การไม่ยึดตำรา เป็นหัวใจสำคัญของหลักการทรงงานที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ หรือที่เรานิยมเรียกว่า “การคิดนอกกรอบ” นั่นเอง

การคิดนอกกรอบนั้น ผู้คิดจะต้องแม่นในกรอบเสียก่อน ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นเพียงการคิดมั่วๆ คาดเดาอย่างไร้ทิศทาง หรือคิดอย่างสะเปะสะปะ เป็นไม้หลักปักขี้เลน ไม่สามารถทำให้สิ่งที่คลุมเครือกลายเป็นความชัดเจนที่สามารถเข้าใจได้จริงในเชิงปฏิบัติ ด้วยเหตุนี้จึงทรงวางหลักการทรงงานข้อแรกไว้เพื่อให้เกิดการศึกษาอย่างเป็นระบบ เป็นขั้นเป็นตอนเสียก่อน แล้วจึงทำการไตร่ตรอง (reflect) หรือทวนซ้ำระบบกลไกต่างๆ ว่ามีจุดใดที่ควรปรับปรุงหรือพัฒนาต่อยอดเพื่อให้ตรงกับความต้องการและเกิดความคุ้มค่าให้มากที่สุด

ยกตัวอย่าง โครงการปรับปรุงดินเปรี้ยวด้วยเทคนิค “แกล้งดิน” ทรงมีพระราชดำรัสว่า

 

โครงการแกล้งดินนี้เป็นเหตุผลอย่างหนึ่งที่พูดมา 3 ปีแล้ว หรือ 4 ปีกว่าแล้ว ต้องการน้ำสำหรับมาให้ดินทำงาน ดินทำงานแล้วดินจะหายโกรธ อันนี้ไม่มีใครเชื่อ แล้วก็มาทำที่นี่แล้วมันได้ผล ดังนั้น ผลงานของเราที่ทำที่นี่เป็นงานสำคัญที่สุด เชื่อว่าชาวต่างประเทศเขามาดูเราทำอย่างนี้แล้วเขาก็พอใจ เขามีปัญหาแล้วเขาก็ไม่ได้แก้ หาตำราไม่ได้…”

 

“…โครงการปรับปรุงดินเปรี้ยวควรดำเนินการต่อไปในแง่ของการศึกษาทดลองและการขยายผลการทดลองต้องดูอย่างนี้ ทิ้งดินเอาไว้ปีหนึ่งแล้วจะกลับเปลี่ยนหรือเปล่า เพราะว่าความเปรี้ยวมันเป็นชั้นดิน ดินที่เป็นซัลเฟอร์ (sulfur) แล้วก็ถ้าเราเปิดให้มีน้ำ อากาศลงไป ให้เป็นซัลเฟอร์ออกไซด์ ซึ่งซัลเฟอร์ออกไซด์เอาน้ำเข้าไปอีกที ไปละลายซัลเฟอร์ออกไซด์ก็กลายเป็นใส่ออกไซด์ลงไป ก็เป็นกรดซัลฟุริก (sulfuric) แต่ถ้าสมมุติว่าเราใส่อยู่ตลอดเวลา ชั้นดินที่เป็นซัลเฟอร์นั้นถูกกันไว้ไม่ให้โดนออกซิเจนแล้วตอนนี้ไม่เพิ่ม….ไม่เพิ่ม acid โดยหลักการเป็นอย่างนั้น แต่หากว่าต่อไปในแปลงต่างๆ เพิ่มการทดลองอีก เมื่อได้แล้วทิ้งไว้มันจะกลับไปสู่สภาพเดิมหรือไม่ แล้วเมื่อความเป็นกรดเพิ่มขึ้นใหม่ จะพัฒนาให้กลับคืนมาสู่สภาพนี้ได้ ต้องใช้เวลา อาจจะใช้เวลาสักปี ดูสภาพว่าปีไหนไม่ได้ใช้ ดินมันจะเสื่อมลงไปเท่าไรแล้วจะกลับคืนมาเร็วเท่าไร…”

 

