ลักษณะประจำชาติ

เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญามนุษยนิยมแบบไทย (ตอนที่ 2)

“หลักของคุณธรรม คือ การคิดด้วยจิตใจที่เป็นกลาง

ก่อนจะพูดจะทำสิ่งไร จำเป็นต้องหยุดคิดเสียก่อน

เพื่อรวบรวมสติให้ตั้งมั่น และให้จิตสว่างแจ่มใส

ซึ่งเมื่อฝึกหัดจนคุ้นเคยชำนาญแล้ว จะกระทำได้คล่องแคล่ว

ช่วยให้สามารถแสดงความรู้ ความคิด ในเรื่องต่าง ๆ

ให้ผู้ฟังเข้าใจได้ง่าย ได้ชัด ไม่ผิดทั้งหลักวิชาทั้งหลักคุณธรรม”

 

พระบรมราโชวาท

ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วันศุกร์ที่ 10 กรกฎาคม 2535

 

เมื่อพิจารณาเทียบเคียงกับความต้องการตามลำดับขั้นของมาสโลว์ ทักษะการคิดด้วยใจที่เป็นกลางนี้ดูเหมือนจะคล้ายกับ ความต้องการขั้นที่ 5 คือ การพัฒนาศักยภาพของตน แต่สิ่งที่แตกต่างคือ ความต้องการขั้นที่ 5 ของมาสโลว์นั้นเกิดขึ้นจากการได้รับการตอบสนองความสำเร็จสูงสุด ส่วนการทำใจให้เป็นกลางนั้น เป็นเรื่องของการหลุดพ้นจากความสำเร็จและความล้มเหลว จากความอยากหรือไม่อยาก จากอารมณ์และอคติที่ปรุงแต่ง สภาพจิตที่บริสุทธิ์ สว่างแจ่มใส มีผลช่วยให้คุณภาพจิตใจตื่นรู้และเบิกบาน มีความสุขอยู่ในปัจจุบันได้อย่างมั่นคง

เมื่อกล่าวถึงความพอเพียงในระดับบุคคล กลับพบว่า ความพอเพียงของแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน หรือไม่เหมือนกัน หากจะเปรียบเทียบกันเพื่อชี้ผิดชี้ถูกย่อมสามารถทำได้ยาก เพราะจุดของความพอเพียงนั้นมาจากความสมดุลทั้งภายนอกและภายใน ซึ่งแต่ละคนล้วนอยู่ในสภาวะแวดล้อมและบริบทที่ต่างกันออกไป

ยกตัวอย่างเช่น ความพอเพียงของนาย ก. อาจไม่เท่านาย ข. นั่นเพราะนาย ก. มีลูกที่ต้องดูแลถึง 5 คน ในขณะที่นาย ข. เป็นโสด หรือบางครั้ง นาย ก. อาจเป็นคนทุพลภาพหรือมีโรคประจำตัวที่ต้องหาหมออยู่เป็นประจำ ในขณะที่นาย ข. เป็นคนมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง เป็นต้น

 

เมื่อความพอเพียงในระดับปัจเจกบุคคลมีความแตกต่างกันไป สิ่งสำคัญจึงได้แก่ การสำรวจความพอเพียงของตนเอง โดยปราศจากอคติ (ด้วยใจเป็นกลาง) หมายความว่า ให้พิจารณาตามความเป็นจริงว่าถึงแม้มนุษย์จะมีความต้องการไม่เท่ากัน แต่ก็สามารถแบ่งความต้องการออกเป็น 2 ส่วนได้ คือ ความต้องการที่จำเป็นส่วนหนึ่ง และความต้องการที่เกิดจากความอยากอีกส่วนหนึ่ง

ความต้องการที่จำเป็น = Need

ส่วนความต้องการที่ไม่จำเป็น = Want

โดยหลักการทั่วไป เราต้องให้ความสำคัญกับ Need มากกว่า Want เสมอ

คือให้ความสำคัญกับสิ่งจำเป็น มากกว่าความอยากนั่นเอง

การแยกความจำเป็นออกจากความอยากนี้ จำเป็นต้องมีสติปัญญาแยกแยะ เพราะหากขาดสติช่วยประคับประคองก็มักหลงหรือไหลไปตามอารมณ์แห่งความอยากนั้น

