ลักษณะประจำชาติ

เศรษฐกิจพอเพียงในฐานะหลักการทรงงาน (ประโยชน์ส่วนรวม)

ประโยชน์ส่วนรวม ระลึกถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ ขอให้คิดว่าคนที่ให้เพื่อส่วนรวมนั้นมิได้ให้ส่วนรวมแต่อย่างเดียว เป็นการให้เพื่อตัวเองสามารถที่จะมีส่วนรวมที่จะอาศัยได้

มนุษย์ลงมือกระทำหรือไม่ลงมือกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดล้วนคิดแล้วว่าทำแล้วได้อะไร อะไรในที่นี้ก็คือความสุข แต่อะไรคือความสุขของมนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่ปรัชญาได้เสนอไว้ เช่น ลัทธิรตินิยม (Hedonism) เสนอให้แสวงหาความสุขเฉพาะหน้า อะไรได้ชื่อว่าเป็นความสุข ให้กระทำไว้ก่อน ยิ่งความสุขทางกายยิ่งพยายามแสวงหาเพื่อให้เกิดความเพลิดเพลินแก่ตนเอง ลัทธิประโยชน์นิยม (utilitarianism) มีเบนธัมเป็นแนวหน้าสอนให้คิดถึงปริมาณความสุข โดยไม่สนใจว่าเป็นความสุขใด คือไม่สนใจระดับคุณภาพของความสุขหรือแม้แต่ประเภทของความสุข ขอให้ได้ชื่อว่าเป็นความสุขย่อมต้องการสะสมให้มากเข้าไว้ถือว่าดี ให้ทุมเทความคิดไปเพื่อให้ได้ความสุขมากๆ โดยไม่สนใจหรือใส่ใจว่าการกอบโกย เอารัดเอาเปรียบนั้นจะทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนเช่นไร โดยถือว่าความสุขส่วนตัวเป็นเครื่องค้ำประกันความสุขส่วนรวม หากส่วนตัวไม่มีความสุข ส่วนรวมย่อมไม่มีความสุข ต่อมามิลล์ได้เสนอให้คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก โดยยกหลักการคือ มหสุข (greatest happiness of the greatest number) นั่นคือคิดว่าเรื่องใดที่ให้ผลเป็นมหสุขให้กระทำสิ่งนั้น หากส่วนรวมเกิดประโยชน์ เราย่อมได้รับส่วนของประโยชน์นั้นเช่นกัน เพราะเราเป็นส่วนหนึ่งของส่วนรวมนั้นอยู่แล้ว

ปรัชญาปัจจุบันไม่ได้สนใจในแง่ประโยชน์ว่าได้หรือไม่ หากแต่สนใจในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ไม่ว่ามนุษย์จะเริ่มจากคุณภาพชีวิตระดับใดก็ตาม ก็สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ ปรัชญากระบวนทรรศน์หลังนวยุคสายกลางชี้นำให้พัฒนาไปข้างหน้าตามแต่ความคิดเห็นของแต่ละคนว่าพัฒนาไปในทางใดจึงจะดีที่สุด โดยให้ใช้ปัญญาและวิจารณญาณเป็นเครื่องมือในการตัดสินใจเลือกลงมือปฏิบัติด้วยความกล้าหาญ เมื่อพัฒนาแล้วก็มุ่งไปในทางสร้างสรรค์ เมื่อพบผลเชิงลบก็ต้องปรับตัว มีการร่วมมือกับคนอื่นเพื่อให้อยู่ร่วมกันในสังคมได้ และนำไปสู่การแสวงหาระดับคุณภาพที่ดีขึ้นไปเรื่อยๆ การพัฒนาต่างๆ จึงมุ่งให้เกิดการปฏิบัติให้เกิดความประพฤติในด้านให้คุณ คือเกิดเป็นประโยชน์ มีความสำเร็จ มีความเจริญ จึงมีพลังแห่งการมุ่งไปข้างหน้าในทางที่จะสร้างสรรค์ การปรับตัว การร่วมมือและการแสวงหาสิ่งที่ดีกว่าไปเรื่อย ซึ่งย่อมพิจารณาความสุขต่างๆ อย่างเท่าเทียมแต่ไม่เท่ากัน คือสามารถพิจารณาถึงคุณประโยชน์แท้ของความสุขต่างๆ ที่ได้รับ และเลือกที่จะมุ่งไปสู่ความสุขที่ดีกว่า โดยมนุษย์ย่อมมุ่งไปสู่ความสุขแท้ตามความเป็นจริง อันเป็นความเฉพาะของมนุษย์แต่ละคนนั่นเอง เมื่อตนเองมีความสุขแล้วก็พร้อมที่จะช่วยเหลือ แบ่งปัน ชี้แนะผู้อื่นให้ได้พบความสุขเช่นเดียวกัน

