ลักษณะประจำชาติ

เศรษฐกิจพอเพียงในฐานะหลักการทรงงาน (ปลูกป่าในใจคน)

ปลูกป่าในใจคน มนุษย์เรากระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด สิ่งนั้นย่อมกระทบและส่งผลต่อโลกที่เป็นบ้านที่ใหญ่ที่สุด เป็นศูนย์รวมที่ให้ที่อยู่อาศัยของสรรพสิ่งและสรรพสัตว์ ดังคติ เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว สิ่งใดที่เราทำย่อมส่งผลต่อโลก หากธรรมชาติสมดุล โลกก็มีความสุข เราก็มีความสุข

ความเป็นธรรมชาติของโลก สรรพสิ่งที่เกิดในโลกล้วนเดินตามธรรมชาติด้วย นั่นหมายรวมถึง สิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต ทั้งหมดพึ่งพิงอิงกันโดยธรรมชาติเพื่อการอยู่รอด ทำให้เกิดเป็นวัฏจักรของสิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อมที่เกื้อหนุนกัน เป็นสมดุลของโลก การอยู่รอดของโลกต้องมีคุณภาพที่ดี ธรรมชาติสร้างให้ต่างต้องพึ่งพากันและกันโลกถึงจะอยู่รอด โลกจะเป็นบ้านที่เราสามารถอาศัยอยู่ได้อย่างมีความสุขสบายและนานตราบนาน หากมนุษย์เข้าไปจัดการโลกจนโลกขาดสมดุล ความปรารถนาที่ไม่สิ้นสุดทำให้มนุษย์ใช้ทรัพยากรต่างๆ หรือแม้แต่จัดการต่อมนุษย์ด้วยกันเองอย่างที่ไม่ได้พิจารณาสมดุล ด้วยความต้องการอยู่รอดของมนุษย์ทำให้ต้องมีการบริโภคและใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลือง เพื่อประโยชน์ของตนเองและสร้างความเสียหายให้แก่สิ่งแวดล้อม ปัญหาความไม่สมดุลจึงบังเกิดขึ้น สงครามและภาวะพิษของสิ่งแวดล้อมจึงเกิดขึ้น ดังนั้นมนุษย์ทุกวันนี้จึงรู้สึกไม่มีความสุข กลัวสิ่งต่างๆ รอบตัวไปหมด กลัวจะถึงวันโลกแตกเสียด้วยซ้ำไป

มนุษย์มิใช่ผู้กระทำ ผู้พิชิต หรือผู้ครอบงำธรรมชาติแต่มนุษย์มีฐานะเป็นสิ่งมีอยู่ที่อยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อม จึงจะต้องใช้ปัญญาหรือศักยภาพที่พัฒนาแล้วนั้นมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อดำรงรักษาส่งเสริมความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ให้เกื้อกูลส่งผลดียิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดผลดีด้วยกันทั้งระบบ ฉะนั้นมนุษย์จึงหันกลับมาปรารถนาให้โลกมีความสุข ช่วยกันดูแล ทำนุบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติเพื่อให้สภาวะสิ่งแวดล้อมดี สิ่งมีชีวิตอยู่รอดได้โดยธรรมชาติ หันกลับมาพิจารณาองค์รวมของการพึ่งพาธรรมชาติเพื่อความสมดุลของธรรมชาติที่จะดำเนินต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด โลกก็จะพัฒนาไปสู่คุณภาพที่ดียิ่งขึ้น ป่าเป็นตัวแทนของธรรมชาติ และมีความสัมพันธ์กับชีวิตของมนุษย์ แต่มนุษย์เมืองห่างไกลป่า จึงไม่ได้คิดถึงสมดุลธรรมชาติ ดังนั้นจึงต้องส่งเสริมการปลูกป่าลงบนแผ่นดิน ในการที่จะฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้กลับคืนมา จะต้องปลูกจิตสำนึกในการรักผืนป่าให้แก่คนเสียก่อนดังพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า

 

           “…เจ้าหน้าที่ป่าไม้ควรจะปลูกต้นไม้ลงในใจคนเสียก่อน แล้วคนเหล่านั้นก็จะพากันปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดินและรักษาต้นไม้ด้วยตนเอง…

 

พระราชดำรัส

พระราชทานแด่เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้

ณ จ.เชียงใหม่ ปี 2519

 

ในการบริหารจัดการ แม้จะเน้นการแข่งขันกันทั้งในที่ทำงานและในทางธุรกิจ แต่เมื่อเอาเปรียบกัน อยากชนะก็ย่อมมีการทำร้าย ทำลายกัน และต่างคิดแต่ว่าจะได้อะไรจากผลของการแข่งขัน คิดแต่จะได้จากผลการทำงาน เงินเดือนเพิ่ม โบนัส เงินรางวัล โดยไม่เคยคิดว่าในการแข่งขันนั้นได้มีผลกระทบในเชิงลบต่อหน่วยงาน องค์กรหรือไม่ ดังนั้นจะต้องปลูกป่าในใจเสียก่อนว่าการแข่งขันนั้นเป็นไปเพื่อหน่วยงาน องค์กร เป็นการแข่งดี เหมือนแข่งกันปลูกป่า ยิ่งปลูกได้มากเท่าไรก็ยิ่งได้ป่าสมบูรณ์ เขาจะคิดดี ทำดีเพื่อรักษาต้นไม้และป่าไม้ไว้ หน่วยงานและองค์กรจึงได้รับผลดีของการแข่งขันนั้นและมีพนักงานมีความผูกพัน รักองค์กรและพร้อมที่จะทำให้องค์กรมีความยั่งยืนเป็นดั่งป่าใหญ่ที่ให้ที่พักพิงแก่สัตว์น้อยใหญ่ทั้งหลาย