ลักษณะประจำชาติ

ความพอเพียงบนฐานอารยธรรมไทย (ตอนที่ 2)

นอกจากเรื่องน้ำแล้ว พระองค์ยังทรงให้ความสำคัญกับเรื่องดินเพื่อให้เกษตรกรรมเกิดความอุดมสมบูรณ์ให้มากที่สุด เช่น โครงการแกล้งดิน โครงการเพื่อแก้ปัญหาดินเปรี้ยว ดินด่าง ดินเค็ม ดินแร้นแค้น เป็นต้น โดยฟื้นฟูดินที่เสื่อมโทรมเหล่านี้ให้กลายเป็นดินที่อุดมสมบูรณ์

อนึ่ง แม้ว่าผลผลิตบางอย่างอาจไม่ทัดเทียมเท่ากับประเทศอื่นแต่ก็ต้องผลิตเพื่อรักษาดุลยภาพความพอเพียงให้เกิดขึ้นกับคนไทยทั้งชาติ ดังพระราชดำรัสที่ทรงตรัสว่า

“…ข้าวต้องปลูก เพราะอีก 20 ปี ประชากรอาจจะ 80 ล้านคน
ข้าวจะไม่พอ ถ้าลดการปลูกข้าวไปเรื่อย ๆ ข้าวจะไม่พอ
เราจะต้องซื้อข้าวจากต่างประเทศ เรื่องอะไร ประชาชนคนไทยไม่ยอม
คนไทยนี้ต้องมีข้าว แม้ข้าวที่ปลูกในเมืองไทยจะสู้ข้าวที่ปลูกในต่างประเทศไม่ได้ เราก็ต้องปลูก..”

 พระราชดำรัส
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรโครงการพระราชดำริ
ที่บ้านโคกกูแว จ.นราธิวาส วันที่ 28 กันยายน 2536

อย่างไรก็ตาม ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะเรื่องปลูกข้าว ปลูกผัก ปลูกหญ้า ดังที่หลายคนเข้าใจกัน แต่เป็นปรัชญาที่ช่วยรักษาสมดุล เป็นทางสายกลางที่ช่วยให้รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก แต่การที่ทรงเน้นเรื่องเกษตรกรรมเป็นหลัก นั่นก็เพราะพื้นฐานอารยธรรมของไทยเป็นอารยธรรมการเพาะปลูก แต่ก็ไม่ทรงละเลยให้เกิดการเติบโตทางอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจ เพียงแต่ชี้แนะให้เห็นแนวทางของการพัฒนาอันเกิดจาก “การระเบิดจากภายใน” เพื่อให้เกิดอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของแต่ละพื้นที่ และเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ไม่ว่าจะเป็นความคิดหรือความเชื่อพื้นฐาน, เชื้อชาติ-ชนเผ่า, ขนบธรรมเนียม ประเพณี ศาสนา, วิถีชีวิตและการเลี้ยงชีพ, นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีพื้นบ้าน, ระบบเศรษฐกิจชุมชน, ระบบเศรษฐกิจครัวเรือน ตลอดถึงระบบอุตสาหกรรมที่จะรับผลผลิตจากชุมชนมาแปรรูป โดยเน้นการบริหารทรัพยากรชุมชนอย่างรู้เท่าทัน สร้างภูมิคุ้มกันเพื่อไม่ให้ประชาชนส่วนใหญ่ถูกเอารัดเอาเปรียบ พระองค์ทรงส่งเสริมให้เกิดการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในรูปแบบของวิสาหกิจชุมชน ส่งเสริมระบบสหกรณ์ ส่งเสริมเรื่องธนาคารข้าว ส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายกิน ใช้ สำรอง แบ่งปัน เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ในภาคธุรกิจก็จะเกิดธุรกิจแบบแบ่งปันขึ้นมา คือ รับผิดชอบและคืนกำไรให้กับสังคม เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

“เวลานึกถึงทำไมมีข้าวมาก ราคาข้าวก็ตก ก็น่าจะเป็นการดีที่มีข้าวมาก พวกเราที่บริโภคข้าวก็จะได้ซื้อข้าวในราคาถูก แต่หารู้ไม่ว่าข้าวที่บริโภคทุกวันนี้ ราคาก็ยังแพงเป็นที่เดือดร้อนแก่ประชาชนทั่วไป ก็ต้องหาเหตุผล ทำไมแพง ข้าวที่บริโภคแพง และข้าวที่ชาวนาขายถูก… เข้าไปหากลุ่มชาวนา ถามเขาว่าเป็นอย่างไร เขาบอกว่าแย่ ข้าวราคาถูก ก็ถามเขาว่า ยุ้งฉางมีหรือเปล่าที่จะเก็บข้าว เขาบอกว่ามี ก็เลยเห็นว่าควรที่จะเก็บข้าวเอาไว้ก่อน หลังจากที่ข้าวล้นตลาด แต่ว่าไม่ทันนึกดูว่า ทำไมเขาเก็บข้าวไม่ได้ แม้จะมียุ้งฉาง ก็เพราะเขาติดหนี้ เหตุที่ติดหนี้ก็คือ เสื้อผ้าเหล่านั้นหรือกะปิ น้ำปลา หรือแม้กระทั่งข้าวสารก็ต้องบริโภค ถ้าไม่ได้ไปซื้อที่ตลาด หรือร่วมกันซื้อ ก็คงเป็นพ่อค้า หรือผู้ที่ซื้อข้าวเป็นผู้นำมา อันนี้ก็เป็นจุดที่ทำให้ข้าวถูก… อันนี้เป็นปัญหาสำคัญถ้าจะแก้ปัญหานี้ ต้องแก้ด้วยการรวมกลุ่มเป็นกลุ่มผู้บริโภคเหมือนกัน แล้วก็ไปติดต่อกับกลุ่มผู้ผลิต โดยที่ไปตกลงกันและอาจจะต้องตั้ง หรือไปตกลงกับโรงสีให้แน่ จะได้ไม่ต้องผ่านหลายมือ ถ้าทุกคนที่บริโภคข้าวตั้งตัวเป็นกลุ่ม แล้วก็ไปซื้อข้าวเปลือก แล้วไปพยายามสีเองหรือให้ผู้แทนของตัวสี ก็ผ่านมือเพียงผู้ที่ผลิต ผู้ที่สี และผู้ที่บริโภค ก็ตัดปัญหาอันนี้ (คนกลาง) ลงไป”

พระราชดำรัส
ในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนินไปทรงดนตรี
ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เมื่อวัน เสาร์ 6 มีนาคม พ.ศ. 2514