ลักษณะประจำชาติ

เศรษฐกิจพอเพียงในฐานะหลักการทรงงาน (ขาดทุนคือกำไร)

ขาดทุนคือกำไร กำไรคือ ประโยชน์ ผลประโยชน์ สิ่งที่ได้ยิ่งกว่าสิ่งที่ได้เกินกว่า สิ่งที่ได้ลงทุนลงแรงไป เมื่อเราลงมือ ลงแรง ลงเงิน ทำอะไรไปซักอย่างก็เป็นธรรมดาที่เราก็ต้องหวังว่าจะได้สิ่งใดตอบแทน พื้นฐานคิดนี้เรียกว่า อัตนิยม (egoism) มักจะมีคนมองว่าเกิดจากความเป็นแก่ตัว เป็นกิเลส แต่กิเลสล้วนมีระดับต่างกัน

ความเห็นแก่ตัวระดับบางเบา คงได้แก่การลงมือทำไปแล้วก็หวังว่าจะได้เท่ากัน เสมอกันกับที่ลงทุนไป เรียกได้ว่าเสมอตัว ความเห็นแก่ตัวระดับมาก คงเป็นผู้ที่หวังจะได้มากกว่าสิ่งที่ได้ลงไป ยิ่งได้มากเท่าไรก็ยิ่งดี ไม่มีขั้นสูงสุดว่าได้เท่านี้พอแล้ว ย่อมมีอีกคำที่มักจะใช้กัน คือ ความโลภ ความเห็นแก่ตัวระดับกลางๆ คือ คนที่ได้ทำอะไรแล้วก็หวังผลให้มากกว่าทุน ถือเป็นกำไร แต่ก็ไม่ได้หวังมากเกินไป เมื่อใดได้เกินไปมากๆ ก็จะรู้สึกผิดในใจ มีความละอายอยู่พอสมควร ความเห็นแก่ตัวระดับกลางๆ นี้เป็นสิ่งที่เชื่อกันว่าเป็นสมดุลของการเห็นแก่ตัวของมนุษย์ คือไม่เลวร้าย และก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้โดยที่สาธารณะชนยอมรับให้เกิดขึ้นได้ นั่นคือทำอะไรไปก็ควรจะได้กำไรบ้าง แต่การขาดทุนกลับเป็นการลงไปมากแล้วได้ตอบแทนมาน้อย ไม่คุ้มค่า ไม่ควรทำต่อไป เพราะจะทำให้คนหมดแรงจูงใจ เพราะเหมือนการเสียสละที่ไร้คุณค่า ทำให้เปล่าๆ คนส่วนใหญ่จึงไม่มีใครชอบขาดทุน ชอบแต่กำไรกันทั้งนั้น

 

พระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า

 

“…ขาดทุน คือ กำไร (our loss is our gain) การเสียคือ การได้ ประเทศชาติก็จะก้าวหน้า และการที่คนอยู่ดีมีสุขนั้น เป็นการนับที่เป็นมูลค่าเงินไม่ได้…

 

พระราชดำรัสพระราชทานแก่ผู้เข้าเฝ้าฯ ร่วมถวายพระพร

ณ ศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2536

 

