหรือกิจการงานนั้นๆ ธรรมชาติที่ลงตัวจะรักษาสมดุลของมันไว้ และเป็นประโยชน์แก่โลก