วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี พลังงานและสิ่งแวดล้อม

คิดอย่างไรให้ได้นวัตกรรมตามหลักการทรงงาน (ตอนที่ 3)

บทสรุป

การคิดอย่างไรให้ได้นวัตกรรมนั้น สิ่งสำคัญคือ “ปัญญา” (wisdom) สิ่งที่ศึกษาเล่าเรียนมานั้นล้วนเป็นเพียงความรู้ (knowledge) แต่ก็เป็นพื้นฐานที่สำคัญในฐานะแผนที่ทางความคิดในเบื้องต้น การเรียนรู้ที่แท้จริงเพื่อให้ได้มาซึ่งนวัตกรรม ผู้คิดนวัตกรรมต้องกล้าออกจากกะลาใบเดิม เพื่อเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวอยู่เสมอ โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม นวัตกรรมที่เราสร้างขึ้นมานั้นจะต้องสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้จริง สิ่งที่แก้ปัญหาให้สำเร็จลุล่วงได้นั้นคือตัวปัญญา คือการเรียนรู้ถึงปัญหาและวิธีการแก้ปัญหาจากประสบการณ์จริง จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่เบื้องหน้าตามบริบทต่างๆ เมื่อเรามีรากฐานความคิดว่า “ทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม” ตามแนวทางของหลักการทรงงาน ทิศทางของนวัตกรรมที่เราสร้างขึ้นนั้นจะคำนึงถึงการแก้ปัญหาของคนส่วนรวมทั้งองคาพยพ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ คือ คิดให้จบทุกกระบวนการที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยสืบเนื่องกัน เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญจึงได้แก่ การสร้างสังคมเครือข่าย (community) ที่กว้างขวาง และคำนึงถึงการมีส่วนร่วมที่หลากหลาย ใช้ปัญญาสอดส่องหรือแสวงหาสิ่งที่อยู่รอบตัวที่สามารถหยิบจับมาประติดประต่อเชื่อมโยงให้เกิดการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้จริง มีการออกแบบแนวทางที่ทำให้เกิดความประหยัด เรียบง่าย และได้ประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนส่วนรวมให้มากที่สุด

สิ่งสำคัญอันเป็นเคล็ดลับและหัวใจของการคิดนวัตกรรมตามหลักการทรงงานก็คือ “การมีความรัก” ดังที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงสอนผู้ปฏิบัติงานหรือคนที่รับราชการว่า สิ่งแรกที่ต้องทำคือ “ต้องรักประชาชน ทำเพื่อประชาชน” นั่นหมายความว่า เมื่อผู้คิดนวัตกรรมน้อมนำหลักการทรงงานมาเป็นแรงบัลดาลใจก็ควรมีความรักต่อเพื่อนมนุษย์ ต้องรักประชาชน อย่างที่พระองค์ทรงรัก และทำเพื่อประชาชน อย่างที่พระองค์ทรงดำเนินมาเป็นแบบอย่าง ด้วยความใส่ใจในคุณภาพชีวิตของคนส่วนรวมเป็นที่ตั้ง นวัตกรรมที่สร้างขึ้นด้วยแรงบัลดาลใจเช่นนี้จะทรงคุณค่า ไม่เป็นไปเพื่อการเบียดเบียนประชาชนและสิ่งแวดล้อม เป็นการคิดนวัตกรรมที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม และเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างแท้จริง