ลักษณะประจำชาติ

เศรษฐกิจพอเพียงในฐานะหลักการทรงงาน (การมีส่วนร่วม)

การมีส่วนร่วม แนวทางประชาธิปไตย เน้นให้อำนาจแก่ประชาชนนำ “ประชาพิจารณ์” มาใช้ในการบริหารเพื่อเปิดโอกาสให้สาธารณชน ประชาชน หรือเจ้าหน้าที่ทุกระดับได้มาร่วมกันแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่จะต้องคำนึงถึงความคิดเห็นของประชาชนหรือความต้องการของสาธารณชน ดังพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า “สำคัญที่สุดจะต้องหัดทำใจให้กว้างขวางหนักแน่น รู้จักรับฟังความคิดเห็น แม้กระทั่งความวิพากษ์วิจารณ์จากผู้อื่นอย่างฉลาด เพราะการรู้จักรับฟังอย่างฉลาดนั้นแท้จริงคือ การระดมสติ ปัญญาและประสบการณ์ อันหลากหลาย มาอำนวยการปฏิบัติบริหารงานให้ประสบความสำเร็จที่สมบูรณ์นั่นเอง…”

การมีส่วนร่วม หมายถึง การร่วมมือเข้าไปมีส่วนในงานของส่วนรวม งานของส่วนรวมย่อมเกิดประโยชน์แก่คนหมู่มาก และควรที่จะพิจารณาถึงประโยชน์สูงสุดของกลุ่มคนหมู่มากที่สุด อย่างไรก็ตามการมีส่วนร่วมนั้นมีความหมายในหลายระดับ มีภาษาอังกฤษที่ใช้แทนคำนี้ได้หลายคำที่น่าสนใจ ซึ่งหากแยกให้เข้าใจกระจ่างจะทำให้การมีส่วนรวมเกิดขึ้นด้วยจิต (will) ที่ตั้งใจในการฝ่ายดี และเกิดความประพฤติดีร่วมด้วย เมื่อเราพูดถึงการมีส่วนร่วม เราคิดรวบยอดถึงการมีส่วนเข้ามาแสดงความคิดเห็นในฐานะคนนอก ลูกค้า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หลังจากนั้นก็พร้อมใจร่วมกันทำโดยถือเป็นหน้าที่ ความคิดรวบยอดนี้เป็นไปในเชิงปฏิบัตินิยม คือ มองทุกอย่างในแง่ปฏิบัติ หากแต่ในรายละเอียดเมื่อพิจารณาถึงการใช้ปัญญาและการลงมือทำอย่างรอบคอบรอบด้านแล้ว ผู้กระทำงานในโครงการต่างๆ พึงที่จะแยกส่วนให้แต่ละส่วนเกิดผลดีและประสานสอดคล้องกันได้ ดังนี้

การมีส่วนร่วม (participation) การมีส่วนร่วมเช่นนี้ใครก็เข้ามาได้ ขอเพียงมีความสนใจและมีเวลา เขาอาจมาช่วยแสดงความคิดเห็นที่สอดคล้อง ทัดทานหรือมองมุมต่างได้ อันจะทำให้เกิดความหลากหลายของความคิด ผลสำคัญของการมีส่วนร่วม คือ เราได้แนวโน้มของความคิดเห็นต่อโครงการ โดยปกติมักจะมีการทำประชามติเพื่อให้เห็นว่าเสียงส่วนใหญ่คิดว่าอย่างไร เป็นมติที่ใช้เพื่อแสดงการสนับสนุนหรือคัดค้านอย่างเด่นชัด กระนั้นข้อเสียของการมีส่วนร่วมเพียงขั้น participation คือ การที่ใครก็ได้เข้ามาทำให้มีการเกณฑ์คนเข้ามาหรือกันคนออกไปจากการแสดงความคิดเห็นเพื่อให้ได้มติตามที่เจ้าของโครงการมุ่งเป้าก็ย่อมทำได้ ดังนั้นจึงต้องกำหนดเกณฑ์การเข้ามามีส่วนร่วมที่ชัดเจนและเป็นธรรมเสียก่อน และการแสดงความคิดเห็นพึงให้เกิดขึ้นได้ในทุกๆ กลุ่ม ทุกๆ ฝ่ายจึงจะทำให้กระบวนการมีส่วนร่วมดำเนินไปได้และเกิดประสิทธิผล

การเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา (engagement) การมีส่วนร่วมในระดับนี้ มีเฉพาะในผู้ที่ได้รับผลของการพัฒนา อาจเป็นผู้ดำเนินโครงการ ผู้คัดค้านโครงการ ฝ่ายราชการ ฝ่ายประชาชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เขาเหล่านี้จะเข้ามาในกระบวนการ participation และจะมุ่งแสดงความคิดเห็นและเรียกร้องให้มีการลงมติเข้าข้างความคิดเห็นของเขา กระบวนการสำคัญ คือ การประนีประนอมความคิดเห็นเพื่อให้เกิดทางออกของปัญหาและการแสวงหาจุดร่วม สงวนจุดต่าง เพราะอย่างไรคนกลุ่มนี้ทั้งหมดย่อมเป็นผู้ได้รับผลของการพัฒนาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง สิ่งสำคัญคือห้ามละทิ้งกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไป เพราะกลุ่มที่ถูกทิ้งจะกระทำการต่อต้านอย่างถึงที่สุดและนำไปสู่ความขัดแย้งที่บานปลาย อันแสดงว่ากระบวนการมีส่วนร่วมที่กระทำนั้นขาดประสิทธิภาพ

การมีพันธะที่จะต้องกระทำด้วยใจอย่างจิตอาสา (commitment) การมีส่วนร่วมในขั้นนี้ประกอบด้วยคน 2 กลุ่ม คือ ฝ่ายผู้สนับสนุน (promoter) และฝ่ายผู้คัดค้าน (protester) ทั้งสองฝ่ายต่างมีภาระหน้าที่ที่จะต้องกำกับการพัฒนาตามกรอบความคิดของตน หากแต่การแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่างในขั้น engagement ทำให้การสนับสนุนและประท้วงเป็นไปอย่างเป็นมิตร ไม่นิยมความรุนแรง หากแต่ใช้การกำกับดูแลและการแสดงความคิดเห็นเพื่อให้อีกฝ่ายได้ตระหนักและระวังในการพัฒนา ฝ่ายสนับสนุนจะมีจิตอาสาช่วยขับเคลื่อนโครงการให้เดินไปข้างหน้า จุดตรงไหนติดขัดก็เข้าไปติดต่อ สอบถาม วิเคราะห์และแก้ปัญหาอย่างเหมาะสม ฝ่ายต่อต้านก็มีจิตอาสาคอยจับตาดูการดำเนินงานของฝ่ายสนับสนุน การกระทำใดที่ไม่ถูกต้องเหมาะสมหรืออาจเกิดภัยร้ายต่อเป้าหมายหรือคนหมู่มากจะต้องถูกร้องเตือนเพื่อให้ประชาชนและสังคมได้รับรู้ เป็นกระบวนการคู่ขนานที่จะทำให้การพัฒนาดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลแท้จริงคือความสุขแก่คนหมู่มาก โดยคนหมู่น้อยก็ไม่ถึงกับต้องทุกข์

เมื่อการดำเนินการมีส่วนร่วมพิจารณาถึงระดับการมีส่วนร่วมเช่นนี้ได้ ประชาชนย่อมเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาตนเองในฐานะต่างๆ และฝ่ายผู้ดำเนินโครงการก็จะทำงานเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติอย่างแท้จริง