วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี พลังงานและสิ่งแวดล้อม

คิดอย่างไรให้ได้นวัตกรรม เริ่มต้นจากการสิ้นคิด

โดยปกติ คำว่า “คนสิ้นคิด” มักถูกตีความเพื่อนำไปใช้ในทางลบ คือ สื่อความหมายถึงลักษณะของคนเบาปัญญา ทำอะไรไม่คิดให้รอบคอบ หรือขาดความตระหนักรู้ แต่สำหรับการคิดนวัตกรรม สิ่งนี้กลับกลายเป็น “เทคนิค” สำคัญขั้นพื้นฐานของบรรดาเหล่าอัจฉริยะที่เกิดขึ้นบนโลกนี้ เช่น เอดิสัน อายน์สไตน์ เป็นต้น หากนำมา re-meaning เพื่อให้ได้ความหมายใหม่ ก็จะได้นวัตกรรมใหม่ทางด้านมุมมองที่ต่างออกไป

บรรดาเหล่าอัจฉริยะทั้งหลาย เป็นผู้ออกจาก “กับดักของการคิด” ที่ “เคยชิน” ออกจากวงจรการคิดแบบ “วนซ้ำ” อันเกิดจากการ “ยึดติด” ในมุมมอง ความเชื่อ และประสบการณ์แบบเดิมๆ ที่ตนยึดถือเอาไว้อย่างเหนียวแน่นจนกลายเป็นอคติ เป็นกรอบ เป็นกรงที่ขังศักยภาพแห่งความสร้างสรรค์ไม่ให้ระเบิดออกมาเพื่อสร้างคุณประโยชน์อันยอดเยี่ยมอย่างที่มันควรจะเป็น นอกจากจะสามารถออกจากกับดักของความคิดได้แล้ว ยังสามารถออกจาก “การยึดติดกับดักความสำเร็จ” ได้ด้วย องค์กรที่เคยยิ่งใหญ่ในอดีตมักยึดติดกับรูปแบบความสำเร็จเดิมๆ ทำให้ความคิดวนซ้ำอยู่ที่เดิม เป็นเหตุให้เกิดการบริหารที่เอาเรื่องของอดีตมากำหนดอนาคต โดยละเลยสภาพปัจจุบันที่ขับเคลื่อน เปลี่ยนแปลงอยู่ทุกวัน

แท้จริงแล้วมนุษย์คนหนึ่งสามารถก้าวสู่ความยิ่งใหญ่ได้มากกว่าที่เขาคิด เพียงเปิดใจที่จะออกจากกะลาใบเดิม ความคิดแบบเดิม เพื่อมาสัมผัสกับโลกแห่งความเป็นจริง

เมื่อไม่คิดแล้วจะทำอย่างไร?

