วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี พลังงานและสิ่งแวดล้อม

องค์ประกอบที่สำคัญในการคิดนวัตกรรม บนพื้นฐานของหลักการทรงงาน (ตอนที่ 5)

แก้ปัญหาที่จุดเล็ก

นวัตกรรมบางอย่าง เหมาะแก่การแก้ปัญหาที่จุดเล็ก เพราะปัญหาบางอย่างต้องการนวัตกรรมที่เข้าไปแก้เฉพาะจุด อาจเป็นจุดเล็กๆ แต่เป็นจุดที่สำคัญมาก

“จุดเล็ก” แต่เป็น “จุดที่ทรงพลัง” หรืออย่างที่นักยุทธศาสตร์เรียกว่า “จุดคานงัด” เป็นจุดที่ถูกกำหนดอย่างแม่นยำแล้วว่า ถ้าแก้ตรงจุดเล็กๆ นี้ได้ ปัญหาที่ต่างที่เกี่ยวข้องจะถูกคลี่คลายลงไปได้อย่างเป็นลูกโซ่ แสดงให้เห็นว่า จุดเล็กๆ ที่กล่าวถึงนี้ เป็นจุด “ต้นเหตุ” เป็นต้นตอของปัญหาหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นลูกโซ่ อาจเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า “เกาถูกที่คัน” นวัตกรรมที่สามารถแก้ปัญหาที่ต้นตอได้อย่างแม่นยำและทรงประสิทธิภาพเช่นนี้ย่อมส่งผลให้เกิดนวัตกรรมที่ทรงพลัง สามารถเปลี่ยนโลกทัศน์ ชีวทัศน์ และวิถีชีวิตในแบบเดิมๆ เข้าสู่กระบวนทัศน์ที่ล้ำสมัยอย่างที่คนในอดีตเคยประสบพบเจอกันมาแล้ว ส่วนในอนาคตอันใกล้นี้ นวัตกรรมที่ชาวโลกเชื่อว่ามีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ได้แก่ Artificial Intelligence (AI), Blockchain, Immersive Experience, 3D Printing

การแก้ไขปัญหาใดๆ ควรมองให้เห็นปัญหาในภาพรวมเสียก่อน แต่เวลาจะแก้ ให้เริ่มต้นแก้จากจุดเล็ก จุดที่หลายคนมักจะมองข้าม เพราะขาดความตระหนักรู้ต่อเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้น หลายครั้ง ปัญหาที่เกิดจากจุดเล็กๆ นี่แหล่ะที่เป็นไฟไหม้ฟางลุกลามจนใหญ่โต หากแก้ปัญหาตรงจุดที่เป็นรากเหง้านี้ได้ ปัญหาที่แลดูว่ายากและใหญ่อาจจะกลายเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ง่ายดายมากขึ้น

ดังพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า ถ้ามีปัญหา แล้วปวดหัว ก็คิดอะไรไม่ออก ก็ต้องแก้ไขอาการปวดหัวก่อน เพื่อให้อยู่สภาพที่คิดได้”

ในเรื่องของการทำงานเพื่อสังคมและประเทศชาติ พระองค์ทรงแนะนำว่า “ลงมือทำในจุดเล็กๆ ก่อน สำเร็จแล้วจึงค่อยขยาย มิใช่สั่งทำพร้อมกันทั่วประเทศ ดูดี แต่ลงทุนสูง ได้ผลน้อย ในที่สุดทุกคนก็จะหมดแรง เพราะมีแต่คนสั่ง คนทำมีอยู่ไม่กี่คน”