วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี พลังงานและสิ่งแวดล้อม

การสร้างองค์กรนวัตกรรมด้วยหลักการทรงงาน

ความยั่งยืนไม่ได้เกิดจากตึกที่สวยหรูใหญ่โตดูโอ่อ่า นั่นเป็นเพียงฉากหน้าหรือส่วนเปลือกผิวที่ทำให้เกิดความดูดีภายนอก แต่ข้างในอาจไม่ได้เป็นอย่างที่คิด หลายครั้งที่เราพบว่า องค์กรที่มีความมั่นคง แต่ใจคนในองค์กรกลับไม่มั่นคง มีแต่ความกลัวกังวลเต็มหัวใจ ไม่กล้าตัดสินใจกระทำสิ่งใดอันนำมาซึ่งความเสี่ยงต่อตำแหน่งหน้าที่การงาน ไม่กล้าคิดขัดแย้งหรือแตกต่างจากผู้ที่มีอำนาจเหนือตน นั่นก็เพราะวัฒนธรรมองค์กรถูกบริหารมาเช่นนั้นด้วยความเคยชิน ด้วยระบบอำนาจและผลประโยชน์ที่เหนียวแน่น ขาดความยืดหยุ่น ขาดการทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน เมื่อใจคนในองค์กรไม่มั่นคงเช่นนี้ก็ยากที่จะรักษาให้องค์กรเกิดความมั่นคงได้อย่างยั่งยืน

เมื่อเราพูดถึงการสร้างองค์กรนวัตกรรมด้วยหลักการทรงงาน ก็ต้องคิดถึงความยั่งยืนที่เกิดขึ้น โดยเริ่มต้นจากการพัฒนาคนเป็นสำคัญ เพราะองค์กรเกิดขึ้นได้ก็เพราะคน องค์กรที่มีคุณภาพมีประสิทธิภาพก็เพราะมีคนที่มีคุณภาพอยู่ในองค์กร โดยเฉพาะผู้นำองค์กร แต่จะอาศัยผู้นำองค์กรเพียงลำพังก็ไม่สามารถก้าวสู่ความสำเร็จได้ จำเป็นต้องพัฒนาให้คนในองค์กรเกิดคุณภาพ และเมื่อตั้งเป้าแล้วว่าจะเป็นองค์กรนวัตกรรม ก็ต้องส่งเสริมแนวทางให้เกิดการพัฒนาคนไปในแนวทางดังกล่าวนี้

ดังนั้น การสร้างองค์กรนวัตกรรมให้เกิดความยั่งยืนจึงต้องเริ่มสร้างที่ใจคน เหมือนดังในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงปลูกต้นไม้ในใจคน ปลูกความรักความเข้าใจให้คนในองค์กรเป็นหนึ่งเดียวกัน มีสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้เกิดความเจริญเติบในทางสร้างสรรค์ เอื้อต่อความเป็นหนึ่งเดียวบนความแตกต่างกัน คือเป็นเอกภาพบนความแตกต่าง หรือมีความแตกต่างกันได้บนเอกภาพเดียวกัน ก็จะทำให้เกิดองค์กรนวัตกรรมขึ้นมาได้

ผู้เขียน ขอเสนอยุทธศาสตร์พระราชทาน คือ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา มาใช้เป็นหลักการหรือแกนหลักในการสร้างองค์กรนวัตกรรมให้เกิดขึ้นตามหลักการทรงงาน โดยเริ่มจาก

 

หลักการที่ 1 : เข้าใจ

          หลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเน้นการพัฒนาคนเป็นสำคัญ การบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์แบบเดิมมองคนเป็นเพียงทรัพยากรหนึ่งของการบริหารจัดการ แต่เมื่อมองตามรากศัพท์ของคำว่า Organization เรากลับพบว่า มาจากคำว่า Organ ที่แปลว่า body ที่หมายถึง ร่างกายและจิตใจของมนุษย์ แท้จริงแล้วองค์กรคือมนุษย์ ส่วนทรัพยากรอื่นๆ ที่เป็นวัตถุนั้นเป็นเพียงเครื่องมือที่อำนวยความสะดวกให้กับมนุษย์ในการทำงานเท่านั้น แม้แต่นวัตกรรมต่างๆ รวมถึงเทคโนโลยีหุ่นยนต์ AI ทั้งหลายก็ล้วนถูกสร้างมาจากความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ทั้งสิ้น ดังนั้น เมื่อต้องการสร้างองค์กรนวัตกรรมด้วยหลักการทรงงาน จึงต้องเน้นไปที่การพัฒนาและสนับสนุนให้คนมีคุณภาพทางด้านต่างๆ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาชีวิตคนทำงาน สร้างสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขส่วนรวม นี่คือความเข้าใจเบื้องต้นสำหรับการสร้างวัฒนธรรมองค์กรเสียใหม่ โดยเปลี่ยนมุมมองเพื่อให้เกียรติทุกคนในองค์กรไม่ว่าเขาจะจบการศึกษาระดับใด ทำงานตำแหน่งใดก็ตาม

