ลักษณะประจำชาติ

เศรษฐกิจพอเพียงในฐานะหลักการทรงงาน (ความเพียร)

ความเพียร เมื่อมนุษย์ได้ใช้ปัญญามุ่งที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองให้ก้าวหน้าไปเรื่อยๆ มีความรอบรู้ ความกล้าหาญ ความพอเพียง และการแบ่งปันดูแลกันเป็นหลักในการประพฤติปฏิบัติก็ย่อมมีความสุขในชีวิต

แต่เมื่อดำเนินชีวิตไประยะหนึ่งหรือทำงานไปส่วนหนึ่ง มนุษย์ก็จะพบปัญหาที่ใช้ปัญญาคิดยังไม่ออก จึงตกอยู่ในปัญหานั้น หากหมดกำลังใจเพียงนั้นก็จะหยุดการพัฒนาตนเอง หยุดการพัฒนาคุณภาพชีวิต หากเลวร้ายกว่านั้นก็เท่ากับถอยหลังกลับไปใช้ชีวิตที่มีคุณภาพต่ำลงกว่าเดิมก็ได้

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงทรงยกตำนานพระมหาชนกมาเป็นตัวอย่างให้คนไทยน้อมรับมาศึกษาวิเคราะห์ และปฏิบัติตามรอยพระมหาชนก กษัตริย์ผู้เพียรพยายามแม้จะไม่เห็นฝั่งก็ยังว่ายน้ำต่อไป เพราะถ้าไม่เพียรว่าย ก็จะตกเป็นอาหาร ปู ปลา และไม่ได้พบกับเทวดาที่มาช่วยเหลือมิให้จมน้ำไป เรื่องพระมหาชนกนี้ไม่ใช่เพียงการทำงานไปเรื่อยๆ อย่างดันทุรังหรือดื้อรั้นทำต่อไป หากแต่ความเพียงนั้นประกอบด้วยปัญญาอย่างสำคัญที่เห็นว่าการทำต่อไปอย่างต่อเนื่องนั้นย่อมเกิดผลดีมากกว่าผลเสีย จึงอุปมาว่าหากหยุดว่ายน้ำย่อมตกเป็นอาหารของปู ปลา

มนุษย์เมื่อขาดความเพียงก็จะหยุดพัฒนาคุณภาพชีวิต เขาอาจพอใจคุณภาพชีวิตในปัจจุบัน แต่ในอนาคตเขาก็ย่อมทุกข์ได้ แต่หากมีความเพียรเขาก็จะมุ่งไปข้างหน้าอย่างเต็มกำลัง มุ่งแสวงหาการกระทำต่างๆ ในเชิงสร้างสรรค์ มีปัญหาเข้ามาก็ปรับตัว มีคนเข้ามาก็เน้นความร่วมมือ และแสวงหาสิ่งที่ดีกว่าไปเรื่อยๆ เช่นนี้ผลของความเพียงย่อมปรากฎเป็นความสำเร็จที่มีอย่างต่อเนื่อง ไม่หมดสิ้นลง ก็เช่นเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงริเริ่มทำโครงการต่างๆ ในระยะแรก แม้จะไม่มีความพร้อมในการทำงานมากนักเพราะมีปัญหาทั้งในด้านกำลังคน กำลังสติปัญญา และกำลังทรัพย์ รวมไปถึงการแสวงหาความร่วมมือจากทุกภาคส่วน แต่เมื่อทรงตัดสินพระทัยว่าการทำโครงการพระราชดำรินั้นเป็นไปเพื่อประชาชนจึงทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ทั้งสิ้นทดลองลงไป บางโครงการประสบปัญหาก็มิได้ท้อพระราชหฤทัย ทรงเก็บเกี่ยวบทเรียนเหล่านั้นมาเป็นข้อมูลในการปรับปรุง พัฒนาโครงการอื่นๆ ด้วยมุ่งมั่นพัฒนาบ้านเมืองให้บังเกิดความร่มเย็นเป็นสุข ประชาชนมีความผาสุก ความเพียรจึงไม่มีขอบเขตสิ้นสุด มีแต่ลงมือกระทำความเพียรไป เรื่อยๆ ด้วยความปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข โดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน สมดังพระปฐมบรมราชโองการ

 

“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

 

พระปฐมบรมราชโองการ เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

เมื่อวันศุกร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493