วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี พลังงานและสิ่งแวดล้อม

องค์ประกอบที่สำคัญในการคิดนวัตกรรม บนพื้นฐานของหลักการทรงงาน (ตอนที่ 3)

การศึกษาอย่างเป็นระบบ

การศึกษาอย่างเป็นระบบ เป็นหลักการทรงงานข้อแรกในหลักการทรงงาน 23 ข้อ ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระราชทาน ได้แก่ ระบบคิดตามทฤษฎี SAPAE ดังที่ได้อธิบายมาแล้วข้างต้น แต่จะไม่เอามากล่าวซ้ำในหัวข้อนี้

โดยทั่วไปการศึกษาอย่างเป็นระบบนั้น มีผู้เสนอไว้มากมายหลายระบบ เรียกว่า ทฤษฎีระบบ ซึ่งมีทั้งในทางปรัชญา เศรษฐศาสตร์ การบริหาร ฯลฯ

ผู้เขียนขอยกตัวอย่างทฤษฎีระบบที่มีผลต่อการคิดของมนุษย์ที่สามารถจัดเรียงสิ่งที่ไม่เป็นระเบียบให้เป็นระบบได้ ดังนี้

1. การคิดเชิงวิภาษวิธี เป็นกระบวนการคิดพื้นฐานทางปรัชญาที่สามารถสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นได้ รูปแบบการคิดเชิงวิภาษวิธีแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่ บทตั้ง บทแย้ง และบทสรุป

แผนภาพ : วิภาษวิธี 3 ขั้นตอน

 

การคิดเชิงวิภาษวิธีสามารถทำให้เกิดการระเบิดจากข้างในได้ด้วยกระบวนการคิดดังนี้

บทตั้ง (thesis) เปรียบได้กับ “สิ่งเก่า” ที่มีอยู่แล้ว

บทแย้ง (anti- thesis) เปรียบได้กับ “ข้อคำถาม” หรือ “ปัญหา” ที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการคิดทบทวนเพื่อต่อยอดสิ่งที่มีอยู่แล้วให้ดีกว่าเดิม

บทสรุป (synthesis) เปรียบได้กับ “คำตอบ” หรือ “ข้อสรุป” ที่ได้จากการสังเคราะห์และต่อยอด ซึ่งก็คือ “นวัตกรรม” นั่นเอง

 

  1. การคิดเชิงระบบ

วิธีคิดเชิงระบบประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วน คือ (1) structure (2) pattern และ (3) event

เมื่อใช้วิธีคิดเชิงระบบ (system thinking) มาสรุปรากฐานความคิดจากหลักการทรงงาน จะสามารถแบ่งส่วนสำคัญของหลักการทรงงานออกเป็น 3 ส่วน

รากฐานความคิดจากหลักการทรงงาน

 

ส่วนแรก คือ ส่วนที่เป็นฐานคิด (root of idea) หรือโครงสร้าง (structure) ได้แก่ ประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยาม

ส่วนที่สอง คือ ส่วนที่เป็นรูปแบบหรือหลักการ (pattern or principle) ได้แก่ หลักการทรงงาน 23 ข้อ

ส่วนที่สาม คือ ส่วนที่เป็นโครงการหรือกิจกรรมต่างๆ (project or event) ได้แก่ 4 พันกว่าโครงการในพระราชดำริของพระองค์ท่านตลอดการครองแผ่นดินโดยธรรม

 

ส่วนแรก : ฐานคิดหรือโครงสร้าง (root of idea or structure) มาจากท่อนสุดท้ายของพระปฐมบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ความว่า “เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