 

หลักการที่ 2 : เข้าถึง

         คุณค่าของความเป็นมนุษย์เกิดจากการได้ตระหนักรู้ถึงคุณค่าของความเป็นมนุษย์ เพราะนอกจากเรื่องการทำมาหากินแล้ว มนุษย์พึงตระหนักว่าทุกความรู้สึกนึกคิด ทุกคำพูด คำเขียน ทุกการกระทำ ส่งผลให้เกิดการกระทบต่อผู้อื่น ต่อสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น นโยบายในการสร้างนวัตกรรมขององค์กรจะต้องหลีกเลี่ยงการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน แม้ว่าการเบียดเบียนนั้นจะไม่ส่งผลต่อมนุษย์โดยตรง ก็ต้องตระหนักถึงผลกระทบโดยอ้อม ที่อาจจะตีกลับ (kick back) เข้ามาส่งผลเสียให้กับคุณภาพชีวิตของคนในสังคม เช่น ภาวะโลกร้อน น้ำเน่าเสีย อากาศเป็นพิษ เป็นต้น ดังนั้น นวัตกรรมที่ควรเกิดขึ้นกับองค์กรจึงควรเป็นนวัตกรรมที่สร้างสรรค์ เป็นนวัตกรรมที่สามารถเข้าไปแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตของคนในสังคมได้โดยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นวัตกรรมทุกชิ้นจะถูกสร้างขึ้นมาด้วยความใส่ใจอย่างมีส่วนร่วม และเกิดคุณค่าโดยแท้จริง เพราะมันสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคมได้จริง มีความจำเป็นต่อโลกและธรรมชาติที่ไม่ได้ให้เพียงความสะดวกสบายเท่านั้น แต่เป็นไปเพื่อการบำบัดทุกข์บำรุงสุขอย่างเป็นองค์รวมซึ่งสอดคล้องกับปณิธานของพระเจ้าแผ่นดินทุกพระองค์ที่ทรงงานเพื่อการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎร พระองค์จึงเข้าถึง คือ เข้าไปถึงใจ เข้าไปนั่งในใจของประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า การสร้างนวัตกรรมใดๆ ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมก็เช่นกันย่อมสร้างคุณค่าให้เกิดในจิตใจของผู้ที่ใช้นวัตกรรมเพื่อสงเคราะห์เกื้อกูลกันและกันได้อย่างแท้จริง

 

หลักการที่ 3 : พัฒนา

การพัฒนาในที่นี้ หมายถึง การพัฒนาคุณภาพชีวิต ที่สอดคล้องกับการพัฒนานวัตกรรมเพื่อการนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน เป็นการพัฒนาตน พัฒนาคน พัฒนางาน อย่างต่อเนื่อง มีการอบรมอย่างต่อเนื่องเพื่อปลุกและปลูกคุณธรรม จริยธรรม ให้กับคนในองค์กรอย่างสม่ำเสมอ ก็จะเกิดผลดีต่อการสร้าง “ธรรมาภิบาล” ในองค์กร หรือทางธุรกิจเรียกว่า “บรรษัทภิบาล” ก็จะทำให้กลายเป็นองค์กรที่น่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้ที่ทำงานในองค์กรทุกคน

ธรรมาภิบาล หรือ บรรษัทภิบาล นี้ เป็นเสมือนธรรมนูญขององค์กรที่ช่วยรักษาวัฒนธรรมองค์กรที่ดีงามเอาไว้ เป็นความไว้วางใจต่อสินค้าและบริการที่องค์กรนี้ได้คิดค้นขึ้นว่าจะเป็นไปเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมให้กับคนส่วนรวมได้ นั่นหมายความว่า องค์กรดังกล่าวนี้กำลังสร้างโอกาสให้กับตนเองที่จะเชื่อมต่อกับองค์กรอื่นๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรสาธารณประโยชน์ต่างๆ ที่กำลังคิดแก้ไขปัญหาธรรมชาติที่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์อย่างต่อเนื่องด้วย

ความไว้วางใจของมหาชนนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเทียบเป็นเม็ดเงินได้เลย เพราะไม่สามารถซื้อได้ด้วยเงิน แต่จะได้มาก็ต่อเมื่อวัฒนธรรมองค์กรมีทิศทางที่สอดคล้องกับหลักการทรงงานและพื้นฐานปรัชญาหลังนวยุคสายกลางที่เน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิต ใช้วิจารณญาณในการแก้ปัญหา เน้นการแสวงหาความสุขบนความสุขของตนเองและผู้อื่น คือ ปราศจากการเบียดเบียนและแก้ปัญหาอันเนื่องมาจากการเบียดเบียนด้วยความตระหนักรู้ สิ่งนี้จะนำมาซึ่งความมั่นคงและยั่งยืนขององค์กรนวัตกรรม เป็นภาพลักษณ์ที่ถูกสร้างขึ้นบนมิติของความเป็นจริง มิใช่การสร้างภาพ เพราะองค์กรไม่ใช่คนที่ให้คุณค่าตนเอง องค์กรจะมีคุณค่าก็ต่อเมื่อมีมหาชนเป็นผู้มอบคุณค่านี้ให้ด้วยใจจริง ดังที่ประชาชนชาวไทยได้มอบความจงรักภักดี มอบหัวใจให้กับพระเจ้าแผ่นดินที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนตลอดมาอย่างเสมอต้นเสมอปลาย

