ผลงานวิชาการ

คนพอเพียง / ปัจจัยหลักในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยอยู่ที่ทรัพยากรมนุษย์: บริบทของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ปัจจัยหลักในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย อยู่ที่ทรัพยากรมนุษย์: บริบทของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

พลตรี ธรรมนูญ  วิถี
Major General Thammanoon Withee
ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 9
Commanding general, 9th INF DIV, RTA
นักศึกษา วปอ. หลักสูตร การป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 58

บทคัดย่อ

ปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยได้ฝังรากลึกมายาวนาน ทั้งนี้จากการศึกษาของหลายสถาบันเห็นว่ามีต้นตอมาจากระบบเศรษฐกิจแบบเสรี (ทุนนิยม) ที่ใช้เงินเป็นตัวชี้วัด ปัญหาความเหลื่อมล้ำดังกล่าวเกิดขึ้นกับประเทศไทยมายาวนาน ความขัดแย้งในห้วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา มีความรุนแรงจนถึงขั้นวิกฤตที่เกือบต้องมีการแบ่งแยกประเทศออกเป็นแต่ละฝ่าย กระแสโลกาภิวัตน์ในปัจจุบันมีความเจริญก้าวหน้าทางด้านการคมนาคมขนส่งและด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นผลทำให้โลกเชื่อมโยงเป็นโครงข่ายถึงกันในลักษณะไร้พรมแดน และเกิดการขับเคลื่อนด้วยตัวเองในหลายด้าน ส่งผลกระทบอย่างรวดเร็ว กว้างขวาง ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจและด้านอื่นๆ ที่มีผลต่อชีวิตของคน สภาพความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก่อให้ เกิดความขัดแย้งในวิถีชีวิต ความรู้สึกนึกคิดของบุคคลหลายกลุ่ม ทั้งด้านเชื้อชาติ ศาสนา ความขัดแย้งในสังคมทั่วไป กระแสโลกาภิวัตน์ยังทำให้ปัญหาต่างๆ มีความยุ่งยากและซับซ้อนมากยิ่งขึ้นจนบางครั้งขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว รุนแรง และส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง เป็นภยันตรายต่อความสงบสุขของประชาชน ซึ่งปรากฏการณ์ทางสภาพสังคมจิตวิทยาและเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นสร้างความวุ่นวายและสับสนต่อพฤติกรรมของคนในชาติเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชนไทยที่ได้รับผลกระทบด้านคุณธรรมจริยธรรมจนขาดความตระหนักถึงคุณค่าของการทำความดี การเสริมสร้างให้ประชาชนตระหนักถึงหน้าที่ มีความรักความสามัคคีของคนในชาติ รวมทั้งเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาต่างๆ และให้ประชาชนตระหนักว่าการปลูกจิตสำนึกด้านคุณธรรมจริยธรรมจะเป็นเครื่องมือสำคัญและมีพลัง ที่จะสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กๆ และเยาวชนคนรุ่นหลังให้มีความรู้เพียงพอที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ในสังคมที่แวดล้อมไปด้วยปัญหาต่างๆ ได้อย่างปลอดภัย รวมทั้งเสริมสร้างความพอเพียงให้กับสถาบันครอบครัวอันเป็นสถาบันหลักพื้นฐานที่สำคัญของสังคมไทย ความพอเพียงของชุมชน และความพอเพียงของประเทศ ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ประเทศชาติและประชาชน มีภูมิคุ้มกันจาก ภัยคุกคามหลากหลายรูปแบบที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นการช่วยลดสภาวะความเสี่ยงของประเทศได้อย่างแท้จริง

 

บทนำ

ระบบเศรษฐกิจ (Economic System) หมายถึง กลุ่มชนที่รวมกันเป็นกลุ่มสถาบันทางเศรษฐกิจ (Economic Institution) ที่มีแนวปฏิบัติคล้ายๆ กันมาประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (Economic Activities) เพื่อบำบัดความต้องการของผู้บริโภคแนวปฏิบัติที่คล้ายๆ กันนี้จะเป็นกฎเกณฑ์และนโยบายที่หน่วยเศรษฐกิจในสังคมนั้นยึดถือเป็นแนวปฏิบัติเนื่องจากทรัพยากรของประเทศมีอยู่อย่างจำกัดแต่ความต้องการสินค้าและบริการของประชากรมีอยู่มากมายไม่จำกัดทรัพยากรที่ประเทศต่างๆ มีอยู่จึงไม่สามารถตอบสนองความต้องการทุกอย่างของประชากรได้ระบบเศรษฐกิจแบ่งออกได้เป็น 4 ระบบ คือ ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม (Capitalist Economic system) เป็นระบบเศรษฐกิจที่ถือว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นเจ้าของและการลงทุนในการผลิตเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนและยอมให้ผู้ประกอบการมีโอกาสแข่งขันทางเศรษฐกิจเพื่อให้ได้มาซึ่งผลกำไรหรือผลประโยชน์อื่นตามความสามารถและความต้องการของบุคคล ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม คือ ระบบเศรษฐกิจที่รัฐบาลเข้าไปเป็นผู้ดำเนินการผลิตโดยเน้นในด้านสวัสดิการของประชาชนในประเทศและรัฐบาลกลางยังเป็นผู้กำหนดกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเป็นผู้ตัดสินใจในการดำเนินการทั้งหมดซึ่งการดำเนินงานของหน่วยธุรกิจหน่วยครัวเรือนและสถาบันทางเศรษฐกิจจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามที่รัฐบาลกลางกำหนดซึ่งเอกชนไม่มีเสรีภาพในการตัดสินใจเพื่อดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ระบบเศรษฐกิจแบคอมมิวนิสต์ คือ ระบบเศรษฐกิจและการเมืองที่รัฐบาลเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตทุกชนิดโดยรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการในการตัดสินใจทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมทั้งหมดและ ระบบเศรษฐกิจแบบผสม คือ การนำเอาลักษณะสำคัญของระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมและแบบสังคมนิยมมาไว้ด้วยกัน

