ลักษณะประจำชาติ

เศรษฐกิจพอเพียงในฐานะหลักการทรงงาน (ประหยัด เรียบง่าย ได้ประโยชน์สูงสุด)

ประหยัด เรียบง่าย ได้ประโยชน์สูงสุด ขณะเดียวกันการพัฒนาและช่วยเหลือราษฎร ทรงใช้หลักในการแก้ไขปัญหาด้วยความเรียบง่ายและประหยัด ราษฎรสามารถทำได้เอง หาได้ในท้องถิ่นและประยุกต์ใช้สิ่งที่มีอยู่ในภูมิภาคนั้นๆ มาแก้ไขปัญหาโดยไม่ต้องลงทุนสูงหรือใช้เทคโนโลยีที่ไม่ยุ่งยากนัก

ในการลงมือทำสิ่งต่างๆ ในทางเศรษฐศาสตร์จะมองหาสิ่งสำคัญ สิ่งแรก คือ ทุน ภาษาอังกฤษคือ capital มาจากภาษาลาติน capitalis แปลว่า เกี่ยวกับหัว คือ ทำอะไร ถ้าไม่มีหัว ไม่ใช้หัว ย่อมไม่สำเร็จลงได้ ดังนั้นในการแก้ไขปัญหานอกจากใช้หัวคิด คือ ใช้สมรรถนะปัญญาแล้ว ย่อมต้องคิดอย่างรอบคอบถึงทุนที่จะใช้ด้วย คิดได้มาก แต่ต้องใช้ทุนมาก ทุนในที่นี้ อาจคิดอย่างเสรีนิยมหรือคิดอย่างมาร์กก็ได้ คือ มนุษย์ เงิน วัตถุดิน เครื่องจักร จะต้องใช้เท่าไร ใช้อย่างไร ถ้าใช้มากจะเอามาจากไหน ถ้าใช้น้อยทำได้หรือไม่ ถ้าได้ ทำแล้วดีหรือไม่ มีประสิทธิภาพพอหรือไม่ ทำซ้ำได้หรือไม่ การคิดอย่างรอบคอบด้วยสมรรถนะคิดจึงเป็นสิ่งจำเป็น การพินิจพิเคราะห์ในปัจจัยอย่างครบถ้วน รอบด้านจะทำให้มนุษย์หยั่งคิดได้ว่าควรทำอะไร แค่ไหน และผลที่คาดหวังว่าจะได้เป็นอย่างไร อยู่ในระดับที่พอรับได้ไหม หากมุ่งประสิทธิภาพสูงสุดย่อมต้องลงทุนสูงด้วย แต่สิ่งที่ลงทุนสูงสุดอาจไม่ได้ให้ประสิทธิภาพสูงสุดได้ ดังนั้นจะต้องชั่งน้ำหนักของทุนกับผลที่ได้รับ และประสิทธิภาพนั้นจะต้องส่งเสริมการทำซ้ำ หากไม่อาจทำซ้ำได้ย่อมไม่ถือว่ามีประสิทธิภาพ ดังนั้นวิธีการที่เกิดขึ้นในการใช้ทุนและการทำงานจึงต้องไม่ยุ่งยาก

สำหรับการพัฒนาในระดับต่างๆ แล้วควรมองถึงมนุษย์ ว่ามีจำนวนเท่าใด มีความรู้แค่ไหน เขาสามารถทำอะไรได้ หรือมีภูมิปัญญาใดที่เคยทำ มีความคุ้นเคย หากสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จะยิ่งดีเพราะภูมิปัญญาจะคัดสรรวัสดุอุปกรณ์ที่มีในท้องถิ่นมาทำ มาสร้างสิ่งต่างๆ อย่างเหมาะสม ตามความเป็นไปได้อยู่แล้ว ดังนั้นจึงควรพิจารณาอย่างรอบด้าน ประหยัด เรียบง่ายนี้จึงไม่ใช่ให้ทำน้อย หรือทำง่ายๆ แต่ให้คิดและเลือกทำสิ่งที่มีประสิทธิภาพสูงและได้ผลอย่างที่คาดหวัง อาจทัดเทียมกับการใช้เครื่องจักรหรือเทคโนโลยีสูงๆ ได้

มนุษย์ยึดติดว่าถ้าใช้เทคโนโลยีแล้วจะได้ผลลัพธ์ที่ดีอย่างแน่นอน ซึ่งความเชื่อนี้ไม่แน่นอนที่สุด เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับมนุษย์ผู้ใช้เทคโนโลยีเอง ดังนั้นแม้มีเทคโนโลยีสูงแต่ใช้ไม่เป็นย่อมไม่ต่างกับการไม่มี ผู้มีปัญญาแห่งการพัฒนาไปข้างหน้าย่อมคัดสรรสิ่งที่ทำได้ง่ายและได้ผลดีเป็นอันดับแรก และผู้ที่ทำตามย่อมได้คิดและพัฒนาปัญญา ความรู้ของเขาให้ตามทันวิธีการซึ่งจะทำให้เขาได้พัฒนาคุณภาพชีวิตในระดับการสร้างปัญญาได้อีกด้วย