“….งานทดลองนี้เหมือนเป็นตำรา ควรทำเป็นตำราที่จะนำไปใช้ในพื้นที่ดินเปรี้ยวอื่นๆ ในพื้นที่อื่นอาจจะไม่ต้องมีการแบ่งเป็นแปลงย่อยเช่นนี้ คันดินที่สร้างเพื่อกั้นน้ำก็อาจจะใช้คลอง ชลประทานสร้างถนน สะพาน การศึกษาจึงต้องทำแบบนี้…”

 

พระราชดำรัสในขณะที่ทรงเสด็จพระราชดำเนิน
ทอดพระเนตรการดำเนินงาน
วันจันทร์ที่ 5 ตุลาคม 2535

 

จากนั้นทรงมีพระราชดำริ ให้ทำเป็นตำราคือ “คู่มือปรับปรุงดินเปรี้ยวจัดเพื่อการเกษตร” สำหรับที่จะใช้พัฒนาพื้นที่ดินเปรี้ยวอื่นๆ ต่อไป

ข้อคำถามสำคัญของการคิดนวัตกรรมเพื่อความพอเพียงนั้น ได้แก่ “คิดเพื่อใคร?” ให้กลับไปดูที่ท้ายพระปฐมบรมราชโองการ “…เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” เมื่อทราบเป็นที่ประจักษ์แก่ใจแล้วว่าทรงคิดเพื่อส่วนรวมเป็นสำคัญ (ความพอเพียงของคนไทยทั้งชาติ) นวัตกรรมที่ถูกสร้างขึ้นนั้นจึงจำเป็นต้องมีการ “ไตร่ตรอง” (reflect) หรือ “ทวนซ้ำ” ระบบหรือขั้นตอนการทำงานเดิมเพื่อ “ดัดแปลง” (invent) และพัฒนาให้เห มาะกับสภาพพื้นที่และความเป็นอยู่ของราษฎร ทรงคิดเพื่อให้เกิดความคุ้มค่า ได้แก่ “ประหยัด เรียบง่าย ได้ประโยชน์สูงสุด” ตามแนวทางของหลักการทรงงาน คิดเพื่อให้ได้คำตอบว่าจะทำอย่างไรที่จะให้ประชาชนได้ประยุกต์ใช้นวัตกรรมที่ทรงคิดขึ้นนั้นให้เกิดความง่ายที่สุด สะดวกที่สุด “ประหยัดสูง ประโยชน์สุด” ดังนั้น ความยุ่งยากซับซ้อนจึงตกอยู่ที่ผู้ที่ปฏิบัติงาน แต่ประโยชน์สุขส่วนรวมตกอยู่กับประชาชนทั้งแผ่นดิน นอกจากนี้ หลักประโยชน์สุขส่วนรวมยังคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเพื่อให้นวัตกรรมที่ถูกคิดค้นขึ้นตอบโจทย์ความยั่งยืน ยกตัวอย่างเช่น การส่งเสริมให้เกิดชุมชนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม นอกจากจะคิดเพื่อแปรรูปและจัดจำหน่ายสินค้าในชุมชนแล้ว สิ่งที่ต้องคิดตั้งแต่ต้นน้ำ กลางนำ ปลายน้ำ ก็คือ ระบบการจัดการขยะควรดำเนินการอย่างไรเพื่อให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น หากไม่เกิดกระบวนการทวนซ้ำในขั้นตอนการดำเนินงาน ย่อมขาดระบบภูมิคุ้มกันที่ดี ซึ่งอาจส่งผลกระทบในระยะยาว ดังเช่น ปัญหาไมโครพลาสติกในท้องทะเลที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นมาจากการสร้างนวัตกรรมพลาสติกที่ขาดการไตร่ตรองว่าจะรับผิดชอบต่อส่วนรวมอย่างไรในการบริหารจัดการเรื่องนี้ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนไปถึงปลายน้ำ ดังนั้น เมื่อต้องการให้เกิดความพอเพียง นวัตกรรมที่ถูกสร้างขึ้นจึงต้องคิดบนฐานของความพอเพียงที่ยั่งยืนด้วย