การศึกษา

การศึกษาและการพัฒนาอย่างพอเพียง

“ความรู้ที่จะศึกษามีอยู่สามส่วน คือ
ความรู้วิชาการ ความรู้ปฏิบัติการและความคิดอ่านตามเหตุผลความเป็นจริง
ซึ่งแต่ละคนควรเรียนรู้ให้ครบ เพื่อสามารถนำไปใช้ประกอบกิจการงาน
และแก้ปัญหาทั้งปวงได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

 

พระบรมราโชวาท
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยมหิดล
วันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฎาคม 2535

            เมื่อกล่าวถึงหลักการศึกษาอย่างเป็นระบบ ในทางตะวันตกได้มีการกล่าวถึงแนวคิดทฤษฎีไว้อย่างมากมาย เช่น ทฤษฎีวงกลมเดรมมิ่ง (วงจร PDCA) ทฤษฎีระบบ (System thinking) ทฤษฎีหมวก 6 ใบ (Six Thinking Hats) ระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์ (Scientific method) เป็นต้น แต่สำหรับ “การศึกษาอย่างเป็นระบบ” ตามแนวทางของหลักการทรงงาน (ข้อแรก) นั้น ไม่ได้เป็นเพียงระบบคิดทางวิชาการหรือทฤษฎีหรือการวางแผนในเชิงเหตุผลเท่านั้น แต่มีลักษณะเป็น “ปรัชญาปฏิบัตินิยมแบบไทย” ที่เกิดขึ้นจากปัญญาปฏิบัติ (Phronesis) และมีการวางเจตนาที่เป็นกุศลหรือการวางใจที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขส่วนรวมเป็นสำคัญ แม้สิ่งที่กระทำบางอย่างจะมุ่งประโยชน์ส่วนตัวเป็นหลักก็ไม่หลงลืมที่จะเฉลียวใจว่าสิ่งที่คิดหรือกระทำนั้นเบียดเบียนผู้อื่นและสิ่งแวดล้อมให้เสียหายหรือไม่ คือ มีความรับผิดชอบทั้งส่วนของการกระทำ ตลอดถึงระบบการคิดที่มีการไตร่ตรอง ทบทวนซ้ำในระบบการทำงานก่อนที่จะลงมือปฏิบัติเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าที่สุด โดยมีประโยชน์สุขส่วนรวมเป็นเป้าหมาย ดังนั้น เมื่อศึกษาทฤษฎีหรือวิชาการใด ๆ จน “เข้าใจ” เป็นเบื้องต้นแล้ว ควรหาโอกาสลงมือปฏิบัติเพื่อเสริมสร้างให้เกิดการ “เข้าถึง” เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต สติปัญญาต่อไป ดังพระราชดำรัสที่ทรงตรัสว่า

“การหาโอกาสนำความรู้ภาคทฤษฎีมาลงมือปฏิบัติก็ดี
การฝึกหัดปฏิบัติงานเพื่อใช้แรง ใช้ฝีมือ ใช้ความละเอียดถี่ถ้วนก็ดี
เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง และต้องกระทำมิให้น้อยไปกว่าภาคทฤษฎี
เพราะการศึกษาภาคนี้เป็นประโยชน์สร้างเสริมปัจจัยสำคัญของชีวิต
ในด้านความขยันขันแข็ง ความเข้มแข็ง ความอดทนพยายาม
ความละเอียดรอบคอบของบุคคลได้อย่างมากที่สุด
ผู้ที่ปรกติทำอะไรด้วยตนเอง จะเป็นผู้มีอิสระ ไม่ต้องพึ่งไม่ต้องอาศัยผู้ใด
จะไม่ต้องรอคอย ไม่ต้องผิดหวัง และจะได้รับผลสำเร็จสมใจนึกเสมอไป
ท่านทั้งหลายจึงควรตั้งใจแสวงประโยชน์จากการปฏิบัตินี้ให้ได้”

 

พระบรมราโชวาท
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
วันศุกร์ที่ 27 มิถุนายน 2523

 

การศึกษาอย่างเป็นระบบเพื่อการพัฒนาอย่างพอเพียงและยั่งยืนตามแนวทางของหลักการทรงงาน ได้แก่ “ทฤษฎีซาแปะ” มาจากตัวย่อภาษาอังกฤษ คือ SAPAE เป็นวงจรแห่งการทำงานที่ช่วยให้เกิดการศึกษาอย่างเป็นระบบ มีลำดับ มีขั้นมีตอน คือ “ทำตามลำดับขั้น” แบบบูรณาการ เพื่อให้การทำงานประสบผลสำเร็จ ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน คือ

S = Survey/การสำรวจ
A = Analysis/การวิเคราะห์
P = Planning/การวางแผน
A = Action/การปฏิบัติ
E = Evaluation/การประเมินผล

จุดเริ่มต้นของการใช้ทฤษฎีนี้ คือ เริ่มจากการสำรวจสิ่งที่ต้องการศึกษา เช่น สภาพปัญหา, ปัจจัยของความสำเร็จ เป็นต้น โดยนำปัญหามาวิเคราะห์เพื่อทำความเข้าใจ กำหนดแนวทางเพื่อวางแผนและสร้างเครื่องมือในการแก้ปัญหา ปรับปรุง แก้ไข และพัฒนา ลงมือปฏิบัติเพื่อทดสอบและประเมินผลในทุกขั้นตอน อาจใช้กระบวนการมีส่วนร่วมในการให้ข้อคิดเห็น ข้อวิพากษ์วิจารณ์ และข้อเสนอแนะเพื่อนำไปปรับปรุงพัฒนาและนำกลับมาใช้อีก โดยประเมินผลทุกครั้งจนแน่ใจว่า กระบวนการทดลองหรือวิจัยนี้มีคุณภาพ น่าเชื่อถือได้

ทฤษฎี SAPAE ของในหลวงรัชกาลที่ 9 นี้ มีความละเอียดอ่อนในรายละเอียดและสอดคล้องกับสภาพการทำงานจริงมากกว่าทฤษฎีวงกลมเดรมมิ่ง หรือ PDCA ที่เริ่มจากการวางแผน (P=Plan) เลย โดยขาดการสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลตามความเป็นจริงก่อน ทั้งนี้ รัฐบาล ภาคเอกชน สมาคม ภาคี มูลนิธิต่าง ๆ สามารถนำหลัก SAPAE ไปประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดผลสำเร็จได้ตามวัตถุประสงค์

การศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างพอเพียงในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมีอยู่หลายด้าน อาทิเช่น ด้านการเกษตร สิ่งแวดล้อม สาธารณะสุข การส่งเสริมอาชีพ การพัฒนาแหล่งน้ำ การคมนาคมสื่อสาร สวัสดิการสังคม ฯลฯ แสดงให้เห็นถึงขอบข่ายของคำว่า “พอเพียง” ที่พระองค์ทรงตรัสนั้นว่า “เป็นความพอเพียงของคนทั้งชาติ” ดังที่ปรากฏในตอนท้ายพระปฐมบรมราชโองการว่า “…เพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยาม” แต่ลำดับขั้นตอนของการพัฒนาก็เป็นสิ่งสำคัญ จำเป็นต้องพัฒนาตามลำดับขั้นและคำนึงถึงการศึกษาที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ที่มีประเด็นการศึกษาที่แตกต่างกัน เช่น ในพื้นที่ที่ประสบปัญหาความยากจน พระองค์ก็ทรงมีพระราชดำริให้ทำให้โครงการต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาและให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น โครงการธนาคารข้าว โครงการธนาคารโค-กระบือ โครงการพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์ “หุบกระพง” อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์การศึกษาพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร ศูนย์การศึกษาพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส เป็นต้น เพื่อดำเนินการให้ประชาชนมีที่อาศัยทำมาหากินร่วมกัน ในระยะหลังที่ประชาชนเริ่มพึ่งพาตนเองได้ก็จะส่งสนับสนุนให้เกิดการศึกษาต่อยอดเพื่อขยายความพอเพียงส่วนตนไปสู่การให้การแบ่งปันที่ช่วยขยายโอกาสได้มากขึ้น เนื่องจาก “การพึ่งพาตนเองนั้น” เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่ช่วยให้ประชนชนพอมีพอกินและสามารถเก็บสำรองไว้ได้เท่านั้น แต่สำหรับความหมายของความพอเพียงนั้นไม่ได้ถูกจำกัดไว้เพียงเท่านี้ เมื่อสามารถพัฒนาตนให้อยู่รอดปลอดภัยเป็นพื้นฐานได้แล้วก็พร้อมที่จะเปิดรับการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสิ่งที่อยู่รอบตัวให้เจริญงอกงามเป็นประโยชน์แก่ตนและส่วนรวมต่อไป เช่น การสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อรวมกลุ่มพัฒนาอาชีพในรูปแบบสหกรณ์ รัฐวิสาหกิจชุมชม การร่วมมือกับทางภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนานวัตกรรมชุมชนสำหรับการขายสู่ตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ นอกจากประโยชน์ในด้านการประกอบอาชีพแล้ว ศูนย์ศึกษา ค้นคว้า วิจัยต่าง ๆ ที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นยังสามารถเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้เกิดการศึกษาเรียนรู้ระหว่างนักวิชาการ นักปฏิบัติ และประชาชน เพื่อส่งเสริมให้เกิดสหวิทยาการในหลากหลายสาขาวิชา ส่งเสริมให้เกิดการบูรณาการในด้านการศึกษาทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ส่งเสริมให้เกิดองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อราษฎรในพื้นที่ รวมถึงประชาชนที่สนใจเข้ามาศึกษาดูงานต่อไป