วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี พลังงานและสิ่งแวดล้อม

คิดอย่างไรให้ได้นวัตกรรมตามหลักการทรงงาน (ตอนที่ 2)

เทคนิคการนำทฤษฎี SAPAE มาคิดนวัตกรรม

หลังจากทราบความเป็นมาของทฤษฎีซาแปะแล้ว ในหัวข้อนี้ ผู้เขียนจะตอบโจทย์ในประเด็นที่ว่า “เราจะสามารถนำทฤษฎีซาแปะมาคิดนวัตกรรมได้อย่างไร” เทคนิคที่จะกล่าวถึงนี้เป็นการตีความที่ถอดประสบการณ์การคิดนวัตกรรมของผู้เขียน ซึ่งสามารถอธิบายได้ดังนี้

 

ขั้นตอนที่ 1 การสำรวจ (S – Survey)

 

การสำรวจ เป็นเทคนิคของการสังเกตถึงสภาพความเป็นอยู่ของมนุษย์โดยทั่วไป สังเกตไปถึงปรากฏการณ์อันเป็นสภาวะต่างๆ ที่เกิดขึ้นในใจของมนุษย์ที่มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวัน โดยทั่วไป พฤติกรรมที่แสดงออกมาของมนุษย์ล้วนเกิดจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันเองบ้าง ระหว่างมนุษย์กับสัตว์บ้าง ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ – สิ่งแวดล้อมบ้าง ทุกการปฏิสัมพันธ์มีผลต่อสภาพจิตใจของมนุษย์ เมื่อมนุษย์เกิดความรู้สึก “ไม่พอใจ” ต่อสภาพที่เกิดขึ้น สิ่งเหล่านั้นจะกลายเป็น “ปัญหา” ของมนุษย์โดยทันที เมื่อเกิดกับคนหลายๆ คนก็จะกลายเป็นปัญหาทางสังคม การสังเกตเห็นสภาพของปัญหาที่เกิดขึ้นเช่นนี้เป็นบ่อเกิดของปัญญาที่จะนำสิ่งเหล่านี้มาทำการวิเคราะห์วิจัยเพื่อหาทางออกของปัญหานี้ต่อไป

เนื่องจากสภาพปัญหาบางอย่างไม่ได้เกิดขึ้นกับคนๆ เดียว การสำรวจด้วยการสอบถามหรือสัมภาษณ์จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น ผู้สำรวจต้องมีทักษะในการรับฟัง คือ ไม่ใช้อคติหรือความคิดส่วนตัวเข้าไปแทรกในวงเสวนา ให้วางตัวเป็นผู้สอบถามและรับฟังปัญหาความทุกข์ร้อนของเพื่อนมนุษย์ด้วยความเคารพ ฟังด้วยหัวใจ ฟังด้วยความเอาใจใส่ มีความกระตือรือร้นที่จะฟังเพื่อซึมซับสภาพถึงความทุกข์ของมนุษย์ที่มีต่อปัญหาที่เกิดขึ้น

หลายต่อหลายครั้งที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้ทรงดำเนินพระราชกรณียกิจด้วยอาการเช่นนี้ เพื่อบำบัดทุกข์ให้กับราษฎร ดังนั้น การเข้าไปสำรวจถึงสภาพปัญหา นอกจากจะทำให้เราได้ข้อมูลตรงตามความต้องการที่แท้จริงของคนที่ประสบปัญหาแล้ว ยังช่วยผ่อนคลายความทุกข์ที่อัดอั้นตันใจของเพื่อนมนุษย์อีกด้วย เป็นการรับใช้ความรู้สึกของเพื่อนมนุษย์ที่ช่วยสร้างแรงบัลดาลใจต่อการสร้างนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาให้กับผู้ประสบความทุกข์เป็นอันมาก นวัตกรรมที่ถูกสร้างขึ้นอย่างเข้าใจ เข้าถึงความรู้สึกของผู้ใช้นวัตกรรม นวัตกรรมนั้นจะกลายเป็นที่ยอมรับและได้รับความนิยมในหมู่ชนทั่วไป เพราะเป็นนวัตกรรมที่ถูกสร้างขึ้นด้วยใจ โดยการเริ่มต้นจากการสำรวจด้วยความจริงใจของนักสร้างนวัตกรรมทั้งหลาย

