วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี พลังงานและสิ่งแวดล้อม

องค์ประกอบที่สำคัญในการคิดนวัตกรรม บนพื้นฐานของหลักการทรงงาน (ตอนที่ 4)

การไม่ยึดตำรา

การไม่ยึดตำรา เป็นหัวใจสำคัญของหลักการทรงงานที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ หรือที่เรานิยมเรียกว่า “การคิดนอกกรอบ” นั่นเอง

การคิดนอกกรอบนั้น ผู้คิดจะต้องแม่นในกรอบเสียก่อน ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นเพียงการคิดมั่วๆ คาดเดาอย่างไร้ทิศทาง หรือคิดอย่างสะเปะสะปะ เป็นไม้หลักปักขี้เลน ไม่สามารถทำให้สิ่งที่คลุมเครือกลายเป็นความชัดเจนที่สามารถเข้าใจได้จริงในเชิงปฏิบัติ

การไม่ยึดตำรานั้น ตัวเราต้องมีความเอกอุในเรื่องของการเรียนรู้ตำราอย่างมั่นคงช่ำชองในเรื่องต่างๆ เสียก่อน ทั้งทางด้านทฤษฎีและปฏิบัติ คือ รู้กรอบ รู้แบบแผน รู้ระเบียบ ขั้นตอน (protocol) ตลอดถึงวิธีการกรองข้อมูลที่สามารถนำมาใช้ได้จริง เมื่อเรียนรู้แล้วก็สามารถเอามาคิดต่อได้ สามารถสร้างระบบการเรียนรู้ของตนเองได้

หลังจากนั้นจึงนำมาย้อนคิดหรือดัดแปลง (invent) สิ่งที่มีอยู่ตลอดเวลาด้วยวิธีคิดเชิงวิภาษวิธีดังที่กล่าวมาแล้ว จึงจะเกิดการสร้างสรรค์ (creative) การสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นเป็นทั้งความคิดและแรงบันดาลใจ แรงบันดาลใจที่เกิดขึ้นทำให้เรามีความเพียร มีพลังในการศึกษาเรียนรู้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ลงมือกระทำซ้ำแล้วซ้ำอีก ยิ่งเรียนรู้ยิ่งลงมือทำยิ่งเกิดแรงบัลดาลใจ แรงบันดาลใจที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์นี้จะเป็นส่วนสำคัญของการสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นอย่างไม่รู้จบ ผลที่เกิดขึ้นคือความสุขทั้งก่อนลงมือทำ ขณะที่ทำ และช่วงที่เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมแล้ว

ขั้นตอนการคิดด้วยหลักการ “ไม่ยึดติดตำรา” จะเกิดขึ้นหลังจากที่ได้ศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบมาแล้ว (ตามหลักการทรงงานข้อที่ 1) สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือ การนำสิ่งที่ศึกษามาปฏิบัติเพื่อเรียนรู้ ในขณะปฏิบัติก็มีการสังเกต มีการคิดซ้ำๆ คิดทุกวัน คิดบ่อยๆ เพื่อเปรียบเทียบกับสิ่งที่ศึกษามาว่า ระหว่างการปฏิบัติและการศึกษาภาคทฤษฎีมีความเหมือนและแตกต่างกันอย่างไร เพื่อให้เกิดทักษะ (skill) ทั้งด้านการคิดและการปฏิบัติ คือ สามารถทำได้ ทำเป็น ทำจนคล่องแคล่ว รู้หลักการระเบียบแบบแผน ขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดการทำงาน

หลังจากที่ทดลองทำอย่างเต็มกำลังจนเกิดความชำนาญในงาน รู้ระบบ กลไก และขั้นตอนต่างๆ แล้ว ก็ให้เริ่มนำสิ่งที่ปฏิบัติอยู่เป็นประจำนี้มา “ตรึกตรอง”[1] ด้วยกระบวนการ “ย้อนคิด” (rethink) เพื่อหาทางดัดแปลงกระบวนการเดิมๆ ให้ดียิ่งขึ้น

การ “ย้อนคิด” เพื่อให้ได้คำตอบใหม่ เบื้องต้นต้องใช้วิธี “การทำให้เป็นคำถาม”

การมีคำถาม (question) กับการทำให้เป็นคำถาม (questionnaire) นั้นต่างกัน การมีคำถามเป็นเพียงการตั้งคำถามพื้นๆ ที่ไม่ต้องใช้กระบวนการคิดวิเคราะห์เลย เช่น ถามว่า นี่อะไร (What is this?) ผู้ที่ตอบอาจตอบว่า นี่คือพัดลม ผู้ที่ถามก็ได้แต่จำว่ามันชื่ออะไร ซึ่งแตกต่างจากการทำให้เป็นคำถาม ที่ถามด้วยคำว่า ทำไม (Why) เช่น ทำไมพัดลมถึงส่าย, ทำไมมันถึงส่ายไปซ้ายที ขวาที, ทำไมไม่ส่ายขึ้นบน ลงล่าง หรือหมุนรอบๆ เป็นต้น ผู้ตอบคำถามจำเป็นต้องมีการอธิบายให้เกิดความเข้าใจ ความเข้าใจนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากการจำ แต่ต้องมีการประมวลผลด้วยการวิเคราะห์จึงจะเข้าใจและอธิบายได้ ยิ่งถ้ายกตัวอย่างให้เห็นชัดได้ ก็ยิ่งแสดงถึงความเข้าใจในระดับลึก และถ้ายิ่งสามารถอธิบายเรื่องที่เข้าใจยากให้เข้าใจได้ง่าย ก็ยิ่งแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจที่ลึกซึ้งขึ้นไปอีก

