ลักษณะประจำชาติ

เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญามนุษยนิยมแบบไทย (ตอนที่ 3)

หลักคุณธรรมอันแสดงให้เห็นถึงความเป็นปรัชญามนุษยนิยมแบบไทยก็คือ การที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีอัจฉริยภาพในการเลือกเฟ้นคุณธรรมอันเป็นหลักสากลที่ทุกศาสนายอมรับและแม้แต่ผู้ไม่นับถือศาสนาเลยก็ตาม เพราะหลักคุณธรรมดังกล่าวนี้เป็นพื้นฐานของมนุษยธรรมที่ไม่จำเป็นต้องอ้างอิงศาสนา แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นคุณธรรมที่ทุกศาสนาจำเป็นต้องปลูกฝังให้ศาสนิกชนของตนตั้งอยู่บนพื้นฐานของคุณธรรมเหล่านี้ ไม่เช่นนั้นแล้ว กฎศีลธรรมที่ศาสดาตั้งขึ้นหรือในคัมภีร์ศาสนากำหนดไว้ก็ไม่อาจเจริญงอกงามได้ เช่น ข้อแรกที่กล่าวถึงความซื่อสัตย์ จริงใจ หากคนเราขาดความจริงใจเสียแล้ว ศีลธรรมจะมีมากข้อน้อยข้อก็ไม่สามารถรักษาได้สักข้อเพราะขาดความซื่อสัตย์จริงใจ เป็นต้น แม้คนที่ไม่นับถือศาสนาใดเลย หากเขาเป็นคนไม่ซื่อสัตย์จริงใจ ก็ยากที่คนในสังคมจะให้ความยอมรับเชื่อถือหรือเชื่อใจ

คุณธรรม 4 ประการที่ในหลวงทรงเลือกเฟ้นมา ได้แก่ สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ ซึ่งเมื่อมองเผินๆ แล้วจะคิดว่าในหลวงทรงสอนเรื่องฆราวาสธรรม 4 แต่เมื่อนำรากภาษาบาลีของหลักธรรมทั้ง 4 ข้อนี้ไปเทียบกับรากภาษากรีกในคุณธรรมสากล 4 ข้อ ก็ปรากฏว่ามีความตรงกันอย่างน่าอัศจรรย์ พระองค์เลือกใช้คำภาษาไทยเพื่อสื่อคุณธรรมดังกล่าวนี้ จึงกำหนดฐานคุณธรรมในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่ ความซื่อสัตย์สุจริต ความขยันหมั่นเพียร ความอดทน และความเสียสละ

คุณธรรมที่ทุกคนควรจะศึกษาและน้อมนำมาปฏิบัติ มีอยู่สี่ประการ ประการแรก คือการรักษาสัจ ความจริงใจต่อตัวเอง ที่จะประพฤติปฏิบัติ แต่สิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรม ประการที่สอง คือ การรู้จักข่มใจตนเอง ฝึกใจตนเองให้ประพฤติอยู่ในความสัจ ความดีนั้น ประการที่สาม คือ การอดทน อดกลั้น และอดออม ที่จะไม่ประพฤติล่วงความสัจสุจริต ไม่ว่าจะด้วยเหตุประการใด ประการที่สี่ คือ การรู้จักละวางความชั่ว ความทุจริต และรู้จักสละประโยชน์ส่วนน้อยของตนเพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ของบ้านเมืองคุณธรรมสี่ประการนี้ ถ้าแต่ละคนพยายามปลูกฝังและบำรุงให้เจริญงอกงามขึ้นโดยทั่วกันแล้ว จะช่วยให้ประเทศชาติบังเกิดความสุข ความร่มเย็น และมีโอกาสที่จะปรับปรุงพัฒนาให้มั่นคงก้าวหน้าต่อไปได้ดังประสงค์…”

 

พระราชดำรัส

ในพระราชพิธีบวงสรวงสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า

วันที่ 5 เมษายน พุทธศักราช 2525

 

เมื่อนำภาษาบาลีมาเทียบเคียงกับภาษากรีกที่แอริสทอเทิล (Aristotle) ใช้อธิบายหลักคุณธรรมสากล พบว่า มีความตรงกันบนพื้นฐานที่มาจากรากภาษาอารยันเหมือนกัน ดังนี้

 

ภาษาบาลี                                                      ภาษากรีก

สัจจะ                            ตรงกับ                         phronesis
ทมะ                             ตรงกับ                          tharros
ขันติ                             ตรงกับ                         metrispatheia
จาคะ                            ตรงกับ                         dikaiosune

 

สัจจะ (จริงใจ/ซื่อตรงต่อความจริง) ตรงกับ phronesis ได้แก่ ความรอบรู้ ความรู้จริง รอบรู้ในธรรมหรือความจริง ซื่อสัตย์หรือซื่อตรงต่อธรรม เป็นคุณลักษณะของปัญญาที่แยกแยะได้ว่า อะไรคือสิ่งจริง-อะไรสิ่งปรุงแต่งหรือมายา อะไรคือตรงต่อธรรม-อะไรคืออคติ

ทมะ (ข่มใจ/ฝึกฝน) ตรงกับ tharros ได้แก่ ความกล้า กล้าทำตามสิ่งที่เรารู้ สิ่งที่เป็นสัจจะ กล้าเผชิญต่อปัญหา กล้ายอมรับความจริง เป็นคุณลักษณะของการฝึกฝนอบรมตนให้ตั้งอยู่ในธรรมอย่างสม่ำเสมอ ข่มใจไม่ให้หลงใหลไปตามอคติ

ขันติ ตรงกับ metrispatheia ได้แก่ ทางสายกลาง มีขันติครอบคลุมให้อยู่ในความพอดี ไม่ขาดไม่เกิน เป็นลักษณะของการปรับสมดุลด้วยความเข้าใจ ไม่ใช่ลักษณะทนๆ กันไป

จาคะ ตรงกับ dikaiosune ได้แก่ ความชอบธรรม การแบ่งปัน เป็นการให้ความชอบธรรมตามความต้องการโดยธรรมของแต่ละคน

สิ่งที่น่าคิดก็คือ หลักธรรมในพุทธศาสนามีอยู่มากมาย ทำไมในหลวงถึงเลือกเอาฆราวาสธรรม 4 มาเป็นฐานคุณธรรม โดยใช้ภาษาไทยเป็นเครื่องมือสื่อสารแทนภาษาบาลี โดยเฉพาะเมื่อนำคุณธรรมเหล่านี้มาเทียบกันในระดับรากศัพท์ระหว่างภาษาบาลีกับกรีกโบราณก็พบว่ามาจากรากอารยธรรมเดียวกัน คือมีแม่เป็นภาษาอารยันเหมือนกัน และเป็นคุณธรรมสากลที่สามารถยอมรับได้ทุกศาสนา และผู้ที่ไม่นับถือศาสนาก็รับได้ในฐานะหลักมนุษยธรรม เป็นการเชิดชูปรัชญามนุษยธรรม แต่เป็นปรัชญามนุษยนิยมแบบไทยเพราะมีเอกลักษณ์เฉพาะที่มาจากภูมิปัญญาของคนไทย มาจากรากฐานศาสตร์พระราชา ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งนับว่าเป็นปรัชญาไทยโดยแท้