ลักษณะประจำชาติ

เศรษฐกิจพอเพียงในฐานะหลักการทรงงาน (ความซื่อสัตย์ สุจริต จริงใจต่อกัน)

ความซื่อสัตย์ สุจริต จริงใจต่อกัน มนุษย์อยู่ร่วมกันเป็นสังคม จึงต้องการหลักค้ำประกันความมั่นคงของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน จริยธรรมและคุณธรรมได้แสดงหลักความประพฤติดี ที่จะค้ำประกันความสุขของมนุษย์ไว้ให้มากที่สุด คุณธรรมอย่างสำคัญ คือ ความซื่อสัตย์สุจริต (honesty) คนที่ไม่มีความสุจริต คนที่ไม่มีความมั่นคง ชอบแต่มักง่าย เขาย่อมมุ่งแสวงหาผลประโยชน์ให้ตัวเองโดยไม่สนใจว่าจะประพฤติดีหรือไม่ เกิดการทุจริตคือประพฤติไม่ดีเพียงเพื่อให้ตนเองได้ประโยชน์ ได้เปรียบผู้อื่น ด้วยคิดว่าความสุขของตนเองนั้นเป็นสำคัญ ความสุขของผู้อื่นก็เป็นเรื่องของผู้อื่นที่เขาจะต้องแสวงหาเอาเอง

ความคิดเชิงปัจเจก ที่เน้นตนเองเป็นศูนย์กลางเช่นนี้ย่อมไม่มีวันจะสร้างสรรค์ประโยชน์ส่วนรวมที่สำคัญอันใดได้ เพราะเขาไม่ให้คุณค่าใดกับประโยชน์ส่วนรวม อีกทั้งยังเป็นผู้แสวงหาความได้เปรียบ ในสิ่งสาธารณะต่างๆ เขาพร้อมจะใช้อำนาจหน้าที่เงินทองแสวงหาผลประโยชน์อย่างไม่เกรงกลัวผู้ใดอีกด้วย สังคมที่ยอมให้คนที่มุ่งทุจริตแสวงหาผลประโยชน์ย่อมเป็นสังคมที่ไม่สงบสุขอย่างแน่นอน

 

“คนไม่มีความสุจริต คนไม่มีความมั่นคง ชอบแต่มักง่าย ไม่มีวันจะสร้างสรรค์ประโยชน์ส่วนรวมที่สำคัญอันใดได้ ผู้ที่มีความสุจริตและความมุ่งมั่นเท่านั้น จึงจะทำงานสำคัญยิ่งใหญ่ที่เป็นคุณประโยชน์แท้จริงได้สำเร็จ”

 

พระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

12 กรกฎาคม 2522

 

ความซื่อสัตย์ สุจริตเป็นพื้นฐานของความดีทุกอย่าง เด็กๆ จึงต้องฝึกฝนอบรมให้ เกิดมีขึ้นในตนเอง เพื่อจักได้เติบโตขึ้นเป็นคนดีมี ประโยชน์ และมีชีวิตที่สะอาดที่เจริญมั่นคง…”

 

พระบรมราโชวาท

พระราชทานเนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ปี 2531

 

ดังนั้น สังคมจะต้องส่งเสริมคุณธรรมให้ทุกๆ คนพัฒนาตนเองเป็นผู้มีความซื่อสัตย์ สุจริต เขาจะเป็นผู้ที่เห็นแก่ส่วนรวมอย่างเต็มใจ ผู้ที่มีความสุจริตและความมุ่งมั่นเท่านั้นจึงจะทำงานสำคัญยิ่งใหญ่ ที่เป็นคุณ เป็นประโยชน์แท้จริงได้สำเร็จ

คนไทยทุกคนหากได้ร่วมมือกันช่วยชาติ พัฒนาชาติ ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต จริงใจต่อกันแล้ว ความร่วมมือร่วมใจของคนที่ซื่อสัตย์สุจริตย่อมทำให้เกิดพลังร่วม (synergy) ที่จะก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่คาดไม่ถึง และมากกว่าผลที่เกิดจากแต่ละอย่างที่แยกกันมารวมกัน (the whole is greater than the sum of the parts) การมีปฏิสัมพันธ์กัน (interaction) ทางสังคมทำให้พลังร่วมระหว่างหลายกลุ่ม หรือส่วนประกอบต่างๆ ขององค์กรหรือของรัฐซึ่งก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีกว่าต่างฝ่ายต่างแยกกันทำ การส่งเสริมคุณธรรมเป็นหน้าที่สำคัญของนักการศาสนา นักบวช เพราะสามารถบรรยายชี้แจงเพื่อกระตุ้นสำนึกคุณธรรมของประชาชนโดยแสดงให้เห็นว่ามนุษย์เรามีโอกาสสร้างคุณธรรมเฉพาะในโลกนี้เท่านั้น จึงต้องขวนขวายปฏิบัติไว้ให้มากและอย่างดีที่สุด จะรอไปปฏิบัติในโลกหน้าไม่ได้ นั่นคือเน้นการต้องทำดีในชีวิตประจำวัน ให้มีคุณธรรมเป็นนิสัย ประเทศไทยก็จะเจริญก้าวหน้าอย่างมาก