วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี พลังงานและสิ่งแวดล้อม

คิดอย่างไรให้ได้นวัตกรรมตามหลักการทรงงาน (ตอนที่ 1)

คิดอย่างไรให้ได้นวัตกรรมตามแนวทางของหลักการทรงงานนั้น ผู้เขียนขอนำเสนอทฤษฎีซาแปะ (SAPAE) สำหรับเป็นพื้นฐานของระบบการคิดนวัตกรรมที่มีลักษณะเป็นวงจรให้เกิดนวัตกรรมอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ใพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงใช้ทฤษฎีซาแปะนี้ในการทรงงานตลอดระยะเวลาที่พระองค์ทรงครองราชย์ เพื่อการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎร และพัฒนางานให้เกิดนวัตกรรมที่เหมาะสมกับสภาพปัญหาในแต่ละพื้นที่

คำว่า “ซาแปะ” มาจากตัวย่อภาษาอังกฤษ คือ SAPAE เป็นวงจรแห่งการทำงานที่ช่วยให้เกิดการศึกษาอย่างเป็นระบบ มีลำดับ มีขั้นมีตอน คือ “ทำตามลำดับขั้น” อย่างบูรณาการ เพื่อให้การทำงานประสบผลสำเร็จ ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน คือ

S = Survey/การสำรวจ

A = Analysis/การวิเคราะห์

P = Planning/การวางแผน

A = Action/การปฏิบัติ

E = Evaluation/การประเมินผล

จุดเริ่มต้นของการใช้ทฤษฎีนี้ คือ เริ่มจากการสำรวจสิ่งที่ต้องการศึกษา เช่น สภาพปัญหา, ปัจจัยของความสำเร็จ เป็นต้น โดยนำปัญหามาวิเคราะห์เพื่อทำความเข้าใจ กำหนดแนวทางเพื่อวางแผนและสร้างเครื่องมือในการแก้ปัญหา ปรับปรุง แก้ไข และพัฒนา ลงมือปฏิบัติเพื่อทดสอบและประเมินผลในทุกขั้นตอน อาจใช้กระบวนการมีส่วนร่วมในการให้ข้อคิดเห็น ข้อวิพากษ์วิจารณ์ และข้อเสนอแนะเพื่อนำไปปรับปรุงพัฒนาและนำกลับมาใช้อีก โดยประเมินผลทุกครั้งจนแน่ใจว่า กระบวนการทดลองหรือวิจัยนี้มีคุณภาพ น่าเชื่อถือได้

ทฤษฎี SAPAE ของในหลวงรัชกาลที่ 9 นี้ มีความละเอียดอ่อนในรายละเอียดและสอดคล้องกับสภาพการทำงานจริงมากกว่าทฤษฎีวงกลมเดรมมิ่ง หรือ PDCA ที่เริ่มจากการวางแผน (P=Plan) เลย โดยขาดการสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลตามความเป็นจริงก่อน ทั้งนี้ รัฐบาล ภาคเอกชน สมาคม ภาคี มูลนิธิต่างๆ สามารถนำหลัก SAPAE ไปประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดผลสำเร็จได้ตามวัตถุประสงค์

 

 

  1. ความเป็นมาของทฤษฎี SAPAE

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช ทรงเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนประชาชนทั่วทุกท้องถิ่นไทยไม่ว่าพื้นที่นั้นจะทุรกันดารแค่ไหน ลำบากอย่างไร การทรงงานอย่างหนักของพระองค์ท่านทำให้ทราบข้อมูลและเข้าพระราชหฤทัยคนไทยและพื้นแผ่นดินไทยทุกแง่ทุกมุมอย่างลึกซึ้ง ทรงปฏิบัติเป็นแบบอย่างในการพัฒนาที่ให้ความสำคัญเรื่อง “พัฒนาคน” โดยพระราชดำริที่จะพัฒนาความเป็นอยู่ของราษฎรให้เกิดความ “พออยู่พอกิน” ด้วยการ “พึ่งพาตนเอง” อย่างมั่นคงซึ่งเป็นการ “พัฒนาอย่างยั่งยืน” ด้วยสายพระเนตรที่ยาวไกลตามหลัก “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ปรากฏผลเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศอย่างชัดเจนโดยตลอดมา และทุกครั้งที่พระองค์ท่านทรงงานจะรับฟังการถวายรายงานจากผู้เกี่ยวข้องฝ่ายต่างๆ ทรงมีการบันทึกข้อมูล และทรงใช้แผนที่ประกอบโดยบันทึกข้อความต่างๆ ไว้เป็นข้อมูลสำคัญในการนำมาวิเคราะห์วินิจฉัยก่อนดำเนินการใดๆ เรื่องใดที่ไม่ทรงทราบก็ทรงเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาถวายข้อมูลเพิ่มเติมเป็นการสำรวจข้อเท็จจริงจากการเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรด้วยพระองค์เอง”

