ลักษณะประจำชาติ

น้ำใจคนไทยเกิดจากใจที่รู้จักพอ

สังคมใดก็ตาม ถ้ามีความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน

ด้วยความมุ่งดีมุ่งเจริญต่อกัน

สังคมนั้นย่อมเต็มไปด้วยไมตรีจิตมิตรภาพ

มีความร่มเย็นเป็นสุข น่าอยู่

 

พระราชดำรัส

พระราชทานเพื่ออัญเชิญลงพิมพ์ในนิตยสารที่ระลึกครบ 36 ปี

ของสโมสรไลออนล์แห่งกรุงเทพฯ ในพระบรมราชูปถัมภ์

วันที่ 31 มีนาคม 2538

 

ทำไมสังคมไทยจึงเป็นสังคมที่น่าอยู่ในสายตาของคนทั่วโลก โดยเฉพาะในช่วงไวรัสโควิด-19 ที่กำลังระบาดอยู่ในปัจจุบัน นอกจากจะเป็นเรื่องของภูมิประเทศ ความสามารถในการควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพในอันดับต้นๆ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ จาก 184 ประเทศทั่วโลก (จากข้อมูลการจัดอันดับดัชนี Global COVID-19 Index (GCI)) สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยก็คือ เอกลักษณ์อันโดดเด่นของคนไทยสร้างความประทับใจ ก็คือ “ความมีน้ำใจ”

ย้อนไปในอดีต ช่วงเหตุการณ์แผ่นดินไวสึนามิถล่มรุนแรงที่สุดในรอบ 140 ปี ซึ่งประเทศไทยเองก็ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนั้นเช่นกัน แต่สิ่งที่น่าแปลกใจเกี่ยวกับอุปนิสัยของคนไทยก็คือ ถึงแม้ว่าในขณะนั้นคนไทยเองจะประสบภัยอันตรายจากเหตุธรรมชาติครั้งนี้ แต่ก็ยังคิดถึงประเทศเพื่อนบ้านในหลายประเทศที่ได้รับผลกระทบในขณะนั้น เหตุการณ์ที่ประทับใจที่สุด คือ การที่คนไทยช่วยกันบริจาคเงินและข้าวของที่จำเป็นให้กับประเทศญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก ทั้ง ๆ ที่ประเทศญี่ปุ่นเองถือว่าเป็นประเทศที่ร่ำรวยกว่าประเทศไทยเสียอีกหากมองในเชิงเศรษฐกิจ ธุรกิจหลายอย่างของประเทศญี่ปุ่นก็มาเติบโตในดินแดนของประเทศไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนที่เราคุ้นเคย อาทิเช่น TOYOTA, HONDA, NISSAN, MAZDA, MITSUBISHI, ISUZU, HINO, SUZUKI ฯลฯ ตลอดถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนอีกหลากหลายยี่ห้อ แสดงให้เห็นถึงความมีน้ำใจของคนไทยที่ก้าวข้ามเงื่อนไขทางเศรษฐกิจหรือผลประโยชน์ หรืออำนาจใด ๆ แต่เป็นสิ่งที่หลั่งไหลออกมาจากธารน้ำใจของคนไทยโดยแท้

สิ่งที่เป็นรูปธรรมที่มนุษย์จะแสดงออกซึ่งความมีน้ำใจต่อกัน ก็คือ “การแบ่งปัน”

การที่คนเราจะแบ่งปันสิ่งใดๆ ให้แก่ใครก็ตาม เขาผู้นั้นจะต้องมีสิ่งที่จะแบ่งปันเสียก่อน ส่วนจะมีน้อยหรือมากนั้นเป็นเรื่องของปริมาณภายนอก แต่หากความรู้สึกภายในยังไม่เต็มอิ่ม ยังรู้สึกว่ามีเท่าไหร่ก็ยังไม่พอ ก็ยากที่จะทำให้บุคคลผู้นั้น แบ่งปันน้ำใจออกมาให้กับผู้อื่นได้ ดังนั้น บุคคลที่จะให้หรือแบ่งปันด้วยความบริสุทธิ์ใจ สิ่งที่เป็นพื้นฐานแรกจึงได้แก่ “ความพอเพียง” ในจิตใจนั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ “ความพอเพียง” กับ “การแบ่งปัน” จึงแยกจากกันไม่ออก และถือเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของคนไทย เป็นลักษณะประจำชาติที่ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่วัยเยาว์ หล่อหลอมผ่านประสบการณ์ ขนบธรรมเนียม ประเพณี คำสอนทางศาสนา โดยเฉพาะพุทธศาสนาที่สอนเรื่องทาน เป็นพื้นฐานของคุณธรรมในหลายหมวดหมู่ เช่น ทศพิธราชธรรม ก็มีเรื่อง ทาน เป็นพื้นฐานข้อแรก หรือเรื่องของการฝึกฝนอบรมขั้นพื้นฐาน ก็มีการสอนเรื่อง ทาน ศีล ภาวนา ให้แก่อุบาสกอุบาสิกาเป็นขั้นต้น การจะเป็นที่รักของเพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย ก็ต้องสอนเรื่องทาน คือ การให้ การแบ่งปันเสียก่อน จึงจะกล่าวถึงข้อธรรมในด้านอื่นๆ ต่อไป

ความมีน้ำใจ แสดงให้เห็นถึงกระบวนการขัดเกลาทางสังคมไทยที่มีมาช้านาน แม้ว่าพระมหากษัตริย์ไทย เช่น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นต้น จะทรงนับถือพุทธศาสนา แต่ก็ทรงมีน้ำพระทัยหรือน้ำใจต่อศาสนิกของศาสนาอื่นๆ ด้วย พระองค์ไม่ทรงเบียดเบียน (อวิหิงสา) แต่กลับให้การอนุเคราะห์เกื้อกูลในฐานะอัครศาสนููปถัมภก จึงเป็นที่รักแก่ประชาชนในทุกศาสนา เป็นความภาคภูมิใจของคนไทยมาจวบจนถึงทุกวันนี้

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กล่าวไว้ในหนังสือ “หลักธรรม หลักทำ ตามรอยพยุคลบาท” โดยเล่าว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเคยตรัสว่า “รู้ไหม บ้านเมืองอยู่รอดมาได้ทุกวันนี้ เพราะอะไร… เพราะคนไทยยัง “ให้” กันอยู่” สิ่งที่พระองค์ทรงตรัสนี้คือสัจจะวาจาที่คนไทยควรภาคภูมิใจ ช่วยกันดูแลเอาใจใส่ มีน้ำใจต่อคนรอบข้าง ตั้งแต่คนในครอบครัว คนในชุมชน ด้วยความรู้รักสามัคคี ก็จะทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าอยู่และหาได้ยากในโลกนี้