ตลอด 70 ปีที่ทรงงาน ทุกครั้งที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงลงพื้นที่เยี่ยมเยียน ดูแลทุกข์สุขของชาวบ้าน คำถามที่ติดปากของพระองค์คือ “อยากได้อะไรที่สุด” อาจเพราะทรงเห็นว่า ไม่มีใครรู้ความต้องการของตนดีไปกว่าเจ้าตัว หมู่บ้านนี้พื้นที่ขาดแคลนอะไร ทุกคนย่อมรู้ดีแก่ใจ แต่ความคิดนี้ก็เปลี่ยนไป เมื่อครั้งที่พระองค์ทรงขับรถไปยังพื้นที่ต่างๆ ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในปี พ.ศ. 2495 รถเกิดไปติดหล่มเข้าที่บ้านห้วยคต ชาวบ้านก็ต้องมาช่วยกันเข็นจนสุดท้ายก็ขึ้นมาได้ ที่นั่น ในหลวงทรงถามชาวบ้านคนหนึ่ง ชื่อลุงรวย ว่าคนที่นี่มีอะไรให้ช่วยบ้างไหม? ลุงรวยก็บอกว่า อยากได้ถนน เพราะถนนไม่ดี ทำให้ชาวบ้านที่นี่ต้องใช้เวลาเป็นวันกว่าจะขนส่งเอาผักไปขายที่ตลาดได้ แม้ตัวตลาดจะไม่ไกลจากหมู่บ้านก็ตาม หลายครั้ง ผักก็เน่าเสียกลางทาง พระองค์จึงให้ตำรวจตระเวนชายแดนมาสร้างถนนให้หมู่บ้านแห่งนี้ใช้ พระราชทานนามให้ว่า ถนนห้วยมงคล ผลปรากฏว่า สามารถย่นระยะเวลาเดินทางของคนที่นี่ให้เหลือเพียงแค่ 20 นาทีเท่านั้น เปลี่ยนหมู่บ้านยากจนแห่งนี้ให้กลายเป็นหมู่บ้านที่เจริญที่สุดในหัวหิน ภายในเวลาเพียงไม่นาน แต่แล้วเรื่องราวก็กลับตาลปัตร เมื่อหลังจากวันนั้นก็มีนายทุนเข้าไปกว้านซื้อที่ดินในบริเวณนั้น ทำให้ชาวบ้านหลายคนตัดสินใจขายที่ดิน เปลี่ยนอาชีพ จากเกษตรกร ไปเป็นลูกจ้าง บางคนก็ออกจากพื้นที่ไป หรือบางคนก็อพยพเข้าไปอยู่ในป่าที่ลึกกว่าเดิม ทำให้พื้นที่ป่าต้นน้ำปราณบุรีถูกบุกรุก กลายเป็นผลเสียต่อส่วนรวมมากกว่าเดิม ถนนที่สร้างขึ้นเพื่อช่วยชาวบ้านกลับทำให้ชาวบ้านลำบากกว่าเดิม แถมยังส่งผลกระทบต่อเรื่องอื่นๆ อีกมาก นั่นทำให้ในหลวงรู้ว่า บางครั้ง สิ่งที่ชาวบ้านอยากได้ อาจไม่ใช่สิ่งจำเป็นจริงๆ สำหรับชีวิตของชาวบ้านก็ได้ เรื่องนี้ทำให้เกิดการย้อนคิด ไตร่ตรอง เพื่อตระหนักดูว่า สิ่งเราต้องการมันคือสิ่งที่เราจำเป็นต้องมีจริงๆ หรือเปล่า?