คำว่า “ประโยชน์สุข” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึง ผลประโยชน์ในเชิงอำนาจ เกียรติยศ ชื่อเสียง การมีบ้านหลังใหญ่ๆ มีรถหรูๆ ขับ แต่หมายถึง ประโยชน์สุขอันเกิดจากการพัฒนาคุณภาพชีวิตและจิตใจ ส่วนผลประโยชน์ทางด้านวัตถุนั้นเป็นเพียงผลพลอยได้ เป็นเพียงเครื่องอำนวยความสะดวก แต่คุณภาพชีวิตเป็นสิ่งที่สำคัญกว่า พระองค์ท่านทรงปูพื้นฐานจากสิ่งที่จำเป็นให้มีอย่างพอเพียงเสียก่อน คือถ้าขาดก็หาวิธีเติมให้เกิดความพอเพียง เช่น ในที่ทุรกันดาร น้ำดื่มน้ำใช้เป็นสิ่งที่จำเป็นมากกว่าไฟฟ้า พระองค์ก็จะช่วยให้ประชาชนในที่ทุรกันดารมีน้ำดื่มน้ำใช้เสียก่อน ดังพระราชดำรัสที่ทรงตรัส ณ สวนจิตรลดา เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2529 ความตอนหนึ่งว่า “หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้…” นอกจากพระองค์ท่านจะพระราชทานทรัพย์สินส่วนพระองค์เพื่อช่วยราษฎรที่ประสบภัยหรือความทุกข์ยากอยู่เนืองๆ แล้ว สิ่งที่ทรงเน้นมากที่สุดคือการสอนให้คนได้เรียนรู้เพื่อจะยืนหยัดช่วยตนเองได้ ดังพระราชดำรัสที่เคยพระราชทานเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2541 ความว่า “เราไม่ควรให้ปลาแก่เขา แต่ควรให้เบ็ดตกปลา และสอนให้รู้วิธีตกปลาจะดีกว่า” พระองค์ทรงเน้นการพึ่งตนเองมาก มิได้ทรงคิดเพียงพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง แต่ทรงคิดเพื่อประชาชนทั้งชาติ ดังเช่น เรื่องการปลูกข้าว ทรงมีพระกระแสดำรัสในปี พ.ศ. 2536 ความว่า “…ข้าวต้องปลูก เพราะอีก 20 ปีประชากรอาจจะ 80 ล้านคน ข้าวจะไม่พอ ถ้าลดการปลูกข้าวไปเรื่อยๆ ข้าวจะไม่พอ เราจะต้องซื้อข้าวจากต่างประเทศ เรื่องอะไร ประชาชนคนไทยไม่ยอม คนไทยนี้ต้องมีข้าว แม้ข้าวที่ปลูกในเมืองไทยจะสู้ข้าวที่ปลูกในต่างประเทศไม่ได้ เราก็ต้องปลูก” นอกจากทรงเน้นให้ประชาชนสามารถพึ่งตนเองได้แล้ว เมื่อประชาชนมีความเป็นอยู่พอเพียงไม่ยากไร้เป็นพื้นฐาน ก็สนับสนุนให้ศึกษาเล่าเรียน หรือศึกษางานที่ทำอยู่เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ขยับขยายงานที่ทำให้กว้างขวางออกไปเรื่อยๆ จนสามารถส่งออกหรือทำการค้าระหว่างประเทศได้ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ควบคู่ไปกับการมีสติปัญญาและคุณธรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนส่วนรวม โดยมีประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยามเป็นที่ตั้ง ความสุขที่เกิดจากการพอเพียง สามารถแบ่งปันและดูแลกันและกันนั้นไม่ใช่แค่เฉพาะคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ผู้เขียนเชื่อว่า พระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ 9 ทรงปรารถนาให้พวกเราชาวไทยรวมใจกันด้วยความรู้รักสามัคคีเพื่อแบ่งปันและดูแลคนทั้งชาติ และถ้าเผื่อแผ่ไปสู่ระดับนานาชาติได้ด้วยก็ยิ่งดี ประเทศไทยก็จะกลายเป็นครัวโลก เป็นเครื่องแสดงน้ำใจของคนไทยให้ประจักษ์แก่นานาชาติในเชิงอารยธรรม

ในวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 ผู้เขียนรู้สึกตื่นเต้น ดีใจ และปลาบปลื้มมากขณะที่ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการพระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย ความว่า เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป เพราะเป็นเครื่องยืนยันที่มาจากการตั้งพระราชหฤทัยสานต่อพระปฐมบรมราชโองการของในหลวง รัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงหลั่งทักษิโณทก ทรงตั้งพระราชสัตยาธิษฐาน จะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ปกครองราชอาณาจักรไทย โดยทศพิธราชธรรม ก็ยิ่งตอกย้ำว่า พระองค์ท่านเห็นประโยชน์ของประชาชนเป็นหลักเฉกเช่นเดียวกับพระราชบิดา ซึ่งคนที่ได้ประโยชน์นั้นก็คือพสกนิกรชาวไทยทั่วประเทศ

กล่าวโดยสรุปก็คือ การคิดนวัตกรรมใดๆ รากฐานความคิดจากหลักการทรงงานนั้น สิ่งสำคัญอยู่ที่คิดเพื่อใคร คำตอบอยู่ในท่อนสุดท้ายของพระปฐมบรมราชโองการ คือ “เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ประโยชน์ได้แก่การพัฒนาคุณภาพชีวิต ตั้งแต่การพึ่งตนเองได้ มีความเป็นอยู่พอเพียง มีการพัฒนาชุมชน พัฒนาภูมิปัญญา พัฒนาสินค้าและบริการ เพิ่มรายได้ มีส่วนร่วมสามัคคีกัน และพัฒนาให้ต่อเนื่องด้วยสติปัญญาเพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สามารถพัฒนาประเทศชาติ สร้างประโยชน์สุขให้กับสังคมไทยสืบต่อไป

