ลักษณะประจำชาติ

เศรษฐกิจพอเพียงในฐานะหลักการทรงงาน (รู้ รัก สามัคคี)

รู้ รัก สามัคคี หลักการทรงงานประการหนึ่งที่ทรงให้ความสำคัญ คือเรื่อง “รู้ รัก สามัคคี” ดังที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำรัสในเรื่อง “รู้ รัก สามัคคี” มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนับเป็นคำสามคำที่มีค่าและความหมายลึกซึ้ง พร้อมปรับใช้ได้กับทุกยุคทุกสมัย

หลักการข้อสุดท้ายนี้เป็นการขมวดปัจจัย แห่งความสำเร็จแห่งหมู่คณะไว้ หมายความว่า ทรงมิได้ยกให้ความสำเร็จนั้นเป็นของผู้หนึ่งผู้ใด แต่ความสำเร็จคือ การพัฒนาประเทศให้ประชาชนมีความผาสุกนั้นเป็นความสำเร็จของความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่าย

ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมมหาราช บรมนาถบพิตรจึงมีพระราชดำรัสเพื่อกระตุ้นจิตสำนึกในเรื่อง “รู้ รัก สามัคคี” มาอย่างต่อเนื่องในวาระต่างๆ แก่กลุ่มคนต่างๆ

 

“…ความสามัคคีนี้ หมายถึงว่า มีสิ่งใดที่อาจขัดแย้งซึ่งกันและกันบ้าง ก็ต้องปรองดองกันเสีย และหาทางออกโดยที่ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกันเพราะความสามัคคีเป็นกำลังอย่างสูงสุดของ หมู่ชน…”

 (ความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาท พระราชทานแก่กลุ่มชาวไร่ หมู่บ้านตัวอย่าง โครงการไทย-อิสราเอล จังหวัดเพชรบุรี วันที่ 25 พฤษภาคม 2513)

 

ความพอพระราชหฤทัยของพระราชาอยู่ที่ว่า แต่ละคนจะทำหน้าที่ของตัวด้วยความตั้งใจ มีความคิดพิจารณาที่รอบคอบ ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน ส่งเสริมความสามัคคี และปฏิบัติงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวม…”

(ความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาท พระราชทานแก่ผู้ที่ได้รับ พระราชทานเหรียญราชรุจิ ณ พระตำหนักจิตรดารโหฐาน วันที่ 23 มกราคม 2513)

 

ชาติของเรารักษาเอกราชอธิปไตยมาได้จนถึงทุกวันนี้ด้วยความสามัคคี ผู้ใดเดือดร้อนก็ได้รับการบรรเทาความเดือดร้อนนี่เป็นหลักสำคัญของการปกครองประเทศไทยมาแต่โบราณกาล…”

(ความตอนหนึ่ง ในพระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะกรรมการบริหารและอาสาสมัคร มูลนิธิราชประจำนุเคราะห์ฯ ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร วันที่ 30 ตุลาคม 2508)

 

ประเทศไหนถ้าประชาชนพลเมืองมีความสามัคคีกลมเกลียวกันดี มีระเบียบวินัย ประเทศนั้นก็เจริญและอยู่ในฐานะดี จึงเห็นได้ว่าความสามัคคีกลมเกลียวกันระหว่างคนในชาติ และ ความเข้าใจรักษาระเบียบวินัยเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่จะช่วยนำประเทศชาติสู่ความวัฒนาถาวร…”

(ความตอนหนึ่ง ในพระราชดำรัส เนื่องในโอกาสเสด็จฯ ออกให้ประชาชนเฝ้า ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม วันที่ 19 มกราคม 2504)

 

“…การที่ประเทศของเราได้รักษาอธิปไตย และดำรงฐานะมาด้วยดีได้ตลอดมานั้น ก็ด้วยอาศัยความร่วมมือของทุกๆฝ่าย ต่างช่วยกันปฏิบัติงานเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติด้วยความสามัคคีและความพร้อมที่จะเสียสละ เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม…”

(ความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาท ในพิธีตรวจพลสวนสนาม เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ลานพระราชวังดุสิต 3 ธันวาคม 2504)

 

สามัคคี คือการเห็นแก่บ้านเมืองและช่วยกันทุกวิถีทางเพื่อที่จะสร้างบ้านเมืองให้เข้มแข็ง ด้วยการเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตอย่างตรงไปตรงมา นึกถึงประโยชน์ส่วนรวม เพราะประโยชน์ส่วนรวมนั้นคือความมั่นคงของบ้านเมือง…”

(ความตอนหนึ่ง ในพระราชดำรัส พระราชทานในพิธีประดับยศนายตำรวจชั้นนายพล ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันที่ 15 มกราคม 2519)

 

เมืองไทยนี้อยู่ได้ด้วยความสามัคคี ด้วยความเข้มแข็ง ด้วยความเสียสละ อาศัยความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน และถ้ารักษาความเห็นอกเห็นใจนี้แล้ว ประเทศชาติของเราก็จะ เป็นที่อาศัยที่อุดมสมบูรณ์และน่าสบายต่อไปชั่วกาลนาน…”

(ความตอนหนึ่ง ในพระราชดำรัส พระราชทานในพิธีพระราชทานธงประจำรุ่นลูกเสือชาวบ้านจังหวัดขอนแก่น ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วันที่19 กุมภาพันธ์ 2519)

 

บ้านเมืองไทยสามารถฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ ได้โดยดี เพราะว่าจิตใจสามัคคีและแสดงออกซึ่งสามัคคี ถ้าตราบใดเรารักษาความสามัคคีความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันไว้ได้ เราก็จะอยู่ได้อย่างมีความสุขตราบนั้น…”

(ความตอนหนึ่ง ในพระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะประชาชนจังหวัดราชบุรี ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันที่ 16 พฤศจิกายน 2531)

 

ในความรู้ รัก สามัคคีนั้น สิ่งที่ทรงเน้น มีดังนี้

รู้ คือ การที่เราจะลงมือทำสิ่งใดนั้นจะต้องรู้เสียก่อน รู้ถึงปัจจัยทั้งหมด รู้ถึงปัญหาและรู้ถึงวิธีการแก้ปัญหา นั่นคือมนุษย์ต้องใช้ปัญญาคิดวิเคราะห์ มองเห็นคุณค่าต่างๆ ข้อดีข้อด้อยและ เลือกตัดสินใจกระทำอย่างรอบคอบ ประยุกต์ใช้เฉพาะส่วนดีเพื่อมุ่งให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม

รัก คือ คือ ความเมตตา อันเป็นรักในฝ่ายดี ความรักที่ต้องการให้ผู้อื่นมีความสุข โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ด้วยความรักนี้จะทำให้เราแสวงหาความรู้จนครบถ้วนกระบวนความ และมุ่งมั่นที่จะเข้าไปลงมือปฏิบัติแก้ไขปัญหานั้นๆ เพื่อให้ผู้อื่นมีความสุข

ความสามัคคี คือ การที่จะลงมือปฏิบัตินั้นต้องคำนึงเสมอว่าเราคนหนึ่งมีศักยภาพเท่าใด มีสมรรถนะเพียงใด ผลของการลงมือปฏิบัติของเราเป็นอย่างไร ปัญหาที่จะลงไปแก้ไขนั้นทำคนเดียวได้หรือไม่ หากปัญหานั้นมีขนาดใหญ่เราย่อมจะทำงานคนเดียวไม่ได้ หรือเพื่อความยั่งยืนของการแก้ไขปัญหาก็จะต้องทำงานร่วมมือร่วมใจเป็นองค์กรเป็นหมู่คณะจึงจะมีพลังมากจนสามารถเข้าไปแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี