ลักษณะประจำชาติ

เศรษฐกิจพอเพียงในฐานะหลักการทรงงาน (พออยู่พอกิน)

พออยู่พอกิน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานความช่วยเหลือเมื่อราษฎรประสบความทุกข์ยาก โดยจะทรงช่วยให้ผ่านความทุกข์ยากนั้นไป จากนั้นจึงจะส่งเสริมให้พสกนิกรมีความกินดีอยู่ดี มีชีวิตอยู่ในขั้น “พออยู่พอกิน” ก่อน อันเป็นระดับคุณภาพชีวิตของการพึ่งตนเองได้ คือไม่ขาด จากนั้นจึงขยับขยายแนวทางการส่งเสริมในด้านต่างๆ เพื่อให้ประชาชนมีศักยภาพเพิ่มขึ้น เช่น การให้การศึกษา อบรม ฝึกทักษะฝีมือ ทั้งหมดนั้นก็เพื่อการเพิ่มขีดสมรรถนะที่จะก้าวหน้าต่อไปในการพัฒนานั้น

“…คนอื่นจะว่าอย่างไรก็ช่างเขา จะว่าเมืองไทยล้าสมัย ว่าเมืองไทยเชย ว่าเมืองไทยไม่มีสิ่งที่สมัยใหม่ แต่เราอยู่พอมีพอกิน และขอให้ทุกคนมีความปรารถนาที่จะให้เมืองไทยพออยู่พอกิน มีความสงบ และทำงานตั้งจิตอธิษฐาน ตั้งปณิธาน ในทางที่จะให้เมืองไทยอยู่แบบพออยู่พอกิน ไม่ใช่ว่าจะรุ่งเรืองอย่างยอด แต่ว่ามีความพออยู่พอกิน มีความสงบ เปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ถ้าเรารักษาความพออยู่พอกินนี้ได้ เราก็จะยอดยิ่งยวด…ที่สุดก็คือประโยชน์ร่วมกัน คือ ความพอมีพอกิน พออยู่ ปลอดภัยของประเทศชาติ…”

 

พระราชดำรัส

เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย

วันพุธ ที่ 4 ธันวาคม 2517

 

หากมองในภาพรวมของประเทศเพียงแค่ระดับพออยู่พอกินก็มิใช่งานเล็กน้อย ประชาชนจำนวนมากยังอยู่ในสภาวะ ขาดแคลน เขาอาจมีอาชีพ แต่ไม่พอสำหรับตนเองและครอบครัว บางชุมชนในเมือง ต่างจังหวัดหรือแม้แต่บนพื้นที่สูง เพียงการมีกินไปในแต่ละวันยังเป็นความยากลำบาก

ดังนั้น ต้องวิเคราะห์เสียก่อนว่าปัญหาไม่ได้เกิดจากการเกียจคร้าน แต่เพราะขาดโอกาสในการทำมาหากิน จึงต้องสร้างอาชีพ สร้างงาน จากนั้นจึงคิดต่อว่าผลผลิตที่ได้จะเอาไปใช้หรือเอาไปขายที่ไหน งานเช่นนี้ไม่ใช่คิดแค่เฉพาะหน้า แต่ต้องใช้ความคิดและกำลังของคนทั้งชาติจึงจะบรรลุ

ที่ผ่านมาผลสำเร็จด้วยพระปรีชาญาณในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรที่ทรงตั้งโครงการหลวง และการพัฒนาแหล่งจำหน่ายผ่านร้านค้าโครงการหลวงซึ่งจัดจำหน่ายสินค้าคุณภาพดี มีประโยชน์แก่ประชาชน ในท้องถิ่นและขยายการจัดจำหน่ายไปสู่ท้องถิ่นอื่นๆ อย่างมีประสิทธิภาพ จึงทำให้คนทั้งหลายได้ประจักษ์ว่าแนวพระราชดำริในพระองค์นั้น “เรียบง่าย ปฏิบัติได้ผล” เป็นที่ยอมรับโดยทั่วกัน ดังพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า “…ถ้าโครงการดี ในไม่ช้าประชาชนก็ได้กำไร จะได้ผล ราษฎรจะอยู่ดีกินดีขึ้น จะได้ประโยชน์ไป…” ดังนั้น การพออยู่พอกินจึงเป็นระดับการค้ำประกัน อย่างสำคัญของการพึ่งตนเองได้ และเป็นขั้นสำคัญในการก้าวไปข้างหน้าของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนต่อไป