สำหรับเทคนิคนี้ ไม่ได้ห้ามไม่ให้คิด แต่ให้ “รู้สึกก่อนคิด” ไม่ใช่คิดก่อนที่จะรู้สึก ถ้าคิดก่อนที่จะรู้สึกมักจะกลายเป็นเรื่องมโนเพ้อฝัน หรือกังวลฟุ้งซ่าน หรือคิดไปเอง ซึ่งไม่มีพลังมากพอที่จะขับเคลื่อนนวัตกรรมใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นได้ แต่ถ้าเรา “รู้สึกก่อนคิด” จะเกิดความเข้าใจได้ว่า “หนึ่งก้อนความรู้สึกของมนุษย์ที่มีต่อเรื่องใดๆ สามารถสร้างความคิดแตกออกมาได้เป็นร้อยเป็นพัน” ความรู้สึกเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนความคิดมนุษย์ให้เป็นไปในทิศทางต่างๆ ดังนั้น นักคิดนวัตกรรมจึงควรเป็นผู้ฉลาดรู้ทางความรู้สึก “คิดให้น้อยลง รู้สึกให้มากขึ้น” นี่เป็นข้อแนะนำของผู้เขียน ที่ทุกคนสามารถเริ่มได้เลยตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไป ให้กลับมารู้สึกเนื้อรู้สึกตัว มีความรู้สึกถึงลมหายใจเข้าออก รู้สึกถึงสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็งที่เกิดขึ้นกับร่างกาย รู้สึกถึงไออุ่น การกระพริบของดวงตา สังเกตดูพฤติกรรมทางกายที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน เรากำลังนั่ง ยืน เดิน หรือนอน เรารู้สึกอึดอัด ตึง หรือเบาสบาย วิธีการดังกล่าวนี้คล้ายๆ กับการปฏิบัติธรรม ที่ให้กลับเข้ามารู้สึกเนื้อรู้สึกตัว ตระหนักรู้ หรือมีสติดำรงอยู่กับปัจจุบัน แต่มันจำเป็นอย่างมากสำหรับการสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้น นวัตกรรมไม่ได้เกิดจากการหมกมุ่นอยู่กับความคิดเหมือนคนไร้สติ ตรงกันข้าม พลังของสติจะเป็นตัวขับเคลื่อนพลังของปัญญาให้มีความแรง คม ชัด และลึกซึ้งมากขึ้นเรื่อยๆ ตามกำลังของ “ตัวรู้” ที่เฝ้าสังเกตปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ตัวรู้ หรืออาการ “รับรู้” นี้ ไม่ใช่ตัวความคิดปรุงแต่ง ไม่ใช่อารมณ์ความรู้สึก แต่เป็นเพียงอาการรู้ของจิต เมื่อใจเราเริ่มสงบลง เป็น common sense ที่เกิดขึ้นง่ายๆ และเข้าใจได้ง่ายไม่ซับซ้อน การที่เราต้องฝึกสังเกตตัวรู้อยู่บ่อยๆ ก็เพื่อให้ออกจากความคิด กลับมาอยู่กับสติในปัจจุบัน เราจะรู้สึกถึงปรากฏการณ์รอบตัวได้มากขึ้น เมื่อเราสามารถออกจากความคิดของตัวเองได้มากขึ้น เมื่อฝึกบ่อยๆ เราจะเริ่มสนใจความรู้สึกของตัวเองน้อยลง แต่สนใจความรู้สึกของคนอื่นมากขึ้น เราจะเริ่มสังเกตเห็นพฤติกรรมในรูปแบบต่างๆ ของมนุษย์ที่แสดงออก เราจะรู้ว่าแต่ละคนกินยังไง อยู่ยังไง นอนยังไง ดำเนินชีวิตประจำวันยังไง เราจะเริ่มสังเกตเห็นปรากฏการณ์ซ้ำๆ ของแต่ละคน เริ่มเห็นความรู้สึกพอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง กับพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในแต่ละวันที่แต่ละคนประสบอยู่ เราจะเห็นแรงปรารถนา ความต้องการ ความคาดหวัง ความอยากได้ดั่งใจ ความกดดัน ความอึดอัดรำคาญใจ ความอยากผลักไสปัญหาต่างๆ ในชีวิตที่ทำให้เกิดความไม่พอใจให้ผ่านพ้นไป เราจะเก็บข้อมูลปรากฏการณ์เหล่านี้เอาไปคิด เอาไปวิเคราะห์วิจัยเพื่อหาทางออก เพื่อสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นบนพื้นฐานของความเข้าใจ คือ เข้าใจถึงความรู้สึกที่แท้จริงของผู้ประสบปัญหา จึงเป็นลักษณะ “รู้สึกก่อนคิด” ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น พื้นฐานของการเฝ้าสังเกตปรากฏการณ์นี้เป็นสิ่งจำเป็นมากต่อการคิดนวัตกรรมอย่างมีสติ เมื่อเราฝึกฝนจนชำนาญเราจะกลายเป็นนักสังเกตที่ยอดเยี่ยม มีความเอาใจใส่ในรายละเอียดต่างๆ ได้ดี เข้าใจความรู้สึกของตนเองและผู้อื่น มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี โดยเฉพาะ “ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น” การจะคิดหรือสร้างนวัตกรรมใดๆ จะเกิดจิตสำนึกในการรับผิดชอบต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสังคม ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม

จะเห็นได้ว่า แม้ผู้คิดนวัตกรรมจะยอมสิ้นคิดในช่วงต้น แต่ก็ไม่ได้ทำให้เกิดการสิ้นสติ ตรงกันข้าม กลับมีความรู้สึกตัวก่อนที่จะคิด มีความตระหนักรู้ถึงผลของการคิดและการทำสิ่งใดๆ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์หรือโทษ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “มีวิจารณญาณ” นั่นเอง

 

“หลักของคุณธรรมคือการคิดด้วยจิตใจที่เป็นกลาง

ก่อนจะพูดจะทำสิ่งไร จำเป็นต้องหยุดคิดเสียก่อน

เพื่อรวบรวมสติให้ตั้งมั่น และให้จิตสว่างแจ่มใส

ซึ่งเมื่อฝึกหัดจนคุ้นเคยชำนาญแล้ว จะกระทำได้คล่องแคล่ว

ช่วยให้สามารถแสดงความรู้ ความคิด ในเรื่องต่าง ๆ

ให้ผู้ฟังเข้าใจได้ง่าย ได้ชัด ไม่ผิดทั้งหลักวิชาทั้งหลักคุณธรรม”

 

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

10 กรกฎาคม 2535