นอกจากในเรื่องการ “บำบัดทุกข์แล้ว” การคิดนวัตกรรมยังสามารถคิดบนฐานข้อมูลที่ได้จากการสำรวจความพึงพอใจด้วย คือเราสามารถสังเกตจากรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ การมีความสุขที่ได้ทำสิ่งใดที่ดีต่อใจของมนุษย์ เราสามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาตกผลึกเพื่อสร้างนวัตกรรมที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้มนุษย์เกิดความสุข ความสนุก ความสบาย ตามความเป็นจริง มนุษย์ทุกคนย่อมต้องการเครื่องมือใช้สอยที่นำไปส่งเสริมสนับสนุนให้ชีวิตของตนเกิดความสะดวกสบายในชีวิต เพราะเป็นเป้าหมายพื้นฐานของการเกิดเป็นมนุษย์ เป้าหมายที่ว่านี้ก็คือ ความสุข นั่นเอง ดังนั้น นอกจากการสังเกตถึงสภาพปัญหาที่ทำให้มนุษย์เกิดความไม่พอใจแล้ว นักคิดนวัตกรรมสามารถเก็บข้อมูลด้วยการสังเกตสิ่งที่เป็นต้นเหตุทำให้มนุษย์มีความสุขได้ในชีวิตประจำวัน เพื่อคิดสร้างนวัตกรรมที่จะส่งเสริมหรืออำนวยความสะดวกเพื่อให้มนุษย์ได้รับความสุขเหล่านั้นให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และคำนึงถึงความยั่งยืนที่จะเกิดขึ้นพร้อมๆ กันไปด้วย

เทคนิคการสำรวจทั่วไป สามารถทำได้โดยการสอบถามโดยตรงหรือทำแบบสอบถาม การสัมภาษณ์ประชาชนต่อความทุกข์ยากลำบากในการใช้ชีวิต ส่วนในการประเมินผลทางธุรกิจเป็นการสอบถามผู้ใช้สินค้าและบริการเพื่อรับข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ การสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการแสดงข้อคิดเห็นเบื้องต้น ซึ่งในขั้นตอนการสำรวจนี้สามารถทำเป็นแบบสอบถามออนไลน์ได้ด้วย

 

ขั้นตอนที่ 2 การวิเคราะห์ (A Analysis)

 

เมื่อได้ข้อมูลมาแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือ การนำข้อมูลที่ได้มาทำการวิเคราะห์ เพื่อจำแนกและคัดเอาสิ่งที่จำเป็นที่สุดออกมา โดยคัดเลือกสภาพปัญหาที่มีลักษณะ “ทั่วไป” ที่หลายๆ คนประสบอยู่คล้ายๆ กัน ความทั่วไปนี้คัดเลือกจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ เป็นปัญหาซ้ำซากวนเวียนที่ทุกคนประสบอยู่แต่ยังหาทางออกไม่ได้ เราจะนำสิ่งที่ได้สำรวจมานี้มาวิเคราะห์เพื่อหาทางออก โดยคำนวณถึงความเป็นไปได้จากทุกๆ ทางที่เหมาะสมต่อสภาพในปัจจุบัน เนื่องจากยุคปัจจุบันมีวัสดุอุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือ เทคโนโลยีที่ทันสมัยมากมาย สามารถนำมา rethink (ย้อนคิด/ทบทวน/ตรึกตรอง) เพื่อการต่อยอดให้เหมาะสมกับการสภาพปัญหาที่เราต้องการแก้ ก็จะเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาได้เพื่อการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่น

www.energysavingtrust.org.uk พบว่า ในแต่ละเดือนครอบครัวชาวอังกฤษนั้นใช้พลังงานร้อยละ 33 ไปกับการทำความร้อน และร้อยละ 15 ของปริมาณน้ำในแต่ละเดือนล้วนสูญสิ้นไปกับการซักผ้า

