ลักษณะประจำชาติ

เศรษฐกิจพอเพียงในฐานะหลักการทรงงาน (ทำงานอย่างมีความสุข)

ทำงานอย่างมีความสุข จุดมุ่งหมายสูงสุดของมนุษย์ คือ ความสุข

หากการดำเนินชีวิตไม่เป็นไปเพื่อความสุขแล้ว มนุษย์ย่อมมีชีวิตที่แสนน่าเสียดาย (absurd) มนุษย์จึงแสวงหาความสุขในรูปแบบต่างๆ จนเกิดสำนักความคิดทางปรัชญาที่ชี้นำว่าความสุขของมนุษย์คืออะไร และเราจะมีความสุขได้ยืนยาวนานที่สุดอย่างไร อันเป็นที่มาของจริยศาสตร์ เมื่อปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นจริยศาสตร์ ดังนั้น ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงก็ชี้ถึงความสุขไว้ด้วยเช่นเดียวกัน

ความสุขนี้เป็นความสุขตามคุณภาพของมนุษย์ผู้มีปัญญา ซึ่งต่างจากสัตว์ ดังวลี กิน ขี้ ปี้ นอน ที่นักวรรณกรรมชอบใช้เพื่อประชดการดำรงชีวิตของมนุษย์ที่ไร้เป้าหมายในการดำรงอยู่คือ หลงไปในความสุขที่มีคุณภาพอย่างต่ำ ชอบอยู่เฉยๆ ชอบความสะดวกสบาย ไม่ทำงาน มุ่งแสวงหาผลประโยชน์ให้มาก มุ่งความสุขทางกาย และการสืบทอดเผ่าพันธุ์โดยอ้างว่าเป็นหน้าที่ของมนุษย์ในฐานะสิ่งมีชีวิตดุจสัตว์โลกทั่วไป หากมนุษย์หลงในความสุขเช่นนี้ย่อมเป็นทุกข์

ศาสนาทั้งหลายจึงได้ชี้ให้มนุษย์แสวงหาความสุขแท้ด้วยการทำดี ความเป็นจริงของมนุษย์นั้นมีสารัตถะอยู่ที่ความสุขของปัญญา คือ ความสุขของการได้คิด ได้ทำอย่างที่คิด ได้พูดอย่างที่คิด และได้บรรลุเป้าหมายของชีวิตที่ได้คิดวางไว้ การทำงานจึงเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ ในการเดินไปทางเป้าหมายของชีวิต ดังนั้นจึงต้องมุ่งเป้าไปที่ความสุข ดังนั้นมนุษย์จึงต้องกระทำทุกอย่างแม้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน การประกอบอาชีพโดยประพฤติดีให้เป็นนิสัย ทำดีเพื่อความสุข และย่อมเกิดความสุขแท้ในใจ

สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ได้เผยแพร่เรื่องนี้ไว้ว่า ความสุขเป็นเรื่องของการทำประโยชน์ให้เกิดขึ้น ซึ่งความสุขที่แท้จริงคือ การทำประโยชน์ให้ผู้อื่น มิใช่ทำให้ตนเองเพียงเท่านั้น ต้องสร้างประโยชน์กับคนอื่น เมื่อคนอื่นมีความสุขแล้วเราก็มีความสุขด้วย โดยความสุขของผู้อื่น คือความสุขส่วนรวมนั่นเอง เราต้องยึดประโยชน์ส่วนรวมมาก่อนประโยชน์ส่วนตน ดังมีพระราชดำรัสครั้งหนึ่งความว่า

 

“…ขอบใจนะที่มาช่วยฉันทำงาน ฉันขอบอกก่อนนะ ช่วยฉันทำงาน ไม่มีอะไรจะให้ นอกจากมีความสุขร่วมกัน ในการทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น…”