ลักษณะประจำชาติ

เศรษฐกิจพอเพียงในฐานะหลักการทรงงาน (ไม่ติดตำรา)

ไม่ติดตำรา การพัฒนาตามแนวพระราชดำริ ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีลักษณะของการพัฒนาที่อนุโลม และรอมชอมกับสภาพธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสภาพของสังคมจิตวิทยาแห่งชุมชนคือ “ไม่ติดตำรา” ไม่ผูกมัดติดกับวิชาการและเทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสมกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่แท้จริงของคนไทย

ความรู้เป็นสิ่งสำคัญที่มนุษย์เห็นว่ามีคุณค่าและได้สืบทอดต่อไปในแต่ละรุ่น การบันทึกจึงเกิดขึ้นและถือว่าบันทึกความรู้นั้นเป็นสิ่งมีคุณค่าที่คนรุ่นต่อๆ ไปจะต้องศึกษาเป็นความรู้ของแต่ละคน เมื่อเครือข่ายความรู้วิทยาศาสตร์ก้าวหน้า ความยึดมั่นในวิธีการได้ความรู้อย่างวิทยาศาสตร์ได้เข้ามากำหนดการกระทำซ้ำของความรู้และประเมินความรู้ต่างๆ ว่าได้มาด้วยวิธีการวิทยาศาสตร์หรือไม่ จากนั้นจึงจัดประมวลความรู้ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันขึ้นเป็นวิชา มนุษย์จึงศึกษาความรู้ในลักษณะของวิชา

ในปัจจุบันมีวิชาจำนวนมากและมีวิชาเกิดใหม่อยู่เสมอ ความมากที่เกินกว่าจะคาดคิดของความรู้ที่ได้พัฒนาในช่วงระยะเวลาไม่กี่ร้อย ปีนี่ของมนุษย์ได้ทำให้มนุษย์รู้สึกเคว้งคว้างที่จะคิดเลือกสรรความรู้ใดมา ใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต หลักยึดหนึ่งคือเชื่อในตำรา ตำรา คือ สิ่งที่ผู้รู้ได้ประมวลและกำหนดแนวทางการใช้ความรู้มาแล้วอย่างถูกต้อง เมื่อเชื่อเช่นนี้และยึดในตำรา จึงทำให้มนุษย์มีความมั่นใจในการกระทำสิ่งต่างๆ ตามตำรา เมื่อมีความถูกต้องก็เชื่อได้ว่าตนเองได้ทำตามตำราอย่างดี หากมีความคลาดเคลื่อนหรือผิดพลาดก็อ้างได้ว่าตนเองได้ทำตามตำราแล้ว ดังนั้นจึงมีความมั่นใจในการกระทำต่างๆ ของตน เนื่องจากมีกรอบความคิดตามความรู้ในตำรากำกับอยู่และพร้อมเป็นผู้รับผิดแทน ตนได้เป็นอย่างดี

หากแต่ในการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีลักษณะของการพัฒนาที่อนุโลม และรอมชอมกับสภาพธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสภาพของสังคมจิตวิทยาแห่งชุมชน คือ “ไม่ติดตำรา” ไม่ผูกมัดติดกับวิชาการและเทคโนโลยี ที่ไม่เหมาะสมกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่แท้จริงของคนไทย

การไม่ยึดตำราเป็นการเปิดกว้างต่อการคิดเพราะมนุษย์มีสมรรถนะคิดและมี ศักยภาพคิดที่ไม่มีที่สิ้นสุด ตำรากลับสถาปนาตนเองเป็นกรอบบัลลังก์ที่มนุษย์จะต้องคิดตามและห้ามละเมิด ซึ่งจะทำลายศักยภาพคิดเชิงสร้างสรรค์ของมนุษย์ลงไปเสีย ดังนั้นมนุษย์ผู้มีปัญญาจึงต้องออกนอกกรอบ ไม่ยึดตำราแต่ไม่ละทิ้งตำรา คือ รู้ความรู้ในตำรา แต่เปิดใจให้กว้างต่อความเป็นจริงของปัญหา ใช้วิจารณญาณคิดวิเคราะห์ จำแนกส่วนดี ส่วนไม่ดีของความรู้ในตำราต่างๆ และสภาพแวดล้อมของธรรมชาติ ผู้คน ชุมชน วัฒนธรรม ประเพณี กฎหมาย เพื่อให้ได้ความคิด ที่เป็นสิ่งสร้างสรรค์ใหม่ (innovation) ที่เป็นทางเลือกปฏิบัติอย่างมีปัญญาในการนำไปใช้แก้ปัญหา เมื่อเกิดปัญหาก็ไม่โทษว่าหรือเอาตำราใดๆ มารับผิด หากแต่ใช้สมรรถนะคิดหาหนทางในการปรับตัวเพื่อรับมือกับปัญหา ลดผลเสียที่เกิดขึ้น ใช้การร่วมมือเข้ามาช่วยให้สามารถฝ่าฟันกับปัญหาต่อไป แล้วแสวงหาความรู้ ความคิดเห็น คำแนะนำต่างๆ มาใช้คิดด้วยศักยภาพของปัญญามนุษย์จะทำให้ได้พบคำตอบของปัญหาได้ การพัฒนาจึงมีการลงมือปฏิบัติด้วยปัญญาที่มีลักษณะของความยืดหยุ่น ไหลลื่นและสอดคล้องไปกับวิถีทาง ในการบรรลุเป้าหมายของการพัฒนา คือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนเพื่อความผาสุกของประเทศชาติ