การวิเคราะห์เป็นเครื่องมือแรกเริ่มในการ “ย้อนคิด” เพื่อตอบคำถามว่าทำไมสิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่ หรือสิ่งทำอยู่ถึงเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เมื่อทำเรื่องนี้ให้กระจ่างได้แล้ว ก็สามารถหาวิธีการ (how to) ในการสร้าง ปรับปรุง หรือดำเนินงานแบบใหม่ๆ ต่อไป

ดังนั้น คนที่คิดนอกกรอบได้ต้องแน่นในหลักการ ต้องลงมือปฏิบัติเพื่อให้รู้ด้วยตนเองว่าสิ่งที่คิดนั้นผิดหรือถูก ทำได้หรือทำไม่ได้ ถ้าลองทดสอบดูแล้วเห็นว่าผิดพลาดหรือทำไม่ได้ก็ให้ปรับปรุงพัฒนาแก้ไข ค้นหาหนทางใหม่ๆ จนกว่าจะเจอหนทางที่ใช่ แต่ถ้าถ้าลองทดสอบดูแล้วเห็นว่าถูกต้องหรือทำได้ก็ให้พัฒนาต่อยอดสิ่งที่ทำให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผลให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป (ดังที่แสดงในแผนภาพ)

[1]“ตรึก” คือ กระบวนการดึงข้อมูลความจำ (memory) กลับมาเพื่อทำการ “ตรอง” คือ พิจารณาด้วยหลักเหตุผล (reason) หรือค้นหาเหตุ-ปัจจัย (cause-effect) ที่เกิดขึ้น เพื่อตอบโจทย์ที่ได้ตั้งไว้

แผนภาพ : กระบวนการคิดนอกกรอบหรือการคิดนอกตำรา

            การคิดนอกกรอบ ควรเป็นไปในทางที่สร้างสรรค์ คือเป็นการคิดที่เกิดจากเจตนาที่บริสุทธิ์ ไม่ก่อให้เกิดโทษภัยกับใคร คิดเพื่อเกื้อกูลประโยชน์และความสุขกับเพื่อนมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ในกาลามสูตรพระพุทธเจ้าสอนไว้ว่า การที่เราจะคิดหรือเชื่อ หรือปฏิบัติสิ่งใดนั้น ต้องพิจารณาดูว่า (1) เป็นกุศลหรืออกุศล (2) เป็นโทษหรือไม่เป็นโทษ (3) วิญญูชนติเตียนหรือสรรเสริญ (4) เป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ และ (5) เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ หากเป็นไปเพื่อกุศล ไม่ก่อโทษ วิญญูชนสรรเสริญ เป็นประโยชน์ เป็นความสุข ก็ให้เชื่อให้ปฏิบัติตามนั้น แต่หากเป็นนัยยะตรงกันข้าม ทรงสอนให้ละเว้นเสีย

ก่อนที่จะคิดนอกตำราได้นั้น จะต้องมีตำราเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวในเบื้องต้น และลงมือปฏิบัติในกรอบและระเบียบจนชำนาญเสียก่อน เพื่อให้เข้าใจและเข้าถึงกรอบเดิมอย่างถ่องแท้ คนที่คิดนอกกรอบโดยไม่รู้และไม่ศึกษากรอบเดิมนั้น อาจเป็นเพราะเขาเบื่อในกรอบ คือเบื่อในการทำซ้ำๆ ในงานเพื่อให้เกิดความชำนาญ หรืออาจมีความอดทนไม่พอ ก็จะขาดโอกาสในการรู้ลึกในงานที่ทำ พื้นฐานก็ไม่แน่น หลักการก็ไม่แน่น ขาดโอกาสลองผิดลองถูกเพื่อหาคำตอบที่เป็นไปได้ในการทำงานนั้นๆ โดยตั้งคำถามกับสิ่งที่ทำว่า “ได้หรือไม่” ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เช่น ขวาได้หรือไม่ ซ้ายได้หรือไม่ ลึกได้หรือไม่ กลับด้านได้หรือไม่ เปลี่ยนวัสดุได้หรือไม่ เปลี่ยนสีได้หรือไม่ เปลี่ยนคนได้หรือไม่ เปลี่ยนแผนได้หรือไม่ เป็นต้น แม้จะคิดนอกกรอบนอกตำรา แต่ก็เป็นนอกกรอบนอกตำราอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่นอกกรอบนอกตำราตามอารมณ์