จากการถวายคำแนะนำของผู้ที่เกี่ยวข้อง คือ การสำรวจ (survey) ทรงวิเคราะห์ (analysis) ข้อมูลเหล่านั้นหลากหลายแง่มุม เมื่อทรงเห็นความเป็นไปได้ (possibility) แล้วจึงวางแผน (planning) และนำไปทดลองปฏิบัติด้วยการเริ่มต้นจากสิ่งที่เล็กก่อน (action) ทรงมีการติดตามทบทวนและ ประเมินผลโครงการทดลองนั้นเป็นระยะๆ (evaluation) นำผลที่ได้มาเป็นข้อมูลเพื่อทำงานทดลอง ทรงทำเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีกต่อเนื่องกัน เมื่อทรงเห็นว่าเกิดประโยชน์จริง จึงพระราชทานแนวทางนั้นให้ประชาชนชาวไทยนำไปใช้แก้ไขปัญหาความทุกข์ยากของประชาชน และประเทศชาติ ทำให้เรื่องยากกลายเป็นเรื่องง่าย ทำให้เรื่องใหญ่กลายเป็นเรื่องเล็ก ทำให้ปัญหาและความทุกข์ยากกลายเป็นผลผลิตรายได้และความสุขเป็นที่กล่าวขานถึงพระอัจฉริยภาพ และพระปรีชาสามารถไปทั่วทุกมุมโลก สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) จึงได้สรุปหลักการ วิธีคิด วิธีทรงงานจากบทความในหนังสือ “กษัตริย์ – นักพัฒนา” มาใช้ให้ข้าราชการฝ่ายปกครองในฐานะที่เป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จักได้น้อมนำไปปรับใช้ในการปฏิบัติเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

หลักการทรงงานของพระองค์ท่านเป็นหลักการทรงงานที่มีประสิทธิภาพเรียกว่า SAPAE เป็นวงจรแห่งการทำ งานให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งจะเห็นได้จากการที่พระองค์ท่านทรงสร้างโครงการสำคัญต่างๆ มากกว่า 3,000 โครงการมอบแก่ประชาชนของพระองค์ท่าน โดยแบ่งฐานข้อมูลออกเป็นกลุ่มหลักๆ เช่น 1) โครงการหลวง 2) โครงการตามพระราชดำริ 3) โครงการในพระบรมราชดำริ 4) โครงการตามพระราชประสงค์ โดยที่พระองค์ท่านทรงจัดระบบการบริหารจัดการอย่างเป็นขั้นเป็นตอนด้วยความละเอียดรอบคอบ ด้วยกระบวนการ 5 ขั้นตอน ดังนี้

  1. สำรวจข้อมูล (survey) เกี่ยวกับปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน พระองค์ท่านจะศึกษาจากเอกสารและแผนที่ต่างๆ ที่มีอยู่เพื่อให้ทราบสภาพในท้องถิ่นนั้นๆ อย่างละเอียดก่อนเสมอ หลังจากนั้น พระองค์ท่านจะลงพื้นที่จริงด้วยพระองค์เอง เพื่อสอบถามประชาชนถึงปัญหา ความเดือดร้อนที่ได้รับจากการประกอบอาชีพ ชีวิตความเป็นอยู่ ดิน ฟ้า อากาศ แหล่งน้ำ เพื่อให้ได้รายละเอียดข้อเท็จจริงเพิ่มเติม
  2. วิเคราะห์ข้อมูล (analysis) พระองค์ท่านทรงปรึกษาเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ถึงความเป็นไปได้และความเหมาะสมพร้อมทั้งทรงคำนวณ วิเคราะห์ถึงประโยชน์ความคุ้มค่า
  3. จัดทำโครงการ (planning) เมื่อพิจารณาความเป็นไปได้สูง ได้รับประโยชน์คุ้มค่า จึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำโครงร่าง แล้วนำไปพิจารณา กลั่นกรองตามหลักวิชาการอีกครั้ง
  4. ดำเนินงานตามโครงการ (action) เมื่อโครงการผ่านการพิจารณาเรียบร้อยแล้ว จึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเริ่มลงมือดำเนินงานตามโครงการทันทีพร้อมกำหนดตัวบุคคลเพื่อทำหน้าที่ กำกับดูแลอย่างชัดเจน
  5. ติดตามประเมินผล (evaluation) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะติดตามประเมินผล พร้อมรายงานผลเป็นระยะๆ แต่ที่สำคัญคือทุกครั้งที่มีโอกาส พระองค์ท่านจะเสด็จไปทอดพระเนตรความก้าวหน้า และติดตามผลงานต่างๆ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยด้วยพระองค์เอง หากมีปัญหาอุปสรรคใด จะทรงชี้แนะแนวทางแก้ปัญหานั้นๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีทุกครั้ง พระองค์ท่านทรงมุ่งเน้น “การพัฒนาคน” ซึ่งจะต้องเริ่มจากการสร้างรากฐานให้มั่นคง ตั้งแต่ระดับปัจเจกบุคคล ครัวเรือน หมู่บ้าน ชุมชน ให้มีความเข้มแข็ง มีโอกาสเตรียมตัว ตั้งตัว พร้อมจะรับการพัฒนาเสียก่อน แล้วจึงค่อยนำความเจริญก้าวหน้าจากสังคมภายนอกเข้าไปพัฒนาคนภายในหมู่บ้าน ชุมชนเป็นลำดับต่อไป โดยต้องคำนึงถึงความจำเป็นและเหมาะสม เพื่อให้ราษฎรเหล่านั้นพึ่งตนเองได้และสามารถออกมาสู่สังคมภายนอกได้อย่างไม่ลำบาก

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดชทรงมีความรักและพอพระราชหฤทัยจะทรงงานเหล่านั้นให้พบความสำเร็จ (ฉันทะ) ทรงมีความรักประชาชนและแผ่นดินอย่างลึกซึ้ง ทรงมุ่งมั่นแสวงหาวิธีที่จะทำให้ราษฎรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทรงวิริยะ อุตสาหะ พยายาม ฝักใฝ่ใคร่ครวญ ทบทวน ไตร่ตรองอยู่เป็นนิจ