ลักษณะประจำชาติ

เศรษฐกิจพอเพียงในฐานะหลักการทรงงาน (องค์รวม)

องค์รวม วิธีคิดอย่างองค์รวม (holistic) หรือมองอย่างครบวงจรในการที่จะพระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับโครงการหนึ่งนั้น จะทรงมองเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นและแนวทางแก้ไขอย่างเชื่อมโยง

สิ่งมีปัญญาย่อมใช้วิจารณญาณคิดได้ว่าสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ในโลกนี้ไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยวเป็นเอกเทศ เป็นระบบปิด หากแต่ต่างก็มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันกับสิ่งอื่นในลักษณะใดลักษณะอื่น ทั้งสิ้น หากแต่การคิดอย่างวิทยาศาสตร์ได้จำกัดนิยามไว้บนความคิดระบบปิด เพื่อกันปัจจัยอื่นออกไปจากระบบเสียก่อน จะได้จัดการสิ่งที่อยู่ภายในระบบปิดนั้นได้ตามทฤษฎี ดังนั้นผู้ที่ยึดทฤษฎีหรือยึดตำราล้วนชอบระบบปิด หากแต่เมื่อจัดการสิ่งต่างๆ ในระบบปิด เมื่อระบบเปิดออกสู่ภายนอกในความ เป็นจริง ผลของการจัดการที่มีต่อสิ่งที่อยู่นอกระบบก็จะกลายเป็นสิ่งที่ไม่อาจหยั่ง รู้ได้โดยง่าย ผลอาจดีหรือร้ายก็ได้ กลายเป็นความไม่แน่นอน หลายครั้งที่ทำตามทฤษฎีแล้วแต่ไม่ได้ผลตามที่ทฤษฎีบอกไว้ ก็ได้แต่โทษว่าทฤษฎีไม่ดี โดยไม่ได้เข้าใจว่าทฤษฎีทั้งหลายล้วนตั้งอยู่บนการคิดผ่านระบบปิดนี้เอง แล้วระบบเปิดจะคิดอย่างไร เพราะมีสิ่งที่ต้องคิดได้ว่าเกี่ยวข้องจำนวนมาก หากต้องคิดทั้งหมด ย่อมเป็นไปไม่ได้

วิธีคิดอย่างสำคัญคือการมองทุกสิ่งอย่างภาพจิ๊กซอว์ (jigsaw) คือ เห็นภาพรวม และเห็นแผ่นจิ๊กซอว์ แต่ละแผ่นว่าเชื่อมต่อกันอย่างไร จากนั้นจึงใช้วิธีคิดอย่างองค์รวม (holistic thinking) คือการมองรอยต่อต่างๆ เท่าที่สำคัญ และการเชื่อมโยงโดยมีจิ๊กซอว์ตัวหนึ่งที่เราเลือกแล้วเป็นศูนย์กลาง จากนั้นมองจิ๊กซอว์ตัวที่อยู่รอบข้าง เพื่อที่จะได้คิดอย่างรอบคอบ แต่ไม่จำเป็นต้องมองทุกๆ จิ๊กซอว์ เพราะผลที่เกิดจะไกลเกินไป

ในการทำงานใดๆ ก็เช่นกัน การมองภาพจิ๊กซอว์ย่อมเป็นการมองอย่างครบวงจร คือ คิดตั้งแต่เริ่มจนไปถึงผลลัพธ์ และหยั่งคาดถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นและแนวทางแก้ไขอย่างเชื่อมโยงกัน จากนั้นจึงวางแผนงานได้โดยรัดกุมความรอบคอบรอบด้านเป็นส่วนสำคัญสำหรับการมองอย่างองค์รวมนี้ ซึ่งต้องใช้ความรู้อย่างกว้างขวางและความรู้ ในการลงมือปฏิบัติร่วมด้วย นักทฤษฎีต้องคิดได้อย่างนักปฏิบัติจึงจะทำให้งานดำเนินไปได้ นักปฏิบัติต้องคิดอย่างนักทฤษฎีจึงจะป้องกันข้อผิดพลาดต่างๆ ได้ เช่นนี้ผลของงานย่อมมีแนวโน้มที่จะสำเร็จและเป็นผลดีอย่างแน่นอน