ลักษณะประจำชาติ

เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญามนุษยนิยมแบบไทย (ตอนที่ 1)

เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญามนุษยนิยม เพราะเป็นปรัชญาที่ให้ความสำคัญกับคนหรือมนุษย์มากที่สุด พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมุ่งเน้นเรื่องการพัฒนามนุษย์ ดังพระราชดำรัสว่า “ระเบิดจากข้างใน” ดังนั้น การพัฒนามนุษย์จึงเป็นหัวใจสำคัญในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

 

“…การช่วยเหลือสนับสนุนประชาชนในการประกอบอาชีพและตั้งตัวให้มีความพอกินพอใช้ ก่อนอื่นเป็นสิ่งสำคัญยิ่งยวดเพราะผู้มีอาชีพ และฐานะเพียงพอที่จะพึ่งพาตนเองได้ ย่อมสามารถสร้างความเจริญในระดับสูงขั้นต่อไป…”

พระบรมราโชวาท

ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

วันศุกร์ ที่ 19 กรกฎาคม 2517

 

แม้ว่าการพัฒนาชุมชนด้วยตัวของคนในชุมชนเองจะเป็นส่วนหนึ่งในเรื่องของการระเบิดจากข้างใน ที่ช่วยสร้างคุณภาพชีวิตทางด้านเศรษฐกิจและการงานอาชีพ แต่จุดเริ่มต้นต้องเกิดจากการพึ่งตนเองในเชิงปัจเจก ซึ่งเป็นหลักมนุษยนิยมที่ให้ความสำคัญกับปัจเจกบุคคลในฐานะเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ ความคิด สติปัญญา เป็นพื้นฐานในการพัฒนาและสนับสนุนทางด้านอื่นๆ ต่อไป

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า มิติการพัฒนาต้องเริ่มต้นจาก “การพึ่งตนเอง” โดยรู้จักประมาณตนและดำเนินการด้วยความรอบคอบระมัดระวัง และ “ทำตามลำดับขั้น” โดยต้องสร้างพื้นฐานความเป็นอยู่ของประชาชนและครอบครัวให้พอมี พอกิน พอใช้ก่อน แล้วจึงพัฒนาต่อไปเป็นการแลกเปลี่ยน การรวมกลุ่มช่วยเหลือพึ่งพากันและร่วมกันพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง สามารถพึ่งตนเองได้แล้วจึงพัฒนาเครือข่ายเชื่อมกับสังคมภายนอก เพื่อความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนต่อไป

การเน้นเรื่องความพอเพียงในระดับปัจเจกชนแล้วพัฒนาขยายออกไปตามลำดับขั้นเช่นนี้ ในทางตะวันตก นักมนุษยนิยม ชื่อ มาสโลว์ (Maslow) ได้เสนอเอาไว้ในทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ (Maslow’s Hierarchy of Needs) ประกอบด้วย

  1. ความต้องการพื้นฐานทางด้านกายภาพ (Physiological Needs)
  2. ความต้องการความมั่นคงปลอดภัย (Safety Needs)
  3. ความต้องการความรักและสังคม (Belonging and Love Needs)
  4. ความต้องการการได้รับการยกย่องนับถือในตนเอง (Esteem Needs)
  5. ความต้องการพัฒนาศักยภาพของตน (Self-actualization)

เมื่อพิจารณาเศรษฐกิจพอเพียงในฐานะที่ส่งเสริมมนุษยนิยม กลับพบว่า มีข้อแตกต่างกันระหว่างปรัชญามนุษยนิยมตะวันตกกับปรัชญามนุษยนิยมแบบไทยบนพื้นฐานปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เนื่องจากหลักการ แนวคิด ทฤษฎีมนุษยนิยมสมัยใหม่ของทางตะวันตกนั้นวางอยู่บนพื้นฐานปรัชญาสสารนิยม แต่ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมีความทวินิยมที่ให้ความสำคัญทั้งในด้านกายภาพและจิตวิญญาณ โดยเฉพาะในระดับจิตวิญญาณนั้นเป็นการหลุดพ้นจากความเป็นทาสแห่งอคติ ตัณหา อารมณ์ เป็นการดำรงตนด้วยความไม่ประมาทด้วยสติปัญญา

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ให้ความสำคัญกับเรื่องของ “ความต้องการ” ที่เกิดขึ้นเพื่อ การบริหารทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้เพียงพอต่อความต้องการของมนุษย์ที่มีอยู่อย่างไม่จำกัด

ความต้องการของมนุษย์ที่มีอยู่อย่างไม่จำกัดนี้ คือ ความต้องการชนิดที่เรียกว่า “ไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักพอ” ในทางพุทธศาสนา เรียกความต้องการชนิดนี้ว่า “ตัณหา”

โดยธรรมชาติของสัญชาตญาณสัตว์นั้น มีการรับรู้และตอบสนองเป็นพื้นฐาน สิ่งใดที่พอใจก็จะกอบโกยหรือดึงดูดเข้าหาตัว สิ่งใดที่สร้างความไม่พอ ทำให้รู้สึกเจ็บปวดก็จะผลักดันออกไปจากวิถีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้หรือการหลบหนีด้วยความกลัว แต่มนุษย์มีมากกว่านั้น กล่าวคือ มนุษย์สามารถคิดได้ เพราะมนุษย์มีสมองจึงมีศักยภาพในการคิด และการที่มนุษย์คิดได้นี้เอง มนุษย์จึงได้เปรียบสัตว์อื่นโดยทั่วไป แม้แต่เรื่องของการกอบโกยสิ่งที่พอใจหรือผลักดันสิ่งที่เจ็บปวดหรือไม่ต้องการออกจากชีวิต มนุษย์จะมีวิธีการ มีแผนการที่แยบยลกว่าสัตว์ มีความซับซ้อนซ่อนเงื่อน และไวต่อการตัดสินใจ บ่อยครั้งที่มนุษย์ไม่เท่าทันความคิดของตัวเอง มนุษย์คิดเพื่อตอบสนองความอยากด้วยความไม่รู้สึกตัว จึงดำรงตนอยู่ในหนทางแห่งความประมาท ขาดสติปัญญาในการดำรงชีวิต เมื่อความคิดของมนุษย์เป็นทาสของตัณหาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน จึงหลงอยู่กับอคติ ได้แก่ หลงไปกับความพอใจ เมื่อไม่พอใจก็โกรธ หงุดหงิด อาฆาต เมื่อเกิดความอยากได้ดั่งใจ จิตใจอีกด้านหนึ่งก็เกิดความกลัวว่าจะไม่ได้ดั่งใจ อาการเช่นนี้ไม่สามารถแก้ได้ด้วยความคิด แต่ต้องหยุดคิดเสียก่อน เพื่อให้จิตสงบ มีปัญญาพร้อมพิจารณาถึงความต้องการภายในที่ผลักดันให้เกิดความคิด สิ่งนี้คือสมรรถภาพทางปัญญา หรือ Soft Skill ที่เป็นทักษะสำคัญในการทำให้จิตใจเป็นกลางหรือสามารถดำรงตนอยู่ในหลักคุณธรรมได้อย่างมั่นคง เป็นทักษะที่ต้องอาศัยการฝึกฝนจนคล่องแคล่ว