                        ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง(Sufficiency Economy) คือหลักปรัชญาที่แสดงไว้โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่9) ของประเทศไทยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (ศกพ.) นี้มักถูกนำไปเป็นหลักการและวิธีการในการแก้ปัญหาคนยากจนซึ่งส่วนมากอาศัยการเกษตรเป็นวิถีชีวิตและการทำมาหากินทำให้คนทั่วไปเข้าใจผิดว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องเกี่ยวกับคนยากจนหรือเกษตรกรรายย่อยเท่านั้น แต่เป็นความเข้าใจผิดโดยความเป็นจริงหลักเศรษฐกิจพอเพียงใช้ได้กับคนและองค์กรทุกระดับเศรษฐกิจทุกระดับตั้งแต่บุคคลถึงครอบครัวชุมชนจนถึงรัฐ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชรัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี พระผู้ทรงพระราชทานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้เป็นหลักในการดำเนินชีวิตของปวงชนชาวไทย เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 ณ โรงพยาบาลเมานท์ออเบิร์น เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาซูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 และทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ด้วยพระองค์ทรงเล็งเห็นว่ากระแสโลกาภิวัตน์ในปัจจุบันทำให้ประเทศต่างๆ หันมาพึ่งพากันอย่างใกล้ชิด และบูรณาการกิจการของประเทศเข้าเป็นระบบเดียวกัน โดยมีสาเหตุมาจากความเจริญก้าวหน้าทางด้านการคมนาคมขนส่งและด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นผลทำให้โลกกลายเป็นหมู่บ้านโลกทุกสิ่ง ทุกอย่างมีการเชื่อมโยงเป็นโครงข่ายถึงกันในลักษณะไร้พรมแดน และเกิดการขับเคลื่อนด้วยตัวเอง ในหลายด้าน ส่งผลกระทบอย่างรวดเร็ว กว้างขวาง และไม่คาดคิด โดยเฉพาะเรื่องการรับรู้ต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และด้านอื่นๆ ที่มีผลต่อชีวิตของคนในชาติ การรับรู้ ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ วิถีชีวิต ความรู้สึกนึกคิด ความเกลียดชังหรือนิยมชมชอบ โดยการรับรู้ผ่านสื่อต่าง ๆ ที่สื่อสารได้ ทั้งภาพ และเสียงอย่างรวดเร็ว มีการพัฒนาความคิดไปสู่ความต้องการพื้นฐานด้านต่างๆ ของมนุษย์ในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความเป็นธรรม ความโปร่งใส ความต้องการที่ตรวจสอบได้ สภาพความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นยังก่อให้ เกิดความขัดแย้งในวิถีชีวิต ความรู้สึกนึกคิดของบุคคลหลายกลุ่ม ทั้งด้านเชื้อชาติ ศาสนา ความขัดแย้งในสังคมทั่วไป  กระแสโลกาภิวัฒน์ยังทำให้ปัญหาต่างๆ มีความยุ่งยากและซับซ้อนมากยิ่งขึ้นจนบางครั้งขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว รุนแรง และส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง เป็นภยันตรายต่อความสงบสุขของประชาชน ปรากฏการณ์ทางสภาพสังคมจิตวิทยาและเศรษฐกิจที่เกิดความวุ่นวายและสับสนมีผลกระทบในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของประชาชนในชาติเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชนไทยที่ได้รับผลกระทบด้านคุณธรรมจริยธรรมจนขาดความตระหนักถึงคุณค่าของการทำความดี

สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำ

ปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยได้ฝังรากลึกมายาวนาน ทั้งนี้มีต้นตอมาจากระบบเศรษฐกิจแบบเสรี (ทุนนิยม) ที่ใช้เงินเป็นตัวชี้วัด โดยคนมีเงินมีโอกาสและอำนาจมากกว่า สามารถซื้อตำแหน่ง ซื้อได้แม้กระทั่งบาปบุญคุณโทษ  ทำให้คนจนและคนมีความรู้น้อยกว่าถูกเอาลัดเอาเปรียบ อีกทั้งระบบภาษีที่ไม่เป็นธรรม มีข้อยกเว้นและเอื้อประโยชน์ให้กับคนรวยมากกว่าคนจน รวมทั้งระบบงบประมาณที่ลำเอียงโดยเป็นประโยชน์ต่อคนมีรายได้สูงมากกว่าคนยากจน จึงยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำของสังคมขยายฐานกว้างมากขึ้น  ปัญหาความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นกับประเทศไทยมายาวนานถึงกับทำให้ประเทศไทยจำต้องยืนอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งมากว่า 10 ปี บางครั้งความขัดแย้งระหว่างคนไทยด้วยกันเองที่เกิดขึ้น รุนแรงจนถึงขั้นวิกฤตที่เกือบต้องมีการแบ่งแยกประเทศออกเป็นแต่ละฝ่าย ด้วยมีความคาดหวังที่จะทลายกำแพงความเหลื่อมล้ำจนถึงกับมุ่งไปที่การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขก็เพราะเกิดจากรากฐานของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจนั่นเอง  ทั้งนี้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านการเศรษฐกิจไม่ได้มีเฉพาะด้านเศรษฐกิจเองเท่านั้น ยังเกี่ยวข้องกับด้านภูมิศาสตร์ ด้านภาวะประชากร ด้านทรัพยากรธรรมชาติ ด้านลักษณะประจำชาติ ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การพลังงานและสิ่งแวดล้อม ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการทูต และด้านการศึกษาอีกด้วย ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะก่อตัวกันเป็นปัญหาด้านการเมือง ด้านสังคมจิตวิทยา ถึงแม้แต่ด้านการทหารเองก็ยังได้รับผลกระทบด้วยเช่นกันงานวิจัยหลายเวทีปฏิรูปหยิบยกปัญหาความเหลื่อมล้ำขึ้นมานำเสนอว่าเป็นหัวใจหลักของความขัดแย้งหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา สถาบันอนาคตไทยศึกษาได้ตระหนักถึงความสำคัญของประเด็นนี้ เช่น ความเหลื่อมล้ำได้ถูกหยิบยกขึ้นเป็นประเด็นที่นำไปสู่ข้อเรียกร้องทางการเมืองแม้หลายฝ่ายจะยังมีความเห็นต่างกันว่าความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันนั้นมีผลมาจากความไม่ลงตัวทางการเมือง แต่ก็เป็นที่ยอมรับกันว่าความเหลื่อมล้ำนั้นมีจริงในสังคมไทย และเกิดขึ้นมานานแล้ว ช่องว่างระหว่างรายได้ของคนรวยกับคนจนเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมไม่ว่าจะเกิดจากการขาดโอกาส ขาดสิทธิ ขาดทรัพยากร หรือธรรมชาติไม่เข้าข้างก็ตาม

ศ.(พิเศษ) ดร.สมชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปเศรษฐกิจการเงินและการคลัง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวตอนหนึ่งในปาฐกถาว่า ประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลก ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ฝังรากลึกมายาวนาน มีต้นต่อมาจากระบบเศรษฐกิจแบบเสรีที่ใช้เงินเป็นตัวชี้วัดคนมีเงินมีโอกาสและอำนาจมากกว่า สามารถซื้อตำแหน่ง ซื้อได้แม้กระทั่งบาปบุญคุณโทษทำให้คนจนและคนมีความรู้น้อยกว่า ถูกเอาเปรียบ อีกทั้งระบบภาษีที่ไม่เป็นธรรม มีข้อยกเว้นและเอื้อประโยชน์ให้กับคนรวยมากกว่าคนจน รวมทั้งระบบงบประมาณที่ลำเอียงโดยเป็นประโยชน์ต่อคนมีรายได้สูงมากกว่าคนยากจน จึงยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำขยายฐานขึ้นเรื่อยๆ ภาคประชาสังคมนับเป็นพลังใหม่ที่มีเข้ามามีส่วนในการแบ่งปันอำนาจรัฐจากโครงสร้างอำนาจรัฐเดิมที่อยู่ในกลุ่มข้าราชการ ทหารตำรวจ นักธุรกิจ และหากได้รับการส่งเสริมให้ภาคประชาสังคมมีความเข้มแข็งจะช่วยเปลี่ยนสมการและแบ่งอำนาจในสังคมยุคใหม่

ดร. วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่าความเหลื่อมล้ำได้ถูกหยิบยกขึ้นเป็นประเด็นที่นำไปสู่ข้อเรียกร้องทางการเมือง แม้หลายฝ่ายจะยังมีความเห็นต่างกันว่าความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันนั้นมีเหตุผลมาจากความไม่ลงตัวทางการเมือง หรือเหตุอื่นกันแน่ แต่เราต้องยอมรับว่าความเหลื่อมล้ำนั้นมีจริงในสังคมไทย และมีมานานแล้วช่องว่างระหว่างรายได้ของคนรวยกับคนจนเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในสังคม

เศรษฐกิจแบบสังคมแบ่งปันหรือเศรษฐกิจพอเพียงที่ให้ความสำคัญกับการรวมตัวของประชาชนเป็นภาคประชาสังคมภายใต้หลักของ 3 ห่วง 2 เงื่อนไข เป็นการเสริมสร้างให้ประชาชนตระหนักถึงหน้าที่ มีความรักความสามัคคีของคนในชาติ รวมทั้งเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาต่างๆ และให้ประชาชนตระหนักว่าการปลูกจิตสำนึกด้านคุณธรรมจริยธรรมจะเป็นเครื่องมือสำคัญและมีพลัง ที่จะสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กๆ และเยาวชนคนรุ่นหลังให้มีความรู้เพียงพอที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ในสังคมที่แวดล้อมไปด้วยปัญหาต่างๆ ได้อย่างปลอดภัย รวมทั้งเสริมสร้างความพอเพียงให้กับสถาบันครอบครัวอันเป็นสถาบันหลักพื้นฐานที่สำคัญของสังคมไทย ความพอเพียงของชุมชน และความพอเพียงของประเทศ ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ประเทศชาติและประชาชน มีภูมิคุ้มกันจาก ภัยคุกคามหลากหลายรูปแบบที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นการช่วยลดสภาวะความเสี่ยงของประเทศได้อย่างแท้จริง


รัฐ

รัฐ คือ กลไกทางการเมืองโดยมีอำนาจอธิปไตยปกครองดินแดนทางภูมิศาสตร์ที่มีอาณาเขตและมีประชากรแน่นอน โดยอำนาจดังกล่าวเบ็ดเสร็จทั้งภายในและภายนอกรัฐ ไม่ขึ้นกับรัฐอื่นหรืออำนาจอื่นจากภายนอก และอาจกล่าวได้ว่า รัฐสามารถคงอยู่ได้แม้จะไม่ได้รับการรับรองจากรัฐอื่น เพียงแต่รัฐที่ไม่ได้รับการรับรองเหล่านี้ มักจะพบว่าตนประสบอุปสรรคในการเจรจาสนธิสัญญากับต่างประเทศและดำเนินกิจการทางการทูตกับรัฐอื่น องค์ประกอบสำคัญของรัฐ มี 4 ประการ คือ

  1. 1. ประชากร รัฐทุกรัฐจะต้องมีประชากรจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีจุดมุ่งหมายและมีประโยชน์ร่วมกัน จำนวนประชากรของแต่ละรัฐอาจมีมากน้อยแตกต่างกันไป ที่สำคัญคือ จะต้องมีประชากรดำรงชีพอยู่ภายในขอบเขตของรัฐนั้น
  2. 2. ดินแดน รัฐต้องมีดินแดนอันแน่นอนของรัฐนั้น กล่าวคือ มีเส้นเขตแดนเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศทั้งโดยข้อเท็จจริงและโดยสนธิสัญญา ทั้งนี้รวมถึงพื้นดิน พื้นน้ำและพื้นอากาศ
  3. 3. อำนาจอธิปไตย อำนาจอธิปไตย คือ อำนาจรัฐ หมายถึง อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ ทำให้รัฐสามารถดำเนินการทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับการปกครองภายในและภายนอก
  4. 4. รัฐบาล รัฐบาลคือ องค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินงานของรัฐในการปกครองประเทศ รัฐบาลเป็นผู้ทำหน้าที่สาธารณะสนองเจตนารมณ์ของสาธารณชนในรัฐ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนและป้องกันการรุกรานจากรัฐอื่น รัฐบาลเป็นองค์กรทางการเมืองที่ขาดไม่ได้ของรัฐ

ถึงแม้ว่าคำว่า รัฐ มักจะรวมถึงสถาบันรัฐบาลหรือการปกครอง ทั้งสมัยโบราณและสมัยใหม่ ระบบรัฐสมัยใหม่มีลักษณะหลายประการ และคำดังกล่าวมักถูกใช้ในความหมายถึงระบบการเมืองสมัยใหม่เท่านั้น คำว่า “ประเทศ” “ชาติ” และ “รัฐ” มักจะถูกใช้ในความหมายที่สามารถทดแทนกันได้ แต่การเลือกใช้คำจะมีความแตกต่างกันเล็กน้อย ซึ่งสามารถแบ่งออกได้ดังนี้:

– ชาติ : กลุ่มคนซึ่งเชื่อว่าตนมีวัฒนธรรม จุดกำเนิด และประวัติศาสตร์อย่างเดียวกัน

– รัฐ : องค์ประกอบของสถาบันการปกครอง ซึ่งมีอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนและประชากรที่แน่นอน

รัฐ เป็นแนวความคิดหรือมโนทัศน์ที่ย่อลงมาจากการเมือง (Politics) ในลักษณะที่รัฐเป็นสถาบันที่เกิดขึ้นจากการจัดระเบียบและการสร้างแบบแผนอย่างเป็นทางการของการเคลื่อนไหวหรือพลวัตของการเมือง โดยที่รัฐประกอบไปด้วยประชากรและ.สิทธิหน้าที่ต่างๆ สถาบัน และกระบวนการยุติธรรม หลักการและอำนาจ ซึ่งเป็นเครือข่ายความสัมพันธ์แบบโครงสร้าง ส่วนในมโนทัศน์อย่างแคบ รัฐหมายถึง รัฐบาลที่ทุกรัฐจะต้องมีเป็นของตนเอง รวมทั้งมีอำนาจหน้าที่ในการปกครองในนามของรัฐ (Leslie Lipson 2002, 46) ชัยอนันต์ สมุทวณิช ได้กล่าวถึงความหมายของรัฐตามทัศนะของ เบนจามินและดูวาล (Roger Benjamin and Raymond Duvall) ซึ่งได้เสนอว่า มีแนวคิดเกี่ยวกับรัฐอยู่ 4 แนวทาง คือ (1) รัฐในฐานะที่เป็นรัฐบาล (The state as government) ซึ่งหมายถึง กลุ่มบุคคลที่ดำรงตำแหน่งซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจในสังคมการเมือง และ (2) รัฐในฐานะที่เป็นระบบราชการ (The state as public bureaucracy) หรือเครื่องมือทางการบริหารที่เป็นปึกแผ่นและเป็นระเบียบทางกฎหมายที่มีความเป็นสถาบัน ทั้งสองความหมายนี้เป็นการมองรัฐตามแนวคิดของนักสังคมศาสตร์ที่มิใช่มาร์กซิสต์ (3) รัฐในฐานะที่เป็นชนชั้นปกครอง (The state as ruling class) เป็นความหมายในแนวคิดของมาร์กซิสต์ และ (4) รัฐในฐานะที่เป็นโครงสร้างทางอุดมการณ์ (The state as normative order) ซึ่งเป็นแนวคิดของนักมานุษยวิทยา เนทเทิล (J.P.Nettle) ในบทความ “ State as Conceptual Variable” และ “World Politics (1968 อ้างถึงในชัยอนันต์ สมุทวณิช 2535, 25-27) เห็นว่า รัฐ หมายถึง

