ลักษณะประจำชาติ

ความพอเพียงบนฐานอารยธรรมไทย (ตอนที่ 1)

ปรัชญาไทยที่ทรงคุณค่าย่อมวางอยู่บนพื้นฐานอารยธรรมไทยที่ถูกสืบทอดมาช้านาน หลายยุคหลายสมัย แต่มีความยืดหยุ่นที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลง มีระบบภูมิคุ้มกันที่ดี มีความสมเหตุสมผล และเป็นเหตุที่สร้างความสมดุลให้เกิดขึ้น

ในสายธารแห่งอารยธรรมโบราณนั้นอาจกล่าวได้ว่า มีอยู่ 2 สายธารหลัก คือ อารยธรรมการเพาะปลูก ประการหนึ่ง และอารยธรรมการล่าสัตว์ ประการหนึ่ง อารยธรรมทั้ง 2 ธารนั้นมีจุดกำเนิดจากยุคดึกดำบรรพ์ตั้งแต่สมัยที่มนุษย์อาศัยอยู่ในถ้ำหรือที่เรานิยมเรียกว่า ยุคหิน (The Stone Age, 1,000,000 – 4,000 B.C.) เมื่อมนุษย์ยุคหินออกจากถ้ำไปหาอาหาร ตอนเย็นหรือมืดค่ำก็จะกลับมานอนที่ถ้ำ ดังนั้น ปรัชญาเศรษฐกิจของมนุษย์ยุคดึกดำบรรพ์ หรือ กระบวนทรรศน์ยุคดึกดำบรรพ์ (Primitive Paradigm) จึงได้แก่ ความพอมีพอกินในระดับตนเองและครอบครัวเท่านั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเคยมีพระราชดำรัสตรัสถึงความพอเพียงในสมัยหินไว้ว่า

ถ้าพอมีพอกิน คือพอมีพอกินของตัวเองนั้น
ไม่ใช่เศรษฐกิจพอเพียง เป็นเศรษฐกิจสมัยหิน
สมัยหินนั้นเป็นเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนกัน แต่ว่าค่อยๆ พัฒนาขึ้นมา…”

พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
23 ธันวาคม 2542

ต่อมา เมื่อมนุษย์หินส่วนหนึ่งออกจากถ้ำไปหาอาหาร ล่าสัตว์ แต่ไม่กลับถ้ำ คือออกล่าไปเรื่อย ๆ ค่ำไหนนอนนั่นเหมือนกลุ่มคนเร่ร่อน วิถีชีวิตใหม่นี้จึงกำหนดอารยธรรมมนุษย์ให้เป็นอารยธรรมการล่าสัตว์ที่ใช้ชีวิตแบบผาดโผน ผจญภัย แต่ก็ต้องระมัดระวังตัวเพิ่มขึ้นเพราะต้องอยู่กับความเปลี่ยนแปลงที่ไม่แน่นอนตายตัว การดำเนินวิถีชีวิตแบบใหม่ทำให้มนุษย์กลุ่มนี้มีความแข็งแรง มีความฉลาด และมีการจัดระบบการปกครองกลุ่มที่เด็ดขาด เพื่อวางมาตรการป้อมปรามที่จะรักษาชีวิตคนส่วนใหญ่ให้อยู่รอดปลอดภัย ต่างจากมนุษย์ดึกดำบรรพ์ที่อาศัยในถ้ำ ซึ่งเป็นชีวิตที่สงบ เรียบง่ายกว่า มีเวลาในการไตร่ตรอง ทบทวนขั้นตอนในการดำเนินชีวิต จนสามารถสร้างขนบธรรมเนียมประเพณี สามารถสร้างอารยธรรมแห่งการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ขึ้นมาได้ เมื่อปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์จึงจำเป็นต้องอาศัยน้ำและพัฒนาวิทยาการด้านการจัดการน้ำเพื่อคนในชุมชน สามารถมีกิน มีใช้ มีสำรอง และแบ่งปันกันได้ทั้งในยามปกติสุขและในยามที่เกิดวิกฤติ คือสามารถพึ่งพาตนเองได้นั่นเอง ในประวัติศาสตร์ชาติไทยที่เห็นเด่นชัด เช่น มังรายศาสตร์ ที่ว่าด้วยการจัดการน้ำในสมัยพ่อขุนมังราย การจัดการทรัพยากรน้ำของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เพื่อการแก้ปัญหาด้านน้ำใน 3 เรื่องหลัก คือ ปัญหาการขาดแคลนน้ำ ปัญหาน้ำท่วม และปัญหาน้ำเน่าเสีย เป็นต้น

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงทราบในพระทัยดีว่า ประเทศไทยอยู่บนฐานอารยธรรมการเพาะปลูกเป็นหลัก เป็นประเทศเกษตรกรรม เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ มีพื้นที่และสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมแก่การเพาะปลูก มีวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม มีพื้นฐานจิตใจเอื้อเฟื้อแบ่งปัน

“…ในสมัยปัจจุบัน อาชีพเพาะปลูกนี้มีความสำคัญมาก เพราะการเพาะปลูกนี้เป็นจุดเริ่มต้น ของชีวิตมนุษย์
ถ้าเราไม่มีการเพาะปลูก ก็จะไม่มีวัตถุดิบที่จะมาเป็นอาหาร หรือเป็นเครื่องนุ่งห่ม หรือเป็นสิ่งก่อสร้าง ฉะนั้นต้องทำการกสิกรรม…”

พระราชดำรัส
พระราชทานแก่ ผู้นำสหกรณ์การเกษตรและสหกรณ์นิคม
ณ ศาลาดุสิดาลัย เมื่อ 11 พฤษภาคม 2521

ดังนั้น พระองค์จึงให้ความสำคัญกับเกี่ยวกับเรื่องน้ำเป็นอย่างมาก ทรงมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่เกี่ยวกับน้ำมากถึง 3,000 กว่าโครงการ และทรงมีดังพระราชดำรัสที่ตรัสเกี่ยวกับ “น้ำคือชีวิต” ในเชิงข้อเท็จจริงว่า

หลักสำคัญว่า ต้องมีน้ำ น้ำบริโภคและน้ำใช้ น้ำเพื่อการเพราะปลูก
เพราะชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำ คนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้
ไม่มีไฟฟ้า คนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้…”

พระราชดำรัสพระราชทาน
ณ พระราชตำหนักจิตรลดารโหฐาน
เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ 2539

พระราชดำรัสนี้ชี้ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่ว่า น้ำมีความสำคัญต่อความอยู่รอดของชีวิตทั้งพืช สัตว์ และมนุษย์ เพราะน้ำเป็นองค์ประกอบสำคัญของสิ่งมีชีวิต ถ้าขาดน้ำ ชีวิตก็ไม่สามารถดำรงให้อยู่รอดได้