อุดมการณ์ของชาติและภาวะผู้นำ

ทรงก้าวข้ามอุดมการณ์ทางการเมืองด้วยจิตที่เปี่ยมพระเมตตา

แม้ว่าอุดมการณ์ของชาติกับภาวะผู้นำจะมีความสำคัญยิ่งต่อความมั่นคงของชาติ การแต่ยึดมั่นถือมั่นในอุดมการณ์อย่างสุดโต่ง บางครั้ง อาจนำมาซึ่งความขัดแย้งของคนในชาติที่มีทิฏฐิ หรือความเชื่อที่แตกต่างกัน เป็นเหตุให้เกิดการต่อสู้ทางด้านอุดมการณ์ โดยเฉพาะอุดมการณ์ทางการเมือง มีการสร้างวาทกรรมโน้มน้าวให้เชื่อ และโจมตีอีกฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย คือต่างฝ่ายต่างมองกันเป็นศัตรูคู่แข่งทั้งๆ ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเลยก็ตามที

ในอดีต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงให้สัมภาษณ์กับนักข่าวต่างประเทศ โดยข้อคำถามที่นักข่าวพยายามซักถามนั้นมีการแบ่งแยกระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับฝ่ายคอมมิวนิสต์อย่างเห็นได้ชัด และพยายามที่จะซักถามพระองค์ท่านว่า พระองค์ท่านมาต่อสู้กับพวกคอมมิวนิสต์ใช่หรือไม่?

แต่ด้วยพระอัจฉริยภาพและความรักที่พระองค์ทรงมีต่อประชาชนโดยไม่แบ่งพรรค แบ่งฝ่าย หรือแบ่งพวก ตามอุดมการณ์ทางการเมือง การให้สัมภาษณ์ในครั้งนั้นจึงสร้างความประทับใจให้กับคนไทยและชาวโลกจนถึงทุกวันนี้

 

นักข่าวต่างประเทศถามพระองค์ว่า

“สร้างเขื่อนเสร็จแล้วจะชนะการต่อสู้ใช่หรือไม่?”

 

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงถามกลับไปว่า

“ชนะใคร?… ต่อสู้กับใคร?… เราไม่ได้ต่อสู้กับประชาชน เราสู้กับความอดอยากหิวโหย ถ้าสร้างเขื่อนสำเร็จ ชาวบ้านได้ประโยชน์ คนที่ท่านเรียกว่า คอมมิวนิสต์ เขาก็ได้ประโยชน์เหมือนกัน”

 

พระองค์ทรงก้าวข้ามความขัดแย้งจากวาทกรรมทางการเมืองด้วยความรักความเมตตา และเปลี่ยน mind set ของคนทั้งโลก ด้วยการตรัสว่า “พระองค์ไม่ได้ต่อสู้กับประชาชน” แต่พระองค์ทรงต่อสู้กับความอดอยากหิวโหยของประชาชน นั่นหมายความว่าพระองค์ไม่ได้ต่อสู้กับคอมมิวนิสต์หรือประชาธิปไตยอันเป็นเพียงอุดมการณ์ทางการเมือง แต่พระองค์ทรงเลือกแสดงความรักด้วยการ “แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของประชาชน”

เมื่อกลับมามองปัญหาปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องผิดที่ประชาชนทุกเพศทุกวัยจะแสดงความห่วงกังวลต่อเรื่องปากท้องและคุณภาพชีวิตของตนเอง โดยเฉพาะในช่วงปัจจุบันหลังวิกฤตโควิด-19 ต้องยอมรับว่า เป็นผลกระทบต่อคนทั้งโลกไม่ใช่แต่ในประเทศไทยเท่านั้น โจทย์สำคัญที่สุดในสถานการณ์ตอนนี้จึงได้แก่ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม ควรสร้างเวทีการมีส่วนร่วมเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนประเด็นปัญหาและหาทางออกร่วมกันด้วยสันติวิธี ส่งเสริมอาชีพ มีรายได้เพียงพอ และพัฒนาความมั่นคงทางทรัพยากร ไม่ใช่ความมั่นคงของใครคนใดคนหนึ่งหรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

อีกด้านหนึ่ง ควรลดละเลิกวาทกรรมอันก่อให้เกิดความเกลียดชังหรือวาทกรรมที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ เช่น การบูลลี่ ข่มขู่ด้วยวาทกรรมแบ่งแยก เพราะไม่ว่าจะเป็น “คนรุ่นเก่า” หรือ “คนรุ่นใหม่” ล้วนแต่เป็น “คนปัจจุบัน” ด้วยกันทั้งนั้น จุดร่วมคือ “ความเป็นคน” ทุกคนมีเลือดเนื้อ ทุกข์เป็น สุขเป็น เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งนั้น จงเคารพความเป็นคนของกันและกัน

ปัญหามนุษย์มีอยู่หลายเรื่อง แต่เรื่องที่สำคัญที่สุดตอนนี้คือเรื่องสุขภาพ ปากท้อง และคุณภาพชีวิตของประชาชน ปัญหาความขัดแย้งไม่สามารถก้าวข้ามด้วยวาทกรรม แต่ต้องก้าวข้ามด้วยความรักความเข้าใจ ลงมือทำด้วยความเสียสละเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ไม่เคยมีนักการเมืองพรรคใดสามารถกระทำได้สำเร็จอย่างต่อเนื่องได้เหมือนองค์ภูมิพล

 

“…ข้าพเจ้าจึงปรารถนาอย่างยิ่ง ที่จะเห็นชาวไทยมีความสุขถ้วนหน้ากัน ด้วยการให้ คือ ให้ความรัก ความเมตตากัน ให้น้ำใจไมตรีกัน ให้อภัย ไม่ถือโทษโกรธเคืองกัน ให้การสงเคราะห์ อนุเคราะห์กัน โดยมุ่งดี มุ่งเจริญต่อกัน ด้วยความบริสุทธิ์และจริงใจ”

 

พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

พระราชทานแก่ปวงชนชาวไทย ในโอกาสวันขึ้นปีใหม่

วันที่ 31 ธันวาคม 2545

 

รักพ่อ… เดินตามรอยพ่อ