เมื่อนำข้อมูลที่สำรวจมาทำการวิเคราะห์ พบว่า ปัจจุบันเทรนด์รักษ์โลกช่วยเพิ่มมูลค่าของตลาดรีไซเคิลทั่วโลกมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มจาก 14 พันล้านยูโรในปี 2011 เป็น 21 พันล้านยูโรในปี 2015 และคาดการณ์ว่าน่าจะสูงถึง 35 พันล้านยูโรในปี 2020

Dubai เป็นเมืองที่มีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์แทบจะทุกหลังคาเรือน โดยรัฐบาลได้ตั้งเป้าไว้ว่าก่อนสิ้นปี 2030 ร้อยละ 25 ของพลังงานที่ใช้จะต้องเป็นพลังงานสะอาด และในปี 2050 ก็จะเพิ่มพลังงานสะอาดเป็นร้อยละ 75

ปัจจุบันปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ทั่วโลกต่างตระหนักและให้ความสำคัญมาเป็นอันดับหนึ่ง เนื่องจากจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นล้วนส่งผลต่อทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ไปสำรวจนั้นต้องประหยัดน้ำกันให้มากที่สุด นักคิดนวัตกรรมจะตั้งคำถามเพื่อหาความเป็นไปได้ เพื่อหาทางออกให้กับปัญหาที่เกิดขึ้น โดยมีโจทย์ว่าต้องใช้น้ำในกิจกรรมซักผ้านี้ให้น้อยที่สุด หรือถ้าดีที่สุดคือถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องใช้เลย แต่จะเอาวัสดุอุปกรณ์ใดมาใช้แทนน้ำ การค้นหาความเป็นไปได้ในการวิเคราะห์ครั้งนี้ นำมาซึ่งการคิดนวัตกรรมใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ปัจจุบันเราพบว่า มีนวัตกรรมการซักผ้าที่ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำในปริมาณมากอีกต่อไป เมื่อนักวิทยาศาสตร์หัวใสในประเทศอังกฤษได้คิดค้นนวัตกรรม “เครื่องซักผ้าไร้น้ำ” ขึ้นมา โดยใช้พลาสติกเม็ดเล็กๆ ในการชำระล้างคราบสกปรกแทน

หลักการที่ว่านี้เป็นการนำเม็ดพลาสติกพอลิเมอร์จำนวนนับล้านแช่น้ำเพียงเล็กน้อยก่อนทำการซัก โดยคราบสกปรกนั้นจะถูกดูดซึมเข้าไปยังใจกลางของเม็ดพลาสติก จึงทำให้ผ้าที่ได้สะอาด ไร้กลิ่น รวมไปถึงไม่ต้องเสียเวลาปั่นแห้ง ซึ่งเครื่องซักผ้าดังกล่าวจะใช้น้ำเพียงแค่ร้อยละ 20 ในขั้นตอนกระบวนการเตรียมเม็ดพลาสติกและประหยัดไฟฟ้าได้สูงสุดถึงร้อยละ 50 อีกทั้งยังสามารถทำความสะอาดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเครื่องซักผ้าแบบปกติที่ใช้น้ำอีกด้วย

ปัจจุบันเครื่องซักผ้าไร้น้ำถูกใช้ในอุตสาหกรรมที่มีการซักผ้าในครั้งปริมาณมากๆ และหลายๆ ครั้งต่อวัน เช่น โรงแรม และ ร้านซักรีด ซึ่งในอนาคตข้างหน้าทางทีมวิจัยก็ได้วางแผนที่จะทำให้เทคโนโลยีนี้สามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วไปให้ได้

ประเด็นดังกล่าวนี้ก็จะเป็นโจทย์ที่นักคิดนวัตกรรมจะต้องวิเคราะห์ต่อไปว่า ทำอย่างไรจึงจะได้นวัตกรรมที่มีราคาไม่แพงจนเกินไป ชาวบ้านสามารถมีกำลังซื้อได้ ก็จะถูกนำมาวิเคราะห์ต่อเพื่อเฟ้นหาวัสดุอุปกรณ์ที่มีความประหยัดสูง ประโยชน์สุด และพัฒนาระบบให้เกิดการใช้สอยได้อย่างเรียบง่าย ประหยัดเวลาที่สุด ลดความยุ่งยากแต่ได้ประโยชน์ที่สุด ตามหลักการทรงงานที่ว่า “ประหยัด เรียบง่าย ได้ประโยชน์สูงสุด” นั่นเอง

เทคนิคการคิดวิเคราะห์ในขั้นตอนที่สอง เริ่มต้นจากการตั้งคำถามด้วยคำว่า “ทำไม” และ “ได้หรือไม่” เพื่อกระตุ้นให้คิดสิ่งใหม่ๆ หรือพัฒนาสิ่งใหม่เพื่อต่อยอดสิ่งเก่าให้ดีกว่าเดิม เช่น เมื่อเราทราบถึงปัญหาความสุขทุกข์ของประชาชนในการดำรงชีวิต รู้ถึงสภาพปัญหา ส่วนในทางธุรกิจนั้น เป็นการรู้ถึงข้อมูลของผู้ใช้สินค้าและบริการ ลำดับต่อไป เราต้องทบทวนถึงระบบการทำงานแบบเดิม โดยอาจตั้งคำถามที่แสดงในตารางดังต่อไปนี้

การตั้งคำถามในลักษณะนี้ เป็นเครื่องมือที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง เป็นลักษณะกลับมาย้อนดู ย้อนคิดกันอีกรอบเพื่อก้าวไปข้างหน้า เพื่ออนาคตที่ดีกว่า เพื่อความยั่งยืนที่มากกว่า เพื่อประโยชน์สุขที่มีคุณภาพและปริมาณที่มากกว่า เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า หากเรายังคิดแบบเดิม ทำแบบเดิม ผลลัพธ์ก็จะเป็นแบบเดิม ปัญหาและข้อจำกัดที่เคยมีก็จะมีแบบเดิมเป็นงูกินหาง ต่างจากการคิดใหม่และทำแบบใหม่ ย่อมทำให้เปลี่ยนทิศทาง นำไปสู่วิถีใหม่และคำตอบใหม่ๆ ก็จะมีโอกาสได้พัฒนานวัตกรรมให้เกิดขึ้นได้

 

ขั้นตอนที่ 3 การวางแผน (P Planning)

 

โดยทั่วไป การวางแผนเพื่อบริหารจัดการนวัตกรรมและทรัพยากรนวัตกรรม จะมีการวางแผนอย่างรัดกุม เริ่มต้นจากการนำเสนอแนวคิดใหม่ การแลกเปลี่ยนความคิด การกลั่นกรองแนวคิด การนำแนวคิดไปทดสอบ การนำแนวคิดไปสร้างนวัตกรรมทางการค้า และการนำเสนอนวัตกรรมออกสู่ตลาด มีระบบที่ชัดเจนในการกลั่นกรองโครงการนวัตกรรม และติดตามประเมินผลความสำเร็จของนวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้ปรับปรุงขบวนการนวัตกรรม และการจัดการทรัพยากรนวัตกรรมให้เหมาะสม

สำหรับผู้เขียน เห็นว่า การวางแผนโดยทั่วไปนั้นเป็นพื้นฐานหรือกรอบแนวคิดที่ผู้คิดนวัตกรรมต้องแม่นในกรอบในหลักการ แล้วจึงออกนอกกรอบ ด้วยมุมมองใหม่ๆ

