ลักษณะประจำชาติ

เศรษฐกิจพอเพียงในฐานะหลักการทรงงาน (ทำตามลำดับขั้น)

ทำตามลำดับขั้น เริ่มต้นจากสิ่งที่จำเป็นของประชาชนที่สุดก่อน ได้แก่ สาธารณสุข เมื่อมีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงแล้วก็จะสามารถทำประโยชน์ด้านอื่นๆ ต่อไปได้ จากนั้นจะเป็นเรื่องสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและสิ่งจำเป็นในการประกอบอาชีพ อาทิ ถนน แหล่งน้ำเพื่อการเกษตร การอุปโภคบริโภคที่เอื้อประโยชน์ต่อประชาชนโดยไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงการให้ความรู้ทางวิชาการและเทคโนโลยีที่เรียบง่าย เน้นการปรับใช้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ราษฎรสามารถนำไปปฏิบัติได้ และเกิดประโยชน์สูงสุด

การลงมือทำเพื่อให้เกิดผลจริง ถือว่าเป็นการทำตามแนวทางปฏิบัตินิยม (pragmatism) เน้นการลงมือทำได้จริง สิ่งที่ทำได้จริงจึงเป็นสิ่งดี สิ่งปฏิบัติใดๆ ล้วนมีขั้นตอนในการปฏิบัติ มนุษย์จึงต้องวางลำดับขั้นของสิ่งที่จะต้องทำ แล้วค่อยๆ ลงมือทำไปทีละขั้น ระหว่างที่ทำก็พิจารณาผลที่เกิดขึ้นว่าเป็นไปตามที่ควรจะเป็นหรือไม่ ถ้าเป็นไปตามสิ่งที่คาดไว้ ก็ลงมือทำขั้นถัดไป ถ้าไม่เป็นดังที่คาดก็ต้องพิจารณาหาข้อผิดพลาดเพื่อที่จะเรียนรู้และหาทาง แก้ไขโดยอาจมีการปรับขั้นตอนได้

การทำงานอย่างเป็นระบบย่อมเกิดขึ้นได้จากคนที่คิดสิ่งต่างๆ อย่างเป็นระบบ (systemic thinking) ส่วนคนที่จะพิจารณาผลที่เกิดขึ้น (output) ว่าเป็นประสิทธิภาพ หรือผลลัพธ์ (outcome) ว่าเป็นประสิทธิผลย่อมเป็นคนที่คิดทุกอย่างในเชิงระบบที่มีความสัมพันธ์กัน (systematic thinking) กระบวนการคิดได้และได้ความรู้อย่างเป็นระบบนี้ถือว่าเป็น scientific learning เป็นการเรียนรู้เพื่อให้ได้ความรู้ และมองสิ่งที่เกิดขึ้นว่ามีผลต่อสิ่งอื่นในทางดีอย่างไร (impact) เพราะสิ่งที่ทำจะต้องมุ่งไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองให้ดีขึ้น

สำหรับการพัฒนาจึงมุ่งสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตในระดับต่างๆ ของสังคม สำหรับการลงมือพัฒนาประเทศนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพิจารณาถึงปัจจัยพื้นฐานของประชาชน คือการอยู่รอดได้ (survival) นั่นคือ ประชาชนมีสุขภาพที่ดี ไม่เจ็บป่วย ดังนั้นจึงทรงประทานความช่วยเหลือด้านสาธารณสุข

ในสมัยก่อนการแพทย์และการรักษามีค่าใช้จ่ายสูง และไม่ได้จัดให้มีบริการได้ทั่วถึงเช่นในปัจจุบันที่มีระบบสาธารณสุขที่ดีกว่ามาก แนวคิดสำคัญคือมนุษย์ที่มีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงแล้วก็จะมีแรงกายพอที่จะทำ งานต่างๆ และสามารถทำประโยชน์ด้านอื่นๆ ต่อไปได้ การพัฒนาขั้นถัดไปคือการคุณภาพชีวิตที่ดีในการดำรงชีวิตปกติ คือการมีบ้านอยู่อาศัย มีน้ำประปาไว้ใช้ มีไฟฟ้าแสงสว่าง ซึ่งเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานที่รัฐได้มีสัญญาประชาคมไว้ในการจัดให้แก่ ประชาชน ต่อจากนั้นในการประกอบอาชีพ ย่อมต้องการปัจจัยช่วยเหลือ เช่น ทำเกษตรย่อมต้องการน้ำ ต้องการถนนเพื่อขนส่งสินค้าทางการเกษตร หากแต่ในการจัดหาแหล่งน้ำ เช่นการสร้างเขื่อน หรือการทำถนน ย่อมต้องมีการรบกวนหรือจัดการกับธรรมชาติ จึงต้องมีการศึกษา พิจารณาผลในเชิงวิชาการ ในการนี้จะต้องพิจารณาภูมิปัญญาท้องถิ่นรวมไปถึงเทคโนโลยีทางเลือกอื่นที่ เท่าที่เป็นไปได้ เพื่อนำมาร่วมปรับใช้ ที่ราษฎรสามารถนำไปปฏิบัติได้และมุ่งให้เกิดประโยชน์สูงสุด