“การให้” และ “การเสียสละ” เป็นการกระทำอันมีผลเป็นกำไร คือ ความอยู่ดี มีสุขของราษฎร ซึ่งสามารถสะท้อนให้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนได้ ประเทศต่างๆ ในโลก คนที่ก่อตั้งประเทศที่มีหลักทฤษฎีในอุดมคติที่ใช้ในการปกครองประเทศล้วนแต่ล่มสลายลงไปแล้ว เมืองไทยของเราจะสลายลงไปหรือ เมืองไทยนับว่าอยู่ได้มาอย่างดี เมื่อประมาณ 10 วันก่อนมีชาวต่างประเทศมาขอพบ เพื่อขอโอวาทเกี่ยวกับการปกครองประเทศว่าจะทำอย่างไร จึงได้แนะนำว่า ให้ปกครองแบบคนจน แบบที่ไม่ติดตำรามากเกินไป ทำอย่างมีสามัคคี มีเมตตากัน ก็จะอยู่ได้ตลอด ไม่เหมือนกับคนที่ทำตามวิชาการ ที่เวลาปิดตำราแล้วไม่รู้จะทำอย่างไร ลงท้ายก็ต้องเปิดหน้าแรกเริ่มใหม่ ถอยหลังเข้าคลอง ถ้าเราใช้ตำราแบบอะลุ้มอล่วยกันในที่สุดได้ก็เป็นการดี ให้โอวาทเขาไปว่าขาดทุนเป็นการได้กำไรของเรา นักเศรษฐศาสตร์คงค้านว่าไม่ใช่แต่เราอธิบายได้ว่าถ้าเราทำอะไรที่เราเสีย แต่ในที่สุดเราเสียนั้นเป็นการได้ทางอ้อม ตรงกับงานของรัฐบาลโดยตรงเงินของรัฐบาลหรืออีกนัยหนึ่งคือเงินของประชาชน ถ้าอยากให้ประชาชนอยู่ดีกินดีก็ต้องลงทุน ต้องสร้างโครงสร้าง ซึ่งต้องใช้เงินเป็นร้อยพัน หมื่นล้าน ถ้าทำไปเป็นการจ่ายเงินของรัฐบาล แต่ในไม่ช้าประชาชนจะได้รับผล ราษฎรอยู่ดีกินดี ราษฎรได้กำไรไป ถ้าราษฎรมีรายได้ รัฐบาลก็เก็บภาษีได้สะดวก เพื่อให้รัฐบาลได้ทำโครงการต่อไป เพื่อความก้าวหน้าของประเทศชาติ ถ้ารู้รัก สามัคคี รู้เสียสละ คือ การได้ ประเทศชาติ ก็จะก้าวหน้า และการที่คนอยู่ดีมีสุขนั้น เป็นการนับที่เป็นมูลค่าเงินไม่ได้…

ดังนั้น “ขาดทุนคือกำไร” โดยความหมายย่อมไม่อาจเท่ากันได้ แต่เมื่อตีความแล้วจะพบความเป็นจริง คือ เราใช้อะไรตัดสินว่าขาดทุน หรือ กำไร เรารับจ้างลงแรงทำงานในสวนไป 3 ชั่วโมง ได้ค่าแรงกี่บาท ย่อมคิดเป็นกำไรหรือขาดทุนได้ แต่ถ้าเราลงแรงทำงานในสวนของบ้านตัวเอง จะคิดกำไรขาดทุนอย่างไร เพราะทำเองก็ได้เอง เป็นกำไร แต่ขาดทุนไหม เพราะสิ่งที่ลงทุนกับสิ่งที่ได้รับอยู่คนละระนาบของการคิด การทำสิ่งต่างๆ เพื่อสาธารณะ คือ คนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์ เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม ย่อมต้องคิดว่านี่คือกำไร แล้วทุนที่ลงไปจะคิดเท่าทุน กำไร หรือขาดทุนได้ไหม ? การทำงานต่างๆ เพื่อสาธารณะย่อมไม่ได้เงินตอบแทนกลับมาในรูปกำไร มีแต่ขาดทุน แต่ผลสำเร็จคือสาธารณะได้ประโยชน์ ยิ่งประโยชน์เกิดกว้างขวางเท่าไรยิ่งเป็นผลดี คือ กำไร ดังนั้นขาดทุนคือกำไร จึงเป็นการให้และการเสียสละ เป็นการกระทำอันมีผลเป็นกำไร คือ ความอยู่ดีมีสุขของราษฎรของประเทศ ขาดทุนคือกำไร เป็นหลักการทรงงานที่สำคัญ แต่นักจัดการโครงการมักไม่ชอบเพราะไม่แสดงประสิทธิผลที่ชัดเจน แต่ผลสำคัญคือความยั่งยืนของการพัฒนาเพื่อความผาสุกของประชาชนนั่นเอง