ก) องค์กรที่รวมศูนย์การทำหน้าที่และโครงสร้างไว้เพื่อที่จะปฏิบัติการได้อย่างทั่วด้าน แนวคิดนี้เป็นแนวคิดแบบดั้งเดิมที่เน้นเรื่องอำนาจอธิปไตยและรัฐอธิปไตย ว่า รัฐมีฐานะสูงกว่าองค์กรอื่นๆ ในสังคม อำนาจของรัฐเป็นอำนาจตามกฎหมาย แนวคิดนี้จึงเชื่อมโยงรัฐกับกฎหมาย กับระบบราชการและกับรัฐบาล

ข) รัฐในฐานะที่เป็นหน่วยงาน ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหมายถึง การที่รัฐมีอิสระในการดำเนินกิจการต่าง ๆ กับรัฐอื่น ๆ แนวคิดนี้ก็อาจเป็นแนวคิดเดิมเรื่องรัฐธรรมนูญอีกเช่นกัน หากรัฐมีอิสระในการดำเนินกิจการระหว่างประเทศ ก็จะมีความเป็นรัฐ (Stateness) สูง แนวคิดนี้ใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์ลักษณะสองด้านของรัฐคือ รัฐเป็นหน่วยอำนาจอธิปไตยในความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมภายในสังคม (intrasocial) ด้านหนึ่ง กับรัฐเป็นหน่วยหนึ่งในความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมภายนอกสังคม (extrasocial) อีกอย่างหนึ่ง

ค) รัฐในฐานะที่เป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระ เป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่มีลักษณะเด่นเฉพาะตัว แนวคิดนี้ใช้ในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างส่วนที่เป็นเรื่องของรัฐกับส่วนที่เป็นเรื่องของเอกชน เช่น ระบบการศึกษาของรัฐ กับระบบการศึกษาภายใต้การดูแลของเอกชน รัฐวิสาหกิจและภาครัฐบาล กับอุตสาหกรรมของภาคเอกชน เป็นต้น

ง) รัฐในฐานะที่เป็นปรากฏการณ์ทางสังคม-วัฒนธรรม อย่างหนึ่ง แนวคิดนี้ใช้ในการศึกษาวิวัฒนาการของรัฐ และความสัมพันธ์ระหว่างรัฐว่าเป็นสิ่งเดียวกัน

จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น เมื่อพิจารณาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว องค์ประกอบของรัฐที่จะต้องมีคุณสมบัติตามหลักปรัชญาฯ ก็คือ คนหรือประชากร และแผ่นดิน หากได้ประสมประสานกันอย่างสอดคล้อง และบูรณาการเข้าด้วยกันย่อมจะสร้างภูมิคุ้มกันให้กับคนไทยและแผ่นดินไทย ซึ่งนับวันภัยคุกคามที่เกิดขึ้นกับประเทศและคนในชาติจะทวีความรุนแรงและหลากหลายรูปแบบ หลากหลายปัญหา

 

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

“เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทย มาโดยตลอดนานกว่า 24 ปี ตั้งแต่ก่อนวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ และเมื่อภายหลังได้ทรงเน้นย้ำแนวทางแก้ไขเพื่อให้รอดพ้นและสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ  เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่ และปฏิบัติของประชาชนในทุกระดับตั้งแต่ระดับครอบครัวจนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้ก้าวหน้าทันต่อยุคโลกาภิวัตน์  ความพอเพียงหมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอต่อการมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎีและนักธุรกิจทุกระดับให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสมดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และกว้างวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี  การพัฒนาด้านเศรษฐกิจตามพระบรมราโชวาทที่พระองค์ท่านได้พระราชทานเป็นหลัก  เปรียบเสมือนเสาเข็มเป็นรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน ดำรงชีวิตปฏิบัติภารกิจแบบคนจน มีพอสมควร พออยู่ได้แบบที่ไม่ติดกับตำรามากเกินไป ทำอย่างมีความสามัคคี มีเมตตา เอื้อเฟื้อต่อกัน พึ่งตนเองได้ ผลิตอะไรมีพอที่จะใช้อยู่ได้ด้วยตนเองเป็นทางสายกลาง

            หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนับเป็นแนวทางสำคัญที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันได้ ทั้งนี้หลักปรัชญาฯ มีพื้นฐานอยู่บนทางสายกลางและความไม่ประมาท โดยคำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนใช้ความรู้ความรอบคอบและคุณธรรมประกอบการวางแผน การตัดสินใจและการกระทำ ซึ่งเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตของประชาชนอย่างพอเพียงในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับบุคคลและครอบครัว ระดับชุมชน ระดับการดำเนินธุรกิจ จนถึงระดับประเทศ

            หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้ความสำคัญตั้งแต่ระดับบุคคลและครอบครัว การรวม ตัวกันของชุมชน ระหว่างชุมชน และกับชุมชนอื่นๆ ที่รวมเรียกว่าภาคประชาสังคมซึ่งนับว่าเป็นพลังใหม่ที่จะเข้ามามีส่วนในการแบ่งปันอำนาจรัฐ จากโครงสร้างอำนาจรัฐเดิมที่อยู่ในกลุ่มข้าราชการ ทหาร ตำรวจ นักธุรกิจ และหากได้รับการส่งเสริมให้ภาคประชาสังคมมีความเข้มแข็ง จะช่วยเปลี่ยนสมการและแบ่งอำนาจในสังคมยุคใหม่ โดยจะก่อให้เกิดแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ  ซึ่งหมายถึงการเติบโตอย่างมีพลวัต มีเสถียรภาพ มีความเป็นธรรม และมีสภาวะทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคตได้

                                    พระราชกรณียกิจสำคัญที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีประสบการณ์จากการตรากตรำพระวรกายทำงานหนัก นั่นคือการเสด็จไปทั่วแผ่นดินหรือทั่วราชอาณาจักร จึงมีโครงการพระราชดำริไม่น้อยกว่า 4300 โครงการเพื่อช่วยเหลือพสกนิกรของพระองค์ โดยเฉพาะชาวชนบทผู้ยากไร้  เศรษฐกิจพอเพียงเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางไม่ว่าชาวไทยหรือชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะผลผลิตที่แสดงให้เห็นในรูปโครงการพระราชดำริที่สามารถนำไปใช้และได้ผลอย่างแท้จริง พระองค์จึงได้รับการยกย่องว่า “กษัตริย์นักพัฒนา”

วันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 นายโคฟี อันนัน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล “ความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์” เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ซึ่งนับเป็นครั้งแรกขององค์การสหประชาชาติที่ได้จัดทำรางวัลเกียรติยศในครั้งนี้   ร็อบ โคเฮน ผู้สื่อข่าววิทยุเสียงอเมริกา (VOA) เขียนรายงานไว้ในเว็บไซด์ของ VOA ระบุถึงเมื่อครั้ง นายโคฟี่ อันนัน เลขาธิการสหประชาชาติ เข้าเฝ้าเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนาแห่งสหประชาชาติและกล่าวถวายคำสดุดีว่า  “…พระองค์ทรงเอื้อมพระหัตถ์ไปยังบรรดาผู้ที่ยากจนที่สุดและเปราะบางที่สุดในสังคมไทย ทรงรับฟังปัญหาของพวกเขาเหล่านั้น และให้ความช่วยเหลือพวกเขาเหล่านั้น ให้สามารถยืนหยัดดำรงชีวิตของตนเองต่อไปได้ด้วยกำลังของตัวเอง โครงการเพื่อการพัฒนาชนบทต่างๆ ของพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังประโยชน์ให้กับประชาชนนับเป็นล้านๆ ทั่วทั้งสังคมไทย   นั่นไม่เพียงทำให้พระองค์ทรงดำรงสถานะเป็น “กษัตริย์นักพัฒนา” ในสายตาของบุคคลภายนอกประเทศเท่านั้น หากแต่ยังส่งผลให้องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงสถิตอยู่ในดวงใจของคนไทยทั้งปวงไปตลอดกาลนาน…

จากคำถวายพระพรของสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนดารุสซาลาม ทรงมีพระราชดำรัสในนามพระประมุขและผู้แทนพระองค์ทั้ง 25 ประเทศ ในวโรกาสพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ณ พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร เมื่อค่ำวันที่ 13 มิถุนายน 2549 ดังความตอนหนึ่งทรงกล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงร่วมทุกข์ร่วมสุขกับประชาชน  “…ฝ่าพระบาทไม่เคยทรงอยู่ห่างไกลจากประชาชนของพระองค์ ไม่เคยทรงมีพระราชดำริให้ประชาชนเป็นเพียงผู้ฟังคำสั่งหรือบริวาร ในทางตรงข้าม ฝ่าพระบาททรงอยู่เคียงข้างพสกนิกรของพระองค์ และทรงร่วมทุกข์ร่วมสุขกับประชาชนชาวไทยตลอดมา  ฝ่าพระบาททรงทำให้ประชาชนชาวไทยทุกคนมีความภาคภูมิใจอย่างสุดซึ้งในเอกลักษณ์ และมรดกตกทอดทางวัฒนธรรม อีกทั้งยังได้ตระหนักด้วยว่า ประเทศไทยนั้นเป็นพื้นแผ่นดินที่เป็นของชาวไทยทุกคนอย่างแท้จริง และที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด ฝ่าพระบาททรงทำให้ชาวไทยทุกคนมีความเชื่อมั่นในตนเอง ทั้งหมดนี้เป็นการขยายผลจากแบบอย่าง ความสำเร็จของฝ่าพระบาทแทบทั้งสิ้น พระปรีชาสามารถของฝ่าพระบาทเป็นศูนย์รวมแห่งแรงบันดาลใจให้แก่ประชาชนของพระองค์ตลอดมา ไม่ว่าจะเป็นด้านวิชาการ ศิลปะ วิทยาศาสตร์ หรือแม้แต่การที่ทรงเป็นแบบ อย่างที่เรียบง่าย การเป็นพ่อผู้มีแต่ความรักและเสียสละเพื่อลูก…”

ก. “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทย มาโดยตลอดนานกว่า 24 ปี ตั้งแต่ก่อนวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ และเมื่อภายหลังได้ทรงเน้นย้ำแนวทางแก้ไขเพื่อให้รอดพ้นและสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ  เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่ และปฏิบัติของประชาชนในทุกระดับตั้งแต่ระดับครอบครัวจนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้ก้าวหน้าทันต่อยุคโลกาภิวัตน์  ความพอเพียงหมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอต่อการมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎีและนักธุรกิจทุกระดับให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสมดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และกว้างวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี  การพัฒนาด้านเศรษฐกิจตามพระบรมราโชวาทที่พระองค์ท่านได้พระราชทานเป็นหลัก  เปรียบเสมือนเสาเข็มเป็นรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน ดำรงชีวิตปฏิบัติภารกิจแบบคนจน มีพอสมควร พออยู่ได้แบบที่ไม่ติดกับตำรามากเกินไป ทำอย่างมีความสามัคคี มีเมตตา เอื้อเฟื้อต่อกัน พึ่งตนเองได้ ผลิตอะไรมีพอที่จะใช้อยู่ได้ด้วยตนเองเป็นทางสายกลาง หลักสำคัญของเศรษฐกิจพอเพียง ความพอเพียง หมายถึง ทำพอประมาณด้วยเหตุและผล มีความสมดุล  การพัฒนาต้องเป็นไปตามลำดับขั้นตอน ดังนี้ ต้องสร้างภูมิคุ้มกันในตัว เผื่อสามารถเผชิญและอยู่รอดจากผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ต้องมีความรอบรู้ ความรอบคอบและความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่างๆมาใช้ในการวางแผนและดำเนินการทุกๆขั้นตอน ต้องเสริมสร้างพื้นฐานทางจิตใจของคนในประเทศให้สำนึกในคุณธรรม จริยธรรมและศีลธรรม,ต้องดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติปัญญาและความรอบคอบ,ต้องสร้างความสมดุลและความพร้อมต่อการรับการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ซึ่งสามารถสรุปเป็นหลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ได้ดังนี้

1) หลักความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ อย่างรอบคอบ

2) หลักความพอประมาณ หมายถึง การดำเนินชีวิต หรือธุรกิจอย่างความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นโดยคำนึงถึงกำลังของตนเป็นสำคัญ ไม่ใช้จ่ายเกินกำลังของตนเองทั้งการผลิตและการบริโภค

3) หลักภูมิคุ้มกัน หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านที่จะเกิดขึ้น โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล

4) เงื่อนไข ความรู้ หมายถึง ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผน และความระมัดระวังในขั้นปฏิบัติ

5) เงื่อนไข คุณธรรม หมายถึง มีความตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริตและมีความอดทน มีความเพียรใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต

ข. สำนักงานคณะกรรมการการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้ความเห็นว่าเป็นปรัชญาที่สามารถประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียง สำหรับสังคมแต่ละระดับได้ เช่น ระดับบุคคล ครอบครัว สามารถให้ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนใน 5 ด้าน คือ จิตใจ สังคม เทคโนโลยี ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ รู้จักคำว่า “ พอ ”ไม่เบียดเบียนผู้อื่น พยายามพัฒนาตนเองเสริมสร้างความเข้มแข็งและความชำนาญ มีความสุขและความพอใจกับชีวิตที่พอเพียงยึดเส้นทางสายกลางในการดำรงชีวิต นอกจากนั้นยังสามารถในการประยุกต์ใช้กับระดับชุมชน ระดับรัฐหรือระดับประเทศ ระดับนักธุรกิจ ระดับนักการเมือง ระดับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ระดับครู อาจารย์ คนทุกวัย ทุกศาสนาหรือนำไปกำหนดนโยบายงานหรือระบบต่างๆเช่นการเงิน การคลัง ระบบการศึกษา ระบบเกษตร   ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลางและความไม่ประมาท โดยคำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนใช้ความรู้ความรอบคอบและคุณธรรมประกอบการวางแผน การตัดสินใจและการกระทำ จึงเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน ระดับธุรกิจ จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาตนเองทั้งในระดับบุคคล ธุรกิจและเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ พอแบ่งเป็นระดับได้ดังนี้

