“…การเข้าใจถึงสถานการณ์และสภาพการของผู้ที่เราจะช่วยเหลือนั้น เป็นสิ่งสำคัญที่สุด
การช่วยเหลือให้เขาได้รับสิ่งที่เขาควรจะได้รับตามความจำเป็นอย่างเหมาะสม
จะเป็นการช่วยเหลือที่ได้ผลดีที่สุด เพราะฉะนั้น ในการช่วยเหลือแต่ละครั้ง แต่ละกรณี
จำเป็นที่เราจะพิจารณาถึงความต้องการและความจำเป็นก่อน
และต้องทำความเข้าใจกับผู้ที่เราจะช่วยให้เข้าใจด้วยว่า เขาอยู่ในฐานะอย่างไร
สมควรที่จะได้รับความช่วยเหลืออย่างไร เพียงใดอีกประการหนึ่งในการช่วยเหลือนั้น
ควรจะยึดหลักสำคัญว่า เราจะช่วยเขาเพื่อให้เขาสามารถช่วยตนเองได้ต่อไป…”
พระราชดำรัส ในพิธีเปิดการประชุม
การสังคมสงเคราะห์แห่งชาติ ครั้งที่ 5
ณ ห้องประชุมศาลาสันติธรรม
วันอาทิตย์ ที่ 6 เมษายน 2512
เมื่อกล่าวถึงคำว่า “รู้ รัก สามัคคี” เป็นที่น่าสังเกตว่าคำเหล่านี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงตรัสไว้ก่อนคำว่า “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” เมื่อมองในเชิงเหตุ-ผล (cause – effect) จะพบว่า “รู้-รัก-สามัคคี” ซึ่งเป็นหลักการทรงงานข้อที่ 23 เป็นต้นเหตุให้เกิดผลลัพธ์ คือ “เข้าใจ-เข้าถึง-พัฒนา” ดังสมการที่ว่า
เพราะ “รู้” จึง “เข้าใจ”
เพราะ “รัก” จึง “เข้าถึง”
เพราะ “สามัคคี” จึง “พัฒนา”
ยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” นี้ เมื่อกล่าวตามบริบทของเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว ได้แก่ “การเข้าใจ” ถึง “ภูมิสังคม” ที่แตกต่างกันของแต่ละพื้นที่ ศึกษาถึงความต้องการที่จำเป็น โดยคำนึงถึงการแบ่งปันใน “จุดที่ขาดแคลน” ก่อนเสมอ เพราะการให้ความช่วยเหลือหรือแบ่งปันในจุดที่มีมากล้นนั้น ย่อมทำให้การแบ่งปันดูไร้ค่าและเป็นส่วนเกินที่คนไม่ต้องการ
แม้ว่าโครงการตามพระราชประสงค์จะทรงทำการศึกษาทดลองและปฏิบัติเป็นการส่วนพระองค์จนทรงแน่พระราชหฤทัยแล้วว่าโครงการนั้นจะให้ผลอันเลิศคือประโยชน์สุขแก่ประชาชน แต่ก็ไม่ทรงใช้พระราชอำนาจเข้าไปบังคับให้แต่ละชุมชุมต้องปรับเปลี่ยนสิ่งใดตามน้ำพระทัยของพระองค์เลย กลับทรงใช้หลักความร่วมมือ เพื่อให้เกิดความเต็มใจในการเข้าร่วม ทรงศึกษาภูมิสังคมทั้ง 2 ส่วน คือ 1) ส่วนของภูมิประเทศหรือ “ภูมิศาสตร์” เช่น ดิน น้ำ ลม ไฟ ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมในชุมชน เป็นต้น และ 2) ส่วนของ “สังคมศาสตร์” เช่น นิสัยใจคอเอกลักษณ์แต่ละท้องถิ่นที่แตกต่างกัน อันเกิดจากอิทธิพลทางความเชื่อ ศาสนา ประเพณี (ขนบ ธรรมเนียม จารีต) ภาษา รวมถึงภูมิปัญญาที่เป็นมรดกตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น
ส่วน “การเข้าถึง” ได้แก่ ความรักความเข้าใจ ความเอาใจใส่เพื่อเข้าถึงความต้องการของประชาชน ซึ่งทิศทางของความต้องการนั้น มีทั้งส่วนที่เป็นปัญหาและสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้น ก็จะได้แรงบัลดาลใจที่เกิดจากชุมชน หรือที่เรียกว่า “การระเบิดจากภายใน” การพัฒนาที่พิจารณาถึงความต้องการที่จำเป็นจะสามารถช่วยให้คนในชุมชนสามารถช่วยตนเองได้ต่อไป
ส่วน “การพัฒนา” ได้แก่ การที่คนในชุมชนได้เข้ามาร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจกัน คือ มีความสามัคคีกลมเกลียวเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ดังนั้น ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อการพัฒนาชุมชนจำเป็นต้องสร้างความตระหนักร่วมกันเพื่อให้เห็นคุณค่า ความสำคัญ ความเกี่ยวข้อง หรือความจำเป็นที่จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในระดับต่าง ๆ โดยจะต้องคำนึงถึงความสอดคล้องกับภูมิสังคม ชุมชนที่เราอาศัยอยู่เป็นฐานสำคัญ เช่น หากคนในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ความต้องการที่จำเป็นก็คือ “น้ำ” หากปีใดแล้งน้ำ ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ผลิตก็จะน้อยลง เป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่ให้ควรให้ความสำคัญจึงได้แก่น้ำ เพราะน้ำคือความจำเป็นของอาชีพเกษตรกรรม ดังนั้น โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริจึงเกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแหล่งน้ำของชุมชน โดยคำนึงถึงรายละเอียดที่แตกต่างของแต่ละพื้นที่ในแต่ละชุมชนด้วย ยกตัวอย่างเช่น
– โครงการเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ฯ ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้มีน้ำใช้ในฤดูแล้ง ป้องกันและบรรเทาน้ำท่วมบริเวณลุ่มน้ำป่าสักและลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างในฤดูน้ำหลาก
– โครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำ โดยเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องนำไปดำเนินการสร้างประตูระบายน้ำในลำน้ำก่ำเป็นระยะ ๆ เพื่อเก็บกักน้ำไว้ในลำน้ำให้เกษตรกรได้มีน้ำใช้ตลอดปีและเพียงพอสำหรับการเพาะปลูก เป็นต้น
– โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังฯ เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำจืดสำหรับการเกษตร การอุปโภค-บริโภค และแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ทำกินของราษฎร ตลอดจนการกำหนดแนวเขตที่เหมาะสมในการแยกน้ำจืด น้ำเค็มออกจากกันให้ชัดเจน เป็นต้น
ที่มา : ศูนย์ศึกษาวิจัยระบบเศรษฐกิจแบบสังคมแบ่งปัน (ระบบเศรษฐกิจตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง)