ทั่วไป

ปฐมบทแห่งหลักปรัชญาฯ

นับแต่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่   9 มิถุนายน 2489 พระองค์ทรงดำรงไว้ซึ่ง “ธรรม” ทั้งปวง และทรงเปรียบประดุจแสงชัชวาลที่ส่องนำการพัฒนาประเทศให้มั่นคงยั่งยืนมาเป็นเวลาอันยาวนาน  ด้วยพระปณิธานอันแกร่งกล้าที่จะทรงเสียสละประโยชน์ส่วนพระองค์เพื่อพสกนิกรชาวไทยทั้งมวล โดยไม่แบ่งแยกสถานะ ศาสนา ชาติพันธุ์ หรือหมู่เหล่า และทรงถือว่าทุกข์ของพสกนิกรคือทุกข์ของพระองค์  จึงได้ทรงอุทิศพระวรกาย ทุ่มเทพระสติปัญญา และพระราชทรัพย์บำเพ็ญพระราชกรณียกิจด้วยพระวิริยะอุตสาหะ ทั้งพระราชทานคำสอน และมีพระจริยวัตรอันเป็นแบบอย่างที่ดีงาม ซึ่งล้วนแต่นำประโยชน์สุขมาสู่พสกนิกรชาวไทยทั้งชาติ ดั่งพระปฐมบรมราชโองการในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่  5 พฤษภาคม 2493 ว่า

“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

อันเป็นที่ประจักษ์แก่ประชาคมโลกโดยทั่วกันแล้วว่า ปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าและทุกระดับต่างถวายความจงรักภักดีและเคารพรัก “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” ที่ทรงเป็นศูนย์รวมแห่งจิตใจและเชื่อมความรักความสามัคคีของปวงชนทั้งชาติให้มีความสมานฉันท์ รวมกันเป็นหนึ่งเดียว ทรงเป็นองค์ศาสนูปถัมภก และทรงเปรียบประดุจ สัญลักษณ์เชื่อมระหว่าง “ความรักชาติ” และ “ความศรัทธาในศาสนา” ตลอดทั้งทรงเป็นสัญลักษณ์ความดีเลิศแห่งเอกลักษณ์ของชาติ การสืบทอดจารีตประเพณี ความมั่นคงแห่งระบอบการปกครอง เป็นความหวังแห่งอนาคตของชาติและของโลก

อันเนื่องมาจากพระราชดำริ “เศรษฐกิจพอเพียง” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงตระหนักว่าประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมโดยพื้นฐานและเป็นอาชีพหลักของประชาชนส่วนใหญ่ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท พระองค์จึงเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนและศึกษาความเป็นอยู่ของพสกนิกรในพื้นที่ชนบททุกภูมิภาคของประเทศ  พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นสภาพภูมิประเทศที่ทุรกันดารและทรงรับทราบปัญหาความทุกข์ยากเดือดร้อนของประชาชนทั่วทุกท้องถิ่น ซึ่งนำไปสู่พระบรมราชวินิจฉัยในปัญหา สาเหตุ และแนวทางแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมและมีประสิทธิผลต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยพระราชทานแนวพระราชดำริ “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่เน้นการพัฒนาให้ประชาชนและชุมชนในชนบทมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและสามารถพึ่งตนเองได้ อันเป็นการพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง

หลักการทรงงาน”

การทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นการดำเนินงานในลักษณะทางสายกลางที่สอดคล้องกับสิ่งที่อยู่รอบตัวและสามารถปฏิบัติได้จริง โดยทรงยึดเป็นหลักการในการพัฒนาตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริตลอดเวลาหกทศวรรษที่ผ่านมา สรุปได้ดังนี้

ประการแรก : การพัฒนาต้องเอา “คน” เป็นตัวตั้ง และยึดหลัก “ผลประโยชน์ของประชาชน” และ “การมีส่วนร่วมตัดสินใจของประชาชน”  ทรงยึดหลักคนส่วนใหญ่ต้องเสียสละ ดูแลช่วยเหลือคนส่วนน้อย ยึดหลักคุ้มค่ามากกว่าคุ้มทุน  หรือ “ขาดทุนคือกำไร”

ประการที่สอง : ยึดหลัก “ภูมิสังคม” ที่มีความแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาคและท้องถิ่น  การพัฒนาจะต้องมีกระบวนการศึกษา และวางแผนที่สอดคล้องกับภูมิ หรือลักษณะภูมิประเทศทางภูมิศาสตร์ และต้องอยู่บนพื้นฐานเดิมของภูมิประเทศทางสังคมวิทยา  ทรงให้ความสำคัญต่อการ “ศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบ” และ “พัฒนาคน”  โดยสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ คนในพื้นที่  รวมทั้งข้าราชการต้องยึดหลัก “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” เพื่อสามารถแก้ปัญหา และสอดรับกับความต้องการของประชาชน

ประการที่สาม : การพัฒนาต้องเริ่มต้นจาก “การพึ่งตนเอง” โดยรู้จักประมาณตนและดำเนินการด้วยความรอบคอบระมัดระวัง และ “ทำตามลำดับขั้น” โดยต้องสร้างพื้นฐานความเป็นอยู่ของประชาชนและครอบครัวให้พอมี พอกิน พอใช้ก่อน แล้วจึงพัฒนาต่อไปเป็นการแลกเปลี่ยน การรวมกลุ่มช่วยเหลือพึ่งพากันและร่วมกันพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง สามารถพึ่งตนเองได้แล้วจึงพัฒนาเครือข่ายเชื่อมกับสังคมภายนอก เพื่อความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนต่อไป ดังคำที่ทรงใช้ว่า “ระเบิดจากข้างใน”