วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี พลังงานและสิ่งแวดล้อม

องค์ประกอบที่สำคัญในการคิดนวัตกรรม บนพื้นฐานของหลักการทรงงาน (ตอนที่ 1)

องค์ประกอบที่กล่าวถึงนี้ คือ พื้นฐานหลักการทรงงานที่ผู้เขียนตั้งใจหยิบยกขึ้นมากล่าวสรุปอีกครั้งเพื่อการเน้นย้ำให้เห็นถึงส่วนที่สำคัญของการประกอบสร้างแห่งนวัตกรรมที่มาจากแรงบัลดาลใจจากหลักการทรงงาน ซึ่งแตกต่างจากองค์ประกอบของการคิดนวัตกรรมแบบทั่วไปที่ทำกันตามๆ กันมาที่ขาดการตระหนักถึงคุณค่าของความสัมพันธ์องค์รวมที่มนุษย์มีต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัว นวัตกรรมที่ถูกสร้างขึ้นจึงกลายเป็นปัญหาใหม่ที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและหวนกลับเข้ามาทำร้ายมนุษย์ด้วยกันเอง เช่น ภัยสงคราม ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาโลกร้อน ปัญหาฝุ่นมลพิษ (PM 2.5) เป็นต้น เมื่อเราตระหนักดังนี้จึงควรนำแนวทางการสร้างนวัตกรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขนี้เข้าไปเป็นส่วนประกอบของการคิดนวัตกรรมทุกชิ้นอันที่จะเกิดขึ้นในโลกปัจจุบันและอนาคตต่อไป ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างองค์ประกอบสำคัญที่มาจากหลักการทรงงาน ดังนี้

การระเบิดจากภายใน

การระเบิดจากภายในเป็นเรื่องของการเข้าใจตนเองอย่างลึกซึ้งผ่านกระบวนการเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เข้าใจถึง “ความรู้สึกนึกคิด” จากภายในของตนเอง เช่น เข้าใจถึงเจตนารมณ์ แรงจูงใจ แรงบัลดาลใจ สิ่งที่ต้องการหรือความคาดหวัง ตลอดถึงแรงขับ (drive) จากภายในที่อยากจะหลุดพ้นจากสิ่งเดิมๆ ที่สร้างปัญหาหรือก่อให้เกิดความทุกข์ในชีวิตประจำวัน

เมื่อสืบค้นเข้าไปเห็นถึงความต้องการที่แท้จริง หรือสิ่งที่ต้องการหลุดพ้นออกไปจากจุดเดิมๆ ที่เป็นอยู่ สิ่งที่ต้องตระหนักตามมาก็คือ นวัตกรรมที่จะสร้างขึ้นมานี้จะต้องอยู่บนพื้นฐานของ “ประโยชน์สุขส่วนรวม” ถึงแม้ว่าการคิดนวัตกรรมในเชิงปัจเจกจะเป็นการคิดเพื่อแก้ปัญหาส่วนตัว แต่ก็ไม่อาจทิ้งหลักการประโยชน์สุขส่วนรวมไปได้ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม มีความเชื่อมต่อที่จะส่งผลกระทบไปยังผู้อื่นและสิ่งแวดล้อมรอบตัว ดังนั้น นวัตกรรมที่ต้องการคิดค้นขึ้นมานี้จะต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม คือไม่สร้างผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม หลักการนี้ช่วยให้นักคิดนวัตกรรมมีความรอบคอบและตระหนักรู้ถึงเหตุและผลของทุกการกระทำในลักษณะ “องค์รวม” หลักการองค์รวมสอนให้เรารู้ว่า ทุกการกระทำย่อมส่งผลกระทบเกิดขึ้นเสมอ (action = reaction) แม้ว่าจะเป็นการสร้างนวัตกรรมเชิงปัจเจก แต่ผู้สร้างก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของทุกส่วน หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ เป็นส่วนหนึ่งขององค์รวมที่มีความสัมพันธ์กันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างเช่น การสร้างผลิตภัณฑ์พลาสติกเพื่อการค้า ปัจจุบันกลายเป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก ทั้งด้านคุณภาพน้ำและคุณภาพชีวิตของสัตว์น้ำ ในยุคนี้ผู้ผลิตเองควรมีความรับผิดชอบต่อสินค้าที่ตนเองผลิตขึ้นมา ภายหลังสินค้านั้นๆ ถูกใช้เสร็จแล้ว หรือที่เรียกว่า EPR – Extended Producer Responsibility คือผลิตออกมาแล้วต้องมีระบบรับจัดการขยะที่เกิดขึ้นด้วย เช่น ขวดพลาสติก แก้วน้ำพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง หลอดน้ำแข็งหวานเย็น ไฟแชคพลาสติก แปรงสีฟันพลาสติก รองเท้าแตะ ฯลฯ ถ้าไม่สามารถจัดเก็บรวบรวมได้ก็ไม่ควรผลิตขึ้นมาตั้งแต่แรก จะเห็นได้ว่า การเกิดปัญหาขยะพลาสติกในปัจจุบันเกิดจากการคิดนวัตกรรมพลาสติกที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบที่เป็นองค์รวมจึงส่งผลให้เกิดขยะที่เป็นภาระต่อโลก เมื่อพลาสติกไปสะสมในตัวสัตว์น้ำอย่างเช่น ปลาและกุ้ง ทำให้เนื้อเยื่อทางเดินอาหารเป็นแผลและยับยั้งการเจริญเติบโตของสัตว์ และเมื่อเราบริโภคเนื้อสัตว์ที่มีไมโครพลาสติกปนเปื้อนก็มีโอกาสสะสมก่อโรคภูมิแพ้ขึ้น และเป็นตัวก่อให้เกิดโรคมะเร็ง และหากไมโครพลาสติกยิ่งแตกตัวเป็นชิ้นเล็กๆ เท่าแบคทีเรีย หากเข้าเส้นเลือดจะทำให้ระบบหมุนเวียนเลือดมีปัญหา ผลกระทบเหล่านี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้ในคน เพียงแต่ระยะเวลาที่จะแสดงอาการอาจจะช้ากว่าสัตว์ขนาดเล็ก จะเห็นได้ว่าพลาสติกเป็นนวัตกรรมที่มนุษย์สร้างขึ้นแต่ขาดการตระหนัก เมื่อพลาสติกลงไปสู่ทะเลด้วยความมักง่ายของมนุษย์แล้ว การจัดเก็บจะลำบาก และยิ่งแตกหักเป็นชิ้นเล็กมากเท่าไร อันตรายหรือผลกระทบก็จะยิ่งมาก