1) ความพอเพียงระดับบุคคลและครอบครัว มุ่งเน้นให้บุคคลและครอบครัวอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ทั้งทางกายและทางใจ พึ่งพาตนเองอย่างเต็มความสามารถ ไม่ทำอะไรเกินตัว ดำเนินชีวิตโดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น รวมถึงใฝ่รู้และมีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อความมั่นคงในอนาคตและเป็นที่พึ่งให้ผู้อื่นได้ในที่สุด เช่น หาปัจจัยสี่มาเลี้ยงตนเองและครอบครัว จากการประกอบสัมมาชีพ รู้ข้อมูลรายรับ – รายจ่าย  ประหยัดแต่ไม่ใช่ตระหนี่ ลด – ละ – เลิก อบายมุข สอนให้เด็กรู้จักคุณค่า รู้จักใช้รู้จักออมเงินและสิ่งของเครื่องใช้ ดูแลรักษาสุขภาพ รู้จักการแบ่งปันกันในครอบครัว ชุมชน และสังคมรอบข้าง รวมถึงการรักษาวัฒนธรรม ประเพณี และการอยู่ร่วมกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างเหมาะสมการประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียงในระดับบุคคลและครอบครัวจะเลือก หาน้ำใส่ตุ่มซึ่งก็คือการหารายได้เพิ่ม หรือจะเลือกอุดรูรั่วของตุ่มซึ่งก็คือการลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น กันก่อนดี

2) ความพอเพียงระดับชุมชน คนมีการรวมกลุ่มกันทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม ช่วยเหลือเกื้อกูลกันภายในชุมชนบนหลักของความรู้รักสามัคคี สร้างเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงกันทั้งในชุมชนและนอกชุมชน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น การรวมกลุ่มอาชีพ องค์กรการเงิน สวัสดิการชุมชน การช่วยดูแลรักษาความสงบ ความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย รวมทั้งการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมในชุมชนมาสร้างประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม เพื่อสร้างเสริมชุมชนให้มีความเข้มแข็ง และมีความเป็นอยู่ที่พอเพียง

3) ความพอเพียงในภาคธุรกิจเอกชน เริ่มจากความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจที่หวังผล ประโยชน์ หรือกำไรระยะยาวมากกว่าระยะสั้น แสวงหาผลตอบแทนบนพื้นฐานของการแบ่งปัน มุ่งให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้รับประโยชน์อย่างเหมาะสมและเป็นธรรมทั้งลูกค้า คู่ค้า ผู้ถือหุ้น และพนักงาน ด้านการขยายธุรกิจต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปรวมทั้งต้องมีความรู้และเข้าใจธุรกิจของตนเอง รู้จักลูกค้า ศึกษาคู่แข่ง และ เรียนรู้การตลาดอย่างถ่องแท้ ผลิตในสิ่งที่ถนัดและทำตามกำลัง สร้างเอกลักษณ์ที่แตกต่างและพัฒนาคุณภาพ ผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง มีการเตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น มีความซื่อสัตย์ รับผิดชอบต่อสังคม และป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญต้องสร้างเสริมความรู้และจัดสวัสดิการให้แก่พนักงานอย่างเหมาะสม

4) ความพอเพียงระดับประเทศ เป็นการบริหารจัดการประเทศโดยเริ่มจากการวางรากฐานให้ประชาชนส่วนใหญ่อยู่อย่างพอมีพอกิน และพึ่งตนเองได้ มีความรู้มีคุณธรรมในการดำเนินชีวิต มีการรวมกลุ่มของชุมชนหลายๆ แห่ง เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ สืบทอดภูมิปัญญา และร่วมกันพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงอย่างรู้รักสามัคคี เสริมสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงระหว่างชุมชนให้เกิดเป็นสังคมแห่งความพอเพียงในที่สุด

ค. การเสริมสร้างให้ประชาชนตระหนักถึงหน้าที่ มีความรักความสามัคคีของคนในชาติ รวมทั้งเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่มีผลกระทบมาจากกระแสโลกาภิวัตน์ในปัจจุบัน  และให้ประชาชนมีความตระหนักว่าการปลูกจิตสำนึกด้านคุณธรรมจริยธรรมจะเป็นเครื่องมือสำคัญ และมีพลังในที่จะสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กๆ และเยาวชนคนรุ่นหลังให้มีความรู้เพียงพอที่จะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในสังคมที่แวดล้อมไปด้วยปัญหาต่างๆ ในปัจจุบันได้อย่างปลอดภัย รวมทั้งเสริมสร้างความพอเพียงให้กับสถาบันครอบครัวอันเป็นสถาบันหลักพื้นฐานที่สำคัญของสังคมไทย ความพอเพียงของชุมชน และความพอเพียงของประเทศ ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ประเทศชาติและประชาชน มีภูมิคุ้มกันจาก ภัยคุกคามหลากหลายรูปแบบที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นการช่วยลดสภาวะความเสี่ยงของประเทศได้อย่างแท้จริง

ภาคประชาสังคม

คำว่า “ประชาสังคม” มาจากภาษาอังกฤษว่า Civil Society และมีผู้ใช้คำภาษาไทยเทียบเคียงกันหลายคำ อาทิ “สังคมประชาธรรม” (ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม) “สังคมราษฎร์” (เสน่ห์ จามริก) “วีถีประชา”(ชัยอนันต์ สมุทวณิช ใช้คำนี้โดยมีนัยยะของคำว่า Civic movement) “อารยสังคม” (อเนก เหล่าธรรมทัศน์) และ”สังคมเข้มแข็ง”(ธีรยุทธ บุญมี) เป็นต้น ทั้งนี้ นักคิดสำคัญ ๆ ของสังคมไทยได้อธิบายขยายความคำว่า “ประชาสังคม” หรือ Civil Society นี้ในบริบทเงื่อนไขและการให้น้ำหนักที่แตกต่างกัน อันพอรวบรวมในเบื้องต้นได้ดังนี้

ศ.นพ.ประเวศ วะสี นับเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการจุดประกายการคิดถกเถียง ในเรื่อง “ประชาสังคม” ให้มีความเข้มข้นอย่างมากในช่วงระยะ 5-6 ปีที่ผ่านมา โดยผ่านงานเขียนชิ้นสำคัญคือ “สังคมสมานุภาพและวิชชา” โดยในงานเขียนดังกล่าวประกอบกับบทความย่อยๆ และการแสดงปาฐกถาและ การอภิปรายในที่ต่าง ๆ พอประมวลเป็นความคิดรวบยอดได้ว่า ในสภาพของสังคมไทยปัจจุบัน ภาคส่วนหลัก (Sectors) ของสังคมที่มีความเข้มแข็ง และมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างมากคือ ภาครัฐ หรือ “รัฐานุภาพ” และภาคธุรกิจเอกชนหรือ “ธนานุภาพ” ซึ่งปรากฏการณ์นี้ส่งผลทำให้สังคม ขาดดุลยภาพและเกิดความล้าหลังในการพัฒนา ของฝ่ายประชาชนหรือ ภาคสังคม ซึ่งเรียกว่า “สังคมานุภาพ” ดังนั้นการนำเสนอแนวคิดของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี จึงมุ่งไปที่การทำอย่างไรที่จะเกื้อหนุนให้ภาคสังคมหรือภาคประชาชนมีความเข้มแข็งและเกิดดุลภาพทางสังคมขึ้น ที่เรียกว่าเป็น “สังคมสมานุภาพ” โดยนัยยะนี้ ศ.นพ.ประเวศ วะสี เชื่อว่าจะต้องพัฒนาให้เกิดความเข้มแข็งที่ชุมชน(Community Strengthening) (ประเวศ วะสี 2536) จนเกิดคำขยายความตามมา อาทิ ชุมชนเข้มแข็ง ความเป็นชุมชน เป็นต้น ดังการให้ความหมายของการเป็น “ชุมชน” ในที่นี้ ว่าหมายถึง “การที่ประชาชนจำนวนหนึ่งมี วัตถุประสงค์ร่วมกัน มีอุดมคติร่วมกันหรือมีความเชื่อร่วมกันในบางเรื่อง มีการติดต่อสื่อสารกัน หรือมีการรวมกลุ่มกัน มีความเอื้ออาทรต่อกัน มีความรัก มีมิตรภาพ มีการเรียนรู้ร่วมกันในการ ปฏิบัติบางสิ่งบางอย่างและมีระบบการจัดการในระดับกลุ่ม” (ประเวศ วะสี 2539) ซึ่งโดยนัยยะนี้ประชาสังคมที่เข้มแข็ง ต้องมีรากฐานที่เกิดจากการมีชุมชนที่หลากหลายและเข้มแข็งด้วย