เมื่อเราสามารถเข้าใจตนเองได้อย่างแท้จริง เข้าถึงจิตใจของมนุษย์ที่อยู่รอบตัว และสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในองค์กรให้เติบโตงอกงามอย่างต่อเนื่องด้วยหลักการทรงงาน องค์กรนวัตกรรมตามหลักการทรงงานก็จะเกิดขึ้น ทั้งนี้ การพัฒนาตน พัฒนาคน พัฒนางานนั้น ต่างมีจุดเน้นในการพัฒนาที่แตกต่างกัน เมื่อเราเน้นได้ถูกจุด รู้ว่าอะไรคือปัจจัยหลัก ปัจจัยรอง ปัจจัยสนับสนุน หลักการทรงงานข้ออื่นๆ ก็จะเข้ามาเป็นส่วนเสริมเพื่อให้การพัฒนาขับเคลื่อนไปแบบองค์รวมสัมพันธ์ เช่น

1) การพัฒนาตน จะเน้นที่ข้อ “การระเบิดจากภายใน” เพื่อการคิดสร้างสรรค์ และเน้นข้อ “ประโยชน์ส่วนรวม” เป็นปัจจัยหลักในการสร้างนวัตกรรม เพราะการพัฒนาตนที่ดีนั้นอย่างน้อยจะต้องไม่เกิดการเบียดเบียนผู้อื่น นั่นก็คือ การคิดถึงหลักการทรงงานข้อ “ประโยชน์ส่วนรวม” นั่นเอง ส่วนหลักการทรงงานข้ออื่นๆ จะกลายเป็นปัจจัยรอง โดยมีข้อ “เศรษฐกิจพอเพียง” และข้อ “ความเพียร” เป็นปัจจัยสนับสนุนให้เกิดความสุขความสำเร็จในการพัฒนาตน

         2) การพัฒนาคน จะเน้นไปที่การสร้างเครือข่ายความร่วมมือในทุกภาคส่วน เป็นปัจจัยหลัก เพื่อส่งเสริมให้เกิดองค์กรนวัตกรรม ได้แก่ ลูกจ้าง (employee) ลูกค้า (customer) หุ้นสวน/ซัพพลายเออร์ (partner/supplier) คู่แข่ง (competitor) และสาธารณะ (public) ส่วนหลักการทรงงานข้ออื่นๆ จะกลายเป็นปัจจัยรอง โดยมีข้อ “เศรษฐกิจพอเพียง” และข้อ “ความเพียร” เป็นปัจจัยสนับสนุนให้เกิดความสุขความสำเร็จร่วมกันในการพัฒนาคนอย่างมีส่วนร่วม

         3) การพัฒนางาน จะเน้นไปที่ 8 ข้อสำคัญ คือ ศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบ, ทำตามลำดับขั้น, ไม่ยึดติดตำรา, ประหยัดเรียบง่ายได้ประโยชน์สูงสุด, แก้ปัญหาที่จุดเล็ก, องค์รวม, ประโยชน์สุขส่วนรวม รู้รักสามัคคี ส่วนหลักการทรงงานข้ออื่นๆ จะกลายเป็นปัจจัยรอง โดยมีข้อ “เศรษฐกิจพอเพียง” และข้อ “ความเพียร” เป็นปัจจัยสนับสนุนให้เกิดความสุขความสำเร็จในการพัฒนางาน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ถูกเสนอขึ้นนี้ เป็นเพียง “ตุ๊กตา” เพื่อยกให้เห็นเป็นตัวอย่างเท่านั้น ความสำคัญอยู่ที่รากฐานทางปรัชญาและหลักการคิดที่มาจากหลักการทรงงาน ดังนั้น จึงไม่มีสูตรที่ตายตัว แต่อยู่ที่ศักยภาพในการตระหนักรู้ของแต่ละคนในการพัฒนาตน พัฒนาคน และพัฒนางาน จนเกิดเป็นองค์กรนวัตกรรมที่ทรงคุณค่า มีจิตใจ พร้อมส่งต่อคุณค่านี้สู่สังคมส่วนรวมต่อไปได้ แต่มีเป้าหมายเดียวกัน คือ การพัฒนาชีวิตแบบองค์รวม มีส่วนร่วม และมีความรู้รักสามัคคี เชื่อมต่อเป็นหนึ่งเดียวกัน