ลักษณะประจำชาติ

เศรษฐกิจพอเพียงในฐานะหลักการทรงงาน (แก้ปัญหาที่จุดเล็ก)

แก้ปัญหาที่จุดเล็ก มองปัญหาในภาพรวม (macro) ก่อนเสมอ แต่การแก้ปัญหาจะเริ่มจากจุดเล็กๆ (micro) คือ การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่คนมักจะมองข้าม

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมองปัญหาในภาพรวม (Macro) ก่อนเสมอ แต่การแก้ไขปัญหาของพระองค์จะเริ่มจากจุดเล็ก ๆ (Micro) คือ การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่คนมักจะมองข้าม ดังพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า “…ถ้าปวดหัวก็คิดอะไรไม่ออกเป็นอย่างนั้นต้องแก้ไขการปวดหัวนี้ก่อน…มันไม่ได้เป็นการแก้อาการจริงแต่ต้องแก้ปวดหัวก่อน เพื่อที่จะให้อยู่ในสภาพที่คิดได้…แบบ (Macro) นี้ เขาจะทำแบบรื้อทั้งหมด ฉันไม่เห็นด้วย…อย่างบ้านคนอยู่ เราบอกบ้านนี้มันผุตรงนั้น ผุตรงนี้ ไม่คุ้มที่จะซ่อม …เอาตกลงรื้อบ้านนี้ ระเบิดเลย เราจะไปอยู่ที่ไหน ไม่มีที่อยู่ …วิธีทำต้องค่อยๆ ทำ จะไประเบิดหมดไม่ได้…”

เมื่อมนุษย์มีความสนใจและใฝ่รู้ เขาจะมองเห็นปัญหา ส่วนคนที่ไม่สนใจใฝ่รู้เขาจะยอมรับในสถานภาพ (status) และมองว่าเรื่องต่างๆ เป็นธรรมดาที่เกิดขึ้น เขาย่อมไม่เห็นปัญหา ดังนั้นผู้ที่มองเห็นปัญหาย่อมต้องเข้าใจสภาพของปัญหาด้วย การจะเข้าใจสถานภาพของปัญหาย่อมต้องเกิดจากการมองปัญหาในภาพรวม (Macro) ก่อนเสมอ

มนุษย์มีปัญญาและการหยั่งรู้ (intuition) ที่จะมองหารูปแบบความสัมพันธ์และสิ่งต่างๆว่ามีความเกี่ยวข้องกันหรือไม่ อย่างไร แล้วจัดเป็นรูปแบบ (pattern/gestalt) เหมือนมองเห็นภาพของตัวต่อ (jigsaw) ทั้งภาพ เมื่อเข้าใจสถานภาพของปัญหาจึงจะคิดเริ่มแก้ไขปัญหา คือการหาคำตอบหลายๆ คำตอบเท่าที่เป็นไปได้ จากนั้นพิจารณาคำตอบว่าสิ่งใดปฏิบัติได้หรือไม่ได้ จึงเลือกสิ่งที่ปฏิบัติได้อย่างง่ายที่สุดเพื่อลงมือปฏิบัติ หากเลือกปฏิบัติสิ่งยากย่อมต้องใช้เวลาและทรัพยากรจำนวนมากเพื่อแก้ปัญหาที่ไม่สำเร็จโดยง่าย ผู้ลงมือแก้ปัญหาอาจหมดกำลังใจไปเสียก่อน

ดังนั้นการเลือกวิธีที่ง่าย ไม่ใช่ทำได้ง่าย แต่เชื่อว่าทำได้และตรงจุดปัญหา การแก้ปัญหาที่จุดเล็กๆ จุดเล็กๆ (Micro) คือ การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่คนมักจะมองข้าม เมื่อปัญหาถูกชี้ให้เห็นและแก้ไข ผลของปัญหาที่ถูกแก้ไขแล้วจะเชื่อมโยงกับภาพรวม จุดนี้แก้ไขแล้ว จุดไหนถูกแก้ไขตามไปด้วย แล้วจุดไหนยังคงเป็นปัญหาอยู่ รวมถึงมีจุดปัญหาจุดใหม่เกิดขึ้นด้วยไหม การมองภาพรวมก็จะทำให้เห็นว่าควรแก้ปัญหาอะไรต่อไปเพื่อให้ปัญหาในภาพรวม นั้นได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบ ปัญหาย่อมไม่มีวันหมดไปเพราะเราสนใจที่จะเห็นปัญหา และมีความสุขในการใช้ปัญญาในการแก้ปัญหา หากมองไม่เห็นปัญหามนุษย์ก็จะยอมรับอยู่กับสถานภาพของปัญหาอีกครั้ง จนถึงจุดที่ไม่อาจทนทานได้ เขาย่อมทุกข์ระทมทั้งกายและใจจากปัญหานั้น และมืดมนหนทางในการคิดแก้ไขปัญหาของเขา ดังนั้นการเห็นปัญหาและการแก้ปัญหาจึงเป็นความสุขอย่างหนึ่งของมนุษย์เช่นกัน