Need กับ Want ถ้าลองแยกแยะดูดีๆ เราจะพบว่า ในชีวิตเราจะมีสิ่งที่เราจำเป็นต้องมีกับสิ่งที่เราอยากหรือต้องการ หรือ Need กับ Want แบ่งเป็นกลุ่มของสิ่งต่างๆ ได้ 4 กลุ่ม

  1. สิ่งที่เราจำเป็นต้องมี และเราก็ต้องการ
  2. สิ่งที่เราไม่จำเป็นต้องมี แต่เราต้องการ
  3. สิ่งที่เราจำเป็นต้องมี แต่เราไม่ต้องการ
  4. สิ่งที่เราไม่จำเป็นต้องมี และเราก็ไม่ต้องการ

ตามทฤษฎีแล้ว เราต้องมองหาสิ่งที่จำเป็นต้องมีก่อนแล้วจึงค่อยมองหาสิ่งที่ต้องการ ด้วยความจำเป็นที่ต่างกัน ซึ่งสิ่งที่จำเป็นต้องมีในชีวิตของแต่ละคนก็ต่างกันไปตามปัจจัยในชีวิตที่ไม่เหมือนกัน แต่ความยากของหลักการนี้คือเรามักจะสับสนระหว่างความต้องการกับความจำเป็นต้องมี หลายครั้งที่เรานึกไปว่า สิ่งที่เราต้องการคือของที่จำเป็น แต่ความจริงกลับตรงข้าม เมื่อในหลวงทรงเห็นว่า สิ่งที่จำเป็นต้องมีนั้นมักไม่สัมพันธ์กับสิ่งที่ชาวบ้านต้องการ พระองค์จึงพยายามแสดงให้ประชาชนเห็นความต่างระหว่างสองสิ่งนี้

อย่างเช่นครั้งหนึ่งที่พระองค์เสด็จไปหมู่บ้านกะเหรี่ยงที่ป่าละอู ชาวบ้านที่นี่เลี้ยงชีพด้วยการทำไร่เลื่อนลอย ถางป่า ไร้หลักแหล่งไปเรื่อย ครั้นถามก็ได้ความว่าที่ชาวบ้านไม่ทำไร่ทำนาบนที่ดินเดิมเพราะที่ดินเดิมมีหญ้าขึ้นเต็ม ไม่สามารถถางได้ เพราะการจะถางหญ้าได้ จำเป็นต้องมีรถแทรกเตอร์ และพวกเขาก็ไม่มีเงินพอที่จะซื้อรถแทรกเตอร์ ถ้าเจ้าหน้าที่อยากให้พวกชาวบ้านพัฒนามากกว่านี้ก็ต้องหารถแทรกเตอร์มาให้ จะได้ถางหญ้าได้ ในหลวงทรงได้ยินก็ตรัสกลับไปว่า “มันไม่ใช่ว่าเพราะเป็นคนจนหรอกที่ทำให้ถอนหญ้าไม่ได้ เป็นเพราะขี้เกียจมากกว่า” ชาวบ้านฟังก็ได้แต่หัวเราแหะๆ เพราะถ้าถามว่ารถแทรกเตอร์ช่วยถางหญ้าได้ไหม ก็ตอบเลยว่า “ได้” หรือถ้าถามว่ารถแทรกเตอร์ทำให้ถางหญ้าสะดวกไหม ก็ตอบเลยว่า “ใช่” แต่ถ้าถามว่า รถแทรกเตอร์เป็นเครื่องมือเดียวที่ถามหญ้าได้หรือไม่ ก็ตอบได้เลยว่า “ไม่ใช่” ถ้ามีรายได้เพียงพอที่จะซื้อรถแทรกเตอร์ ซื้อไว้ก็สะดวกดี แต่ตัวรถนั้นไม่ใช่สิ่งจำเป็น ชีวิตของชาวบ้านไม่ได้จำเป็นต้องมีรถแทรกเตอร์แต่เพียงแค่ต้องการเท่านั้น

