ลักษณะประจำชาติ

เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาปฏิบัตินิยมแบบไทย

โดยทั่วไป ปรัชญาปฏิบัตินิยมในทางตะวันตก นอกจากที่จะให้ความสำคัญกับความรู้ที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงแล้ว ยังให้คุณค่าต่อผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริงอีกด้วย โดยมองว่าวิธีการที่ถูกต้องอาจไม่ได้นำมาซึ่งคำตอบที่ถูกต้องเสมอไป เช่น หลายคนใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์เป็นข้ออ้างเพื่อรับรองความจริง แต่ภายหลังกลับพบว่า ความรู้ กฎ หรือทฤษฎีต่างๆ ที่อ้างวิธีการทางวิทยาศาสตร์นั้นยังมีโอกาสคลาดเคลื่อนเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ความจริงทางวิทยาศาสตร์จึงเป็นเพียงความจริงที่ยอมรับว่าจริงไปก่อนจนกว่าจะมีความจริงชุดใหม่ที่พิสูจน์ได้ว่ามีความสมเหตุสมผลมากกว่ามาแทนที่ ดังนั้น ตำราทางวิทยาศาสตร์จึงมีการอัพเดทอยู่เสมอ ปีต่อปี นั่นก็เพราะข้อมูลมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตามข้อค้นพบใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก

สำหรับปรัชญาปฏิบัตินิยม สิ่งที่ถูกต้องจะต้องนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริง กล่าวคือ สิ่งที่คิดหรือสมมติฐานที่ตั้งไว้จะต้องสามารถนำไปใช้ได้จริงและเกิดผลจึงจะถือว่าเป็นสิ่งที่ควรยอมรับ ในทางปรัชญาตะวันออกก็เช่นกัน ได้มีผู้กล่าววาทะในเชิงปฏิบัตินิยมไว้ว่า “แมวสีไหนไม่สำคัญ ขอให้จับหนูได้เป็นพอ” ซึ่งหมายความว่า วิธีการอย่างไรไม่เกี่ยง ขอให้เกิดผลสำเร็จเป็นประจักษ์ หรือทำให้ประสบความสำเร็จในภารกิจต่างๆ ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี ที่สามารถยอมรับได้

หากนำปรัชญานี้ไปใช้ในการทำสงคราม คงเป็นที่หวาดหวั่นต่อมนุษยชาติเป็นอย่างมาก เพราะหากการรบพุ่งเพื่อการชิงชัยเอาชนะศัตรูเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยงในด้านกลวิธีแล้ว ผู้ที่จะได้รับความเดือดร้อนเสียหายก็คงไม่พ้นประชาชนผู้รับเคราะห์กรรม เช่น การใช้อาวุธเชื้อโรคแพร่ไปในชั้นบรรยากาศหรือแหล่งน้ำ การใช้ยาพิษหรือสารพิษ การใช้ระเบิดปรมาณู ซึ่งเกิดผลเสียเป็นอย่างมากต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม เพียงเพื่อตอบสนองความสำเร็จ อำนาจ และชัยชนะเพียงเท่านั้น

เมื่อเรามองเศรษฐกิจพอเพียงบนฐานปฏิบัตินิยมจะพบว่า แนวทางที่ผู้คนให้ความสนใจก็คือ “การปลูกพืชผักสวนครัวรั้วกินได้” เพื่อลดต้นทุนในการยังชีพและสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารให้สูงขึ้นตามหลักการพึ่งพาตนเอง เนื่องจากแนวทางนี้เห็นผลเร็ว ทดสอบทดลองได้ และมีความเรียบง่ายไม่ซับซ้อน เนื่องจากถูกย่อยกระบวนการมาเป็นลำดับขั้นตอน (How to) ระดับหนึ่งแล้ว แต่ที่สำคัญไม่ได้อยู่ที่วิธีการหรือรูปแบบที่ตายตัว แต่อยู่ที่ผลลัพธ์อันเกิดจากการทดลอง ทดสอบด้วยตนเองจนเป็นที่ประจักษ์ เพราะบริบทพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ของแต่ละสังคมมีความแตกต่างกันไป จึงต้องปรับให้เข้ากับภูมิสังคมนั้นๆ รวมถึงความหลากหลายในสาขาอาชีพ วิถีชีวิตความเป็นอยู่


แผนภาพ
: ปรัชญา หลักการ ทฤษฎี แนวคิด โครงการต่างๆ ในเชิงรูปธรรม

 

ปรัชญาปฏิบัตินิยมแบบไทยบนรากฐานปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนี้ มีความแตกต่างจากหลักปฏิบัตินิยมทั่วไปตรงที่ “การวางใจ” เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ก่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ตนเองและผู้อื่น ดังเช่นในพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” คำว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม” นั้น เป็นเรื่องของการวางใจให้เป็นกลาง ตรงต่อธรรม ตรงต่อสัจจภาวะหรือความจริง ทั้งในมิติของการครองตน ครองคน ครองงาน โดยให้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขส่วนรวมนั่นเอง

ศาสตร์พระราชา อันประกอบด้วย หลักปรัชญา หลักการ ทฤษฎี แนวคิด โครงการต่างๆ ในเชิงรูปธรรม สิ่งเหล่านี้แม้จะถูกรวบรวมอย่างเป็นระบบระเบียบ ถูกต้องตามหลักวิชาการ แต่ก็เกิดขึ้นภายหลังจากการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 กล่าวคือ เป็นการรวบรวมพระราชดำรัส พระกรณียกิจ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตลอดถึงเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริงจากการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแก่ราษฎร จึงถือว่า ศาสตร์พระราชาเกิดขึ้นจาก “ปัญญาปฏิบัติ” ของในหลวงรัชกาลที่ 9 หลักปรัชญาและหลักทรงงานต่างๆ ล้วนแล้วแต่เป็นการถอดบทเรียนออกจากวิถีชีวิตของพระองค์ การจะเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจึงจำเป็นต้องปฏิบัติด้วยความมีสติปัญญา คือสามารถแก้ปัญหาชีวิตได้จริงจากปัญญาปฏิบัตินั่นเอง จึงกล่าวได้ว่า ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ออกมาจากเนื้อในตนของบุคคลที่เป็นคนไทย และทรงเป็นพระมหากษัตริย์ของไทย คือ “ปรัชญาไทย” ที่เป็นแรงบัลดาลใจให้กับคนไทยสำหรับนำไปสืบสาน ต่อยอด ตามกำลังสติปัญญาเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทยสืบไป