ทั่วไป

ความพอเพียงตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลางและความไม่ประมาท โดยคำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนใช้ความรู้ความรอบคอบและคุณธรรมประกอบการวางแผน การตัดสินใจและการกระทำ จึงเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน ระดับธุรกิจ จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาตนเองทั้งในระดับบุคคล ธุรกิจและเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์

ความพอเพียงตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้นสามารถแบ่งระดับออกได้เป็นหลายๆ ระดับ เช่น  ระดับบุคคลและครอบครัว/นั้นใช้หลักตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตนในทั้ง  5 ด้านคือ จิตใจ สังคม เทคโนโลยี ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ  ให้ระดับบุคคลและครอบครัวรู้จักคำว่า “พอ” ก็คือไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น  พยายามพัฒนาตนเองเสริมสร้างความเข้มแข็งและความชำนาญ  มีความสุขและความพอใจกับชีวิตที่พอเพียง ยึดหลักทางสายกลางในการดำรงชีวิต  นอกจากนั้นยังสามารถประยุกต์ใช้กับระดับชุมชน ระดับรัฐหรือระดับประเทศ  ระดับนักธุรกิจ  ระดับนักการเมือง  ระดับเจ้าหน้าที่ของรัฐ  ระดับครู  อาจารย์  สามารถนำไปใช้ได้กับคนทุกวัย  ทุกศาสนา หรือนำไปกำหนดนโยบายของงานหรือระบบต่างๆ เช่นการเงิน การคลัง ระบบการศึกษา ระบบเกษตร  ความพอเพียงสามารถแบ่งเป็นระดับได้ดังนี้

 

1) ความพอเพียงระดับบุคคลและครอบครัว  มุ่งเน้นให้บุคคลและครอบครัวอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข  ทั้งทางกายและทางใจ  พึ่งพาตนเองอย่างเต็มความสามารถ  ไม่ทำอะไรเกินตัว  ดำเนินชีวิตโดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น  รวมถึงใฝ่รู้และมีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง  เพื่อความมั่นคงในอนาคตและเป็นที่พึ่งให้ผู้อื่นได้ในที่สุด  เช่น  หาปัจจัยสี่มาเลี้ยงตนเองและครอบครัว  จากการประกอบสัมมาชีพ  รู้ข้อมูลรายรับ – รายจ่าย   ประหยัดแต่ไม่ใช่ตระหนี่  ลด – ละ – เลิก  อบายมุข  สอนให้เด็กรู้จักคุณค่า  รู้จักใช้รู้จักออมเงินและสิ่งของเครื่องใช้  ดูแลรักษาสุขภาพ  รู้จักการแบ่งปันกันในครอบครัว  ชุมชน  และสังคมรอบข้าง  รวมถึงการรักษาวัฒนธรรมประเพณี และการอยู่ร่วมกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างเหมาะสม  การประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียงในระดับบุคคลและครอบครัวควรพิจารณาว่าจะเลือกหาน้ำใส่ตุ่มซึ่งก็คือการหารายได้เพิ่มหรือจะเลือกอุดรูรั่วของตุ่มซึ่งก็คือการลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ว่าควรทำสิ่งใดก่อนหลัง

2) ความพอเพียงระดับชุมชน  เป็นผลจากการที่ประชาชนรวมกลุ่มกันทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม  ช่วยเหลือเกื้อกูลกันภายในชุมชนบนหลักของความรู้รักสามัคคี  สร้างเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงกันทั้งในชุมชนและนอกชุมชน  ทั้งด้านเศรษฐกิจ  สังคม  ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  เช่น  การรวมกลุ่มอาชีพ  องค์กรการเงิน  สวัสดิการชุมชน  การช่วยดูแลรักษาความสงบ  ความสะอาด  ความเป็นระเบียบเรียบร้อย  รวมทั้งการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น  ทรัพยากรธรรมชาติ  และสิ่งแวดล้อมในชุมชน  มาสร้างประโยชน์ได้อย่างเหมาะสมเพื่อสร้างเสริมชุมชนให้มีความเข้มแข็งและมีความเป็นอยู่ที่พอเพียง

3) ความพอเพียงในภาคธุรกิจเอกชน  เริ่มจากความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจที่หวังผลประโยชน์ หรือกำไรระยะยาวมากกว่าระยะสั้น  แสวงหาผลตอบแทนบนพื้นฐานของการแบ่งปัน  มุ่งให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้รับประโยชน์อย่างเหมาะสมและเป็นธรรม  ทั้งลูกค้า คู่ค้า  ผู้ถือหุ้น และพนักงาน  ด้านการขยายธุรกิจต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปรวมทั้งต้องมีความรู้และเข้าใจธุรกิจของตนเอง รู้จักลูกค้า ศึกษาคู่แข่ง  และเรียนรู้การตลาดอย่างถ่องแท้  ผลิตในสิ่งที่ถนัดและทำตามกำลัง สร้างเอกลักษณ์ที่แตกต่างและพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง  มีการเตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น  มีความซื่อสัตย์  รับผิดชอบต่อสังคม และป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  ที่สำคัญต้องสร้างเสริมความรู้และจัดสวัสดิการให้แก่พนักงานอย่างเหมาะสม

4) ความพอเพียงระดับประเทศ  เป็นการบริหารจัดการประเทศโดยเริ่มจากการวางรากฐานให้ประชาชนส่วนใหญ่อยู่อย่างพอมีพอกิน  และพึ่งตนเองได้  มีความรู้ มีคุณธรรมในการดำเนินชีวิต  มีการรวมกลุ่มของชุมชนหลายๆ  แห่ง  เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้  สืบทอดภูมิปัญญา  และร่วมกันพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจแบบสังคมแบ่งปันบนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  อย่างรู้รักสามัคคี  เสริมสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงระหว่างชุมชนให้เกิดเป็นสังคมแห่งความพอเพียงในที่สุด

การเสริมสร้างให้ประชาชนตระหนักถึงหน้าที่  มีความรักความสามัคคีของคนในชาติ รวมทั้งเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่มีผลกระทบมาจากกระแสโลกาภิวัตน์ในปัจจุบัน  และให้ประชาชนมีความตระหนักว่าการปลูกจิตสำนึกด้านคุณธรรมจริยธรรมจะเป็นเครื่องมือสำคัญ และมีพลังในที่จะสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กๆ และเยาวชนคนรุ่นหลังให้มีความรู้เพียงพอที่จะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในสังคมที่แวดล้อมไปด้วยปัญหาต่างๆ ในปัจจุบันได้อย่างปลอดภัย รวมทั้งเสริมสร้างความพอเพียงให้กับสถาบันครอบครัวอันเป็นสถาบันหลักพื้นฐานที่สำคัญของสังคมไทย ความพอเพียงของชุมชน และความพอเพียงของประเทศ ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ประเทศชาติและประชาชนมีภูมิคุ้มกันจากภัยคุกคามหลากหลายรูปแบบที่อาจเกิดขึ้นอันจะเป็นการช่วยลดสภาวะความเสี่ยงของประเทศชาติและประชาชนได้อย่างแท้จริง