ลักษณะประจำชาติ

เศรษฐกิจพอเพียงในฐานะหลักการทรงงาน (ภูมิสังคม)

ภูมิสังคม การพัฒนาใดๆ ต้องคำนึงถึงสภาพภูมิประเทศของบริเวณนั้นว่าเป็นอย่างไร และสังคมวิทยาเกี่ยวกับลักษณะนิสัยใจคอของคน ตลอดจนวัฒนธรรมประเพณี ในแต่ละท้องถิ่นที่มีความแตกต่างกัน

“ภูมิสังคม” มีขอบเขตกว้างขวางและมีความหมายอย่างไร มีผู้รู้ให้อรรถาธิบายว่า

ภูมิ หมายความถึง ลักษณะของภูมิประเทศ ซึ่งก็คือสภาพแวดล้อมที่อยู่รอบๆ ตัวเรานั่นเอง พูดแบบชาวบ้านก็คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ นั่นเอง เพราะสภาพภูมิประเทศในแต่ละภูมิภาคนั้น แตกต่างกันไปมาก ตัวอย่างเช่น อุณหภูมิความหนาวร้อน ความแห้งแล้งและชุ่มฉ่ำแตกต่างกันไป อย่างในประเทศไทย ภาคเหนือส่วนใหญ่เป็นภูเขา ทางใต้เป็นพื้นที่พรุ ภาคกลางเป็นที่ราบลุ่ม ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นที่ราบสูงแห้งแล้งในบางส่วน เป็นต้น

สังคม คือ สภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรม จารีตประเพณี วิถีชีวิต แนวคิดทัศนคติ ที่แตกต่างกันและอยู่ล้อมรอบผู้คนที่มีชีวิตอยู่ในพื้นที่นั้น นักวางแผนพัฒนาจะต้องไม่ประเมินหรือคาดการณ์ว่าผู้คนในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งจะมีวัฒนธรรม ค่านิยม และการชอบหรือไม่ชอบสิ่งใดเหมือนกันไปหมดเป็นบรรทัดฐาน เราจะต้องไม่ไปตัดสินใจแทนเขาในเรื่องของความต้องการและความพึงพอใจตามแนวคิดที่ผูกพันอยู่กับเรา

ดังนั้น แนวคิดในการพัฒนาจึงต้องคำนึงถึงหลัก 2 ประการนี้เป็นสำคัญ อย่าได้ไปแปรเปลี่ยนสภาพ ทั้งของผู้คนในพื้นที่และภูมิประเทศตรงนั้นให้เสียไปจากสภาพเดิมเป็นประการสำคัญ

มนุษย์ย่อมเป็นสิ่งอยู่ในโลก (being in the world) เมื่ออยู่ในโลก จึงมีโลกแวดล้อมและมีอิทธิพลต่อความคิด ความเชื่อและการดำรงชีวิต ในอดีตสนใจด้านสังคม การปกครอง ระบบเศรษฐกิจและเทคโนโลยีการผลิต ในปัจจุบันจึงขยายเป็น สังคม เศรษฐกิจ การเมือง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยไม่ลืมที่จะคิดถึงวัฒนธรรม ประเพณี ค่านิยม รวมไปถึงภูมิประเทศและภาวะการข้ามพ้นพรมแดน (beyond frontier) นำไปสู่กระแสโลกาภิวัตน์ที่โถมทับโลกทั้งใบไว้ในกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงและ การยอมรับโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ การพัฒนาจึงมีภาวะไล่ตามกระแสนี้ โดยแบ่งออกเป็น กลุ่มที่ไล่ทัน กลุ่มเรียกร้องให้ช่วย และกลุ่มสร้างเอง ทำให้เกิดภาวะแรงกดดันต่อการพัฒนาประเทศเพื่อให้ได้สังคมคุณภาพที่ดีในระดับ ที่ดีกว่าเดิม การพัฒนาใดๆ ต้องคำนึงถึงสภาพภูมิประเทศของบริเวณนั้นว่าเป็นอย่างไร จะพัฒนาเรื่องใดต้องสนใจกายภาพของสถานที่ ดิน น้ำ อากาศ ทรัพยากรธรรมชาติ ความใกล้เคียงสถานที่อื่น ย่อมเป็นสิ่งที่ต้องสืบค้นให้รู้เพื่อจะได้บริหารจัดการได้เบื้องต้น หากติดขัดต่อปัญหานี้เสียแล้วย่อมทำให้ การมุ่งมั่นพัฒนาสะดุดลง

หลังจากนั้นต้องสนใจสังคมวิทยา จิตวิทยา ประเพณี วัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกันกับลักษณะนิสัยใจคอของคนทั้งในระดับภาพรวมและ ความเป็นท้องถิ่นเพื่อแสวงหาการมีส่วนร่วม (participation) การเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา (engagement) และการมีพันธะที่จะต้องกระทำด้วยใจอย่างจิตอาสา (commitment) การพัฒนาที่ดำเนินการโดยสนใจในผู้อื่น (concerning in the other) ย่อมเป็นการพัฒนาที่ต้องใช้พลังแห่งการสร้างสรรค์ การปรับตัว การร่วมมือและการแสวงหาสิ่งใหม่ที่ดีขึ้นไปกว่าเดิม เพราะผู้อื่นในที่นี้ไม่ใช่เพียงเรื่องของคน แต่ยังรวม คน สัตว์ สิ่งของ ธรรมชาติ และโลกใบนี้ อันเป็นสิ่งที่รายล้อมและบีบกรอบ (enflame) การดำรงชีวิตของมนุษย์ให้มุ่งไปในทิศทางหนึ่งทิศทางใด หากแต่สังคมโลกปัจจุบันมุ่งหวังให้อารยธรรมของมนุษยชาติอยู่ร่วมกันกับโลกอย่างสันติสุข