ในที่นี้ ผู้เขียนขอเสนอว่า แผนที่ดี มักเริ่มต้นจากการไม่มีแผน หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ “การไม่มีแผนคือแผน” คือ ช่วยเอาแผนที่ถืออยู่ในมือ วางลงเสียก่อน ตามชื่อของมัน (คือ “วางแผน”) เพื่อกลับมาอยู่กับการสังเกตจนได้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือที่สุดที่เกิดขึ้น ณ เวลาปัจจุบัน ถือเป็นการ up to date ข้อมูลให้ทันสมัยอยู่เสมอ เพราะแผนมาจากความคิด การคิดวางแผนจึงเป็นการนำเอาข้อมูลในอดีตมาคิด จึงทำให้การทำงานล่าช้าและไม่ทันต่อเหตุการณ์ เมื่อเราสามารถเป็นนักสังเกตปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจนเข้าใจถึงสภาพปัญหาได้อย่างดีแล้ว จึงเริ่มวางแผนโดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้ทั้งส่วนนวัตกรรมจากสาธารณะ (public innovation) นวัตกรรมจากลูกจ้าง (employee innovation) นวัตกรรมจากลูกค้า (customer innovation) นวัตกรรมจากหุ้นส่วน/ซัพพลายเออร์ (partner/supplier Innovation) ไปพร้อมๆ กัน หรือแม้แต่นวัตกรรมจากคู่แข่ง (competitor innovation) ก็สามารถเกิดขึ้นได้ขึ้นอยู่กับไหวพริบปฏิภาณของผู้บริหารองค์กรนวัตกรรมในการกระจายการมีส่วนร่วมอย่างหลากหลายและเชื่อมโยงในตำแหน่งที่เหมาะสม เราอาจเปลี่ยนคู่แข่งเป็นพันธมิตร เปลี่ยนจากการแข่งขันเป็นความร่วมมือก็ได้ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นฝ่ายทีมวิจัยสำรวจ ฝ่ายนักคิด นักวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายเงินทุนเพื่อการสนับสนุนการสร้างนวัตกรรม องค์กรต่างๆ ที่เป็นพันธมิตรหรือหุ้นส่วนทางธุรกิจ ตลอดถึงภาคประชาชนที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการคิดและให้ข้อเสนอแนะการสร้างนวัตกรรมที่ตรงกับความต้องการที่แท้จริงของเขาเหล่านั้น

ในส่วนของภาคประชาชนนี้เราอาจทำได้โดยใช้ช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ (online social media) เว็บไซต์ต่างๆ ที่สามารถ up to date ข้อมูลได้ 24 ชั่วโมง เป็นช่องทางที่เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาให้ข้อมูล วิพากษ์วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ เราสามารถใช้พื้นที่สาธารณะบนโลกออนไลน์นี้เป็นเวทีในการประลองความคิด ความสามารถ ทางบริษัทอาจเสนอให้มีการประกวดยอดนักคิดนวัตกรรมเพื่อการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ และตั้งคณะกรรมการ ผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องเข้ามาพิจารณาตัดสิน ให้รางวัลแก่ผู้เสนอไอเดียที่คุ้มค่าที่สุดต่อการสร้างนวัตกรรม เราอาจจะได้บุคลากรที่มีคุณภาพมาร่วมทำงานในทีมด้วยหากเราต้องการและเห็นความจำเป็นที่เพียงพอ อีกทั้งยังเป็นช่องทางในการสร้างเครือข่ายภาคประชาชนที่มีความหลากหลายและมีความสนใจใคร่รู้ พื้นที่ตรงนี้จะกลายเป็นตลาดแลกเปลี่ยนความรู้ แนวคิด และปรัชญา เป็นสถานที่อุดมด้วยปัญญาของเหล่านักคิดนวัตกรรม

สำหรับผู้ที่ไม่ได้รับรางวัลหรือตกรอบไปนั้น ไม่ได้หมายความว่า ความคิดที่เขาเสนอนั้นไร้คุณค่า เราสามารถเก็บฐานข้อมูลเหล่านี้มาเพื่อการพัฒนาต่อยอดให้เหมาะกับบางพื้นที่ได้ หรือมันอาจใช้ได้ในเวลาใดเวลาหนึ่งที่เหมาะสม ก็สามารถให้รางวัลพิเศษแก่ผู้ที่เคยเสนอผลงานเหล่านี้ได้ในภายหลัง ก็จะเพิ่มคุณค่าทางจิตใจให้กับคนที่ทุ่มเทและเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมบนโลกออนไลน์นี้ ทั้งยังเป็นพื้นที่ที่หลายคนอยากเข้ามาแสดงความสามารถเพื่อสร้างตัวตน สร้างเครดิตทางสังคมในโลกออนไลน์