ส่วนที่สอง : รูปแบบหรือหลักการ (pattern or principle) ได้แก่ หลักการทรงงาน 23 ข้อ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้ทรงประกอบพระกรณียกิจนานัปการด้วยหลักการทรงงานที่ทรงคิดค้นขึ้นเองจากพระราชดำริ ซึ่งมีทั้งหมด 23 ข้อ ดังนี้ 1) ศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบ 2) ระเบิดจากข้างใน 3) แก้ปัญหาที่จุดเล็ก 4) ทำตามลำดับขั้น 5) ภูมิสังคม 6) องค์รวม 7) ไม่ยึดติดตำรา 8) ประหยัด เรียบง่าย ได้ประโยชน์สูงสุด 9) ทำให้ง่าย 10) การมีส่วนร่วม 11) ประโยชน์ส่วนรวม 12) บริการรวมที่จุดเดียว 13) ใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ 14) ใช้อธรรมปราบอธรรม 15) ปลูกป่าในใจคน 16) ขาดทุนคือกำไร 17) การพึ่งตนเอง 18) พออยู่พอกิน 19) เศรษฐกิจพอเพียง 20) ความซื่อสัตย์ สุจริต จริงใจต่อกัน 21) ทำงานอย่างมีความสุข 22) ความเพียร และ 23) รู้ รัก สามัคคี

ส่วนที่สาม : โครงการหรือกิจกรรม (project or event) ได้แก่ โครงการในพระราชดำริตั้งแต่ปี พ.ศ. 2495 ถึง 2559 มีทั้งสิ้น 4,685 โครงการ แบ่งออกเป็น 8 ประเภท ดังนี้

1) ด้านแหล่งน้ำ 3,204 โครงการ (ภาคเหนือสูงสุด 1,233 โครงการ)

2) ด้านเกษตร 169 โครงการ (ภาคกลางสูงสุด 51 โครงการ)

3) ด้านสิ่งแวดล้อม 62 โครงการ (ภาคเหนือสูงสุด 62 โครงการ)

4) ด้านส่งเสริมอาชีพ 341 โครงการ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือสูงสุด 122 โครงการ)

5) ด้านสาธารณสุข 57 โครงการ (ภาคกลางสูงสุด 16 โครงการ)

6) ด้านคมนาคมสื่อสาร 86 โครงการ (ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้สูงสุด 22 โครงการ)

7) ด้านสวัสดิการสังคม/การศึกษา จำนวน 393 โครงการ (ภาคเหนือสูงสุด 199 โครงการ)

8) ด้านบูรณาการ 258 โครงการ (ภาคเหนือสูงสุด 102 โครงการ)

 

  1. วิธีคิดเชิงระบบในแบบโรงงานอุตสาหกรรม

         ประกอบด้วยขั้นตอนการคิด 4 ขั้นตอน คือ

ส่วนที่ 1 : In put

ส่วนที่ 2 : Process

ส่วนที่ 3 : Out put

ส่วนที่ 4 : Out come

แผนภาพ : วิธีคิดเชิงระบบในแบบโรงงานอุตสาหกรรม

 

การทำให้นวัตกรรมเกิด (making innovation happen) ในรูปแบบของวิธีคิดเชิงระบบที่ทำให้เกิดความเป็นระบบระเบียบ (systematic way) อย่างมีแบบแผน ซึ่งจะต้องอาศัยการบริหารจัดการนวัตกรรม (innovation management) ที่มีขั้นตอนการบริหารจัดการกิจกรรมสำหรับนวัตกรรม (innovation activities) อย่างชัดเจน เมื่อนำมาคิดนวัตกรรมอย่างเป็นระบบก็เริ่มจากการเลือกวัตถุดิบ อันเป็น “ปัจจัยนำเข้า” (input) เพื่อเข้าสู่กระบวนการคิดและทำให้เกิดนวัตกรรมตามที่ได้ตั้งสมมติฐานเอาไว้ กระบวนการผลิตนวัตกรรม (process) นี้ เมื่อดำเนินไปด้วยความถูกต้องจะก่อให้เกิดลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ (out put) คือ ได้ส่วนที่เป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ดี จากนั้นจะมีการทดสอบผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้นว่าสามารถ Impact ต่อสังคมได้แค่ไหน ตอบสนองกลุ่มผู้ใช้ได้ตรงตามความต้องการหรือไม่ หรือได้รับนิยมจากผู้ใช้กลุ่มใดมากที่สุด ผลสัมฤทธิ์ดังกล่าวนี้ คือ ส่วนของประสิทธิผล (out come) ที่นักคิดนวัตกรรมจะต้องนำมาเป็นโจทย์ในการแก้ไข ปรับปรุง และพัฒนาต่อไป

อย่างไรก็ตาม การศึกษาอย่างเป็นระบบเป็นเพียงพื้นฐานหรือกรอบแนวคิดเบื้องต้นสำหรับนักคิดนวัตกรรมเท่านั้น ผู้ที่คิดนวัตกรรมจำเป็นต้องมีการพัฒนาต่อยอดให้พ้นจากกรอบที่เป็นอยู่ เพราะการคิดนอกกรอบก็คือลักษณะหนึ่งของการคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นฐานความคิดสร้างสรรค์ที่จะผลิตนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาอย่างไม่รู้จบ ดังนั้น จึงควรศึกษาถึงหลักการทรงงานข้อต่อไปคือ “การไม่ยึดตำรา”