มีข้อพึงสังเกตสำคัญต่อเรื่องการเกื้อหนุนภาคสังคม ที่เสนอแนวคิดในเชิงกลยุทธ์ที่ว่าด้วย “ความร่วมมือเบญจภาคี” (ต่อมาใช้คำว่า “พหุภาคี”) โดยมองว่าชุมชนในปัจจุบันอ่อนแอมาก การที่จะทำให้ชุมชน มีความเข้มแข็งได้นั้น จะต้องเกิดจากความร่วมมือและการทำงานร่วมกันของภาคสังคมต่าง ๆ ซึ่งรวมทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชนด้วย “สังคมสมานุภาพ” จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยกระบวนการถักทอความรักของคนในสังคม ของคนในชุมชน ถักทอทั้งแนวดิ่ง อันหมายถึง โครงสร้างอำนาจที่เป็น ทางการและแนวนอนซึ่ง หมายถึงพันธมิตร/เพื่อน/เครือข่ายเข้าหากัน ซึ่งหากพิจารณาจากประเด็นนี้ การให้ความหมายหรือความสำคัญของ “ประชาสังคม” ของ ศ.นพ. ประเวศ วะสี นั้น มิได้กล่าวถึง”การปฏิเสธรัฐ” หรือ State Disobedience แต่อย่างใด

อ.ธีรยุทธ บุญมี และ ดร.อเนก เหล่าธรรมทัศน์ สองนักคิดทางสังคมคนสำคัญ ที่ได้ให้ความสนใจกับเรื่อง “ประชาสังคม” อย่างมากเช่นเดียวกัน อ.ธีรยุทธ มองว่าการแก้ปัญหา พื้นฐานทางสังคมนั้นควรให้ความสำคัญกับ “พลังที่สาม” หรือพลังของสังคม หากแม้นว่าสังคมโดยรวมมีความเข้มแข็ง นักธุรกิจ นักวิชาชีพ นักศึกษา ปัญญาชนชาวบ้าน สามารถร่วมแรงร่วมใจกัน ผลักดันสังคม ปัญหาต่างๆ ที่เป็นพื้นฐาน ก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งนี้ สังคมที่เข้มแข็งในความหมายของ ธีรยุทธ บุญมี นั้น จะเน้นที่ลักษณะที่กระจัดกระจาย (Diffuse) พลังทางสังคมที่มาจากทุกส่วนทุกวิชาชีพทุกระดับ รายได้ ทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่งโดยนัยยะนี้ จะมีความแตกต่างจากแนวคิด”ประชาชนเป็นส่วนใหญ่” หรือ “อำนาจของประชาชน” ดังเช่นขบวนการ เคลื่อนไหวทางการเมืองในอดีตเป็นอย่างมาก (ธีรยุทธ บุญมี 2536)

อเนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้ให้ความหมายของ “ประชาสังคม” หรือ “อารยสังคม” ที่ครอบคลุมทุกชนชั้นของสังคม เน้นเรื่องความสมานฉันท์ ความกลมเกลียว ความกลมกลืนในภาคประชาสังคมมากกว่าการดูที่ความแตกต่างหรือ ความแตกแยกภายใน อย่างไรก็ตามมุมมองของ ดร.อเนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้ให้ความสนใจเป็นพิเศษกับประเด็นของ “คนชั้นกลาง” “การมีส่วนร่วม” “ความผูกพัน” และ “สำนึกของความเป็นพลเมือง” กล่าวคือ “ประชาสังคม” โดยนัยยะนี้ มิได้หมายถึงความเป็นชุมชนของสังคมชนบทเท่านั้นแต่กิน ความรวม ไปถึงคนชั้นกลางภาคเมืองที่ไม่จำเป็นต้องมีความ สัมพันธ์ใกล้ชิดเป็นเครือญาติหรือเป็น แบบคุ้นหน้า (face to face relationship) แต่เป็นความผูกพัน (bond) ของผู้คนที่หลากหลายต่อกันบนฐาน แห่งความร่วมมือและการแสวงหาการมีส่วนร่วม และด้วยสำนึกที่มีต่อความเป็นพลเมือง หรือ Citizenship นั่นเองนอกจากนี้ ดร.อเนก เหล่าธรรมทัศน์ ยังได้ตั้งข้อสังเกตที่สำคัญถึงรากฐานของคนไทย และสังคมไทยว่า คนไทยส่วนมากยังมีระบบวิธีคิดว่าตนเองเป็นไพร่ (client) หรือคิดแบบไพร่ ที่จะต้องมีมูลนายที่ดี โหยหาคนดี จึงมักขาดสำนึกของความเป็นพลเมืองและมองปัญหาในเชิง โครงสร้างไม่ออกอย่างไรก็ตาม ดร.อเนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้ให้ความสำคัญต่อการผลักดันให้เรื่อง “ประชาสังคม” กลายเป็นแนวคิดในเชิงอุดมการณ์ ทางสงคม “ผมขอเสนอให้เรื่อง Civil Society เป็นเรื่องของอุดมการณ์ จะต้องมีคำขึ้นมาก่อน ไม่มีคำก็ไม่มีความคิด ไม่มีความคิดก็ไม่มีอุดมการณ์ เพราะฉะนั้นคำว่า Civil Societyต้องสร้างให้เป็น Concept อย่างเช่น วัฒนธรรมชุมชน

ทรัพยากรมนุษย์

ปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย บางครั้งเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงถึงขั้นวิกฤตที่เกือบต้องมีการแบ่งแยกประเทศออกเป็นแต่ละฝ่าย เศรษฐกิจแบบสังคมแบ่งปันหรือเศรษฐกิจพอเพียงให้ความสำคัญกับการรวมตัวของประชาชนเป็นภาคประชาสังคมภายใต้หลักของ 3 ห่วง 2 เงื่อนไขการรวมตัวของประชาชนต้องครอบคลุมทุกปัจจัยพลังอำนาจของชาติ (พลังอำนาจของชาติ เป็นพลังอำนาจที่มีลักษณะเป็นนามธรรม ประกอบด้วย พลังอำนาจ ด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมจิตวิทยา ด้านการทหาร ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ฯ และพลังอำนาจด้านภูมิรัฐศาสตร์ หากจะนำมาปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม จำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยที่มีความเชื่อมโยงของพลังอำนาจในแต่ละด้านซึ่งเรียกว่าปัจจัยพลังอำนาจของชาติ ประกอบด้วยปัจจัย ด้านภูมิศาสตร์ ด้านภาวะประชากร ด้านทรัพยากร ธรรมชาติ ด้านความเชื่อ ศาสนา จริยธรรม และความจงรักภักดี ด้านลักษณะประจำชาติ ด้านกำลังทหาร ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การพลังงานและสิ่งแวดล้อม ด้านเศรษฐกิจ ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการทูต ด้านการศึกษา และด้านอุดมการณ์ของชาติและภาวะผู้นำ) โดยให้ความสำคัญกับประชากรตั้งแต่วัยเด็กและเยาวชน เพื่อให้มีความพร้อมเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติเมื่อถึงวัยอันควร และแสวงประโยชน์จากผู้สูงอายุ/วัยชราเพื่อสนับสนุนหรือช่วยเหลือในการเตรียมเด็กและเยาวชน