อีกกิจกรรมหนึ่ง ผู้คิดนวัตกรรมในองค์กรสามารถเอานวัตกรรมที่ตนคิดไว้อย่างหลากหลายเส้นทาง มาไต่ถามเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการโหวตคะแนนเสียง เพื่อคัดเอานวัตกรรมยอดนิยมที่ได้รับการโหวตมากที่สุดในลำดับต้นๆ มาสร้างและพัฒนาเพื่อให้ตอบสนองความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ ในการนี้อาจมีการจับรางวัลให้กับผู้โชคดี 10 ท่านที่ชนะการโหวตนวัตกรรมในฝันเพื่อเป็นขวัญกำลังใจ เพื่อให้เกิดความตื่นเต้น สร้างแรงจูงใจให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมต่อการคิดและสร้างนวัตกรรมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง

ผู้คิดนวัตกรรมในบริษัทก็จะทำงานน้อยลง มีเวลาเอาความคิดมาพัฒนาต่อยอดสิ่งที่ประชาชนนำเสนอมา และทำให้นวัตกรรมที่ถูกสร้างขึ้นนั้นตรงตามความต้องการของผู้ใช้สินค้าและบริการมากที่สุด โดยที่นักคิดนวัตกรรมไม่ต้องคิดไปเอง เพราะประชาชนที่จะต้องใช้นวัตกรรมในอนาคตได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกใช้นวัตกรรมเหล่านั้นด้วยตัวของเขาเอง เหมือนในร้านอาหารตามสั่งที่ใครอยากกินอะไรก็สั่งได้ตามใจที่เขาต้องการ การวางแผนที่กระจายยุทธศาสตร์การมีส่วนร่วมแบบเครือข่ายขนาดใหญ่นี้ถือว่าเป็นนวัตกรรมทางความคิดเกี่ยวกับเรื่องการวางแผนงาน ที่สามารถสร้างนวัตกรรมให้เกิดประโยชน์สุขส่วนรวม เป็นการทำพื้นที่หนึ่งให้กลายเป็น one stop service (บริการที่จุดเดียว) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และสามารถคิด/ทำกิจกรรมอื่นๆ ได้อย่างหลากหลายเท่าที่เหตุปัจจัยจะเกิดขึ้น ณ ปัจจุบันแบบ real time เลยทีเดียว

 

ขั้นตอนที่ 4 การปฏิบัติ (A Action)

 

