วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี พลังงานและสิ่งแวดล้อม

องค์ประกอบที่สำคัญในการคิดนวัตกรรม บนพื้นฐานของหลักการทรงงาน (ตอนที่ 6)

รู้ รัก สามัคคี

หลักการทรงงานอีกข้อหนึ่งที่ช่วยให้การมีส่วนร่วมในการสร้างนวัตกรรมเกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้นก็คือ หลักการทรงงานข้อสุดท้าย (ข้อที่ 23) ได้แก่ รู้ รัก สามัคคี

สังเกตได้ว่า “รู้ รัก สามัคคี” เป็นคำที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงตรัสไว้ก่อนคำว่า “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” นัยยะดังกล่าวนี้ชวนให้ผู้เขียนถอดรหัสความคิดนี้เข้ามาใช้เป็นเทคนิคการคิดเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วม โดยมองว่า “รู้ รัก สามัคคี” เป็นเรื่องของเหตุ หรือสาเหตุ (cause) ส่วน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” เป็นส่วนของผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น โดยแสดงเป็นสูตรง่ายๆ ดังนี้

คำว่า “รู้” ไม่ได้หมายถึง ความรู้จากการท่องจำ แต่หมายถึง รู้ที่เกิดจากการ “เข้าใจ” คือ เข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น การเข้าใจตนเอง เช่น เข้าใจตนเองว่ามีเป้าหมายชีวิตอย่างไร สิ่งที่ทำอยู่นี้ทำไปเพื่อใคร ได้ประโยชน์และคุณภาพของความสุขแบบใด ใช้หลักการและวิถีทางอย่างไรเพื่อให้ไปสู่เป้าหมายนั้น เป็นต้น ส่วนการเข้าใจผู้อื่น เช่น การรู้จักสังเกตหรือสนใจความคิดความรู้สึกของคนอื่น ในลักษณะ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” เข้าใจถึงความสุข ความทุกข์ เข้าใจความต้องการพื้นฐาน ปัจจัยต่างๆ ที่แต่ละคนมุ่งหวัง ความกลัวกังวลใจของแต่ละคน เป็นต้น เพื่อให้เรามีสติแยกแยะได้ว่า อะไรคือข้อเท็จจริง อะไรคือความคิดเห็น อะไรคือความกลัวกังวลหรืออารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เมื่อเราวิเคราะห์แยกแยะได้เช่นนี้จะทำให้เรามีสติในการแก้ปัญหา เช่น ไม่หยิบเอาความกลัวกังวลที่ไม่จริงมาดำเนินงาน เพราะนอกจากจะไม่ช่วยให้เกิดการแก้ปัญหาแล้ว ยังเป็นการเพิ่มปัญหาให้หนักขึ้น เพราะความกลัวกังวลนั้นไม่ใช่ความจริง เมื่อเราไม่อยู่บนความจริง ไม่เข้าใจข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ย่อมไม่อาจมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ซึ่งมีผลต่อการสร้างนวัตกรรมไปในทิศทางที่ผิดเพี้ยนอีกด้วย ตรงกันข้าม ถ้าสิ่งที่เรารู้มาจากทัศนะที่ถูกต้อง เป็นสัมมาทิฏฐิ ผลที่เกิดขึ้นก็คือ ความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งแทงตลอดในปัญหาต่างๆ จะเกิดขึ้น