คนรวยและคนจนก็สามารถเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมได้ คนรวยรู้จักพอเพียง เมื่อเขารู้ว่าความพอประมาณเป็นอย่างไร มีเหตุมีผลเช่นไร และมีภูมิคุ้มกันที่จะทำการงาน ทำธุรกิจให้มั่นคงปลอดภัยได้โดยไม่จำเป็นต้องมุ่งกำไรสูงสุด แต่ก็ระมัดระวังที่จะไม่เสี่ยงต่อการล้มเหลวทางธุรกิจได้ในขณะเดียวกัน เพราะเงื่อนไขความรู้และเงื่อนไขคุณธรรมเป็นสิ่งที่ประสานเสริมการกำหนดแนวทางการบริหารกิจการที่ดีได้ คนรวยก็ไม่จำเป็นต้องแสวงหากำไรมาก แต่แสวงหากำไรพอดี ซึ่งก็ไม่เท่ากันกับกำไรน้อย หมายความว่าคนรวย นักธุรกิจย่อมทำงาน ลงทุนและแสวงหากำไรได้ในระดับกำไรพอประมาณ ดังนั้นกิจการย่อมดำเนินไปข้างหน้าได้ คุณภาพชีวิตที่เขาต้องการก็จะสอดคล้องไปกับการทำงานได้อย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ ในการพัฒนาตนเองและเป็นหลักยึดเหนี่ยวให้กับคนในครอบครัวและลูกน้องในที่ทำงานได้อย่างดี เขาย่อมได้ช่วยเหลือผู้อื่นให้มีความสุขได้ด้วยสิ่งที่เขามีอยู่อย่างพอสมควร ไม่มากจนเกิน ไม่น้อยจนขาด คนรวยย่อมได้ความสุขบนความสุขของผู้อื่นได้โดยง่าย และย่อมมีความสุขแท้ได้นั่นเอง

สำหรับคนจน หากเขาคิดได้ว่าขาดส่วนใด เขาก็ต้องมุ่งทำสิ่งที่สร้างสรรค์ มีการปรับตัว มีการร่วมมือและมีการแสวงหาสิ่งที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของเขาดีขึ้น บนความพอเพียง มีการทำงานหรือกระทำสิ่งอื่นๆ เพิ่มเติมอย่างสร้างสรรค์เพื่อชดเชยส่วนที่ขาด ให้ขึ้นสู่ระดับพอ คือไม่ขาด และมุ่งพัฒนาไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง เมื่อมีมากขึ้นก็รู้จักความพอประมาณ เก็บหอมรอบริบไว้เพื่อความมั่นคงของตนเองและครอบครัว ส่วนที่เหลือก็ช่วยเหลือคนอื่นๆ เท่าที่เป็นไปได้ คนจนเช่นนี้ย่อมไม่เป็นที่รังเกียจของใคร ต่างก็พร้อมจะร่วมมือช่วยเหลือและแม้แต่จะให้โอกาสกัน

การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมจะมองถึงความประพฤติเบื้องต้นของแต่ละคนที่ไม่เบียดเบียนเอาเปรียบผู้อื่น และแบ่งปันส่วนที่เหลือไปยังสมาชิกอื่นๆ ในชุมชน คุณธรรมอย่างสำคัญสำหรับคนไทยคือ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การกระทำเพื่อประโยชน์ผู้อื่นโดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนตน กระทำอย่างรอบคอบโดยให้ครอบคลุมถึงประโยชน์ของทุกคนที่เกี่ยวข้อง มีน้ำใจยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น การแนะนำในสิ่งที่เป็นประโยชน์โดยไม่หวงแหน แนะนำหลักการดำเนินชีวิต โดยอาศัยหลักธรรมและประสบการณ์ ด้วยความบริสุทธิ์ใจ การเสียสละสุขและผลประโยชน์ส่วนตน เพื่อสุขและประโยชน์ส่วนรวม การเสียสละสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์เล็กน้อย เพื่อประโยชน์ที่มากกว่า การสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อช่วยเหลือ และหรือทำประโยชน์ให้แก่บุคคลอื่นหรือสังคม โดยการสละกำลังกาย ทรัพย์สิ่งของ สติปัญญา เวลาและความสุขสบายส่วนตัว ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมการมีจิตสาธารณะ โดยส่งเสริมการรวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดจากความรักและเอื้ออาทรต่อกัน ส่งเสริมความคิดที่จะแจกจ่ายแบ่งปันให้ผู้อื่น ซึ่งจะทำให้ได้เพื่อนและเกิดเป็นวัฒนธรรมที่ดีที่จะช่วยลดความเห็นแก่ตัวและสร้างความพอเพียงให้เกิดขึ้นในจิตใจ

เมื่อการพัฒนาประเทศเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมย่อมจะต้องพิจารณาผลของการพัฒนาในภาพรวมและผลกระทบในทางลบว่าเป็นอย่างไร จะต้องจัดสรรจัดการให้ผลกระทบนั้นน้อยที่สุด ไม่เพียงแต่มุ่งประโยชน์ส่วนรวมจนละเลยผู้ที่ต้องเสียประโยชน์ไปโดยอ้างว่าเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เช่นนั้นเป็นการเรียกร้องการเสียสละ ไม่ใช่การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม เป็นเบื้องต้น ประโยชน์ส่วนรวมนั้นส่วนใหญ่เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับสิ่งสาธารณะ ซึ่งคนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์จากการใช้มัน เมื่อเป็นผู้ใช้ก็ย่อมต้องถือว่ามีความรับผิดชอบในการร่วมดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพดี ไม่ปล่อยปละให้เป็นหน้าที่ของผู้หนึ่งผู้ใด ดังนั้นทุกๆ คนจึงมีส่วนในการทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมทั้งสิ้น