เมื่อโครงการผ่านการพิจารณาจากทุกภาคส่วนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทีมงานที่เกี่ยวข้องกับการสร้างนวัตกรรมก็จะเริ่มลงมือดำเนินงานตามโครงการทันที โดยกำหนดตัวบุคคลเพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบ กำกับดูแลอย่างชัดเจนเพื่อทดสอบความคิดที่ได้ตั้งเอาไว้ในขั้นตอนที่ 2 ทุกๆ การทดสอบในแต่ละขั้นตอน ผู้ทดสอบนวัตกรรมจะเจอทั้งข้อผิดพลาดและความสำเร็จ แต่แท้จริงแล้วข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นก็เป็นความสำเร็จแบบหนึ่ง คือ มันทำให้เรารู้ว่าเส้นทางดังกล่าวนั้นไม่ใช่ทางที่ถูกต้อง เราจะได้ไม่เสียเวลาย่ำอยู่จุดเดิมที่ซ้ำซาก เราจะก้าวไปข้างหน้าเพื่อหาหนทางที่ดีกว่า เป็นไปได้มากกว่า ในการลงมือปฏิบัตินั้นต้องใช้ความอดทน ความเพียรพยายามค่อนข้างสูง เพราะต้องทำใจทนรับกับสภาพ “ความผิดหวัง” ที่เกิดขึ้น เมื่อสมมติฐานที่ถูกตั้งขึ้นนั้นไม่เป็นไปดั่งใจปรารถนา ผู้เขียนมีข้อแนะนำให้ผู้คิดนวัตกรรมทั้งหลาย “จงสร้างเหตุ แต่ปล่อยวางผลลัพธ์” อย่าไปคาดหวังอะไรให้ได้ดั่งใจ ปล่อยให้ผลลัพธ์เป็นเรื่องของธรรมชาติ เพราะโลก จักรวาล และธรรมชาติ ไม่ได้หมุนไปตามความอยากได้ดั่งใจของใครคนใดคนหนึ่งเลย ธรรมชาติมันมีเหตุมีผลของมัน มันเกิดขึ้นและดับไปตามเหตุปัจจัยของมัน ไม่ว่าการทดลอง/ทดสอบจะถูกหรือผิด สำเร็จหรือไม่สำเร็จ มันไม่ใช่เรื่องของเรา ในการทดลองใดๆ สิ่งที่เราทำได้จริงๆ ก็คือการสร้างเหตุให้ดีที่สุดเท่านั้น เพื่อหาความเป็นไปได้ในทุกทาง อุปมาเหมือนดั่งชาวสวนปลูกต้นพริก เขาสร้างเหตุด้วยการทดลองรดน้ำ ใส่ปุ๋ย พรวนดิน ในแต่ละแปลง โดยกำหนดปริมาณและคุณภาพในวัตถุดิบต่างๆ ที่มีความแตกต่างกัน แต่ลูกพริกมันจะออกดอกออกผลหรือไม่นั้นเป็นเรื่องของต้นพริก ไม่ใช่เรื่องของชาวสวน ชาวสวนมีหน้าที่ในการสร้างเหตุให้เกิดความสม่ำเสมอเพื่อหาความเป็นไปได้ในทุกทางที่จะเกิดการออกดอกออกผลของพริกให้ได้ประสิทธิภาพมากที่สุดเท่านั้น

ความล้มเหลวเป็นเรื่องปกติของการทดลองเพื่อสร้างนวัตกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง แม้ว่าเราจะทำการคำนวณถึงความเป็นไปได้มากที่สุดแล้ว ดังที่เหล่าอัจฉริยะในโลกนี้ได้ผ่านความล้มเหลวมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วนกว่าจะได้นวัตกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ก็ทำให้เขาเหล่านี้กลายเป็นคนที่มีชื่อเสียงระดับโลกจนถึงปัจจุบัน ยกตัวอย่าง เช่น เอดิสัน ผู้ประดิษฐ์หลอดไฟ เขาล้มเหลวเกือบพันครั้งในการทดลองกว่าจะประดิษฐ์หลอดไฟสำเร็จ แล้วเราล่ะจะล้มเหลวกี่ครั้ง? ในโลกนี้มีคนบางคน ลงมือทำสิ่งดีดีให้เกิดขึ้น ในโลกนี้มีคนบางคนได้แต่นั่งมองสิ่งที่เกิดขึ้น และในโลกนี้มีคนบางคนที่ประหลาดใจในสิ่งที่เกิดขึ้น” คุณเป็นคนประเภทไหน?

โทมัส เอดิสัน (Thomas Edison) ผู้เป็นนักประดิษฐ์หลอดไฟที่ยิ่งใหญ่ เขาต้องการนำเอาแสงไฟฟ้ามาใช้ทดลองแทนตะเกียงแก๊ส เขาเพียรพยายามทำการทดลองตามลำพังในห้องใต้หลังคาบ้าน การทดลองครั้งที่ 100 ผ่านไปโดยไม่มีความก้าวหน้าใดๆ เลย เพื่อนบ้านบอกให้เขาเลิกคิดบ้าๆ ได้แล้ว ตะเกียงแก๊สใช้กันมาเป็นหลายสิบปีแล้ว แต่เอดิสันหรือฉายาที่เพื่อนบ้านตั้งให้ว่า Nutty Tom (ทอมสติเฟื่อง) กลับไม่ยอมหยุด

