ลักษณะประจำชาติ

ความพอเพียงบนฐานอารยธรรมไทย (ตอนที่ 3)

เมื่อเรามองเห็นแก่นแท้ในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จะพบว่า เป็นปรัชญาที่สร้างความสมดุลเพื่อรักษาคุณค่าแห่งอารยธรรมการเพาะปลูกเอาไว้ไม่ให้ถูกทำลายไปอย่างน่าเสียดาย ในขณะที่อีกมุมหนึ่งก็รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกเฉกเช่นกับอารยธรรมล่าสัตว์ ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง แม้แต่พระองค์เองก็เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมจนได้ชื่อว่า “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” การที่พระองค์ไม่ส่งส่งเสริมการแข่งขันเพื่อชิงชัยความเป็นเสือเศรษฐกิจนั้น เพราะเห็นโทษของระบบเศรษฐกิจที่เน้นการแข่งขันว่าเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมและมีการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้อย่างฟุ่มเฟือย ไม่สามารถสร้างความสุขที่ยั่งยืนได้ ดังที่ทรงตรัสไว้ว่า

การจะเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ
สำคัญอยู่ที่ เรามีเศรษฐกิจแบบพอมี พอกิน
แบบพอมีพอกินนั้น หมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้ให้มีพอเพียงกับตนเอง…”

พระราชดำรัสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2540

พระองค์ทรงเน้นความร่วมมือมากกว่าการแข่งขัน เน้นคุณภาพคือความสุขจากการทำงานมากกว่าเชิงปริมาณอันได้แก่ความสำเร็จของงาน หากงานสำเร็จตามตัวชี้วัดแต่ผู้ปฏิบัติงานไม่มีความสุข ชีวิตก็ขาดคุณภาพ ดังวาทะที่ว่า “ถ้าทำงานไม่มีความสุขเราจะแพ้ แต่ถ้าเรามีความสุขเราจะชนะสนุกกับการทำงาน เพียงเท่านั้นถือว่าเราชนะแล้ว”… “ทำงานกับฉัน ฉันไม่มีอะไรจะให้ นอกจากการมีความสุขร่วมกันในการทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น…”

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่มั่งคั่ง แต่กลับช่วยให้เกิดการทบทวนถึงความสมดุลของเศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืน เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นล้วนเกิดมาจากการลืมตระหนักถึงพื้นฐานของความพอเพียงบนฐานอารยธรรมไทย เมื่อเกิดปัญหาเศรษฐกิจก็คิดแต่จะแก้ปัญหาจากปลายเหตุด้วยการกูหนี้ยืมสินจากต่างประเทศ แต่ขาดการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้ขัดขวางการกู้หนี้ยืมสิน แต่ช่วยให้เกิดการตระหนักถึงระบบภูมิคุ้มกัน ความสมเหตุสมผล ความพอประมาณ ถ้ากู้หนี้ยืมสินมาแล้วแต่ไร้ความสามารถในการบริหารจัดการหนี้ ประเทศไทยนอกจากจะติดหนี้ติดสินต่างชาติแล้ว ยังต้องเสียเกียรติที่ไร้สามารถ ไม่สามารถใช้หนี้คืนเข้าได้ตามข้อตกลงที่กำหนดไว้

การกู้เงินที่นำมาใช้ในสิ่งที่ไม่ทำรายได้นั้นไม่ได้
อันนี้เป็นข้อสำคัญ เพราะว่าถ้ากู้เงินและทำให้มีรายได้ ก็เท่ากับจะใช้หนี้ได้
ไม่ต้องติดหนี้ ไม่ต้องเดือดร้อน ไม่ต้องเสียเกียรติ”

พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
4 ธันวาคม 2540

 

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากจะเป็นหลักปรัชญาบนฐานอารยธรรมไทยที่ช่วยสร้างความสมดุลและสร้างชุมชนให้เข้มแข็งแล้ว ยังชี้ให้เห็นแนวทางของความสุขที่ไม่เป็นหนี้ สามารถบริหารทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้เพียงพอต่อความต้องการที่มีอยู่อย่างไม่จำกัด แยกแยะได้ว่าอะไรคือความต้องการที่จำเป็น (need) หรือไม่จำเป็น (want) อะไรคือสิ่งที่เรียกว่าทรัพย์สินหรือสินทรัพย์ หากกู้หนี้ยืนสินมาเพื่อซื้อ “ทรัพย์สิน” ที่ไม่อาจสร้างกำไรขึ้นมาได้ก็ขึ้นชื่อว่าทำเพื่อตอบสนองความต้องการที่ไม่จำเป็น แต่ละเลยความต้องการที่จำเป็น คือ คุณภาพชีวิตที่ดีและยั่งยืน สิ่งที่ทำรายได้ในทางเศรษฐกิจนั้นคือ สินทรัพย์ ที่ควรบริหารจัดการให้เกิดความประหยัด เรียบง่าย แต่ไม่มักง่าย เพื่อลดต้นทุนให้มากที่สุด “ประหยัดสูง แต่ประโยชน์สุด” คือให้เกิดประโยชน์สุขส่วนรวมให้มากที่สุดนั่นเอง