คำว่า “รัก” ไม่ได้หมายถึง ความรักในรูปแบบการครอบครอง จับจ้องเป็นเจ้าของแบบเห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ ความรักที่จะทำให้เกิดผลอันเลิศคือการ “เข้าถึง” นั้น ควรเป็นความรักที่บริสุทธิ์ ไร้เงื่อนไข มีใจเป็นสาธารณะ ยกตัวอย่าง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระองค์ทรงรักประชาชนของพระองค์อย่างไร้เงื่อนไข ประดุจพ่อของแผ่นดินที่รักลูกๆ ของท่าน แม้ว่าลูกบางคนจะไม่รักพ่อ แต่พ่อก็ไม่เคยเกลียดลูกคนนั้น พระองค์ยังรักและเข้าใจถึงข้อจำกัดหรือเงื่อนไขที่ทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น พระองค์ทรงให้อภัย และมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ดังนั้น พระองค์จึงเข้าถึงความรักของประชาชน และประชาชนก็เข้าถึงความรักของพระองค์อย่างสุดซึ้ง แม้ว่าพระองค์จะเสด็จสวรรคตไปแล้วก็ตามที ประชาชนคนไทยก็ไม่เคยลืมเลือนพระเมตตาอันเป็นความรักที่บริสุทธิ์นี้ และจะอยู่ในใจตราบนานเท่านาน ดังนั้น รูปแบบความรักอันบริสุทธิ์จึงเกิดความจริงใจ เกิดจากน้ำใจอันใสสะอาด ดุจดวงจันทร์ที่ไร้เมฆบัง ยิ่งเรา “รัก” ใครด้วยความจริงใจมากเท่าใด เราก็ยิ่งอยาก “เข้าถึง” คนๆ นั้น หรือสิ่งๆ นั้นให้ได้มากที่สุด แม้ว่าจะมีเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรค ก็มีแรงบัลดาลใจเพียงพอที่จะก้าวข้ามอัตตาเพื่อให้เข้าถึงความรักในเพื่อนมนุษย์ให้จงได้ “คนที่ได้ทำงานใหญ่ต้องมีอัตตาเล็ก ส่วนคนที่ทำงานเล็กก็เพราะเขายังมีอัตตาใหญ่” คนที่เข้าถึงคนและงานได้ในระดับลึก จำเป็นต้องเข้าถึงความรักในตนเองเพื่อก้าวข้ามอัตตาในตนเองให้ได้เสียก่อน โดยเฉพาะคนที่มีเป้าหมายใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก นอกจากจะต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าที่เกิดขึ้นแล้ว ยังต้องก้ามข้ามเงื่อนไข ความเห็นแก่ตัวในใจเพื่อให้บรรลุผลในงาน เกิดเป็นความสุขแก่มหาชนส่วนรวม

คำว่า สามัคคี ไม่ได้หมายถึง พวกลากมากไป สามัคคีกันเป็นกลุ่มเป็นก๊กเป็นเหล่าเพื่อกอบโกยผลประโยชน์และสร้างฐานอำนาจให้กับกลุ่มของตนเองเท่านั้น เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มของตัวเองเท่านั้น แต่คำว่า สามัคคี ในที่นี้ คือ “ความสามัคคีของคนทั้งชาติ” ความสามัคคีนำมาซึ่งการพัฒนาอย่างเป็นองค์รวมไม่แยกส่วน เมื่อพระองค์ตรัสถึง “การพัฒนา” พระองค์ท่านหมายถึงการพัฒนาคนทั้งชาติ และการพัฒนาคนทั้งชาติจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยความสามัคคีของคนโดยรวมเป็นที่ตั้ง

การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนทั้งชาติ ถือเป็นงานใหญ่ ไม่ใช่งานเล็ก ถ้าเป็นงานเล็กอาจสามารถทำให้สำเร็จได้ด้วยคนๆ เดียว ไม่จำเป็นต้องพึ่งใคร ใครสามารถพึ่งตนเองได้ก็สามารถทำงานนั้นให้สำเร็จลุล่วงได้ แต่การพึ่งตนเองได้ไม่ได้หมายความว่าคนๆ นั้นทำงานใหญ่ได้ ความจริงแล้วการพึ่งตนเองได้เป็นแค่จุดเริ่มต้น มันแค่บอกให้คุณรู้ว่า “คุณสามารถดูแลรับผิดชอบตนเองได้ เพื่อไม่ให้เป็นภาระของใครเท่านั้นเอง” แท้จริงแล้วงานที่สำเร็จได้ด้วยคนๆ เดียวเป็นเพียงแค่ “งานเล็กๆ” ที่ไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไรมากมายนัก ถ้างานใหญ่จริงจะไม่สามารถสำเร็จได้ด้วยคนๆ เดียว แต่จะต้องใช้ศาสตร์และศิลป์ในการ “ครองตน” เพื่อให้รู้จักตนเองอย่างถ่องแท้ “ครองคน” หมู่มากด้วยความรัก ความเข้าใจ “ครองงาน” โดยธรรม เพื่อไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ร่วมกัน เกิดเป็นความสำเร็จร่วมกัน เป็นความสุขร่วมกันด้วยความรู้รักสามัคคี ดังนั้น หลักการทรงงานข้อนี้จึงเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก แต่ถ้าทำได้ก็จะเกิดประโยชน์มาก สามารถสร้างนวัตกรรมที่ใช้หลักการทรงงานเป็นแรงบัลดาลใจได้สำเร็จ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของหลักการทรงงานทุกข้อให้สูงขึ้น