เขาเพียรพยายามทดลองต่อจนผ่านไป 500 ครั้งก็ยังไม่สำเร็จ เพื่อนบ้านเริ่มกังวลเกี่ยวกับตัวเขา คิดว่าเขาฟั่นเฟือนไปแล้ว จึงประชุมกันว่าควรจับกุมตัวเขาไว้ เพราะเขาจะกลายเป็นอันตรายต่อชุมชน เพื่อนสนิทของเอดิสัน ได้ยินดังนั้น จึงไปบอกให้เขาหยุดทำได้แล้ว ทอมนายต้องหยุดได้แล้ว ผู้คนกำลังพูดเกี่ยวกับนาย พวกเขาต้องการให้ควบคุมตัวนายเอาไว้ ลองคิดดูสิว่า นายกำลังทำอะไรอยู่ นายทดลองไปแล้ว 500 ครั้ง นายก็ล้มเหลวทั้ง 500 ครั้ง ถึงเวลาที่นายควรจะยอมแพ้ได้แล้ว เอดิสัน ตอบว่า ไม่ใช่ เราไม่ได้ล้มเหลว 500 ครั้งหรอกเพื่อน แต่เราค้นพบ 500 วิธีที่มันใช้ไม่ได้ผลต่างหาก ในที่สุดเมื่อการทดลองถึงครั้งที่ 1,000 เขาก็ได้ค้นพบความลับของหลอดไฟฟ้าและสามารถประดิษฐ์ไฟฟ้าได้สำเร็จ

เรื่องราวของเอดิสันเป็นตัวอย่างที่ดีที่ทำให้เราเห็นว่า แท้จริงแล้วความล้มเหลวนั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่ทำให้เสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์เสมอไป มันขึ้นอยู่กับมุมมองทางความคิด สำหรับนักคิดนวัตกรรมที่มีความตั้งใจจริง ไม่ย่อท้อ เขากลับเห็นว่า ความล้มเหลวเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในการสร้างนวัตกรรมที่ทำให้เขาเกิดความฉลาดรอบรู้ในเหตุปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยรอบ อุปสรรคกลับเป็นยาชูกำลังที่ทำให้เขามุ่งมั่นเพื่อก้าวข้ามผ่านพ้น และในที่สุดเขาอาจประสบผลสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่เหมือนกับเอดิสัน และที่สำคัญเขาก็จะกลายเป็นแบบอย่างในการสร้างแรงบัลดาลใจให้กับคนรุ่นหลังสืบต่อไป

 

ขั้นตอนที่ 5 การประเมินผล (E Evaluation)

 

เทคนิคการคิดในขั้นตอนที่ห้า ได้แก่ การประเมินผล การที่ต้องประเมินผลก็เพราะเมื่อเกิดนวัตกรรมขึ้นมาแล้ว ก็ควรมีการทดสอบประสิทธิภาพ (out put) เพื่อดูประสิทธิผล (out come) ที่เกิดขึ้น ทั้งในส่วนที่เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ หรือรูปแบบการบริการ เมื่อทดสอบเป็นที่แน่ใจแล้วก็จะได้ข้อสรุปสำหรับเป็นแนวทางในการปฏิบัติต่อไป

ข้อสรุปในการทดสอบแต่ละขั้นตอนนั้น ทำให้เราทราบถึงความเป็นไปได้ที่มีความคุ้มค่ามากที่สุด ในแต่ละขั้นตอนที่เกิดขึ้นจากการทดสอบ ทดลองนั้น คือ ข้อสรุปที่ว่า “ทำอย่างไรให้ได้นวัตกรรม” หมายความว่า ข้อสรุปในการทดลองแต่ละขั้นตอนที่ได้ผลจริงในเชิงประจักษ์จะกลายเป็นเหมือนคัมภีร์เล่มหนึ่งที่บอกถึงวิธีการ (how to) ที่จะได้มาซึ่งผลลัพธ์ดังกล่าว เพื่อให้เกิดการผลิตซ้ำและขยายผลต่อไป รวมถึงเป็นพื้นฐานสำคัญในการนำมาคิดทบทวนกันอีกครั้ง ครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อการต่อยอดนวัตกรรมในอนาคตอย่างไม่มีที่สิ้นสุด