ความพอเพียง คือ การสำรวจตนเองเพื่อเดินไปข้างหน้า ไม่ใช่ทำให้ล้าหลัง เมื่อเรารู้ว่าศักยภาพของเราที่จะเดินไปข้างหน้า สามารถเดินไปได้แค่ไหน ส่วนที่มันเกินความต้องการของเรา เราสามารถเอาไปแบ่งปันแจกจ่าย ทำได้หลายอย่าง หลายจุดยืน หลายพื้นที่
ดังนั้น นวัตกรรมที่เป็นไปเพื่อการแบ่งปันและดูแล (sharing & caring) จึงควรเริ่มต้นจากการเริ่มสำรวจตนเองอย่างลึกซึ้งบนพื้นฐานปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เราอาจเริ่มต้นจากการสำรวจพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของเราที่ดำเนินไปตามทัศนคติ ค่านิยม วิถีชีวิต การจับจ่ายใช้สอยในแต่ละวัน ในแต่ละเดือน สังเกตดูรายรับรายจ่ายที่เกิดขึ้นบนความต้องการของเราว่ามันยังขาดหรือเกิน หรือพอดี เราสามารถลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ในเส้นทางใดบ้าง คือ สำรวจความเป็นไปได้ในทุก ๆ ทางที่โอกาสเอื้ออำนวย
สังเกตดูความรู้ ความสามารถ ความชื่นชอบ สมรรถนะของตนเอง ที่จะสามารถดึงมาใช้เพื่อการพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด สังเกตถึงพฤติกรรมที่เป็นไปเพื่อการสร้างพื้นที่แห่งโอกาสในชีวิตต่อเพื่อน ๆ คนรอบข้าง บริษัท หน่วยงานราชการ สถานที่ฝึกงาน หางาน ช่องทางต่าง ๆ ที่สามารถเข้าถึงงานที่ตรงกับความรู้ความสามารถที่เรามี สังเกตความสัมพันธ์ระหว่างเวลากับพฤติกรรมในแต่ละวัน เพื่อให้รู้ว่าเราหมดเวลาไปกับเรื่องใดมากที่สุด เรื่องเหล่านั้นสามารถสร้างรายได้ สามารถสร้างช่องทางการติดต่อหรือสร้างสัมพันธภาพที่เกื้อกูลแก่ตนเองและผู้อื่นในลักษณะใด สามารถสร้างองค์ความรู้ ภูมิปัญญา ให้แก่เราได้ในลักษณะใดที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตซึ่งอาจไม่เกี่ยวกับรายได้โดยตรง แต่พื้นที่ ณ จุดนั้นอาจทำให้เกิดรายได้โดยอ้อมได้ และอาจพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดรายได้ร่วมกันในลักษณะเครือข่ายอย่างใดอย่างหนึ่ง
การสำรวจพฤติกรรมที่มีต่อตนเอง ผู้อื่น และสิ่งแวดล้อมรอบตัว เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อการสร้างนวัตกรรมขึ้นมาได้ โดยอาศัยปัญหาพื้นฐานหรืออุปสรรคที่เกิดขึ้นเป็นประเด็นทางความคิดเพื่อการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน สังเกตดูว่า ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นแก่ตนเองนั้น เป็นปัญหาเดียวกันที่คนทั่วไปประสบอยู่หรือไม่ ถ้าใช่ นั่นหมายถึงเราได้พบแผนที่ขุมทรัพย์สำหรับนำมาขบคิดด้วยความมีสติรู้ตัวเพื่อให้เห็นแนวทางของการลงมือปฏิบัติเพื่อทดสอบความคิดว่าสามารถเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด เมื่อเราไม่ใช่เกษตรกร เราอาศัยอยู่ในตัวเมือง โจทย์ของเราต่อความพอเพียงที่เกิดขึ้นย่อมไม่เหมือนเกษตรกร เราไม่สามารถเลียนแบบวิถีชีวิตเกษตรกรมาใช้ในเมืองได้อย่างแนบสนิท เพราะบริบทนั้นต่างกัน เราจำเป็นต้องย้อนกลับมาสำรวจตนเองใหม่ในวิถีชีวิตที่เราดำเนินอยู่นี้ให้เกิดความเหมาะสมและสมดุลระหว่างความต้องการกับรายได้ที่เรามี “เป็นการบริหารทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้เพียงพอต่อความต้องการที่มีอยู่อย่างไม่จำกัด”
เราสามารถคิดได้ตั้งแต่จุดเล็ก ๆ คือ ความพอเพียงในระดับพึ่งตนเองได้ จนไปถึงระดับมหาชน แต่หากเรามองไปที่ความตั้งมั่นในพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 จะเห็นได้ชัดว่า ในยุคของพระองค์ท่านคิดถึงความพอเพียงของคนไทยทั้งชาติ ไม่ใช่เฉพาะของพระองค์หรือพระบรมวงศานุวงศ์เท่านั้น เมื่อภาพพิมพ์เขียวปรากฏชัดขึ้นในใจก็นำไปสู่การทรงงานที่อาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพราะงานในระดับประเทศชาตินั้นไม่อาจสำเร็จได้ด้วยคน ๆ เดียว พระองค์จึงเน้นหลักความร่วมมือ กระจายความสุขให้ทั่วทุกพื้นที่ ด้วยความรู้รักสามัคคี จนสามารถชนะความอดอยากหิวโหยของคนทั้งชาติได้สำเร็จ โดยมี 4 พันกว่าโครงการเป็นสักขีพยาน
