ลักษณะประจำชาติ

เศรษฐกิจพอเพียงในฐานะหลักการทรงงาน (เศรษฐกิจพอเพียง)

เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาที่ชี้ถึงแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ดังนั้นจึงเป็นปรัชญาจริยะที่ต้องนำไปประยุกต์ใช้ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศ โดยมีหลักการคือการให้ดำเนินไปในทางสายกลาง นั่นคือไม่สุดโต่งไปด้านหนึ่งด้านใด แต่ดำเนินไปบนความเหมาะสม โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ที่บีบกรอบโลกเอาไว้ให้ได้รับผลสะท้อนร่วมกัน ตัวอย่างเช่น เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ โลกก็จะได้ร่วมใช้พร้อมๆ กัน หากเกิดปัญหาในประเทศใด ประเทศอื่นๆ ก็จะได้รับผลกระทบไม่ทางตรงก็ทางอ้อมด้วยเหมือนกัน

เศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่ มีความพอประมาณ คือ ทำเท่าที่จำเป็น ความมีเหตุผล คือ การแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่ทำนั้นความจำเป็นที่จะต้องมี หากไม่มีจะเกิดความเสี่ยงใด และการมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน นั่นคือพร้อมตั้งรับ ต่อปัญหาที่ไม่คาดคิดได้ โดยจะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบและความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ คือไม่เอามาใช้อย่างตรงๆ แต่ต้องรู้จักประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมอย่างเป็นสหวิทยาการ หรืออย่างน้อยก็บูรณาการร่วมในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันด้วยความเป็นปรัชญาจริยะจึงเน้นที่จะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ เพราะถือเป็นแนวหน้าในการพัฒนาประเทศ ให้เขาได้มีสำนึกในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสมในด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่จะเข้ามากระทำการดำเนินชีวิต

ดังนั้น ต้องใช้ความอดทน ความเพียร การมีสติปัญญาและความรอบคอบเพื่อให้ตัดสินใจดำเนินการต่างด้วยโดยเน้นสมดุล และเตรียมพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกอยู่เสมอ