ถ้าอย่างนั้นที่สุดแล้วสิ่งที่เราต้องมีอันดับหนึ่งคืออะไร เมื่อพิจารณาจากโครงการกว่า 4 พันโครงการที่ในหลวงทรงคิดและทำจะพบว่าส่วนใหญ่เกี่ยวกับการหาน้ำ และแก้ปัญหาดินทั้งนั้น โดยมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อให้ประชาชนสามารถเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ได้ เพราะอาหารคือสิ่งจำเป็นพื้นฐานที่คนเราจำเป็นต้องมี ครั้นคนเรามีอาหารไว้บริโภคจนท้องอิ่มแล้วก็จะมีกำลังและความสุขเพียงพอสำหรับต่อยอดไปทำการงานอื่นๆ ได้อีกมาก

ในเมื่อรู้แล้วว่า ปากท้องเป็นของจำเป็น ระดับคอขาดบาดตาย ในหลวงจึงทุ่มสรรพกำลังเพื่อศึกษาเรื่องการผลิตอาหารเป็นหลัก สร้างความมั่นคงทางอาหาร ให้ประชาชนสามารถผลิตอาหารได้ด้วยตนเอง พระองค์ถึงกลับเปลี่ยนสวนจิตรลัดดาที่เป็นบ้านของตัวเองให้กลายเป็นพื้นที่เกษตรขนาดย่อม เพื่อทดลองและวิจัย เพื่อหาว่าวัตถุดิบอะไรคืออาหารที่ชาวบ้านจะสามารถผลิตได้ง่ายและยังมีคุณค่าทางสารอาหารในปริมาณที่พอดี ทรงลงมือปลูกข้าว ปรับปรุงดิน และยังทำบ่อเลี้ยงปลานิลที่ทรงรับมาจากจักรพรรดิอากิฮิโตะแห่งญี่ปุ่น รวมถึงทำฟาร์มโคนม ด้วยเห็นว่าเป็นอาหารที่มีคุณค่า นอกจากนั้นยังทรงวางแผนต่อไปด้วยว่า หากนมโคที่ผลิตมีปริมาณมากจนเกินความต้องการ ก็ยังนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้อีกมาก ทั้งนมผง เนยแข็ง โยเกิร์ต ไปจนถึงนมอัดเม็ดจิตรลดาที่โด่งดังไปถึงต่างประเทศ ครั้นทดลองเรื่องอาหารแล้ว พระองค์ก็ทรงต่อยอดไปถึงการสร้างระบบสังคมที่ดี ด้วยความเชื่อว่า ถ้าคนรู้จักกัน ช่วยเหลือกัน พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เราก็จะสามารถใช้ชีวิตที่มีความสุขได้ ความสุขคือสิ่งที่ในหลวงทรงเน้นย้ำเสมอมาว่าเป็นเป้าหมายสูงสุดของโครงการต่างๆ ที่พระองค์ทำ แล้วความสุขนั้นคืออะไร?

หลายครั้งที่เราต้องการเงินมากๆ ก็เพราะเชื่อว่าเงินจะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ชีวิตเรา ไม่ว่าเรื่องอาหาร เรื่องที่อยู่อาศัย เสื้อผ้า ยารักษาโรค แต่ในความเป็นจริงก็คือ ไม่ใช่คนเราจะสามารถมีเงินเยอะๆ กันได้ทุกคน ดังนั้น หากเราทำงานและอยู่ร่วมกัน ช่วยเหลือกัน ระแวดระวังภัยให้กัน ก็จะก่อให้เกิดความสะดวก นำมาซึ่งความสุข

จะเห็นได้ว่า หลักมนุษยนิยมที่กล่าวถึงความสุขจากความต้องการของมนุษย์ในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั้น มีฐานคุณธรรมในทุกขั้นของความสุขที่เกิดขึ้น มีการไม่เบียดเบียนกันเป็นพื้นฐาน มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน แบ่งปันซึ่งกันและกัน ซึ่งเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ที่ทรงพลัง นั่นก็คือ “ใจที่รู้จักพอ” ของแต่ละคนนั่นเอง