เมื่อพูดถึงการพัฒนานวัตกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตบนพื้นฐานของความพอเพียง คำถามสำคัญในทางปรัชญาต่อเรื่องนี้ก็คือ คิดเพื่อใคร? คำตอบอยู่ท้ายพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยาม” ประโยชน์ที่กล่าวถึงในพระปฐมบรมราชโองการนี้เมื่อตีความตามกรอบปรัชญาหลังนวยุคสายกลาง (moderate postmodern) ก็คือ ประโยชน์ในเชิงคุณค่า ได้แก่ คุณค่าที่เกิดจากการพัฒนาคุณภาพชีวิต ไม่ใช่ประโยชน์ในทางวัตถุ ชื่อเสียง อำนาจ เกียรติยศ สรรเสริญ ในส่วนความสุขก็เช่นกัน ไม่ใช่ความสุขแบบรตินิยมที่เน้นความสุขจากการเสพด้วยผัสสะภายนอก แต่ละเลยความสุขทางปัญญาและทางจิตใจที่ประกอบด้วยความรักความเมตตา ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเคยมีพระราชดำรัส ตอนหนึ่งว่า “…ทำงานกับฉัน ฉันไม่มีอะไรจะให้ นอกจากการมี ความสุขร่วมกัน ในการทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น…” ความสุขดังกล่าวนี้วางอยู่บนรากฐานของความพอเพียง เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงตรัสถึงความพอเพียงในฐานะพระราชา ทรงหมายถึงความพอเพียงของคนทั้งประเทศ ไม่ใช่ของพระองค์แต่เพียงผู้เดียว ไม่ใช่เฉพาะคนใดคนหนึ่ง หรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ความสุขที่เกิดขึ้นเป็นความสุขใจที่เกิดจากการช่วยให้คนอื่นได้พึ่งพาตนเองย่อมเป็นความสุขแท้ในใจที่เกิดจากความเมตตา ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และเป็นการทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมด้วยจิตอาสาก็เป็นคุณภาพชีวิตอย่างหนึ่งเช่นกัน ผลร่วมของการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่สำคัญคือ เมื่อทุก ๆ คนสามารถพึ่งตนเองได้ ประเทศชาติย่อมไม่ต้องแบกภาระของการช่วยบรรเทาทุกข์ ปัญหาความยากจน ยากไร้ หากแต่รัฐจะมีหน้าที่ในการส่งเสริมประชาชนให้มีโอกาสในการทำมาหากินที่ดีต่อไป พระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า “…การช่วยเหลือสนับสนุนประชาชนในการประกอบอาชีพและตั้งตัวให้มีความพอกินพอใช้ก่อนอื่น เป็นสิ่งสำคัญยิ่งยวดเพราะผู้มีอาชีพ และฐานะเพียงพอที่จะพึ่งพาตนเองได้ ย่อมสามารถสร้างความเจริญในระดับสูงขั้นต่อไป…”
ดังนั้น ผู้ที่ต้องการสร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยอาศัยแรงบัลดาลใจจากหลักการทรงงานจึงต้องคิดนวัตกรรมบนพื้นฐานของประโยชน์สุขส่วนรวมเป็นที่ตั้ง เพราะในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านคิดสิ่งใดออกมาล้วนแต่คิดเพื่อประชาชนของพระองค์ คิดเพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์ ผู้คิดนวัตกรรมที่ใช้หลักคิดของท่านจึงควรคิดเพื่อได้นวัตกรรมอันเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชน คิดเพื่อให้เกิดการยอมรับในภาพกว้าง สามารถเป็นนวัตกรรมที่สร้างสรรค์ มีความยั่งยืน แม้กระทั่งตัวนวัตกรรมทางความคิดหรือตัววิธีคิดเองก็ทำให้เกิดนวัตกรรมในตัวมันเองอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งสำคัญคือเป้าหมายต้องเป็นไปเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนส่วนรวม
นวัตกรรมที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงสร้างขึ้น อาทิเช่น
(1) เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุดซ้ำแบบทุ่นลอย(กังหันน้ำชัยพัฒนา)
(2) การใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องยนต์ดีเซล (น้ำมันไบโอดีเซล)
(3) กระบวนการปรับปรุงสภาพดินเปรี้ยวเพื่อให้เหมาะแก่การเพาะปลูก (โครงการแกล้งดิน)
(4) ระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำด้วยรางพืชร่วมกับเครื่องกลเติมอากาศ
(5) เครื่องกลเติมอากาศแบบอัดอากาศและดูดน้ำ
(6) อุปกรณ์ควบคุมการผลักดันของเหลว (ร่วมกับ มูลนิธิโครงการหลวง)
(7) การดัดแปรสภาพอากาศเพื่อให้เกิดฝน เป็นสิ่งประดิษฐ์ชื่อ “ฝนหลวง”
(8) เครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์
(9) โครงสร้างเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์
(10) ภาชนะรองรับของเสียที่ขับออกจากร่างกาย
(11) การใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์เป็นน้ำมันหล่อลื่นสำหรับเครื่องยนต์ 2 จังหวะ
(12) โครงสร้างเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์และชุดสำเร็จเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์ว่า “อุทกพลวัต” (กังหันผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานน้ำไหล) ฯลฯ