ทรัพยากรมนุษย์นับเป็นปัจจัยสำคัญพื้นฐาน ไม่ว่าจะพิจารณาจากองค์ประกอบของรัฐหรือชาติ ความพอเพียงขั้นพื้นฐานที่เริ่มจากบุคคลและครอบครัว หรือแม้แต่หลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ก็พิจารณาจากคุณลักษณะของทรัพยากรมนุษย์เป็นสำคัญ ดังนั้นการจะก้าวข้ามปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยไปให้ได้จำเป็นต้องสร้างหรือปลูกฝังอุดมการณ์คนในสังคมไทยให้รู้หน้าที่ มีจิตสำนึกของความสำคัญของตนเองต่อสังคมไทย  ซึ่งกระบวนการดังกล่าวเมื่อพิจารณาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยยึดหลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไขแล้ว สามารถแบ่งคนออกตามวัยและคุณลักษณะที่เหมาะสมกับวัยได้ดังนี้

1) เด็ก : เพื่อปลูกจิตสำนึกของความเป็นคนไทย โดยมุ่งเน้นการสร้างจุดเด่นและลดจุดด้อยตามลักษณะประจำชาติ กับปลูกฝังความพอเพียงระดับบุคคลโดยมุ่งเน้นการพึ่งพาตนเองอย่างเต็มความสามารถ ไม่ทำอะไรที่เกินตัว ดำเนินชีวิตโดยไม่เบียดเบียนตนเองรวมถึงใฝ่รู้และมีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง

2) เยาวชน : เพื่อปลูกฝังอุดมการณ์ความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และ มีความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ แสดงออกถึงความจงรักภักดี ด้วยการปกป้องและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมทั้ง มีความรักความสามัคคี ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต ดำรงชีวิตอย่างพอเพียง และเห็นถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนอื่น กับปลูกฝังความพอเพียงระดับครอบครัว โดยมุ่งเน้นให้ครอบครัวอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ดำเนินชีวิตโดยไม่เบียดเบียนผู้อื่น รวมถึงใฝ่รู้ และมีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อความมั่นคงในอนาคตและ เป็นที่พึ่งให้แก่ผู้อื่นได้ในที่สุด

3) ประชาชนทั่วไป : เพื่อเสริมสร้างอุดมการณ์ความรักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ มีความเชื่อมั่นศรัทธาในการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ เป็นประมุข โดยการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองใดๆ ก็ตาม ต้องไม่ใช้ความรุนแรง และให้มีส่วนร่วมในการเผยแพร่ประชาธิปไตย ตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน สถาบันการศึกษา หน่วยงาน องค์กร และในสังคมส่วนรวมของประเทศ มีจิตสำนึกด้านความมั่นคงและพร้อมที่จะเข้าร่วมแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติในทุกด้าน และมีความสำนึกที่จะปฏิบัติหน้าที่ของชนชาวไทยตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กับปลูกฝังความพอเพียงระดับชุมชน  มีการรวมกลุ่มทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม ช่วยเหลือเกื้อกูลกันภายในชุมชนบนหลักของความรู้รักสามัคคี สร้างเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงกันทั้งในชุมชนและนอกชุมชน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างเสริมชุมชนให้มีความเข้มแข็ง และมีความเป็นอยู่ที่พอเพียง

4) ผู้สูงอายุ และคนชรา : เพื่อให้เข้ามามีส่วนร่วมในการปลูกจิตสำนึก ปลูกฝังและเสริมสร้างอุดมการณ์ความรักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ให้กับคนในชาติ และเป็นแบบอย่างความพอเพียงระดับประเทศกับมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการประเทศ ช่วยวางรากฐานให้ประชาชนส่วนใหญ่ อยู่อย่างพอมีพอกิน และพึ่งตนเองได้ มีความรู้มีคุณธรรมในการดำเนินชีวิต มีการรวมกลุ่มของชุมชนหลายๆ แห่ง เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ สืบทอดภูมิปัญญา และร่วมกันพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงอย่างรู้รักสามัคคี เสริม สร้างเครือข่ายเชื่อมโยงระหว่างชุมชนให้เกิดเป็นสังคมแห่งความพอเพียงในที่สุด

สรุป

ทรัพยากรมนุษย์หรือประชากรเป็นปัจจัยสำคัญในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและผ่านกระบวนการปลูกฝังความรับผิดชอบหน้าที่ต่อตนเอง ต่อครอบครัว และต่อสังคมกับเสริมสร้างอุดมการณ์ความรักชาติแล้ว จะก่อให้เกิดคุณลักษณะดังนี้ คือ มีความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และแสดงออกถึงความจงรักภักดี ด้วยการปกป้องและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ในทุกโอกาสมีความรักความสามัคคี ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ดำรงชีวิตอย่างพอเพียง และเห็นถึงประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าส่วนอื่นมีความเชื่อมั่นศรัทธา ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และช่วยเผยแพร่ประชาธิปไตย ตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน และสังคมโดยรวมของประเทศมีจิตสำนึกด้านความมั่นคงและพร้อมที่จะเข้าร่วมแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติในทุกมิติมีความสำนึกในหน้าที่ของชนชาวไทยตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทยมีสถาบันครอบครัวที่อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข รู้จักการแบ่งปันในครอบครัว ชุมชนและสังคมรอบข้าง รวมถึงการรักษาวัฒนธรรมประเพณีและการอยู่ร่วมกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างเหมาะสมมีภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง โดยการรวมกลุ่มกันทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันภายในชุมชนบนหลักของความรู้รักสามัคคีสร้างเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงกันทั้งในชุมชนและนอกชุมชน  เพื่อสร้างเสริมชุมชนให้มีความเข้มแข็งและมีความเป็นอยู่แบบพอเพียง และ มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการประเทศ โดยร่วมมือในการวางรากฐานให้ประชาชนส่วนใหญ่อยู่อย่างพอมีพอกิน และพึ่งตนเองได้ มีความรู้มีคุณธรรมในการดำเนินชีวิต และร่วมกันพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เสริมสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงระหว่างชุมชนให้เป็นสังคมแห่งความพอเพียง เป็นต้น

 

บรรณานุกรม    

สมชัย ฤชุพันธุ์, ศ.(พิเศษ) ดร.ประธานกรรมาธิการปฏิรูปเศรษฐกิจการเงินและการคลัง สภาปฏิรูปแห่งชาติ        (สปช.) ปาฐกถาเรื่อง“ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม”. ณ โรงแรมบางกอกชฎา, 20 ก.พ.58
วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์, ดร.ที่ปรึกษาด้านหลักประกันทางสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดี      อาร์ไอ). สัมภาษณ์. 23 กันยายน 2558
ประเวศ วะสี, ศ.นพ.นักวิชาการ “สังคมสมานุภาพและวิชชา”,  ปี 2556
สถาบันอนาคตไทยศึกษา, “8 ข้อเท็จจริงความเหลื่อมล้ำในไทย” ปี 2554