ลักษณะประจำชาติ

เศรษฐกิจพอเพียงในฐานะหลักการทรงงาน (ศึกษาอย่างเป็นระบบ)

ในงานวิจัยเรื่อง “หลักคุณภาพในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริกับปรัชญาหลังนวยุค : การศึกษาเชิงวิเคราะห์ วิจักษ์ และวิธาน” ของ ชัยโรจน์ นพเฉลิมโรจน์ (2558) ได้อธิบายขยายความหลักการทรงงานไว้ดังนี้

           1) ศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบ ศึกษาข้อมูลรายละเอียดอย่างเป็นระบบทั้งจากข้อมูลเบื้องต้นจากเอกสาร แผนที่ สอบถามจากเจ้าหน้าที่ นักวิชาการ และราษฎรในพื้นที่ให้ได้รายละเอียดที่ถูกต้องเพื่อที่จะพระราชทานความช่วยเหลือได้อย่างถูกต้อง รวดเร็วตรงตามความต้องการของประชาชน

“ศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบ” เมื่อเกิดปัญหาหรือต้องการจะทำอะไรใหม่ สิ่งที่จะต้องคิดคือเรื่องนี้มีใครเคยทำอะไรไว้บ้าง เพราะเราย่อมไม่ใช่มนุษย์คนแรกของโลกที่คิดเรื่องนี้ได้ เชื่อได้ว่าจะต้องมีคนอื่นคิดหรือทดลองทำมาก่อน การที่เราจะไปลองผิดลองถูกคงเป็นเรื่องล้าสมัยไปเสียหน่อย แต่ความรู้หรือข้อมูลอะไรบ้างที่ควรสืบค้นเอามาให้ได้จากโลกแห่งข้อมูลที่มีอยู่มากแต่ก็กระจัดกระจายในรูปแบบต่างๆ ตำรา หนังสือ ข้อมูลสารสนเทศ ซึ่งเราย่อมแสวงหามาได้ด้วยวิธีการที่ทันสมัยที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ สิ่งสำคัญ จึงเป็นกรอบคิดที่จะต้องวางอย่างเป็นระบบ เริ่มจากปัญหา คือคิดปัญหาให้เป็น (problematization) หากคิดไม่เป็นก็จะหลงทาง คือคิดปัญหาแต่มันไม่ใช่ปัญหา ก็ทำให้เสียเวลาคิด เปลืองสมรรถนะสมองไปโดยไม่ได้อะไรเท่าที่ควร สิ่งแรกคือมองหาสถานภาพของปัญหา ปัญหานั้นมีบริบทอะไร “ใครทำอะไรที่ไหนเมื่อไรอย่างไร” จากนั้นก็ค่อยๆ คิดประเด็นสั้นๆ เพื่อวางกรอบแนวคิด แล้วพิจารณาหาความสัมพันธ์ที่ประเด็นเหล่านี้จะเชื่อมโยงกัน บางประเด็นเชื่อมโยงโดยตรง บางประเด็นเชื่อมโยงผ่านตัวกลาง สมัยนี้เขาฝึกให้เด็กๆ เขียนกัน เรียกว่า mind map เมื่อได้กรอบความคิดแล้ว ก็พิจารณาว่าประเด็นเหล่านี้จะใช้ข้อมูลใด จากแหล่งใด ได้ข้อมูลแล้วเอามาวิเคราะห์ต่ออย่างไร สังเคราะห์ความรู้ให้ตกผลึกเพื่อให้ตรงกับปัญหาอย่างไรในระหว่างที่หา อาจได้คำตอบของปัญหามาโดยไม่รู้ตัว เพราะว่ามีคนอื่นเคยลองทำ ลองแก้ปัญหามาแล้ว เราอาจมองเห็นช่องว่างที่จะทำให้ดีกว่าเพิ่มเติมมาก็ได้ การพยายามแก้ปัญหาหรือสร้างสรรค์งานใหม่โดยทุบทำลาย (ละเลย) บริบทที่มีอยู่เดิม ย่อมทำให้การแก้ปัญหาล่าช้าและเกิดความขัดแย้งโดยง่าย ดังนั้นการศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบ จึงต้องเน้นการศึกษาข้อมูล ในเชิงรายละเอียด อย่างเป็นระบบ ทั้งจากข้อมูลเบื้องต้น จากเอกสาร แผนที่ สอบถามจากเจ้าหน้าที่ นักวิชาการ และประชาชนในพื้นที่ให้ได้รายละเอียดที่ถูกต้อง ข้อมูลที่ได้ตรงกันจากหลายแหล่งย่อมพอจะเชื่อได้ว่าเป็นความจริง (แต่ก็ระวังข้อมูลเท็จที่ต่างก็คิดตรงกันจนดูเหมือนว่าจริง) ข้อมูลนั้นย่อมสามารถสังเคราะห์ใหม่เป็นความรู้ที่นำไปสู่การปฏิบัติเพื่อ แก้ปัญหาหรือกระทำการต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม ถูกต้อง และรวดเร็ว ไม่เสียเวลาเนิ่นนานก่อนที่วิธีแก้ปัญหาเช่นนี้จะลงมือกระทำ ก็ต้องระแวดระวังว่าเมื่อกระทำแล้วจะกระทบ เดือดร้อนแก่คนอื่นๆ หรือไม่ อย่างไร ความคิดระแวดระวังจึงจะทำให้การศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบมีความครบถ้วน และเหมาะสมอย่างแท้จริงในการนำไปใช้เพื่อ การแก้ปัญหาอันเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง ชุมชน สังคม ในระดับต่างๆ